#ยืนตรงไร่หมุนเวียน แฮชแทคในโพสต์ที่หลายคนในโซเชียลมีเดีย โพสต์ภาพและข้อความเผยแพร่ รวมทั้งปักหมุดมากับ C Site ให้เห็น Location ชัดๆ ด้วย เป็น แคมเปญรณรงค์ของผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่อยากสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับ “ไร่หมุนเวียน”
-คุณนงนุช วิชชโลกา ปักหมุดจากบ้านแม่แพน้อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่นี่เป็นพื้นที่สูงซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงแห่งการหยอดเมล็ดข้าวในไร่หมุนเวียน
แม้ว่าพื้นที่จะเผชิญกับภาวะแล้ง แต่ชาวบ้านก็เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีฝนตกลงมาทำให้พืชพันธุ์ในไร่หมุนเวียนเจริญงอกงาม
-คุณพนม ทะโน ปักมาจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พื้นที่ซึ่งมีไร่หมุนเวียนมากที่สุดในประเทศไทย
(ชมคลิปเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563)
ไร่หมุนเวียนในใจกลางข้อถกเถียง
ไร่หมุนเวียน พื้นที่เพื่อการยังชีพตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงที่จะหมุนวนการใช้ประโยชน์ พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกไปแล้วก็จะปล่อยให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติ 7-8 ปี จนคืนสภาพสมบูรณ์ก่อนจะหมุนวนกลับมาเพาะปลูกยังพื้นที่ดังกล่าวอีกรอบ ด้วยวิถีวัฒนธรรมบนการผลิตเพื่อยังชีพที่ต่าง ๆ ออกไปจึงถูกรัฐ หน่วยงาน และคนภายนอกที่ยังไม่เข้าใจเรียกว่าเป็น “ไร่เลื่อนลอย” อยู่เนืองๆ แม้จะมีงานศึกษามากมายที่รับรอง ยอมรับ อธิบายวิถีวัฒนธรรมที่มีความต่างก็ตาม
ไร่หมุนเวียน ยังยืนอยู่บนข้อพิพาท-ความคลุมเครือในเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่สืบทอดมาจากบรรพบรุษก่อนการประกาศเขตป่า
ไร่หมุนเวียน ยังเกี่ยวพันกับเรื่องฝุ่นควัน จากคำสั่งกำหนดวันห้ามเผา ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงบางพื้นที่ไม่สามารถเตรียมแปลงเพาะปลูกสำหรับฤดูกาลต่อไปได้ ไม่ว่าจะมาจากทั้งความคลุมเครือเรื่องพื้นที่ และการไม่ยอมรับองค์ความรู้เรื่องการใช้ “ไฟ” ในเขตป่า
ไร่หมุนเวียนจึงยืนอยู่ตรงกลางข้อถกเถียงที่พร้อมจะปะทุทุกครั้งเมื่อมีปัญหา แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในประเด็นไร่หมุนเวียน รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงโดยเฉพาะกับประเด็นด้านสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม อาทิ
ใจกลางของปัญหา สิทธิของชุมชน
การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสิทธิของชุมชนที่อาศัยอยู่กับทรัพยากรป่าไม้ของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) หรือแม้แต่ความพยายามผลักดันกฎหมายป่าชุมชนในช่วง พ.ศ.2555 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นปัญหาในการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงที่เผชิญกับเหตการณ์ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งห้ามทำไร่ ห้ามใช้ที่ดิน ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดี
จนเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 3 เมษายน 2547 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาและนำมาซึ่งงานวิจัยชิ้นสำคัญในเวลาต่อมา โดยระบุข้อเสนอสำคัญเพื่อการคุ้มครองส่งเสริมไร่หมุนเวียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
ต่อมาได้ถูกผลักดันจนเกิดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 เป็นเครื่องมือระดับนโยบายที่คาดว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และแม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่การดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิในวิถีไร่หมุนเวียน ที่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญตามมติดังกล่าวยังคงประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย เช่น กฎหมายด้านป่าไม้ หรือแม้แต่การที่ประเด็นสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ยังไม่สามารถมีผลในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน ข้อมูลพื้นฐานในเรื่องชุมชนชาวกะเหรี่ยง ขอบเขตพื้นที่การทำไร่หมุนเวียน สถานภาพการทำไร่หมุนเวียนก็มีความจำเป็นต่อการพัฒนานโยบาย การคุ้มครองสิทธิ์และแก้ปัญหาข้อพิพาทในอนาคต
เปิดประตูเข้าไปสู่ความเข้าใจ
กองบรรณาธิการ TheCitizenPlus ชวนทำความเข้าใจสถานภาพไร่หมุนเวียน ผ่านงานวิจัย” สิทธิของชุมชนชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) กับการดำเนินเขตวัฒนธรรมพิเศษไร่หมุนเวียนในพื้นที่ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกรณีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าภาคเหนือ (2560) ซึ่งสนับสนุนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผลการสำรวจข้อมูลชุมชนสำรวจข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ต่อประเด็นการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองดั้งเดิมบนที่สูง ตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมาก ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก พบว่ามีชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังเกี่ยวข้องกับการทำไร่หมุนเวียน จำนวน 1,630 ชุมชน จำแนกเป็นรายจังหวัด ได้แก่
- จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 647 ชุมชน
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 519 ชุมชน
- จังหวัดตาก จำนวน 412 ชุมชน
- จังหวัดเชียงราย จำนวน 31 ชุมชน
- จังหวัดลำปาง จำนวน 21 ชุมชน
แผนที่แสดงชุมชนที่มีไร่หมุนเวียนตามแนวเขตที่ดินตามกฎหมายรายจังหวัด
ด้านสถานการณ์ในภาพรวมของการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงใน 1,630 ชุมชน พบว่า จำนวนร้อยละ 45 ยังคงทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีชีวิตหลัก จำนวนร้อยละ 15 เป็นชุมชนที่ไร่หมุนเวียนไม่ได้เป็นวิถีหลักและบางส่วนแทบไม่หลงเหลือพื้นที่ไร่หมุนเวียนและจำนวนร้อยละ 32 เป็นชุมชนที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในวิถีไร่หมุนเวียนอย่างเข้มข้นและมีแนวโน้มในการปรับเปลี่ยนไปสู่การทำเกษตรรูปแบบอื่นหรือปรับลักษณะการใช้ที่ดิน
จากสถานการณ์ข้างต้นสามารถจำแนกลักษณะการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ได้แก่
1. ชุมชนที่ยัง “ทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีหลัก” ซึ่งมีความใกล้เคียงกับในอดีตหรือยังไม่ เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีปกติ ชุมชนกะเหรี่ยงลักษณะนี้ยังคงทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าวเป็นฐานสำคัญในการ เลี้ยงชีพและยังรักษารอบหมุนเวียนพื้นที่และการพักฟื้นพื้นที่ยาวนานในระยะ 7-20 ปี โดยในกรณีนี้ พบว่าหลายชุมชนได้ปรับเปลี่ยนในลักษณะเชิงการปรับตัวใน 2 ลักษณะใหญ่ ได้แก่
1.1 การปรับเปลี่ยนจากการทำไร่หมุนเวียนอย่างเดียวในอดีต สู่การจัดการพื้นที่การใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่นาข้าวพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ชา กาแฟ ผลไม้ ผัก ในกลุ่มนี้เน้นการจัดการพื้นที่เกษตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชน แต่ยังคงรักษาพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชุมชนให้เป็นพื้นที่หลักและจะมีการปรับลดขอบเขตแปลง ปรับรอบและระยะหมุนของบางแปลงให้เหมาะสม เรียกได้ว่าเป็นลักษณะการปรับตัวที่มีความหลากหลาย ผสมผสานวิถีเกษตรบนที่สูงมากขึ้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการจัดการสมดุลของมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชุมชน
1.2 ชุมชนที่ยังมีพื้นที่ไร่หมุนเวียนเป็นหลักในการตอบสนองเรื่องข้าวเพื่อยังชีพในครอบครัว แต่เริ่มมีแนวโน้มที่จะปรับไปสู่การเปลี่ยนไปสู่แปลงพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดและพืช เศรษฐกิจที่หน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริม ในขณะที่แรงจูงใจในการรักษาไร่หมุนเวียนลดลงจากแรงกดดันและ ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงกลุ่มที่หันกลับไปทำไร่ในแปลงไร่หมุนเวียนเดิมที่ยุคหนึ่งเคยถูกปล่อยทิ้งไม่ทำประโยชน์
2.ชุมชนที่ไร่หมุนเวียนไม่ได้เป็นวิถีชีวิตหลักเช่นในอดีต ซึ่งมีทั้งกรณีชุมชนที่ไม่หลงเหลือพื้นที่ไร่หมุนเวียนแล้วในปัจจุบัน และมีทั้งเริ่มลดพื้นที่ไร่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบดั้งเดิมสู่ระบบเกษตรรูปแบบอื่น เช่น ไร่ข้าวโพด และกำลังเปลี่ยนไปสู่แปลงพืชเชิงเดี่ยวสลับชนิดในแต่ละรอบปี ลักษณะนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่หลงเหลือวิถีไร่หมุนเวียนและได้กลายเป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่ได้เปลี่ยนวิถีการผลิตหลักและการหาเลี้ยงชีพไปสู่รูปแบบอื่นและยังพบกรณีชุมชนที่ได้เปลี่ยนพื้นที่ไร่หมุนเวียนในอดีตสู่แปลงเกษตรเชิงเดี่ยวถาวร จนแทบไม่เหลือพื้นที่ไร่หมุนเวียน แต่ปัจจุบันพบว่าเริ่มมีการปรับลดพื้นที่พืชเชิงเดี่ยวลงและหลายพื้นที่มีแนวโน้มในการฟื้นฟูทรัพยากร ฟื้นฟูระบบไร่หมุนเวียน ของตัวเองและมีแนวโน้มไปสู่การจัดการพื้นที่แบบใหม่ในลักษณะการผสมผสานมากขึ้น
ก้าวออกจากใจกลางความทับซ้อน ?
อย่างไรก็ตาม กรณีการทับซ้อนกับเขตพื้นที่ตามกฎหมายป่าไม้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และพื้นที่หากินของชุมชนกะเหรี่ยงในลักษณะที่แตกต่างกันไป บางพื้นที่หมู่บ้านถูกทับด้วยกฎหมายทั้งหมด บางหมู่บ้านถูกทับเพียงบางส่วน และอีกบางพื้นที่หมู่บ้านเดียวถูกทับซ้อนด้วยกฎหมายหลายฉบับซ้อนทับกันในพื้นที่เดียวกัน
ฉะนั้นความรุนแรงและความเข้มข้นของปัญหาที่ตามจะแตกต่างกันไป ซึ่งเห็นได้ว่าเกือบทุกชุมชนมีสถานะที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ คือ จำนวน 1,261 ชุมชน (จากทั้งหมด 1,630 ชุมชน) และในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ถึง 492 ชุมชน และเป็นชุมชนที่อยู่ทั้งในพื้นที่ทั้งเขตป่าสงวนและเขตป่าอนุรักษ์จำนวน 583 ชุมชน
ทั้งนี้ สถานะที่ดินและเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลัก 6 ฉบับที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิต ได้แก่
- พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ
- พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ
- พระราชบัญญัติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
- พระราชบัญญัติคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- พระราชกฤษฎีกาเขตห้ามล่าสัตว์
- มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541
ด้วยเหตุนี้เอง ไร่หมุนเวียน จึงยืนอยู่กลางความท้าทายความเข้าใจของรัฐและสังคมในหลากมิติ ทั้งความสำคัญของระบบไร่หมุนเวียนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ทางนิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่มีบทบาทหน้าที่หลากหลาย และบูรณการ อันจะทำผลต่อการคุ้มครอง การพัฒนาและร่วมกันคิดค้นเครื่องมือทางนโยบาย รวมถึงกฎหมายที่มีความสอดคล้องในอนาคต