Peace Moving Forward: ฟังการเดินหน้าจากทุกฝ่ายบนโต๊ะพูดคุย ฟังวาระสันติภาพจากคนใน

Peace Moving Forward: ฟังการเดินหน้าจากทุกฝ่ายบนโต๊ะพูดคุย ฟังวาระสันติภาพจากคนใน

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ร่วมกับ 15 องค์กรเตรียมจัดงาน “วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016” ในวันครบรอบ 3 ปีการพูดคุยสันติภาพ 28 กุมภาฯ ที่ ม.อ.ปัตตานี ชูแนวคิด“สันติภาพเดินหน้า”(Peace Moving Forward) เปิดโอกาสทุกฝ่ายบนโต๊ะพูดคุยรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะ พร้อมรับ “วาระสันติภาพจากพื้นที่” (Agenda Damai Dari Rakyat) เป็นวาระในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

20161602213201.jpg

บรรยายภาพ : ภาพในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace #vivipeace เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ห้องประชุมใหญ่ (ห้อง 900) ชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 

วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีครั้งที่ 3 สมัชชาสันติภาพ 2016

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ร่วมกับหลายองค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมจัดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ (ห้อง 900) ชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น.โดยปีนี้ใช้ชื่องานว่า “สันติภาพเดินหน้า เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพในพื้นที่สาธารณะ” (3rd Pa(t)tani Peace Media Day and Peace Assembly 2016 Peace, Moving Forward Platform for Peace Report in Public Sphere)

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยว่า วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 ชูแนวคิดที่ว่า “สันติภาพเดินหน้า” (Peace Moving Forward) เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ขัดแย้งหลักและผู้อำนวยความสะดวกได้รายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพต่อสาธารณะและเปิดเวทีให้ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ได้ส่งเสียงนำเสนอข้อกังวล ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

“ในขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองจากประสบการณ์และบทเรียนของผู้ที่ทำงานสื่อสารในการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพในห้วงปีที่ผ่านมาด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

“สนามสันติภาพ” เผยผู้เล่นอันหลากหลาย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้กระบวนการสันติภาพอาจจะยังไม่มั่นคงนัก แต่ทิศทางการหาทางออกด้วยวิธีการทางการเมืองนี้ก็เดินหน้าไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่คู่ขัดแย้งและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มต่างก็มีส่วนในการผลักดันให้กระบวนการนี้ขับเคลื่อนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ประเด็นนี้ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

“ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารต่อสาธารณชนให้ได้รับรู้และติดตามความเป็นไปของสถานการณ์สันติภาพที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีพลวัต เพราะในห้วงเวลาที่กระบวนการสันติภาพกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ จำเป็นต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คณะผู้จัดงานฯจึงเห็นร่วมกันในการเปิดเวทีและพื้นที่สาธารณะในงานนี้ขึ้นมา” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวด้วยว่า หลังจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้งหลักในชายแดนใต้/ปาตานีได้เผยตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่และสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการอภิปรายถึงปัญหารากเหง้าและถกเถียงถึงทิศทางที่ควรเป็นไปในอนาคตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พื้นที่ทางการเมืองได้ขยายตัวออกไปพร้อมๆ กับการมีบทบาทสำคัญของการสื่อสารสาธารณะในแทบจะทุกช่องทาง ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพก่อตัวขึ้นตามมา จนอาจเรียกได้ว่า“สนามสันติภาพ”ที่มีผู้เล่นอันหลากหลายที่ต่างทั้งจุดยืนและความคิดเห็นได้เผยตัวให้เห็นอย่างชัดเจน

จากวันสื่อทางเลือกสู่วันสื่อสันติภาพ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งซึ่งเดิมได้ร่วมกันจัดงาน“วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้”เป็นประจำทุกปีในวันที่ 13 มีนาคม และปรับหมุดหมายใหม่ในปี 2557 โดยเปลี่ยนชื่องานเป็น ‘วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี’ ให้ตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ความสำคัญกับความพยายามเพื่อสันติภาพและการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งสร้างภาพจำต่อแนวทางการต่อรองในทางการเมืองในฐานะที่เป็นความหวังใหม่ให้แก่สังคมไทย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพูดคุยสันติภาพชะงักงันในปลายปี 2556 และในที่สุดมีการรัฐประหารขึ้นในกลางปีถัดมา แต่รัฐบาลต่อจากนั้นก็ยังต้องผลักดัน“การพูดคุยเพื่อสันติสุข”อย่างต่อเนื่อง ผ่านการสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายขบวนการต่อสู้ปาตานีเองก็มีการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งองค์กรร่มที่รวบรวมหลายกลุ่มเข้าไว้ด้วยกันในนาม“มาร่าปาตานี” แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่การพูดคุยสันติภาพก็เดินหน้าไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ในขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมา ก็พบว่ามีความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่พยายามสร้างพื้นที่ต่อรองโดยที่ไม่ใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะยังมีผู้ที่กังขาต่อความมุ่งมั่นจริงจังและความชอบธรรมของคู่ขัดแย้งอยู่บ้างก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนพลวัตทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป”ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

4 กิจกรรม ฟังคู่ขัดแย้งและวาระจากพื้นที่

สำหรับรูปแบบการจัดงานในปีนี้ เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยมี 4 กิจกรรมสำคัญๆ คือ กิจกรรมแรก “การรายงานสถานการณ์สันติภาพ” จากผู้แทนหรือบุคคลสำคัญที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

กิจกรรมที่ 2 เวทีสะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพ โดยการอ่านแถลงการณ์ในช่วง “วาระสันติภาพจากพื้นที่” (Agenda Damai Dari Rakyat) เพื่อหยิบยกข้อเสนอทางการเมืองและผลักดันให้เป็นวาระในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

กิจกรรมที่ 3 เวทีสะท้อนย้อนคิดข่าวสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี จากนักวิชาการสื่อสาร สื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อมวลชนท้องถิ่น และ กิจกรรมที่ 4 นิทรรศการภาพถ่าย“สันติภาพชายแดนใต้”โดยเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมในงานประกอบด้วย ครือข่ายสื่อ องค์กร เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ นักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ และตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง นักศึกษา ประมาณ 500 คน

กว่า 15 องค์กรร่วมจัด

รายชื่อองค์กรสนับสนุนงบประมาณ ได้แก่ มูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพ, ประเทศญี่ปุ่น สภาประชาสังคมชายแดนใต้ และคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ในขณะที่องค์กรร่วมจัด ประกอบด้วย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม (CSCD) ม.อ.ปัตตานี คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ ม.อ.หาดใหญ่

ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative – PRC) สถาบันพระปกเกล้าฯ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ วิทยาลัยประชาชน ชุมชนศรัทธา โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ มูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพ ฯลฯ

 

 

(ร่างกำหนดการ)

วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016

3rd Peace Media Day and Peace Assembly 2016

สันติภาพเดินหน้า

เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพในพื้นที่สาธารณะ  

PEACE, MOVING FORWARD

PLATFORM FOR PEACE REPORT IN PUBLIC SPHEARE

เวลา 8.00-16.00 น วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559

.ณ ห้องประชุมใหญ่ (ห้อง 900) ชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร  

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

#peacemove

กำหนดการ

8.00-9.00 น. 

ลงทะเบียน

9.00-9.05 น.

กล่าวต้อนรับ โดย ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

9.05-9.10 น.

กล่าวรายงาน โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

9.10-9.15 น.

กล่าวเปิดงาน โดย รองศาสตราจารย์ อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ดุลยปาฐก: เวทีรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยเพื่อสันติสุข

9.15-9.35 น.

ปาฐกถา 1 “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการพูดคุยเพื่อสันติสุข”

โดย  พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้

9.35-9.55 น.

ปาฐกถา 2 “ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”

โดย  อาวัง ญาบัต*ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI)   

9.55-10.15 น.

ปาฐกถา 3 “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”

โดย  ดาโต๊ะ ซัมซามิน บิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

วาระสันติภาพจากประชาชน: เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพและข้อเสนอ (AGENDA DAMAI DARI RAKYAT)

10.30-12.30 น.

การกล่าวถ้อยแถลงของบรรดาเครือข่ายประชาสังคมและกลุ่มองค์กรต่างๆ*

อาทิ  (อยู่ระหว่างการประสานงาน)

·         สภาประชาสังคมชายแดนใต้

·         สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์

·         เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P)

·         สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสต์ภาคใต้

·         กลุ่มด้วยใจ

·         มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

·         คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้

·         สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (WePeace)

·         เครือข่ายสาธารณสุขยะรัง

·         สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

·         กลุ่มช่างภาพเพื่อสันติชายแดนใต้ (PPS)

·         กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (Dream South)

·         เครือข่ายชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา”

·         ฯลฯ

12.30-12.40 น.

กล่าวสรุปเวทีช่วงเช้า โดย นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาสังคมชายแดนใต้

12.40-14.00 น.

รับประทานอาหารกลางวันและละหมาด

เวทีเสวนาสะท้อนย้อนคิดข่าวสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

14.00 -14.20 น.

เปิดประเด็น: นำเสนอผลการศึกษาสถานภาพการสื่อสารภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ (CPCS) คณะวิทยาการสื่อสาร วิทยาเขตปัตตานี

โดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

14.20 – 16.00

เสวนา “สะท้อนย้อนคิดข่าวสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี”

ร่วมอภิปรายโดย*

·         นายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันข่าวอิศรา

·         นางสาวติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

·         นางสาวอัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์

·         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภีรกาญจน์  ไค่นุ่นนา หัวหน้าสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

·         นายตูแวดานียา มือรีงิง บรรณาธิการสำนักข่าวอามาน (AMAN News) และผู้สื่อข่าวช่อง 3 มาเลเซีย (TV3)

ดำเนินรายการโดย

·         ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

·         นายสะรอนี ดือเระ  บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

หมายเหตุ:   

1.* กำลังอยู่ระหว่างประสานงาน

2. มีการถ่ายทอดสดตลอดงาน

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ