ชีวิตนอกกรุง : เด็กนอกระบบ ผลผลิตจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ท้องถิ่นจัดการได้

ชีวิตนอกกรุง : เด็กนอกระบบ ผลผลิตจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ท้องถิ่นจัดการได้

เมื่อพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลายคนคงได้ยินมาบ่อยครั้งและฟังซ้ำ ๆ มายาวนาน ยิ่งมีการระบาดของโควิด-19 เข้ามา เหมือนมีคนเอาปากกาไฮไลต์มาขีดทับให้เห็นภาพชัดขึ้น เห็นได้ทุกวันจากทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ที่หลายครอบครัวไม่มีรายได้ขาดแคลนอาหาร ด้านการศึกษาที่เด็กหลายแสนคนเข้าไม่ถึงการเรียนการสอน เมื่อมีแนวคิดว่าจะให้เรียนทางไกล อันที่จริงโควิด-19 ก่อปัญหากับคนทั่วโลก แต่ในบ้านเราภาพความเหลื่อมล้ำอยู่คู่บ้านคู่เมืองไทยมานานแสนนาน และมันน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะกลุ่มที่ถูกความเหลื่อมล้ำเล่นงานคือ อนาคตของชาติ

ผู้คนต่อแถวรับอาหารและสิ่งของจากผู้นำมาช่วยเหลือแบ่งปันในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ความยากจนเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการศึกษา และเป็นตัวปัญหาที่ทำให้เด็กและเยาวชนหลายคนต้องหลุดออกนอกระบบ จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. พบว่ามีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 3,000 คน ในช่วงหลังโควิด-19 และมีกลุ่มเสี่ยงที่ครอบครัวยากจนพิเศษอีกกว่า 700,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งแม้ภาครัฐจะบอกว่าเรียนฟรี แต่การไปโรงเรียนแต่ละวันแต่ละเทอม ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่อง เช่น ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าชุดนักเรียน และอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ก็ต้องหยุดเรียน หลุดหายไปจากระบบ จนแล้วทำไมไม่ได้เรียน เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น จิว เด็กหนุ่มชาว อ.เมือง จ.ขอนแก่น วัย 23 ปี ที่เป็นหนึ่งในคนที่มีปัญหาปากท้องจนต้องออกจากโรงเรียน จะมาเล่าที่ไปที่มาให้ฟัง

จิว เด็กนอกระบบการศึกษา วัย 23 ปี ชาว อ.เมือง จ.ขอนแก่น

แต่ละวันได้เงินแค่ 10 บาท ต้องเลี้ยงน้องอีก 2 คน จิวก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ซื้อหมูปิ้งกับข้าวเหนียว เอาให้น้องกินก่อน จิวก็ไปหาขอข้าวเขากิน คนในชุมชนเขาก็ดี บ้างครั้งเขาก็ให้ของกินมาบ้าง แต่วันไหนไม่ได้ก็อด

จิวอยู่ในชุมชนเทพารักษ์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนริมรางรถไฟ ซึ่งเป็นย่านคนจนเมือง ทุกหลังคาเรือนไม่มีเอกสารสิทธิ เพราะอยู่ในที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จิวเกิดและโตมาในชุมชนแห่งนี้ พ่อกับแม่แยกทางกัน ต้องอาศัยอยู่กับยายและน้องอีก 2 คน ช่วงตอนกลางวันยายจะออกไปทำงาน จิวต้องดูแลน้อง ๆ เมื่อเงิน 10 บาท ต่อวันไม่พอเลี้ยงปากท้อง 3 คน จิวจึงต้องทำงานรับจ้างอีกแรง

ชุมชนเทพารักษ์ เป็นชุมชนที่อยู่ติดรางรถไฟ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

เริ่มทำงานจริงจังตอน ป.6 ทำงานรับจ้างปลูกต้นไม้ตามสวนสาธารณะ มีรุ่นพี่มาชวนก็รับจ้างไปเรื่อย ๆ เขามีอะไรให้ทำก็ทำ ค่าจ้างก็ได้วันละ 100 บ้าง 200 บ้าง

เมื่อครอบครัวที่ยากจน มีรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้อง ส่งผลให้ความอบอุ่นขาดหายไป กลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่ในชุมชนจึงเป็นสังคมที่มาเติมความอบอุ่น เติมความสบายใจได้ แต่ด้วยช่วงวัยที่เพิ่งผ่าน 10 กว่าฝนมา ไม่มีผู้ใหญ่ให้คำปรึกษา การหลีกหนีความทุกข์ตรงหน้าจึงอาจใช้วิธีที่ผิด

ผมได้เรียนหนังสืออยู่นะ แต่ไม่จบ ม.3 ติดก่อน เริ่มแรกก็ดมกาว ต่อมาก็เริ่มเสพยา พอได้ลองแล้วมันก็ถลำไปเรื่อย ๆ ได้ลองอย่างหนึ่งแล้ว ก็อยากลองอย่างอื่นไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็ติดไปเรียบร้อยแล้ว ก็เพื่อนและพี่เขาชวนลอง ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร ลองก็ลอง

แม้ไม่ใช่ทุกคนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาจะเลือกเดินทางผิด แต่เด็กเยาวชนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาความยากจน ขาดความอบอุ่นในครอบครัว ประกอบกับสภาพแวดล้อมในชุมชน สภาพจิตใจ และระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อแก่ผู้เรียน เป็นตัวกระตุ้นให้เลือกเดินทางผิด จิวไม่ใช่คนแรกที่ถูกบีบเข้าสู่เส้นทางมืด ยังมีเด็กหลายคนทั่วประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกัน จนเป็นปัญหาระดับประเทศที่จะมองข้ามไปไม่ได้ เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ การศึกษาเป็นอีกเครื่องมือในการพัฒนาคนสู่การเป็นกำลังของชาติต่อไป จึงมีความพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่เทศบาลนครขอนแก่น เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญกับปัญหานี้ ดำเนินการแก้ในพื้นที่มาเกือบ 10 ปี มีแนวทางการจัดการที่ชัดเจน

สำนักการศึกษาของเทศบาลนครขอนแก่น มีหน้าที่บริหารจัดการศึกษาให้เด็กในท้องที่ ผ่านโรงเรียนในสังกัดกว่า 11 แห่ง และดูแลการศึกษานอกระบบด้วย ได้รวมภาคีเครือข่ายมากกว่า 20 องค์กร มาร่วมดูแล ออกแบบกระบวนการจัดการ จัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กชายขอบในเมือง ที่มีความเปราะบางทางสังคม

กลุ่มเครือข่ายร่วมการทำงานโดยมีกระบวนการ “5 C กลยุทธ์พิชิตใจเด็กชายขอบ ผ่านการเรียนรู้ นอกกรอบ” 1.Core person หรือ หาคนที่ใช่และสร้างเครือข่ายคนที่ชอบ คือการจัดตั้งทีมงานที่สนใจปัญหานี้และมีบทบาทต่อการผลักดัน อาทิ ประธานชุมชน ผู้ปกครองเด็ก 2.Connect หรือการติดต่อเกาะเกี่ยวเชื่อมสัมพันธ์เชิงลึก โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าเด็กจะเปิดใจยอมรับ เช่น หลังจากอบรมเข้าค่ายกันแล้ว ทุกเย็นจะต้องมานั่งตั้งวงกินเนื้อย่างด้วยกัน บางครั้งก็ไปดูหนังฟังเพลง หรือเด็กบางคนดื่มสุราก็จำเป็นต้องใช้สุราเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงเขา 3.Control หรือควบคุมกำหนดทิศทาง คือการค่อยๆ พาเขาออกมาจากที่มืด 4.Continue หรือติดตามต่อเนื่องและยืดเยื้อ นั่นเพราะธรรมชาติของเด็กเหล่านี้อารมณ์เปลี่ยนได้ง่ายและเร็ว จึงจำเป็นต้องดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างพื้นที่ให้เด็กมารวมกันมากๆ จะได้มีโอกาสดึงเขาออกมาได้ง่าย อาทิ การเปิดร้านนมให้เขาบริหาร การสร้างบ้านหลังที่ 2 ให้ หากเด็กเหล่านั้นไม่สามารถอยู่บ้านของตัวเองได้อีก 5.Complete คือเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ ได้แก่ เด็กกลับไปเรียนหนังสือ และมีอาชีพเลี้ยงตัวได้ในอนาคต

เด็กชายขอบในสังคมเมือง คือ กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ครอบครัวมีฐานะยากจน เข้าไม่ถึงสวัสดิการจากรัฐ บางคนอาจจะเคยหลงผิด ติดยา หลุดออกนอกระบบการศึกษา กลุ่มคนเหล่านี้คือคนที่พวกเราต้องช่วยกันดูแล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา เพราะอยู่ใกล้ชิด เห็นปัญหาดีที่สุด และเป็นปัญหาของลูกหลานบ้านเราเอง เราแค่กลับไปมองเขา ใส่ใจเขา ให้โอกาสเขา เชื่อว่าเขาจะมาเป็นอีกกำลังในการดูแลบ้านเมือง

อังคาร ชัยสุวรรณ แกนนำคนสำคัญในการทำงานช่วยเหลือเด็กนอกระบบของเทศบาลนครขอนแก่น

จากคำบอกเล่าของ อังคาร ชัยสุวรรณ ตัวตั้งตัวตีในการทำงานช่วยเหลือเด็กนอกระบบมาอย่างยาวนาน ทั้งในบทบาทเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนคร และบทบาทครูจิตอาสาสอนเด็กด้อยโอกาส ทำให้เราพอนึกภาพออกว่า ทำไมคนใกล้ที่รู้ร้อนรู้หนาวถึงควรลุกขึ้นมาจัดการปัญหา ดูแลลูกหลานในบ้านตัวเอง

เมื่อคนทำงานในพื้นที่เอาจริงเอาจังในการดูแล ผู้บริหารเห็นความสำคัญ เทศบาลนครขอนแก่นจึงรวบรวมเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาทำงานร่วมกัน สนับสนุนงบประมาณ จัดกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่การออกค้นหาเด็กกลุ่มเสี่ยง ผ่านกิจกรรมวงเนื้อย่าง อบรมเข้าค่ายศึกษาดูงาน ฝึกทักษะอาชีพ จนสามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ มีการก่อตั้งศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนเทศบาลนครขอนแก่น หรือ ศูนย์บ้านเรา ให้เด็กที่ยังไม่พร้อมกลับบ้านมาพักอาศัย ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ค้นหาทักษะอาชีพที่เหมาะ จิว ก็เป็นอีกคนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมและพักอยู่ในศูนย์บ้านเรา จนได้ทำงานเป็นอาสาเทศกิจ และรับจ้างก่อสร้างกับผู้รับเหมา พร้อมเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

มีเพื่อนชวนไปทำกิจกรรมเทศบาล ผมก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ก็ไปกับเขา พอได้ไปแล้วได้เจอคนมากขึ้น จากแต่ก่อนอยู่คนเดียวไม่คุยกับใคร ได้เจอคนมากขึ้นก็ดีขึ้น มันเหมือนได้บำบัด ได้ฝึกระเบียบวินัย ฝึกวิวัฒน์พลเมือง จนได้ทำงานเทศกิจ ไม่คิดว่าตัวเองจะอยู่จุดนี้ได้ ก็ภูมิใจ จากที่ไม่เคยมีอะไรเลย จนตอนนี้มีทุกอย่างที่อยากได้ แต่ความสุขของจิวไม่ใช่เงิน มีความสุขที่ได้อยู่กับบ้านศูนย์ มีความอบอุ่น แค่นี้คือความสุขของจิวแล้ว

เกือบ 10 ปี ที่ผ่านมา มีเด็กเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมกับเทศบาลนครขอนแก่นหลายพันคน สามารถช่วยเหลือส่งเสริมให้มีอาชีพ มีรายได้ และเรียนต่อหลายร้อยคน ซึ่งเทศบาลประกาศจัดเจนว่าจะทำกิจกรรมนี้ต่อไป เป็นอีกตัวอย่างการดูแลและให้โอกาสเด็กเยาวชนได้อย่างดี เพราะว่าไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี ไม่มีใครอยากก้าวพลาด เด็กทุกคนจึงควรได้รับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ รู้ร้อนรู้หนาวดีที่สุด จึงเป็นคนที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหามากที่สุด และในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมจัดการรากเหง้าปัญหา คือโครงสร้างทางสังคม ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ตัวการสำคัญที่ผลักในเด็กอีกหลายคนอยู่นอกระบบ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ