20 ก.ค. 2563 – กรณีสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยองฟ้องคดีปกครองกรณีน้ำมันรั่วระยองเมื่อปี 2556 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.10/2557 ระหว่าง สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ที่ 1 กับพวกรวม 453 คน ผู้ฟ้องคดี ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ศาลกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาคดีในวันที่ 21 ก.ค. 2563 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องพิจารณาคดี 1 อาคารศาลปกครองระยอง หลังจากเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ยกฟ้อง
คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 มีการตรวจสอบพบน้ำมันดิบลอยอยู่บนผิวน้ำจำนวนมากจากท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (บริษัท PTTGC) ห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 10 ไมล์ทะเลหรือประมาณ 18 กม. เนื่องจากเกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว รั่วทำให้น้ำมันดิบไหลทะลักออกสู่ทะเลประมาณ 50 – 70 ตัน และแพร่กระจายบนผิวน้ำเป็นบริเวณกว้าง มีระยะทางยาว 1.5 ไมล์
คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่ฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ, กรมเจ้าท่า, กรมประมง, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ และกรมควบคุมมลพิษ ที่ 1-6 ตามลำดับ
ข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation: CRC) ซึ่งเป็นทีมทนายความผู้ฟ้องคดี ระบุว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วเห็นว่า นอกจากบริษัท PTTGC จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดผลกระทบต่อตนเองและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น และต้องร่วมฟื้นฟูทะเลร่วมกันกับบริษัทด้วย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดจากการละเลยการไม่กำกับควบคุมดูแล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบระบบท่อที่ส่งน้ำมันให้มีสภาพใช้งานได้อย่างปกติไม่เกิดความเสียหาย แต่กลับไม่พบการตรวจสอบดังกล่าว
นอกจากนี้ ในการกำจัดน้ำมันที่รั่วไหล และการเผยแพร่ข้อมูลการรั่วไหลของน้ำมัน ยังมีการดำเนินการที่ไม่น่าจะถูกต้องตามหลักวิชาการ ดำเนินการล่าช้า ไม่มีแผนในการรับภัยจากน้ำมันรั่ว ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆดำเนินการ ดังนั้น หน่วยงานจึงมีหน้าที่ในการจะต้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ที่จำเป็นจะต้องมีการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียง แต่หน่วยงานมิได้ดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น
การฟ้องคดีปกครองจึงเป็นการฟ้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการฟื้นฟูทะเลร่วมกันกับบริษัท เพื่อดำเนินการให้ทะเลกลับมาสมบูรณ์ดังเดิม โดยได้ฟ้องขอให้หน่วยงานร่วมกันในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมประมาณ 400 ล้านบาท ขอให้หน่วยงานดำเนินการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทะเลระยองจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว และขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟูทะเลระยอง
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ยังระบุอีกว่า จนถึงปัจจุบัน ชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวระยองยังคงได้รับผลกระทบอยู่ ยังไม่สามารถหาจับสัตว์น้ำมาดำรงชีพได้เช่นเดิม ต้องออกทะเลไปไกลกว่าที่เคยทำอย่างน้อย 1-2 เท่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำประมงสูงขึ้นอย่างมาก และที่สำคัญ ยังไม่อาจจับสัตว์น้ำได้ดังเดิมหรือใกล้เคียง
การนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการให้โอกาสคู่ความเข้าให้การหรือแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อศาล และให้ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงต่อตุลาการเจ้าของสำนวนถึงความเห็นของตนว่า มีความเห็นในการจะพิพากษาคดีอย่างไร แต่ความเห็นดังกล่าวไม่ได้ผูกพันตุลาการเจ้าของสำนวน อันเป็นขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลปกครอง
ทั้งนี้ กรณีน้ำมันรั่วระยอง นอกจากการฟ้องคดีปกครอง ยังได้มีการยื่นฟ้องคดีแพ่ง ณ ศาลจังหวัดระยอง ในวันที่ 25 ก.ค. 2557 วันเดียวกันนี้ด้วย เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1150/2557 ความแพ่ง ระหว่าง สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ที่ 1 กับพวกรวม 429 คน โจทก์ บริษัท พิทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จำเลย โดยเป็นการฟ้องขอให้บริษัทได้ชดเชยค่าเสียหาย รวมประมาณ 400 ล้านบาท และให้บริษัทดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในทะเลระยอง คดีดังกล่าวมีการอุทธรณ์ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ก.ย. 2563 เวลา 9.00 น.