เสียงสะท้อนจากเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำไมเยาวชนรุ่นใหม่ควรอนุรักษ์การทอผ้ากะเหรี่ยง-ภาษาเขียนกะเหรี่ยง

เสียงสะท้อนจากเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำไมเยาวชนรุ่นใหม่ควรอนุรักษ์การทอผ้ากะเหรี่ยง-ภาษาเขียนกะเหรี่ยง

“เสียงสะท้อนจากเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำไมเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

รุ่นใหม่ควรอนุรักษ์การทอผ้ากะเหรี่ยงและภาษาเขียนกะเหรี่ยง”

การทอผ้ากะเหรี่ยงและภาษาเขียนกะเหรี่ยงนั้นถือว่าสองสิ่งนี่เป็นสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่กับชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมาช้านาน ตั้งแต่อดีตจนถึงยุดสมัยที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และทั่งสองสิ่งนี้ถือว่าเป็นมรดกที่ชาวกะเหรี่ยงรุ่นแล้ว รุ่นเล่าได้สืบสานและสืบทอดต่อกันมา แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่ามรดกที่บรรพบุรุษได้สืบสานกันไว้นั้นเริ่มที่จะจางหายไป เหตุประการหนึ่งอาจเป็นเพราะยุคสมัยที่ วัฒนธรรมและประเพณีนั้นอาจจะไม่มีบทบาทกับเยาวนคนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่มากเท่าที่ควร บางอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ล้าหลัง บางอาจมองว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์ต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้สืบทอดกันมา

ก่อนที่เราจะมาพูดถึงเรื่องเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับการอนุรักษ์การทอผ้ากะเหรี่ยงและภาษาเขียนกะเหรี่ยงนั้นผมอยากให้ท่านผู้อ่านทราบว่าความเป็นมาของทั้งสองสิ่งที่ว่าการทอผ้ากะเหรี่ยงและภาษาเขียนกะเหรี่ยงนั้นมีที่เรื่องราวความเป็นมาอย่างไร

ประการแรก การทอผ้ากะเหรี่ยงเป็นสิ่งที่ดีบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการสังสรรค์การประดิษฐ์ เครื่องแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงและการออกแบบการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งในอดีตนั้นการทอผ้ากะเหรี่ยงจะสงวนไว้สำหรับผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงในการทอผ้าและมีแต่สตรีชาวกะเหรี่ยงเท่านั้นที่สามารถทอผ้าได้ อันเนื่องด้วยเหตุผลว่าบรรพบุรุษได้แลเห็นว่าเป็นงานที่เหมาะสมกับสตรีของชนเผ่า ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นหน้าที่ของผู้เป็นสตรีเท่านั้นที่จะทอได้ ในวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงนั้นผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน จะสวมเสื้อผ้ากะเหรี่ยงสีเขา ที่เรียกว่า “เชวา” ความหมายของเสื้อเชวา หมายถึง ความบริสุทธิ์ และไร้ซึ่งมลทิน ซึ่งสื่อถึงหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงานและยังไม่มีครอบครัว ส่วนสตรีชาวกะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้ว จะส่วมเสื้อที่เรียกว่า “เชซู” ซึ่งสื่อถึงผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในครัวเรือน สิ่งเหล่านี้คือหมายของเสื้อผ้าชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงและหมายของการแต่งกาย

“เชวา” ความหมายของ เสื้อเชวา หมายถึง ความบริสุทธิ์ และไร้ซึ่งมลทิน ซึ่งสื่อถึงหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงานและยังไม่มีครอบครัว

“เชซู” ซึ่งสื่อถึงผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในครัวเรือน

ข้อมูลจาก เสื้อกะเหรี่ยงสีธรรมชาติ

ประการที่สอง ภาษาเขียนกะเหรี่ยงหรือตัวเขียนกะเหรี่ยงนั้นมีอยู่สองรูปแบบที่ชาวกะเหรี่ยงในแต่ละพื้นที่ใช้เรียกกัน รูปแบบแรกเรียกว่า “ Lif Romeif ลิโรเม”  เป็นตัวอักษรหรือตัวเขียนที่ใช้กับพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนมากจะพบตัวเขียนเหล่านี้ในแถบ จังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และ เขตภาคเหนือ ในบางจังหวัด เนื่องจากการเผยแพร่งานประกาศคำสอนของมิชชันนารี
ชาวฝรั่งเศส ที่มาแพร่ธรรมเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ให้แก่ชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงในสมัยก่อน และได้ประดิษฐ์ตัวอักษรเขียนเหล่านี้สำหรับงานศาสนา

“ Lif Romeif ลิโรเม”  

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “ Lif Waf  ลิวา ” เป็นภาษาเขียนหรือตัวอักษรแบบดังเดิมของชาวกะเหรี่ยง ไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่แน่ชัดของตัวอักษรเหล่านี้ว่าใครเป็นคนประดิษฐ์ และเผยแพร่  
“ Lif Waf ลิวา ” จะเขียนเหมือนกับตัวอักษรของชาวเมียนมาร์ แต่อ่านออกเสียงไม่เหมือนกัน ซึ่งตัวอักษรนี้จะพบมากที่สุดในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์ รองลงมาในประเทศไทยในเขตจังหวัดภาคเหนือ และกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศที่สามที่ยังคงใช้ตัวอักษรเหล่านี้กันอยู่ มาถึงตอนนี้แล้วท่านผู้อ่านคงจะทราบประการหนึ่งแล้วว่าความเป็นมาของทั้งสองสิ่งนี้มีความสำคัญต่อพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอย่างไร

“ Lif Waf  ลิวา ”

ทั้งสองอย่างนี้ ได้เริ่มจางหายไปบางแล้วเนื่องด้วยอิทธิพลของการพัฒนาและอิทธิพลของสังคมที่พี่น้องชาวกะเหรี่ยงได้อาศัยอยู่ในสังคมที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ใช้ วัฒนธรรม ภาษา และภาษาเขียนของตัวเองในการสื่อสารและดำรงชีพที่มากพอแก่กันอนุรักษ์   ดังนั้นจึงต้องมีการรื้นฟื้นเพื่อให้ขนบประเพณีและวัฒนธรรมที่สวยงามของชาวกะเหรี่ยงนั้นอยู่สืบต่อไป ดังนั้นการปลูกฝังชาวเยาชนคนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ให้รู้จักกันอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าของตัวเองและการสืบสานภาษาเขียนนั้นให้คงอยู่สืบต่อไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเอาเสียเลย โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เทคโนโลยีได้มีบทบาทกับชีวิตของเยาวชนเหล่านี้มากขึ้น อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเหล่านั้นได้เติบโตขึ้นมา นี้อาจเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเยาวชนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ในทั่งกลาง พหุวัฒนธรรมที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเรียนรู้การปรับตัวและการเรียนรู้วัฒนธรรมของตนเองให้มากขึ้น  แน่นอนว่าชาวกะเหรี่ยงทุกคนต้องมีหน้าที่ในการผลัดดันให้พวกเขาเรียนรู้ในวัฒนธรรมของตนเอง หากไม่อยากให้การทอผ้าและภาษาเขียนซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชนเผ่าตัวเองต้องหายไป 

Photo by Netipong SaiCholsrijinda

ดังนั้นการร่วมแรงร่วมใจส่งเสริมให้พวกเขาเหล่านั้นตระหนักถึงคุณค่า ของอัตลักษณ์ของตัวเองย่อมต้องเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่เยาวชนเหล่านี้ จะได้รู้จักชีวิตและขนบธรรมเนียมที่ดีของตัวเองเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดการยอมรับในตัวเอง หากพวกเขาเหล่านั้นยอมรับในตัวเองได้ พวกเขาจะรับรู้ถึงคุณค่าในชีวิตของการเป็นชาติพันธุ์ของตัวเองและจะตระหนักได้ว่าวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่านั้นคู่ควรกับการอนุรักษ์เพียงใด การผลัดดันให้เยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตระหนักถึงคุณค่าของการทอผ้านั้นและภาษาเขียนนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี อีกในแง่มุมหนึ่งการที่พวกเขาได้เติบโตมาในสังคมที่มีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นผลเสียต่อการอนุรักษ์ของชนเผ่าตนเองไปสักทีเดียวหากพวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะอยู่กับสิ่งใหม่ๆเหล่านี้อย่างชาญฉลาด ถ้าหากพวกเขาเรียนรู้ที่จะประยุกต์สิ่งใหม่ๆและขนบธรรมเนียมเดิมเข้าด้วยกันนับว่า เป็นการสังสรรค์และต่อยอดวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมแล้วให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น แต่การกระทำเช่นนี้ ต้องไม่ทำลายขนบประเพณีดังเดิมที่มีอยู่

ดังที่  อาจารย์ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ได้ให้คำแนะนำว่า  “วัฒนธรรมถ้าหยุดนิ่ง ก็เหมือนคนไม่หายใจ แต่การสร้างสรรค์ต่อยอดก็ไม่ควรทำลายคุณค่าเดิม. คุณค่าสำคัญกว่ารูปแบบ ดังนั้นการทำลายคุณค่าอันตรายกว่าทำลายรูปแบบ ” 

“เสียงสะท้อนจากเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง”

” ครูคนหนึ่งเคยบอกกับฉันว่า เธอเกิดมาเป็นคนปาเกอญอนะ ควรที่จะเรียนรู้ภาษาและภาษาเขียนกะเหรี่ยงของตัวเอง และควรภูมิใจในการเป็นเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง คุณครูยังตอกย้ำด้วยว่า เธอไม่อายเหรอที่อ่านออกเขียนภาษาของตัวเองไม่ได้ แต่กลับอ่านเขียนภาษาของคนอื่นได้ ณ ประเด็นนี้ทำให้ฉันได้ตระหนักถึงการรักษาวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้ และฉันเห็นด้วยว่า หากเราไม่เรียนรู้ภาษาของตัวเองและลูกหลานในอนาคตของพวกเราจะรู้จักสิ่งที่ดีงามจากชาติพันธุ์ของตัวเองได้อย่างไร และหากไม่มีใครใส่ใจสิ่งนี้ สักวันหนึ่งมรดกที่บรรพบุรุษได้ทิ้งไว้ให้กับเรานั้นจะสูญหายไป ดังนั้นจึงฉันพยายามที่จะเรียนรู้ภาษาของตัวเองและการเขียนภาษาของตัวเองให้มากขึ้น”


นางสาว พสิกา รัชชานนท์ไพลิน เยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จังหวัด ตาก

” เพราะการทอผ้าเป็นเอกลักษณ์ของคนปาเกอญอที่ไม่เหมือนชนเผ่าอื่น มีลายที่หลากหลายและวิธีการทำที่ซับซ้อน แต่ก็แฝงด้วยความสวยงามและความหมาย เช่น สมัยก่อนผู้หญิงที่ใส่เสื้อทอสีขาวยาวจะหมายถึงผู้หญิงที่บริสุทธิ์ ยังไม่ผ่านการแต่งงาน และผู้หญิงที่ใส่เสื้อทอสีดำสั้นจะหมายความว่าเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เป็นต้น ผ้าทอของ

คนปาเกอญอในแต่ละพื้นที่ก็มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาลาย สี และลักษณะของผ้าทอให้มีความหลากหลายมากขึ้นและมีความยืดหยุ่นในการใส่ ในอดีตเสื้อผ้า ย่าม หรือผ้าถุงปาเกอญอส่วนใหญ่จะทอด้วยมือ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยเพราะประหยัดเวลาในการทำมากกว่า การทอผ้าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคนปาเกอญอที่บรรพบุรุษของเราสร้างขึ้นมาและควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้คนอื่นรู้ว่าเรามีตัวตนอยู่ เรามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและไม่ควรมีใครมาดูถูกหรือทำลายเอกลักษณ์ที่สวยงามนี้ได้ ”


นางสาว นุชชบา เนตรนิรันดร เยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จังหวัด ตาก

”ถ้าทุกวันนี้เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงยังไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการทอผ้ากะเหรี่ยงของตัวเองและภาษาเขียนกะเหรี่ยงแล้ว ในภายข้างหน้าเราจะเอาเรื่องราวที่ดีงามของชนเผ่าของเราที่ไหนบอกเล่าแก่ลูกหลานของเรา ถ้าหากวันนี้เรายังไม่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ สักวันหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาช้านานจะจางหายไป”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ