สภาลมหายใจฯเสนอรัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดให้ชุมชนท้องถิ่นออกแบบบริหารจัดการ

สภาลมหายใจฯเสนอรัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดให้ชุมชนท้องถิ่นออกแบบบริหารจัดการ

  • 14 ปีที่ล้มเหลวควรนำมาเป็นบทเรียนแก้ปัญหาฝุ่นควัน pm2.5
  • เสนอผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดเทียบเท่าอารยะประเทศ
  • เร่งรัดกลไกของภาครัฐ 7 หมวด 17 ประเด็น โดยให้ชุมชนท้องถิ่น บริหาร จัดการ มีส่วนร่วม

วันนี้ 19 พ.ค. 2563 สภาลมหายใจเชียงใหม่ เปิดแถลงข่าวและอ่านแถลงการณ์ ถึงคณะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง pm2.5 เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อปลูกต้นไม้และรับฟังการถอดบทเรียนปฏิบัติการแก้ปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่

15 ปีมลพิษอากาศฝุ่นละอองภาคเหนือ ปี 2564 ต้องมีความก้าวหน้าที่จับต้องได้

สำหรับแถลงการณ์มีเนื้อหา ดังนี้

แถลงการณ์สภาลมหายใจเชียงใหม่ ถึง คณะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรื่อง 15 ปีมลพิษอากาศฝุ่นละอองภาคเหนือ ปี 2564 ต้องมีความก้าวหน้าที่จับต้องได้

19 พฤษภาคม 2563

เนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง pm2.5 เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อปลูกต้นไม้และรับฟังการถอดบทเรียนปฏิบัติการแก้ปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ในฐานะองค์กรประชาสังคมที่รณรงค์เคลื่อนไหวเพื่ออากาศสะอาดขอนำเรียนผ่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผ่านไปยังคณะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่านับแต่คณะรัฐมนตรี ได้นำปัญหามลพิษอากาศภาคเหนือ เข้าสู่การพิจารณาแก้ไข เมื่อ พ.ศ. 2550 จนบัดนี้กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 15 ที่มีการนำปัญหาเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง แต่ผลก็คือ แทบไม่มีความก้าวหน้า มลพิษอากาศฝุ่นควันยังเกินมาตรฐานต่อเนื่องเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คน 

สถิติทุกประการบ่งบอกว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงล้มเหลวในการแก้ปัญหานี้ แม้จะมีการประกาศวาระแห่งชาติไปเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ดังนั้นสภาลมหายใจเชียงใหม่ จึงไม่เห็นด้วย ที่จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ใดๆ ของภาครัฐที่ทำให้สังคมคล้อยตามว่ามาตรการของรัฐประสบความสำเร็จ

ปี 2564 ที่จะถึง จะเป็นปีที่ 15 ของปัญหามลพิษอากาศและฝุ่นควันในภาคเหนือที่บรรจุการเข้าสู่การพิจารณาแก้ปัญหาในคณะรัฐมนตรี เวลา 14 ปีของความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นบทเรียน ดังนั้นมาตรการแก้ปัญหา ที่จะมาถึงในอีก 8 เดือนข้างหน้า ไม่ควรจะย่ำซ้ำรอยเดิม 

สภาลมหายใจเชียงใหม่ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลระดมความคิดถอดบทเรียนความล้มเหลวที่ผ่านมาอย่างจริงจัง รับฟังความเห็นแตกต่างของภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่หน่วยราชการ ทบทวนกระบวนทัศน์และแนวคิดของการแก้ปัญหา รัฐบาลต้องแสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจอย่างมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) เพื่อแก้ปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะปัญหานี้มีความซับซ้อนโยงใยกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในเมืองในป่า ภาคอุตสาหกรรมส่งออก รัฐบาลต้องเร่งรัดพิจารณาเสนอกฎหมายอากาศสะอาด เช่นเดียวกับอารยประเทศเพื่อเป็นเครื่องมือของเจตจำนงที่จะให้มีอากาศสะอาดให้กับประชาชน

หลักการใหญ่ของการแก้ปัญหานี้อยู่ที่รัฐต้องเปิดกว้างระดมสรรพกำลังทุกศักยภาพในสังคม โดยเฉพาะชุมชนและท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ บนฐานความเข้าใจกันและกัน ตามหลักการ “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา” รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้คณะทำงานระดับจังหวัดหรือระดับภาคจัดการแก้ไขโดยลำพัง เพราะระบบการบริหารราชการของประเทศไทยเป็นระบบรวมศูนย์ ที่อำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง

ดังนั้นจึงขอให้มีคณะทำงานระดับชาติที่มีอำนาจเต็ม บูรณาการและสั่งการเพื่อแก้ปัญหาจริงจังตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงฤดูร้อนระยะไม่กี่เดือนอย่างที่เคย ในช่วงเวลา 8 เดือนจากนี้ ขอให้รัฐบาลจัดเตรียมทรัพยากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และแก้ไขข้อขัดข้องให้แล้วเสร็จก่อนฤดูมลพิษฝุ่นควัน พร้อมกันนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นกลไกที่ใกล้ชิดกับชุมชน รับรู้และเข้าใจปัญหาที่สุด แต่ที่ผ่านมากลับแทบไม่มีบทบาทในกระบวนการแก้ไข ขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นและชุมชนได้มีบทบาทหลัก เพื่อประสานความเข้าใจความต้องการข้อปัญหาอุปสรรคของชุมชนและท้องถิ่นเข้าสู่กระบวนการออกแบบการแก้ปัญหาแต่เนิ่น 

ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดเป็นประจำตลอด 14 ปีทำลายคุณค่าภาพลักษณ์ของภาคเหนือ และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นเมืองท่องเที่ยว น่าอยู่น่าลงทุน เป็นเมืองที่วางตำแหน่งเป็นที่พำนักระยะยาว ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Chiangmai Medical Health Hub) ล้มเหลวพังทลายไปแล้ว มูลค่าผลกระทบและความเสียหายไม่ใช่แค่ด้านสุขภาพ สังคม หรือเศรษฐกิจแค่ระยะ 3 เดือน

สภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาคม ได้นำเสนอหลักการสำคัญ ผ่านจังหวัดเชียงใหม่ไปแล้ว และขอให้รัฐบาลพิจารณาผนวกและเร่งรัดดำเนินการในกลไกของภาครัฐอย่างจริงจังใน 7 หมวด 17 ประเด็นดังนี้

หมวดที่ 1 กระบวนการให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมดังนี้

1. รวมพลังทุกภาคส่วน กันเขตชุมชนและที่ทำกิน ออกจากป่าธรรมชาติให้แล้วเสร็จ นำร่องในนาม “เชียงใหม่โมเดล”โดยใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ

2. สร้างกระบวนการวางแผนและแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน บูรณาการทั้งดูแลป่า ป้องกันไฟ และแก้ปัญหาฝุ่นควัน ร่วมกับชุมชน วางระเบียบกติกา โดยมีคณะกรรมการบริหาร

3. มีการจัดการบริหารเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการในทุกมิติ และแผนบริหารฯ อย่างชัดเจนที่ทุกฝ่ายยอมรับ

4. สนับสนุนและให้กำลังใจพื้นที่ Best Practice ที่สามารถจัดการและแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันได้ และเข้าไปสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซากโดยเร่งด่วน

5. เสนอให้ อปท. เป็นแกนประสานการทำงานในระดับพื้นที่ ร่วมกับท้องที่ และชุมชน

หมวดที่ 2 พัฒนาระบบความรู้และฐานข้อมูล

1. ทบทวนวิธีตรวจสอบและวิเคราะห์จุดความร้อนให้ถูกต้องแม่นยำ

2. เร่งทำแผนที่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง-ชื้น รวมทั้งแนวกันไฟในแต่ละเขตพื้นที่ให้ชัดขึ้นให้สามารถบริหารเชื้อเพลิงได้เหมาะสมกับระบบนิเวศของป่า

3. จัดทำข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อนำมาวางแผนในการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันอย่างยั่งยืน

4. จัดเวทีวิชาการเพื่อหาข้อตกลงเรื่องการจัดการที่ดินและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เป็นที่ยอมรับ รับรู้ร่วมกันทุกฝ่าย

5. เสนอให้ฝ่ายนโยบายปลดล็อคข้อกฎหมายบางข้อ เพื่อให้นโยบาย”เชียงใหม่โมเดล”เกิดขึ้นจริง
และคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต

หมวดที่ 3 ความร่วมมือให้เกิดภาคีของการทำงานในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน

ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนในป่าเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ป่า โดยมีการสร้างแรงจูงใจ เช่นมีสวัสดิการบางอย่างให้ หรือตั้งเป็นกองทุนชุมชน ขณะที่ภาคธุรกิจจะทำ Blockchain ที่สนับสนุนชุมชนดูแลและแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันได้ดี สนับสนุนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ปลอดไฟเพื่อลดการเผา

หมวดที่ 4 การสร้างแหล่งรายได้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่น

หาแหล่งรายได้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เช่นจัดเก็บภาษีท้องถิ่นจากนักท่องเที่ยว สร้าง “กองทุนเชียงใหม่ยั่งยืน”เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเมือง

หมวดที่ 5 เปลี่ยนแปลงพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ไฟและพื้นที่ป่า

จัดทำโซนนิ่งพืชเกษตรอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไฟ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงต้นน้ำ และออกมาตรการเปลี่ยนผ่านรองรับเพื่อนำไปสู่พื้นที่เกษตรยั่งยืน

หมวดที่ 6 การจัดการพื้นที่เมือง

1. มีมาตรการลดแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศในพื้นที่เมือง ให้เท่าเทียมกันกับระดับและมาตรการลดมลพิษอากาศในพื้นที่นอกเมือง พื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าเช่นการเดินทางขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาไหม้อื่นๆ 

2. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และเมือง ให้เกิดความสมดุลทางนิเวศของเมืองลดฝุ่น สร้างอากาศสะอาด และลดอุณหภูมิของเมืองลง 

3. ให้คณะกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่มีบทบาทหรือผลักดันการปลูกจิตสำนึกการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่วัยเยาว์ ให้นักเรียน นักศึกษารับรู้เข้าใจ และรับมือปัญหามลพิษอากาศและอื่นๆให้ชัดเจนมากขึ้น

หมวดที่ 7 การบริหารปัญหาระดับนโยบาย

รัฐบาลต้องประกาศนโยบายอากาศสะอาดเพื่อประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเร่งรัดให้มีกฎหมายอากาศสะอาดพร้อมหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย  และในช่วงที่รอกฎหมายให้รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการบริหารอากาศแห่งประเทศไทย รับผิดชอบการควบคุมค่าอากาศให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการดำรงชีวิต

ขอแสดงความนับถือ

🔴 [Live] แถลงข่าว"แก้ฝุ่นควัน ปีที่ 15 รัฐบาล ต้องไม่ย่ำรอยล้มเหลวเดิม"

[Live] แถลงข่าว"แก้ฝุ่นควัน ปีที่ 15 รัฐบาล ต้องไม่ย่ำรอยล้มเหลวเดิม"สามารถแลกเปลี่ยนและซักถามได้ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่https://drive.google.com/drive/folders/16TZ1uaVpnmmEe4oLYEXrXvNEYXfTJrmI?usp=sharing#สภาลมหายใจเชียงใหม่

โพสต์โดย สภาลมหายใจเชียงใหม่ เมื่อ วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ