ผู้เขียนเป็นคนพื้นเพและเติบโตมากับสังคมชนบทในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ได้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในชุมชนของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ในหมู่บ้านของผู้เขียน เมื่อว่างเว้นจากการทำนาแล้ว เป้าหมายต่อไป คือ การมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อหางานทำตามโรงงานอุตสาหกรรม กรรมกรก่อสร้างและค้าขาย ปรับเปลี่ยนกันไปตามเวลา
ย้อนกลับปีเมื่อช่วง 10 กว่าปีที่แล้วคนในหมู่บ้านหลายคนเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อขายแมลงทอด มีทั้งตั๊กแตน รถด่วน จิ้งโกรง ดักแด้และแมลงอีกมากมาย รวมถึงจิ้งหรีดด้วย ซึ่งจะเคยเห็นกันตามท้องถนนเวลาค่ำคืนพร้อมป้ายติดข้างรถมอเตอร์ไซพ่วงข้าง
ปัจจุบันแมลง กำลังถูกพูดถึงและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่เฉพาะในหมู่คนไทย คนอีสานที่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ แต่กำลังถูกพูดถึงในวงนักธุรกิจต่างชาติกันอย่างมาก โดยเฉพาะจิ้งหรีดที่มีการลงทุนกันอย่างใหญ่โตมโหฬารและครบวงจร ตั้งแต่การเลี้ยง แปรรูปและจำหน่าย พร้อมกับการพัฒนาทุกกระบวนการให้มีมาตรฐานรับรองเพื่อโอกาสทางการค้าอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะทีมงานที่เข้าไปหนุนเสริมชาวบ้านในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ระบุว่า
โลกข้างหน้าไม่สามารถใช้เนื้อสัตว์มาผลิตอาหารได้มากอีกต่อไปแล้ว ผู้บริโภคเองจะเน้นที่การดูแลสิ่งแวดล้อมโลก ที่ผ่านมาเราจะเห็นการพยายามพัฒนาแหล่งโปรตีนจากสัตว์ใหญ่ มาเป็นพืช หรือแมลงขนาดเล็ก และกระแสนี้กำลังมาเร็ว ซึ่งเป็นไปตามยุธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารโลก การบริโภคแมลงยังคงเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งอาหาร และเมื่อเกิดโควิด หรือหลังโควิด-19 ยังคงเป็นโอกาสของเกษตรกรในบ้านเรา ที่สำคัญ คือ ศักยภาพของเกษตรกรเรามีไหม เพราะโปรตีนทางเลือกจากแมลงเป็นกระแสที่เหมาะสมมากในศตวรรษที่ 21
เมื่ออาหารที่คนบ้านเราคุ้นเคยและกินอยู่เป็นประจำอย่างแมลงชนิดต่าง ๆ กลายเป็นแมลงเศรษฐกิจ ที่สร้างมูลค่าและเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต เกษตรกรเมืองภูมิภาคจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงสู่มาตรฐานฟาร์มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการโลก การปรับตัวสู่มาตรฐานสากลของเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจากจังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์ เมื่อการเลี้ยงแบบเก่าอาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในโลกปัจจุบัน
ชีวิตนอกกรุง พาคุณผู้ชมมาที่นี่ครับ บ้านแสนตอ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หมู่บ้านที่เลี้ยงจิ้งหรีดด้วยมาตรฐานฟาร์ม GAP มากที่สุดในประเทศไทยครับ ทั้งหมด 21 ฟาร์ม ที่นี่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงดั้งเดิมสู่การเลี้ยงที่ได้มาตรฐานเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ได้
นายเพ็ชร วงศ์ธรรม หนึ่งในผู้เลี้ยงจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ บอกกับชีวิตนอกกรุงว่า ของเขามีอยู่ทั้งหมด 2 โรงเรือนที่กำลังเลี้ยงอยู่ โรงเรือนที่ล้อมด้วยตาข่ายเขียว ที่วางรองเท้าจัดเป็นระเบียบ มีอ่างน้ำสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ นี่เป็นหนึ่งในข้อบังคับของฟาร์มที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำก่อนเข้าไปในโรงเลี้ยง
ชีวิตนอกกรุง: ในแต่ละวันเราต้องทำอะไรบ้างครับ
ช่วงที่เราจะให้อาหาร ปกติตื่นเช้ามาเราจะมาตรวจดูอาหารที่เราให้ไว้เมื่อวาน ว่าหมดหรือยัง สมมติอาหารยังไม่หมดเราก็จะยังไม่ให้ แต่ถ้าหมดแล้วเราก็เพิ่มไปแบบนี้ อันนี้ใกล้จะหมดแล้วเราก็เพิ่มไป เมื่อกินไม่หมดจิ้งหรีดจะขี้ใส่ถาด เกิดเป็นอาหารหมักหมมเราต้องเททิ้ง ของผม 1.60 เมตร ความยาว 5 เมตร ความสูง 60 เซนติเมตร ใช้อิฐ 3 ก้อน ส่วนกระเบื้องทำไว้กันลื่น เวลาจิ้งหรีดขึ้นมาก็จะตกลงไป ให้น้ำ ให้อาหารหมดแล้ว เราก็ตรวจดูความเรียบร้อยว่าได้ให้ครบทุกบ่อหรือยัง ถ้าครบแล้วขั้นตอนคือจบเท่านั้น ไม่มีอะไรแล้ว เลี้ยงง่ายระบบโรงเรือนก็จะมีการกั้นห้องเป็นสัดส่วน ส่วนไหนที่เป็นที่เก็บวัสดุ เป็นที่เก็บอาหารต้องแยกส่วนที่สำคัญต้องมีระบบบันทึก
ชีวิตนอกกรุง: ทำไมตัดสินใจเลี้ยงแบบโรงเรือนมาตรฐาน GAP ทั้งที่ลงทุนหลักแสน
ถ้าเราล้าหลังต่างประเทศเกษตรกรผู้ทำมาตรฐานฟาร์ม ก็จะไม่มีสิทธิ์ทำได้ เพราะต้องไปใช้มาตรฐานของต่างประเทศ เพราะฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น เละร่วมผลักดันอยากให้ผ่านมาตรฐาน เผื่อมีผู้ประกอบการต้องการผลิตสินค้าตัวนี้ส่งต่างประเทศ ต่างประเทศเขาอยากได้ใบรับรอง
ชีวิตนอกกรุง: ใช้เวลานานไหมกว่าจะตัดสินใจ
ประชุมกัน 4 ครั้ง ว่าเราจะทำไหม ถ้าทำลงทุนสูง คนที่ไม่มีฟาร์มก็ต้องสร้างใหม่ทั้งหมด หมดเงิน 2 – 300,000 บาท ส่วนคนที่มีแล้วให้ปรับปรุงให้เข้ารูปแบบมาตรฐานขึ้น 23 คน เมื่อเจ้าหน้าที่มาประเมิน มาตรวจแล้ว ไม่ผ่าน 1 ฟาร์ม ใจเขาเต็มร้อย แต่ไม่มีพื้นที่ เพราะมีพื้นที่ติดกับตัวบ้าน ในบริเวณบ้าน เลยทำยาก เพราะในการทำมาตรฐานฟาร์มต้องรั้วรอบ ขอบชิด กันหมา กันแมว กันสิ่งต่าง ๆ เข้าไปในนั้น
แต่การเลี้ยงจิ้งหรีดแบบโรงเรือนมาตรฐานก็ไม่ใช่สิ่งเดี๋ยวที่จะทำให้เกษตรกรอยู่รอดได้ แต่ต้องมีการดำเนินการด้านอื่น ๆ เข้ามาด้วย ทั้งการการตลาด แปรรูปและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งตัวเกษตรกร ระบบตลาด ระบบการแปรรูป และการหนุนเสริมที่เป็นไปในทิศทาศทางเดียวกัน
รศ. รังสรรค์ เนียมสนิท สนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรือนที่ได้มาตรฐานถือเป็นด่านแรก กระบวนการผลิต กระบวนการปฏิบัติ จนกระทั่งเก็บเกี่ยว เลี้ยงออกมาขาย ต้องได้มาตรฐานหมด น้ำผ่านเกณฑ์มาตรฐานไหม อาหารที่ให้เราตรวจทุกปีผ่านเกณฑ์มาตรฐานไหม เราพยายามแนะนำการล้างมือการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมการเข้าไปเก็บต้องได้จังหวะ คิดว่ากลไกรัฐนี่อาจจะต้องคำนึงถึงกลุ่มนี้ เพราะว่าถ้าให้คนกลุ่มนี้ยังไม่เข้มแข็งไปแข่งขันกับตลาดที่เป็นเสรีมันคงไม่ได้ คำถามคือกลไกรัฐจะสร้างแต้มต่อหรือพื้นฐานได้อย่างไร
ธุรกิจอาหารโปรตีนทางเลือก เป็นธุรกิจระดับโลก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาจจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จะมาดำเนินการเพราะว่าเขาสามารถสร้างระบบที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ มันก็จะประหยัดเป็น Economies of scale ได้มาตรฐาน เขาก็คงเน้นเรื่องการส่งออก มีผลิตแปรรูป คำถามก็คือ ว่าเกษตรกรอย่างเราจะปรับตัวอย่างไร ให้เข้าไปเป็นหุ้นส่วน ให้เข้าไปเป็น ส่วนประกอบหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่า Value Chain หรือ Chain ประกอบการนี้ ซึ่งเราก็พยายามบอกกับกลุ่มชาวบ้านว่าถ้าเราไม่ปรับตัวสุดท้ายเราก็จะเป็นผู้รับจ้าง เป็นผู้รับจ้างเกษตรอย่างหนึ่งเท่านั้น …