พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ค้าน “เขื่อนสานะคาม” ชี้ความมั่นคงพลังงาน ไม่ใช่การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ค้าน “เขื่อนสานะคาม” ชี้ความมั่นคงพลังงาน ไม่ใช่การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า

2 มิ.ย. 2563 กลุ่มพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง หรือ Save the Mekong ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำโขงจาก ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศแม่น้ำโขง 4 ประเทศและคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงทบทวนด้านพลังงานของภูมิภาคแทนเขื่อนไฟฟ้าที่สร้างผลกระทบ ชี้รายงานการศึกษาผลกระทบโครงการเขื่อนสานะคามคัดลอกจากเขื่อนปากลายและปากแบง

ในแถลงการณ์ระบุว่า เขื่อนสานะคามไม่ควรจะถูกสร้าง เพราะมีมูลค่าการก่อสร้างสูง ไม่มีความจำเป็น และมีความเสี่ยง  โดยเขื่อนแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 684 เมกะวัตต์ มีมูลค่าค่าก่อสร้างกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 8 ปี หากเฉลี่ยเวลาในก่อสร้างแล้วเขื่อนจะติดตั้งพลังงานได้เพียง 90 เมกะวัตต์ต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับการติดตั้งพลังงานทางเลือกอื่นในภูมิภาค เช่น การติดตั้งพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามพบว่า เฉพาะเดือน เม.ย.- ก.ค. มีกำลังการผลิตติดตั้งมากถึง 4,400 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าเขื่อนสานะคามถึง 6 เท่า 

การสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นเขื่อนสานะคาม มีความเสี่ยงมากขึ้น ใช้เวลาก่อสร้างนาน ใช้เงินลงทุนสูง และจะกลายเป็นทรัพย์สินที่สร้างภาระ โดยความเสี่ยงต่าง ๆ นี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสร้างเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงในตอนบน ซึ่งจะทำให้การไหลและระดับน้ำไม่สามารถคาดการณ์ได้ อันส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนสานะคามและเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนสานะคามและเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่นที่มีแผนจะสร้าง

“แทนที่จะมีการนำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือที่บกพร่องนี้ เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขงและคณะกรรมธิการแม่น้ำโขงให้จัดการปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ประเมินทางเลือกด้านพลังงานอย่างรอบด้านและโดยการมีส่วนร่วม จัดลำดับความสำคัญของการเดินหน้าเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาคที่คำนึงถึงระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและความต้องการของชุมชนในภูมิภาค จัดการปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า” แถลงการณ์ระบุ

กลุ่มพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ระบุด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องเอาแม่น้ำโขงมาแลกกับความต้องการด้านพลังงานและน้ำของภูมิภาค เพราะไทยซึ่งเป็นประเทศหลักที่จะรับซื้อไฟฟ้าเองก็มีพลังงานสำรองที่ล้นเกิน โดยเมื่อ เม.ย. 2563 กระทรวงพลังงานของไทยระบุว่าในปี 2563 มีพลังงานสำรองที่อาจสูงมากถึง 40 % หรือประมาณ 18,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตของเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่งรวมกัน ขณะที่มีนาคม 2563 กัมพูชาได้ประกาศเลื่อนการสร้างเขื่อนซำบอและสตรึงเตร็งออกไปอีก 10 ปี

ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างถาวร และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้านพลังงานทางเลือกที่เคารพสิทธิของชุมชน

ภูมิภาคแม่น้ำโขงมีศักยภาพและความยั่งยืนด้านพลังงานทางเลือกสูงมาก ประกอบกับต้นทุนและการผลิตที่ลดลงของเทคโนโลยีด้านการกักเก็บและการส่งผ่านพลังงานที่พัฒนาขึ้น ยิ่งทำให้ต้องตะหนักถึงการเข้าถึงพลังงานและความมั่นคงของประชาชนและเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยไม่ต้องทำลายแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ มากกว่านั้น มาตรการประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกที่ไม่ใช่เขื่อนยังสามารถเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และมีต้นทุนถูกกว่าเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจ

นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ยังระบุประเด็นสำคัญอีกว่า ปัญหาและข้อบกพร่องร้ายแรงในกระบวนการปรึกษาหารือของข้อตกลงแม่น้ำโขงที่มีการจัดมาแล้วนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะประเด็นการรับรองคุณภาพของข้อมูลที่ส่งไปเพื่อขอให้มีการจัดกระบวนการปรึกษาหารือนั้น ทางกลุ่มพันธมิตรฯ พบว่า เนื้อหารายงานส่วนมากของรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และผลกระทบสะสมของเขื่อนสานะคามถูกคัดลอกมาจากรายงานของเขื่อนปากลาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็พบว่า “รายงานของเขื่อนปากลายนั้นลอกข้อมูลจากเขื่อนปากแบงเป็นส่วนมาก”

นั่นแสดงให้เห็นว่า ข้อบกพร่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขและถูกเพิกเฉยจากบริษัทที่ปรึกษาและนักวิจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้จัดทำนั้น ในอนาคตกลุ่มเหล่านี้ไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบต่าง ๆ อีก  และทางกลุ่มขอย้ำว่า หากไม่มีการปฏิรูปที่สำคัญ ก็ไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่ากระบวนการปรึกษาล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นนี้จะต่างจากที่เคยทำมามากนัก หรือจะสามารถรองรับมาตรฐานขั้นต่ำของความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ไม่ต้องพูดถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้จะได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม และสาธารณะ

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Nikei ASEAN Review ฉบับวันที่ 1 มิ.ย.2563 มีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของลาว ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า รัฐบาลลาวกำลังเผชิญภาวะหนี้สินจากการกู้ยืมเงินกองทุนของรัฐบาลจีน ขณะนี้รัฐบาลลาวกำลังประเมินท่าทีว่าจะจัดการขายกองทุนของรัฐบาลหรือไม่ ธนาคาร Societe Generale  ของฝรั่งเศลระบุว่า 80% ของหนี้เมื่อปี 2562 ของลาว มีผลมาจากสกุลเงินตราต่างประเทศและถูกควบคุมจากภายนอก และเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะนั้นเป็นของจีนอย่างเดียว

ร่องรอยการลงทุนของเศรษฐกิจจีนที่ปรากฎในลาว เช่นการลงุทนโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การสร้างเขื่อนขนาดเล็กและใหญ่บนแม่น้ำต่าง ๆ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ทั่วประเทศของลาว การทำถนนไฮเวย์จากคุนหมิง-เวียงจันทร์ที่ลาวถือหุ้น 30 % และลาวต้องจ่ายเงินงวดแรกจำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ผ่านกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำของจีน ลาวยังมีการสร้างเขื่อนทั้งขนาดเล็กและใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยคาดว่าในลาวจะมีเขื่อนผลิตไฟฟ้ามากถึง 400 แห่งทั่วประเทศ

นายแกรี่ ลี ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers กล่าวว่า เขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใช้เงินกู้ลงทุนมหาศาล การเพิ่มขึ้นของเขื่อนไฟฟ้าในลาวยิ่งจะทำให้เกิดภาระหนี้สินบานปลายและกลายเป็นความกดดันของประเทศ

นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานกลุ่มติดตามการลงทุนเขื่อนในลาว กล่าวว่า แม้กรณีโครงการเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย รัฐบาลลาวก็ต้องทำสัญญายืมเงินจากธนาคารส่งออกและนำเข้าของเกาหลีใต้เพื่อมาเป็นหุ้นส่วนในโครงการดังกล่าว ซึ่งนับเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการแล้ว

อนึ่ง โครงการเขื่อนสานะคาม (Sanakam Dam) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 684 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัท ต้าถัง โอเวอร์ซี พาวเวอร์จำกัด (Datang) สัญชาติจีน ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง ในแขวงอุดมไซย สปป.ลาว เขื่อนมีเป้าหมายที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับประเทศไทย รัฐบาล สปป.ลาว ในฐานะเจ้าของโครงการได้ส่งเอกสารต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อขอให้มีการจัดกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

แถลงการณ์ภาษาอังกฤษ : https://savethemekong.net/wp-content/uploads/2020/06/Save-the-Mekong-statement-Sanakham-dam-June-2020.pdf

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ