‘10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ วันนี้ยังถูกจับข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่า…!!

‘10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ วันนี้ยังถูกจับข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่า…!!

เยาวชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี ยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ

คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม  2553  ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’  โดยมีแนวปฏิบัตืที่สำคัญ เช่น  1. ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าที่มีหลักฐานประจักษ์ว่าชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว  2.ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ทำกิน ฯลฯ  เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบางให้สามารถดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้  (อ่านรายละเอียดได้ที่https://www.m-culture.go.th/provincenetwork/images/File/CombineF .pdf)

แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง  มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว  แต่กลุ่มชาติพันธุ์  โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ  เช่น  ปัญหาเรื่องการประกาศเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง  ทำให้ชาวกะเหรี่ยงถูกขับไล่หรือถูกจับกุมดำเนินคดี  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  

จับอีก !! กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย  จ.เพชรบุรี  ข้อหาบุกรุกป่า

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563  สถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งกระจาน  จังหวัดเพชรบุรี  ได้ออกหมายเรียกให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย  อ.แก่งกระจาน  จำนวน 4 คน  ประกอบด้วย  1.นายแจ  พุกาด 2.นายหมี  ต้นน้ำเพชร  3.นายดูอู้  จีโบ้ง  4.นายบุญชู  พุกาด  มาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ปากคำ  ในวันที่  4 สิงหาคมนี้  ตามที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  ได้แจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.แก่งกระจานกับชาวบ้านบางกลอยทั้งคน 4  คน  ในข้อหา “ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน  รวมตลอดถึงก่นสร้าง  แผ้วถาง  หรือเผาป่า”

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านทั้ง 4 คนนี้ได้ร่วมกับนายโคอี้  มีมิ  หรือ ‘ปู่คออี้’  และนายกื้อ พุกาด  รวม 6 คน  ได้ฟ้องต่อศาลปกครอง  กรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรื้อเผาทำลายทรัพย์สินเมื่อปี 2554  จนกระทั่งเดือนกันยายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และมีคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านทั้ง 6 คน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  กล่าวว่า  ชาวบ้านที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่ฟ้องกรมอุทยานฯ ที่เผาบ้าน  ซึ่งนำโดยปู่คออี้  และศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าเจ้าหน้าที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและต้องจ่ายค่าเยียวยาให้ชาวบ้านทั้งหมด 6 ราย ซึ่งในคำพิพากษายังบอกให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี  3 สิงหาคม 2553  ในการฟื้นฟูและคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ปฎิบัติตาม  แถมยังดำเนินคดีกับชาวบ้านอีกจึงถือว่าเป็นการขัดคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี  เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าแก่งกระจานมานานก่อนที่จะมีการประกาศ ‘เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน’ ในปี 2524   และเริ่มถูกผลักดันออกจากเขตอุทยานฯ ตั้งแต่ปี 2539  ต่อมาในเดือนพฤษภาคม  2554  เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่  โดยทำลายทรัพย์สิน  ข้าวของ  และจุดไฟเผาบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงเสียหาย  ต่อมาชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจึงได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง 

ขณะเดียวกัน ‘นายพอจี  รักจงเจริญ’  หรือ ‘บิลลี่’  ชาวกะเหรี่ยง  ซึ่งเป็นผู้รวบรวมเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิ  และเป็นผู้นำการคัดค้านการย้ายกะเหรี่ยงบางกลอยออกจากพื้นที่ได้หายตัวไปในเดือนเมษายน 2557  โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่จับกุมตัวบิลลี่ในวันเกิดเหตุอ้างว่าได้ปล่อยตัวเขาแล้ว  คดีนี้มีการสืบสวนสอบสวนโดยดีเอสไอ  โดยทางภรรยาและญาติพี่น้องเชื่อว่าบิลลี่ถูกสังหารและเผาทำลายหลักฐานเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่  ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด

ความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตผูกพันและหากินอยู่กับป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ  ดังตัวอย่างที่บ้านบางกลอยเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน  ขณะที่หลายฝ่ายพยายามหาทางแก้ไขปัญหา  โดยคำนึงถึงสิทธิชุมชน  การฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง  รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ให้สามารถดำรงวิถีชีวิตต่อไปได้  ตามมติคณะรัฐมนตรี  3 สิงหาคม 2553

ย้อนมติ ครม. 3 สิงหาคม 2563

จากปัญหาความขัดแย้งเรื่องวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์  โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่มักจะมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยในป่าทับซ้อนกับเขตป่าต่างๆ ที่รัฐประกาศมายาวนาน  คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม  2553  ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  ดังนี้  

1.เห็นชอบหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  2. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงไปปฏิบัติ

ทั้งนี้ตามมติ ครม.ดังกล่าว  มีมาตรการฟื้นฟูระยะยาวดำเนินการภายใน 1-3 ปี  โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญด้านการจัดการทรัพยากร  ให้เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ป่าอนุรักษ์  ป่าสงวนฯ ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีข้อเท็จจริงจากการพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัย  ดำเนินชีวิต  และใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน  หรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมาย  หรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว  โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ  เช่น  “ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม

“จัดตั้งคณะกรรมการ  หรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน  การอยู่อาศัย  และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม  เพื่อจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ หรือการถือครองพื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับหน่วยงานรัฐ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  ผู้มีส่วนได้เสีย  นักวิชาการ  และผู้ปฏิบัติงานทางด้านวิถีวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน  ตลอดจนนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา  โดยกำหนดอำนาจหน้าที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์”

“ส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถี วัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียง  รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม”

“การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม กำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโดยมีพื้นที่นำร่อง เช่น   บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง  อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย,  ต.ไล่โว่  อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี ฯลฯ”

ชาวกะเหรี่ยงและหน่วยงานภาคีหนุนการจัดตั้งพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ

          ปัจจุบันนับเป็นเวลา 10 ปีแล้ว  นับแต่มีมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนคณะรัฐบาลหลายชุด  มติ ครม.ดังกล่าวจึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง  จึงทำให้ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่  อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมามีชุมชนชาวกะเหรี่ยงหลายพื้นที่ได้ประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษขึ้นมา  เพื่อประกาศให้สาธารณชนรับทราบว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองตามมติ ครม.ดังกล่าว

‘เจ้าวัด’ หรือ ‘เจ้าวัตร’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ถือศีล 5 แบบชาวพุทธ

โดยขณะนี้มี 12  พื้นที่   เช่น  บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน  อ.แม่วาง  จ.เชียงใหม่  ชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ  จ.ลำปาง,  บ้านแม่หมี  อ.เมืองปาน จ.ลำปาง, บ้านดอยช้างป่าแป๋  ต.ป่าพลู  อ.บ้านโฮ่ง  จ.ลำพูน  ฯลฯ  และที่เตรียมจะประกาศในเร็วนี้ๆ  คือ  ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  โดยที่ผ่านมา  ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าหลายครั้งด้วยกัน

อังคาร  คลองแห้ง ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  บอกว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีทั้งหมดประมาณ  200 ครัวเรือน  ประมาณ 700  คน  อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ดั้งเดิม  โดยมีนายปองซ่า  คลองแห้ง  บรรพบุรุษของตนเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกเมื่อปี 2415  ปัจจุบันนี้มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 11 คน  รวมระยะเวลาเกือบ 150 ปี  มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ  โดยการทำไร่แบบหมุนเวียน  เช่น  ปลูกข้าวไร่  ข้าวโพด  ฟักทอง  ฯลฯ  เก็บผักและอาหารจากป่า  เช่น  เห็ด  หน่อไม้  น้ำผึ้ง  พอปีต่อไปก็จะหมุนเวียนจากไร่ข้าวแปลงนี้ไปปลูกแปลงอื่น  เพื่อให้ดินได้พักฟื้น  กลับมาสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย  ไม่ใช่เป็นการทำไร่เลื่อนลอย  แต่เป็นการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป 

 “พอถึงปี 2528 ชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบ  เพราะมีการประกาศเขตป่าสงวนฯ ทับที่ดินทำกินที่ชาวกะเหรี่ยงทำมาแต่เดิม  ปี 2535 มีการประกาศเป็นเขตสวนป่า  เอาต้นไม้มาปลูกทับที่ทำกินอีก  เจ้าหน้าที่ห้ามชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน  ชาวบ้านไม่มีที่ทำกินก็ไม่มีรายได้  ไม่มีอาหาร  ต้องไปเป็นหนี้พ่อค้า  หนี้ ธกส.  จนถึงปี 2557  เป็นต้นมา  ปัญหารุนแรงขึ้น  เพราะมีการประกาศเป็นเขตวนอุทยานอีก  และจะให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายออกไปอยู่ที่อื่นภายในเดือนเมษายน 2560  พวกเราจึงเริ่มร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความเป็นธรรม  เพราะพวกเราอยู่มานานก่อนประกาศเขตป่า”  ผู้นำชาวกะเหรี่ยงเล่าความเป็นมาของปัญหา

แต่นับว่าเป็นโชคดีของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  เพราะถึงแม้ว่าจะมีการจับกุมชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่าจำนวน 1 ราย  แต่ต่อมาศาลได้สั่งยกฟ้องเพราะเห็นว่าชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน  นอกจากนี้การจากการเจรจาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  จังหวัดอุทัยธานี  คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  ฯลฯ  และตัวแทนชาวกะเหรี่ยงร่วมกับอุทยานแห่งชาติห้วยคตหลายครั้งนับแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

 จนถึงเดือนสิงหาคม  2562  อุทยานห้วยคตแจ้งว่า   อุทยานฯ จะกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน  และให้ชาวบ้านบริหารจัดการ  ดูแลรักษาป่า  รวมทั้งเพื่อให้เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงตามมติ ครม. 2553  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  9,000 ไร่เศษ  โดยชุมชนจะประกาศหรือสถาปนาเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

เตรียมผลักดันมติ ครม.ให้มีผลในทางปฏิบัติ-เสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

อังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  บอกว่า  เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงก็คือ  การดำรงวิถีชีวิตตามปกติของชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง  คือ  มีการทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวและอาหารเอาไว้กิน  มีจารีต  มีประเพณี  มีวัฒนธรรมอย่างไร  เราก็ปฏิบัติไปตามนั้น  ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องพิเศษแต่อย่างใด  แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ยอมรับในเรื่องสิทธิที่ดินที่พวกเราอยู่มาก่อน  เราจึงต้องเรียกร้องเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมขึ้นมา  และเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดอยู่อาศัยและทำกินต่อไป

ล่าสุดในระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม- 3 สิงหาคมนี้  พี่น้องชาวกะเหรี่ยงร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จะจัดงาน “มหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน  เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553” ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ร่วมกันนำเสนอรูปธรรมการจัดการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม สถานะ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 

2. เพื่อรณรงค์ให้มติ ครม.ดังกล่าวเป็นที่รับทราบต่อสาธารณะ  และผลักดันให้มีมาตรการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์  พร้อมนำเสนอปัญหาและอุปสรรคไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบาย  3. เพื่อผลักดันพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ  ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นพื้นที่ต้นแบบทั้งจังหวัด

ที่สำคัญก็คือ  หน่วยงานภาคีต่างๆ และชุมชนชาวกะเหรี่ยงมีแผนการผลักดันให้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  ยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลในการปฏิบัติภายในปี 2564 นี้  โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่าง ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์’  เพื่อให้สามารถคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง..!! 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ