หลายฝ่ายเห็นพ้องให้แม่ฮ่องสอนเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ผช.รมต.ทส.-นายกอบจ.-ร่วมผลักดัน หลากหลายชาติพันธุ์ร่วมปฎิญาณ ชาวบ้านบางกลอยร้องเรียนถูกกรมอุทยานฯ รังแก
————
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแม่ฮ่องสอน อ.เมือง จ.เชียงราย ได้มีการจัดงานมหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีมติคณะรัฐมนตรี 2553 โดยมีชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า 400 คนและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆเข้าร่วม
นายสุวพงษ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวต้อนรับว่า แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ 7 ล้านไร่ ประชากรกว่าร้อยละ 80 เป็นชาติพันธุ์ถือว่าเป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งความเป็นอยู่ปัจจุบันสะท้อนวิถีความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษโดยเฉพาะระบบเกษตรไร่หมุนเวียนที่หล่อเลี้ยงชุมชน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ถือว่าเป็นจังหวัดที่ประชาชนมีความสุขมากที่สุดของประเทศไทย
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านหลากหลายชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกันอ่าน “ปฏิญญาแม่ฮ่องสอน” ว่าด้วยการสืบทอดภูมิปัญญาระบบไร่หมุนเวียนและการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเนื่องในวาระการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยระบุว่าเป็นเวลากี่เดือนปี กี่รุ่นคน ที่ชีวิตต้องถูกตรึงภายใต้สังคมอันบิดเบี้ยว ต้องกลายเป็นผู้อยู่อาศัยภายใต้นานากฎหมายการจัดการทรัพยากรของประเทศที่กดทับชีวิตผู้คน
สัญญาประชาคมที่ชาวบ้านร่วมกันอ่านระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวแม่ฮ่องสอนจะร่วมกันยืนหยัดในวิถีชีวิต และประกาศเจตนารมณ์ต่อสังคมดังต่อไปนี้
1.ขอยืนยันว่าจะยังดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ พื้นที่แห่งนี้เป็นผืนดินที่บรรพบุรุษได้ก่นสร้าง อยู่อาศัย ทำกิน และดูแลรักษามาหลายร้อยปี หลายชั่วชีวิตคน เพื่อให้เป็นมรดกสืบทอดสู่ลูกหลาน พวกเรายืนยันที่จะที่ปกป้องรักษา
2.ขอยืนยันว่าไร่หมุนเวียนเป็นการใช้วิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่สุด วิถีการทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การทำลายป่า แต่เป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งชาวแม่ฮ่องสอนได้พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วจากตัวเลขผืนป่าที่มีมากที่สุดในประเทศ
3.ขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง อันได้แก่ การเพิกถอนพื้นที่ป่าของรัฐออกจากชุมชนดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ยุติการคุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ยึดพื้นที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยง 4.พวกเรายืนยันดำรงวิถีชีวิต โดยใช้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เป็นที่ตั้ง และจะเดินหน้าผลักดันให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ขณะเดียวกันตัวแทนชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ยื่นหนังสือต่อนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรี ทส.เพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยระบุว่าสืบเนื่องจากชาวบ้านบางกลอย หรือใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิมและอยู่อาศัยในที่ดินมาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่บรรพบุรุษ ต่อมาได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สั่งให้ชาวบ้านอพยพลงมา เมื่อ ปี พ.ศ.2539 โดยเจ้าหน้าที่ได้กล่าวหาและใส่ร้ายชาวบ้านว่าชุมชนเป็นชุมชนต้นน้ำที่ทำให้เสื่อมสภาพป่า และอ้างถึงเรื่องภัยความมั่นคง โดยเจ้าหน้าที่ ให้ชาวบ้านทดลองลงมาอยู่พื้นที่บ้านบางกลอยล่าง ถ้าอยู่ไม่ได้จะให้ชุมชนที่อาศัยในพื้นที่บ้านใจแผ่นดินกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม และจะช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน ภายใน 3 ปี ชาวบ้านจึงตัดสินใจลงมา แต่ไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกิน 7 ไร่ตามที่รับปากไว้ แต่ชาวบ้านไม่สามารถใช้ชีวิตได้ และตัดสินใจกลับขึ้นไปอยู่ที่เดิม จนกระทั่งปี 2554 อุทยานฯ ได้ไล่รื้อและเผาบ้านชาวบ้านเพื่อให้ย้ายลงมา ล่าสุดมีชาวบ้านจำนวน 4 รายถูกกรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดี ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน
ในหนังสือร้องเรียนของชาวบ้านบางกลอยระบุว่า ขอเรียกร้องถึงรัฐมนตรี ทส. ดังนี้
- 1.ขอให้มีการพิสูจน์สิทธิชาวบ้านบางกลอยบน หรือใจแผ่นดิน ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้ได้รับสิทธิกลับไปยังพื้นที่ของบรรพบุรุษ
- 2.ขอเร่งรัดดำเนินการให้ชาวบ้านบางกลอยล่างที่ต้องการอยู่ ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินตามที่อุทยานฯ เคยรับปากไว้
- 3.ขอให้สั่งการเพิกถอนการดำเนินคดีต่อชาวบ้านทั้ง 4 ราย
- 4.ยุติการข่มขู่คุคามดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอย
- 5.ขอให้ใช้แนวทาง มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้านกะเหรี่ยง เป็นแนวทางในการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน
นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า ล่าสุดชาวบ้านที่ถูกกรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีได้รับแจ้งจากทางตำรวจว่าทางอุทยานฯ ได้ขอถอนแจ้งความแล้วและไม่ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจแก่งกระจาน แต่ยังไม่ทราบถึงเหตุผลในการถอนแจ้งความครั้งนี้ และอยากให้มีหนังสือถอนแจ้งความอย่างเป็นทางการเพื่อที่ชาวบ้านจะได้สบายใจขึ้น
นายนพพล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวเปิดงานว่า ในฐานะภาคประชาชนคนหนึ่ง เราต้องต่อสู้ด้วยจารีตประเพณีให้อยู่อย่างยั่งยืน เพราะชาวบ้านมีความรู้สึกคล้ายๆกันที่พวกเขารักษาถิ่นฐานทำไร่หมุนเวียนและรักษาหน้าดินไว้ได้ แต่ความเข้าใจของสังคมเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เพราะบางคนเปิดหน้าดินปลูกพืชเชิงเดี่ยว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเข้าไปดูเพื่อช่วยกันรักษาป่าและต้นน้ำลำธาร ข้อกังวลของชาวบ้านคือเรื่องสิทธิในที่อยู่และที่ทำกินว่าจะเสียไปหรือไม่ โดยชาวบ้านได้อาศัยมติครม. 3 สิงหาคม 2553
นายนพพลกล่าวว่า การมีปัญหาระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ ที่แม่ฮ่องสอนควรทำอะไรที่พิเศษกว่าที่อื่น เพราะนอกจากมีป่าไม้เยอะพิเศษและคนพิเศษแล้ว ที่นี่ก็น่าจะมีอะไรพิเศษ ชาติพันธุ์ทั้งหลายกว่า 2 แสนคนในแม่ฮ่องสอนรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว หากเราจะทำเรื่องไร่หมุนเวียนให้สำเร็จ อาจต้องประกาศเป็นจังหวัดเขตวัฒนธรรมพิเศษ เมื่อได้ข้อนี้แล้ว สิทธิต่างๆ ก็ดีขึ้นและสามารถตอบโจทย์ภาครัฐให้ได้ เช่น ผู้ใดอยู่ป่าผู้นั้นต้องรักษาป่า เมื่อเป็นเช่นนี้ภาครัฐก็น่าเห็นด้วย หรือผู้ใดใช้น้ำก็ต้องรักษาป่าต้นน้ำให้ดี หากทำได้ก็เป็นข้อแลกเปลี่ยนที่หน่วยราชการเห็นด้วย หรือกรณีการทำไร่หมุนเวียน หากท่านรักษาหน้าดินไว้ได้ดีก็เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับอุทยานฯได้และเมื่อได้สิทธิแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกก็สำคัญ เช่น ไฟฟ้า ถนน ตรงนี้ท่านต้องคิดร่วมกันราชการและท้องถิ่นเพราะเกี่ยวข้องกับการออกแบบเพราะแต่ละชนเผ่ามีอัตลักษณ์ไม่เหมือนกัน
“อยากฝากไปยังส่วนราชการต่างๆ อยากให้ร่วมฟังและสรุปบทเรียนร่วมกับชาวบ้าน ควรมีการตั้งเวที่ประชาคมร่วมกับชาวบ้าน เราต้องไปด้วยกันทั้งหมด ”
นายนพดล กล่าว
นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกอบจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวปาฐกถาว่า อยากผลักดันให้แม่ฮ่องสอนเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ จริงๆแล้วไม่เห็นต้องเรียกร้อง หากหน่วยงานราชการเห็นความสำคัญของมติครม. 3 สิงหาคม 2553 ถ้าจังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องการทำเรื่องนี้ให้ได้ ก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีความพิเศษอย่างไร แม่ฮ่องสอนมีด้วยกัน 445 หมู่บ้าน แต่ 347 หมู่บ้านอยู่ในป่า ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านต้นน้ำนี่คือความหลากหลายที่พิเศษกว่าที่อื่น แต่ประเทศไทยชอบใช้กฎระเบียบกฎหมายเดียว ทั้งประเทศ
นายอัครเดชกล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าทำให้คนแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญความจน 3 ประการ คือ
- 1. จนสิทธิ
- 2. จนโอกาส เช่น บริการของรัฐ
- 3.จนเงินและรายได้
เพราะเมื่อที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิก็ไม่มีการลงทุนและไม่มีการจ้างงาน เหล่านี้คือความจนจากความผิดพลาดการใช้กฎหมายและละเลยความรับผิดชอบ แต่บนความจนเหล่านี้ก็มีความพิเศษ โดยคนที่นี่ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับป่า เราเชื่อว่าเราดูแลป่า ป่าก็จะดูแลคน เรารักษาธัญพืชโดยใช้ระบบนิเวศให้ดินฟื้นตัวผ่านไร่หมุนเวียน สมัยตนเรียนหนังสือครูสอนเรื่องไร่เลื่อนลอยว่าเป็นการททำลายป่าและสร้างความแห้งแล้งให้ธรรมชาติ เราถูกกล่อมหูเช่นนี้อยู่ตลอด จริงๆแล้วมันไม่ใช่ เพราะไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ไม่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์พืชที่รัฐบาลปล่อยให้ตัดต่อพันธุกรรม นี่คือสิ่งพิเศษที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมี
“อยากให้ยกระดับมติครม.เป็นกฎหมาย แต่การทำให้สำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนทั้งแม่ฮ่องสอนและภายนอก ความร่วมมืออย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือองค์กรภาคี เช่น นักวิชาการ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งแม่ฮ่องสอนจะเป็นจังหวัดต้นแบบไร้สารเคมีในการเพาะปลูกจากระบบไร่หมุนเวียน”
นายอัครเดช กล่าว
——————-