ประมงพื้นบ้านระยอง เคลื่อนขบวนเรือ 200 ลำ ทวงถามมาตรการเยียวยาถมทะเล – น้ำมันรั่ว

ประมงพื้นบ้านระยอง เคลื่อนขบวนเรือ 200 ลำ ทวงถามมาตรการเยียวยาถมทะเล – น้ำมันรั่ว

เรือประมงพื้นบ้านกว่า 200 ลำ 48 กลุ่ม เคลื่อนพลลงพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง  รวมตัวเรียกร้อง เยียวยาเหตุถมทะเล พร้อมทวงความรับผิดชอบกรณีบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม ให้ฟื้นฟูน้ำมันรั่ว ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม และ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบแผนการทำงานที่ชัดเจนของบริษัทหรือหน่วยงานที่จะเข้ามาฟื้นฟูอย่างชัดเจน และเรื่องของเงินเยียวยาพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังเป็นข้อถกเถียงยังไม่จบ

ถมทะเลทำไม ?

การถมทะเลระยะ 3 นี่เป็นโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เพื่อรองรับการลงทุนของรัฐ เป้าหมายเพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ทำไมเรือประมงต้องออกมารวมตัวกัน ?

เพราะการถมทะเลมาบตาพุดระยะ 1 และระยะ 2 ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบไว้ไม่น้อย นอกจากชาวประมงถูกยึดพื้นที่ทำมาหากินในทะเลมาบตาพุดแล้ว ปลาที่เคยมีกลับหายไป สัตว์ในทะเลน้อยลง จากที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่ต้องออกไปจับสัตว์น้ำไกลจากฝั่งมากขึ้น โดยไม่มีการเยียวยา

ชาวประมงได้รับผลกระทบ เรื่องสัตว์น้ำย้ายที่อยู่ เนื่องจากการถมทะเล พื้นที่ทำกินก็จะหาย สัตว์น้ำผิวดินหายหมด ส่วนเรื่องการฟื้นฟูท้องทะเลก็ทำโดยไม่ได้ออกแบบ หรือสอบถามคนที่เชี่ยวชาญด้านทะเลอย่างตัวของชาวประมง แต่กลับเป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่มาจากรัฐส่วนกลาง

ไอซ์ คนพื้นที่จังหวัดระยอง

จากความเปลี่ยนแปลงนำมาสู่ความเสียหายที่เกิดขึ้น แล้วกำลังจะมีถมทะเลระยะ 3 เพิ่ม ทำให้กลุ่มชาวประมงจึงออกมาแสดงเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ เพื่อสื่อสารเรียกร้องให้เยียวยาผลกระทบโครงการถมทะเลระยะ 3


ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พวกเขาลุกขึ้นมาแสดงเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปีที่ วันที่ 29 เมษายน 2564 ก็เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนั้นมีการยื่นข้อเสนอถึงภาครัฐ ให้ทราบถึงความเดือดร้อนจากโครงการถมทะเลชายฝั่งและต้องได้รับการเยียวยา โดยมีประเด็นหลัก ๆ คือยื่นหนังสือให้ทบทวน และแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เยียวยาชาวประมงเรือเล็กพื้นบ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อนเหตุถมสร้างท่าเรือระยะ 3 กว่า 400 ไร่ โดยนำแนวทางของการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง มาเป็นโมเดลในการเยียวยาให้กับชาวประมงตามสัดส่วนของความเดือดร้อน และระยะเวลาในการดำเนินการ

นี่เป็นปัญหาผลกระทบกับพื้นที่ทำกินของชาวประมงระยองมานานครับ ซ้อนทับลงอีกคือเมื่อน้ำมันรั่วในปี 56 ทรัพยากรหลายอย่างที่เคยมีน้อยลง บางชนิดหายไป จนมาปีที่แล้ว ชาวประมงก็ยิ่งเพิ่มความกังวลใจมากขึ้น เพราะโควิด-19 กระทบตลาด ระบาดสู่ระบบเศรษฐกิจ

โควิดยังไม่หาย ซ้อนทับลงไปอีกชั้นหนา ๆ คือเหตุการณ์ล่าสุดที่น้ำมันรั่ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม และ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนตอนนี้ก็ยังไม่มีแผนการฟื้นฟู ดูแล เยียวยาที่ชัดเจน ก็เลยเกิดเป็นการออกมาแสดงสัญลักษณ์ในครั้งนี้ กับ 2 ประเด็นใหญ่ ทั้งการทวงข้อเยียวยาก่อนเข้าสู่พัฒนานิคมอุตสาหกรรมระยะ 3 และเพื่อต้องการให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น 2 ครั้งที่พึ่งเกิดขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ