ชีวิตนอกกรุง : อสม. เดลิเวอรี กลไกที่คนในชุมชนดูแลคนในชุมชน

ชีวิตนอกกรุง : อสม. เดลิเวอรี กลไกที่คนในชุมชนดูแลคนในชุมชน

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือ โควิด – 19 จนถึง ณ ปัจจุบันที่ผู้เขียนเขียนเรื่องราวนี้ก็ย่างเข้าสู่เดือนสิงหาคม แต่การระบาดก็ยังรุนแรงอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ บทบาทหน้าที่ที่ปรากฏให้เราได้พบเห็นในการป้องกัน คัดกรอง หรือแม้กระทั่งการทำงานในส่วนของการหนุนเสริมเจ้าหน้าที่นั้น คงหนีไม่พ้นกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกว่า อสม. กลไกที่สร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญคือการให้คนในชุมชนสามารถดูแลกันในชุมชนเองได้ ผู้เขียนคงจะไม่เขียนถึงโควิด-19 มากนัก แต่จะขอพูดถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างเบาหวาน ความดันโลหิต ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

อสม. ตำบลทุ่งนางโอก อ.เมือง จ.ยโสธร กับภารกิจตรวจวัดความดัน เจาะเลือดผู้ป่วยโรคเบาหวานใน่วงโควิด-19 ระบาด

ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ถ่ายทำรายการชีวิตนอกรกรุง โมเดลการดูผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของ ต.ทุ่งนางโอก อ.เมือง จ.ยโสธร น่าสนใจเลยทีเดียว ซึ่งที่นี่มี 9 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 5 พันกว่าคน อาชีพหลัก คือ ทำนา ว่างจากทำนามีอาชีพเสริมคือจักสาน อีกบางส่วนอยู่ใกล้เมืองรับจ้างทั่วไป และประชาชนโดยเฉพาะ 20% เป็นผู้สูงอายุโดยภาพรวมแล้วจะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ตำบลทุ่งนางโอก มีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวม 633 ราย รับยาที่ รพ.สต. 135 ราย ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลยโสธร 465 ราย และรับยาคลินิกแพทย์ 33 ราย และสิ่งที่ตามมาจากปัญหาด้านสุขภาพคือ ค่าใช้จ่าย

นึกภาพออกใช่ไหมครับ  เวลาต้องไปรับยาที่ โรงพยาบาล สมมติบ้านเราอยู่ห่างออกไป 20 กิโลเมตร เราต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า นั่งรถประจำทางหรือบางที่ไม่มีรถประจำทางก็ต้องให้ลูกหลานมาส่ง  ลูกหลานต้องลาหรือขาดงาน ขาดรายได้  ไหนจะต้องมาเข้าคิวรอนานเป็นชั่วโมง 2 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง กว่าจะได้กลับบ้านก็ปาเข้าไปบ่ายโมง ไหนจะค่าซื้อกับข้าว ค่ารถ และค่าอื่น ๆ อีกมากมาย ระบบรวมศูนย์แบบนี้ ยิ่งเห็นปัญหาชัดขึ้นเมื่อเกิดโรคโควิด-19

นายปานทอง ผุดผ่อง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งนางโอก อ.เมือง จ.ยโสธร บอกกับชีวิตนอกกรุงว่า ค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,128บาท ซึ่งถือว่าสูงแต่แน่นอนว่ารัฐเป็นคนดูแลเพราะทุกคนได้รับสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลอยู่ แต่เมื่อมาดูต้นทุนที่ประชาชนต้องแบกรับไว้เฉลี่ย 1,750 บาทต่อคน ตัวเลขนี่เองชาวบ้านต้องเกิดภาระจุดนี้อยู่ ทำอย่างไรในระบบที่เรามีอยู่สามารถไปแก้ไขตรงจุดนี้ได้ ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้ป่วยเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด ได้เห็นระบบการส่งอาหารของบริษัทแห่งหนึ่งจึงได้นำแนวคิดเพื่อขยายผลให้กับชุมชนให้ประชาชนได้รับบริการจึงเกิดเป็น Grab drugs ณ วันนี้มีกล่องให้บริการนำยาไปส่งผู้ป่วยถึงบ้าน

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน เรามาดูเส้นทางการทำงานของ Grab drugs หรือ อสม. ดีลิเวอรี ต.ทุ่งนางโอกกันครับ โรงพยาบาลยโสธร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต จะสั่งจ่ายยากับผู้ป่วย ส่งรายละเอียดมาที่ รพ.สต. พร้อมแจ้ง รถกู้ชีพของ อบต.ไปรับยามาส่งให้ รพ.สต. จากนั้น พยาบาลวิชาชีพของ รพ.สต.ที่รับผิดชอบ จะตรวจสอบข้อมูลยาและรายละเอียดตามที่โรงพยาบาลแม่ข่ายแจ้งมา ตรวจสอบเสร็จก็จะแจ้ง อสม.แต่ละหมู่บ้านมารับยาเพื่อจัดส่งให้ถึงมือผู้ป่วย ตามครัวเรือนที่ตัวเองรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการส่งยาแล้วก็จบเท่านั้น อสม. ยังต้องทำหน้าที่สอบถาม เก็บข้อมูล ติดตามอาการของผู้ป่วยที่กินยาว่ามีอาการอย่างไร และจะนำข้อมูลเหล่านั้นส่งกลับให้ รพ.สต.เพื่อให้เภสัชกรและแพทย์ดำเนินการต่อ

สมกิจ  ลากวงษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.ทุ่งนางโอกบอกว่าระบบตรงนี้ที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะอำนวยความสะดวก เพื่อให้พี่น้องเราได้สามารถดูแลกัน อสม.เป็นหัวใจของการทำงาน โดยเฉพาะภาวะวิกฤติ ณ ตอนนี้ อสม.เป็นผู้ปฏิบัติที่มีความเข้มแข็ง ลดภาระของเจ้าหน้าได้เยอะ

ณ วันนี้ต้องยอมรับว่าเราขาด อสม. ไม่ได้ ถ้าขาด อสม. ระบบการทำงานของเราอาจเป็นไปได้ล่าช้า การมี อสม.ทำให้การบริหารจัดการเรื่องงานในด้านเชิงรุกได้ดีขึ้น

เป็นใจความสำคัญที่ ปานทอง ผุดผ่อง ผู้อำนวยการ รพ.สต.ทุ่งนางโอก อ.เมือง จ.ยโสธร ได้บอกเล่ากับทีมงานของเราซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อสม. คือกลไกที่สามารถขับเคลื่อนภารกิจและช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทำงานในเชิงรุกได้เร็ว เข้าถึง และเข้าใจปัญหา พลังที่ อสม. ทำอยู่ในชุมชนกับเราส่งผลให้เรารู้ถึงว่าแต่ละพื้นที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือกลุ่มที่เราต้องลงไปดูแลอยู่ที่ไหนและเราต้องดูแลเรื่องอะไร มีปัญหาเกี่ยวกับอะไร ซึ่งศักยภาพของ อสม. สามารถประเมินผู้ป่วยได้ว่ามีปัญหาอะไรได้ สามารถส่งข้อมูลให้เราได้ เราก็สามารถที่จะลงไปให้การดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้นและเราสามารถให้คำแนะนำเขาได้ในช่วงที่มีสถานการณ์หรือภาวะฉุกเฉินได้

หลายคนคงจะมีเรื่องที่ต้องการแลกเปลี่ยนมากมายเกี่ยวกับการทำงานของ อสม.แต่ละพื้นที่ใช่ไหมครับ แน่นอนครับว่ากลไก อสม.นั้น บางพื้นที่ศักยภาพไม่เท่ากันแต่ยังสามารถดึงออกมาได้ แต่นโยบายจากหน่วยงานที่อยู่ระดับสูงขึ้นไปยังเป็นเพียงการให้นโยบายในภาพรวม ภาพใหญ่ ๆ ให้แต่ละ รพ.สต. แต่ละแห่งไปดำเนินการตามที่ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าหน่วยนั้นถนัด เช่น รพ.สต.ทุ่งนางโอก ถนัดในด้านของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็จะมีความโดดเด่นในการจัดการปัญหาเฉพาะด้านไป จึงทำให้กำทำงานแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือ กลไก อสม. ที่คนในชุมชนสามารถดูแลกันได้ในชุมชน คำถามคือเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงศักยภาพ และพัฒนาศักยภาพของ อสม.ออกมาให้ได้มากที่สุด จะส่งผลทำให้การทำงานด้านสุขภาพเชิงรุกนั้นไปได้เร็วและทั่วถึง ปฏิบัติการหรือภารกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลทุ่งนางโอก สะท้อนให้เห็นครับว่า ชุมชน ท้องถิ่น รพ.สต. มีศักยภาพมากพอที่จะดูแล จัดการตนเอง ประชาชนสามารถดูแลกันได้ในชุมชน และนี่คือเรื่องราวของ Localist ชีวิตนอกกรุง ครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ