ย้อนรอย 5 ปี เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงสู่ทะเลระยอง คนระยองมองเห็นอะไร?

ย้อนรอย 5 ปี เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงสู่ทะเลระยอง คนระยองมองเห็นอะไร?

ลำดับเรื่องราวความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่หลังเหตุการณ์อุบัติภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ และตั้งคำถามต่อไปถึงการฟื้นฟูเพื่ออนาคตของคนและทะเลระยอง

จากนิทรรศการ 5 ปีน้ำมันรั่ว ที่ถูกจัดแสดงสู่สายตาของประชาชนบริเวณริมชายหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ในงานเสวนา “ครบรอบ 5 ปี น้ำมันรั่ว การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอ่าวระยองที่ยังห่างไกล” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพัฒนาชุมชนประมงท้องถิ่น จ.ระยอง เมื่อวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ทีมข่าวพลเมืองขอนำข้อมูลมาเสนออีกครั้ง

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลระยอง เพราะท่อแตกจากการขนถ่ายน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที ซีจี โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เหตุเกิดที่บริเวณทุ่นรับน้ำมัน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ปริมาณน้ำมันที่รั่วคาดว่าไม่น้อยกว่า 50,000 ลิตร

บริษัท พีทีที ซีจี ใช้วิธีการจัดเก็บโดยการใช้สารเคมีฉีดพ่นสลายคราบน้ำมัน ในปริมาณที่มากกว่า 30,000 ลิตร น้ำมันดิบบางส่วนที่กำจัดได้ไม่หมด… จึงไหลไปขึ้นที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด

 

เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม

สัตว์น้ำล้มตายอย่างเฉียบพลัน บางชนิดสูญหาย ลดลงไปจากพื้นที่

ชาวบ้านหลายกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบ เช่น
– กลุ่มประมง จับสัตว์น้ำไม่ได้
– กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเลจำหน่ายไม่ออก ยอดขายลดลง เพราะผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นความปลอดภัยของอาหารทะเลระยอง
– กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ขาดรายได้
และอีกหลายอาชีพต่อเนื่องก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน การชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ครอบคลุม บางอาชีพไม่ได้รับการชดเชย

กลุ่มชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปเรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าโรงงานของ ปตท. ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศูนย์ราชการ แต่ไม่คืบหน้า จึงเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

แต่ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัท ปตท. …

 

ความเสียหายเกิดขึ้นในชุมชนอ่าวระยอง

เริ่มมีทาร์บอลขึ้นชายหาด ตั้งแต่บริเวณชายหาดปากน้ำไปจนถึงปากคลองแกลง

สัตว์สงวนหรือสัตว์ทะเลหายาก เกิดล้มตายมากขึ้น ระบบนิเวศเปลี่ยนไป สัตว์เศรษฐกิจเช่น กุ้งเคยไม่มาตามฤดูกาล ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลง บางครั้งทำการประมงแล้วขาดทุนจึงต้องพักและเปลี่ยนอาชีพไป ความเดือดร้อนมีเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่มีการฟื้นฟูเยียวยาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมจากผู้ก่อมลพิษ

ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันฟ้องคดีความ กับ บริษัท พีทีทีซีจี โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษในทะเล เพื่อให้ฟื้นฟูทะเลระยองและชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

 

การฟ้องร้องคดีความ

วันที่ 27 กรกฎาคม 2557 กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กว่า 400 ราย รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งจังหวัดระยอง เรียกร้องให้บริษัท ปตท.ฟื้นฟูทะเลระยอง และชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องตามความเป็นจริง อีกทั้งยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในคดีสิ่งแวดล้อม กรณีหน่วยงานราชการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ในการทำงานสู้คดีร่วมกันของชาวบ้าน ทีมทนายความ และผู้ที่เป็นพยานฝ่ายโจทก์ ได้มีการระดมความคิดปรึกษาหารือโดยมีการจัดประชุมหาข้อสรุปร่วมกันในการดำเนินงาน ระหว่างมีการเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นศาล ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูฉบับชาวบ้าน ซึ่งเป็นแนวทางการฟื้นฟูทะเลระยอง โดยผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จริง และยื่นแผนฟื้นฟูนี้ให้ศาลจังหวัดระยอง หน่วยงานราชการ และบริษัท ปตท.ได้พิจารณา

หลังจากสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยครบทุกปาก ศาลจังหวัดระยอง มีนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 28 กันยายน 2561

 

เดินหน้าฟื้นฟูอ่าวระยอง

กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบร้องขอให้หน่วยงานมีการปิดอ่าวระยองเพื่อการฟื้นฟู

ในปี 2558 ทาร์บอลหรือก้อนน้ำมันยังคงขึ้นหาด ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ชาวประมงประสบปัญหาจับสัตว์น้ำไม่ค่อยได้ และสัตว์น้ำลดลง ชาวประมงและกลุ่มแม่ค้าชายหาดหลายพื้นที่จึงเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงค์ธรรมเพื่อหาทางแก้ปัญหา โดยร้องขอให้มีการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูทรัพยากร และจังหวัดจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ให้มีการปิดอ่าว 3 เดือนอย่างไม่เป็นทางการ

ชาวบ้านหลายกลุ่มทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างบ้านปลา ซั้งเชือก ซั้งกอ เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำ โดยหวังให้ทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น และได้ทำอย่างต่อเนื่องหลายพื้นที่ บางกลุ่มรณรงค์เก็บขยะชายหาด ไม่ทิ้งขยะลงทะเล ไม่ถ่ายน้ำมันเครื่องเรือลงสู่แม่น้ำลำคลองและในทะเล เพื่อไม่เป็นการไปเพิ่มมลพิษในทะเล

แต่การฟื้นฟูในลักษณะนี้ในอ่าวระยองก็ยังไม่ได้ผล สัตว์น้ำไม่เพิ่มปริมาณ กุ้งเคยยังไม่มาตามฤดูกาล ชาวบ้านจึงลงความเห็นว่า น่าจะเกิดจาก “อ่าวระยองยังมีมลพิษตกค้างจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วเมื่อปี 2556”

 

ภาพรวมความผิดปกติในอ่าวระยอง

เกิดปรากฏการณ์ สัตว์ทะเล เช่น หอยขึ้นมาตายหลายชนิดเกลื่อนหาดเป็นจำนวนมาก ชาวประมงและแม่ค้าพบเห็นปลาป่วย ปลาพิการ ตัวคดตัวงอ มีแผลเปื่อย ในขณะที่ยังไม่ตาย และที่ตายแล้ว คราบน้ำมันหรือทาร์บอลที่ยังคงขึ้นมาให้เห็นตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านชาวประมงจึงหวั่นวิตกเรื่องทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมในอ่าวระยองจะไม่กลับมาเหมือนเดิม แบบที่เคยอุดมสมบูรณ์ หากไม่ได้รับการฟื้นฟูทะเลอย่างถูกวิธีตรงกับสภาพปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ