เสียงจากชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร แก้ปัญหาลำน้ำกว้าง-ลำน้ำกุดกุง

เสียงจากชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร แก้ปัญหาลำน้ำกว้าง-ลำน้ำกุดกุง

17 มิถุนายน 2563 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดยโสธร แถลงการณ์ขอให้ชลประทานดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำลำน้ำกว้าง-ลำน้ำกุดกุง เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างแท้จริง

แถลงการณ์ เร่งรัดชลประทานแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำลำน้ำกว้าง-ลำน้ำกุดกุง

ด้วยเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดยโสธร ได้จัดกิจกรรมเดินเพื่อสายน้ำ เดินสำรวจเส้นทางน้ำในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลเขื่องคำ,ตำบลขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ตำบลย่อ,ตำบลสงเปือยและตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร และมีข้อสรุปในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ร่างร่วมกับโครงการชลประทานจังหวัดยโสธร มาตั้งแต่ปี2558 ซึ่งทางจังหวัดยโสธรมีผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านไปแล้ว 3 ท่าน และผู้อำนวยการโครงการชลประทานก็เปลี่ยนผ่านไปแล้ว 3 ท่าน เช่นกัน โดยภาพรวมของพื้นที่ 5 ตำบล มีสภาพปัญหาน้ำท่วมแล้งซ้ำซาก ทางเครือข่ายจึงพยายามเสนอให้มีคณะกรรมการจัดการน้ำลำน้ำกว้าง – ลำน้ำกุดกุง จังหวัดยโสธร ให้มีประสิทธิภาพและเกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

กว่า 5 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านยื่นหนังสือให้ชลประทานดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมลำน้ำกว้างและลำน้ำกุดกุง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่ชาวบ้านในลำน้ำได้ใช้ประโยชน์จริงๆ แต่การบริหารจัดการน้ำกลับไม่ได้รับการตอบสนองตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ซึ่งลำน้ำกว้าง-ลำน้ำกุดกงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี ที่มีจุดเริ่มต้นจากตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร ไหลผ่าน ตำบลขุมเงิน ตำบลย่อ ตำบลสงเปือย ตำบลกุดกง และมีระบบนิเวศน์ที่หลากหลายทั้งป่าบุ่งป่าทาม พันธุ์พืช พันธุ์ปลาหลากหลายชนิด เดิมชาวบ้านริมลำน้ำกว้าง-ลำน้ำกุดกุง ได้พึ่งพาอาศัยฐานทรัพยากรในการดำรงวิถีชีวิตตามฤดูกาล และที่สำคัญยังทำให้ชุมชนได้มีการประกอบอาชีพด้วย เช่น การหาปลา การใช้น้ำริมลำน้ำในการทำนาปรัง การปลูกผัก ตลอดจนการเลี้ยงวัว-ควาย เป็นต้น

สถานการณ์ปัจจุบันลำน้ำกว้าง-กุดกุง ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำจากหลายหน่วยงานโดยเฉพาะการสร้างฝายที่มีประตูเปิด-ปิด เป็นช่วง ๆ แต่การบริหารจัดการไม่ได้มีโครงสร้างในการดำเนินการที่ชัดเชนจากชลประทาน ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่กลางลำน้ำ และปลายลำน้ำนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง ในขณะที่พื้นที่ช่วงฤดูน้ำหลากน้ำได้หลากท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหาย ในฤดูแล้งในลำน้ำกลับไม่มีน้ำทำนาปรังเพื่อทดแทนนาปี

ดังนั้น วันนี้การเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดยโสธรจึงอยากให้ชลประทานดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องในการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างแท้จริง

น้ำเป็นของประชาชน ชลประทานต้องจริงใจแก้ไขปัญหา

แถลง ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2563 ณ ท่าเฒ่าอู ลำน้ำกว้าง-กุดกุง

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดยโสธร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ