เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างฯแถลงการณ์ หยุดโขง เลย ชี มูล

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างฯแถลงการณ์ หยุดโขง เลย ชี มูล

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร แถลงการณ์หยุดโขง เลย ชี มูล ณ ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ระบุขอให้แก้ไขปัญหาเก่าให้เสร็จก่อน และต้องจัดให้มีการศึกษาผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ

แถลงการณ์ หยุดโขง เลย ชี มูล ปัญหาเก่าแก้ไขให้เสร็จก่อน

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อย่างเช่นการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และการขุดลอกแหล่งน้ำ

ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง มองว่าการเดินทางลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบนั้นไม่ได้ศึกษาหรือหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านอย่างจริงจังแต่เป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่า ในขณะที่ปัญหาโขง ชี มูล เดิมก็ยังแก้ไขไม่เสร็จแต่กลับจะมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยการจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีกโดยการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ฉะนั้นบทเรียนที่ผ่านมาการต่อสู้ของคนในลุ่มชีสะท้อนให้เห็นแล้วว่าการจัดการน้ำขนาดใหญ่โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนั้นไม่ใช่คำตอบการแก้ไขปัญหาแต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม และโครงการโขง ชี มูน คือ การสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ในทางกลับกันโครงการเหล่านี้กลับสร้างผลกระทบตามมา ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่กลับพบว่าการจัดการน้ำในรูปแบบแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนท้องถิ่น เป็นทางแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า

ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบดังนี้ คือ

1.หยุดสร้างวาทกรรมผ่านโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง และให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลและโครงการอื่น ๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่า นอกจากจะสร้างผลประโยชน์และสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน แล้วผลักภาระผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่น

2.เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในโครงการ โขง ชี มูล เดิมให้แล้วเสร็จ

3.จัดให้มีการศึกษาผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร
วันที่ 6 กรกฎาคม 2563
ณ ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ