14 ตุลา กับขบวนการแรงงานไทย | รศ.ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์

14 ตุลา กับขบวนการแรงงานไทย | รศ.ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์

20141310155938.jpg

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นที่รับรู้กันในฐานะเหตุการ์ทางการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวของมวลชนเรือนแสนคนที่สามารถโค้นล้มการปกครองแบบเผด็จการทหาร และนำพาประเทศเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยภายหลังอยู่ใต้ระบอบเผด็จการมานานกว่า 1 ทศวรรษ

ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม มีนักศึกษาเป็นผุ้นำที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเผด็จการประกอบด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มรวมทั้งคนงาน ซึ่งในขณะนั้นจัดตั้งเป็นสมาคมลูกจ้างโดยที่ในช่วงปี พ.ศ. 2515-2516 มีการเคลื่อนไหวของคนงานจำนวนมากที่นัดหยุดงานประท้วงนายจ้างเพื่อเรียกร้องค่าจ้าง และสวัสดิการที่ดีขึ้น

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม สังคมไทยมีสิทธิ และเสรีภาพทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ในส่วนของคนงานมีการเคลื่อนไหวขององค์กรแรงงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทั้งในระดับโรงงาน และการเข้าร่วมกับนักศึกษา และชาวนาเพื่อต่อสู้ให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมในขอบเขตทั่วประเทศ

ประวัติศาสตร์แรงงานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ มีเหตุการณ์ที่กลายเป็นตำนานการต่อสู้ของคนงานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เช่นการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของกรรมกรโรงงานทอผ้าย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ การหยุดงานทั้งประเทศของคนงานในภาครับวิสาหกิจ และเอกชนเพื่อคัดค้านการขึ้นราคาข้าวสาร การยึดโรงงานมาทำการผลิตเองของคนงานหญิงโรงงานฮารา

พระราชบัญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งให้สิทธิคนงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม การจัดตั้งสภาแรงงานที่เข้มแข็งเป็นครั้งแรก คือ สภาแรงงานแห่งประเทศไทยที่มี ‘ไพศาล ธวัชชัยนันท์’ เป็นประธาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2519

แม้ว่าในเวลา 3 ปีต่อมาจะเกิดเหตุการณ์รับประหารนองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงาน ขบวนนักศึกษา และขบวนชาวนาถูกปราบปรามอย่างหนักจนบางส่วนต้องหันไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล และยุติการเคลื่อนไหวที่เปิดเผยอยู่ประมาณ 1 ปีเศษ แต่จิตสำนึกทางสังคม และการเมืองที่คนงานได้พัฒนาขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่อาจถูกทำลายด้วยอำนาจเผด็จการ

หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2516 ขบวนการแรงงานฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ผู้นำแรงงานที่ไม่ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ร่วมกันฟื้นฟูสหภาพแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวของคนงาน สืบทอดอุดมการณ์สู่ผู้นำคนงานในรุ่นต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน

หากไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พัฒนาการของขบวนการแรงงานตลอดจนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ อาจเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า สังคมไทยจะตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการยาวนาน เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเชีย ในยุคของประธานาธิบดีมารีคอส และซูฮาโต

นอกจากนี้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมเพื่อชีวิต เพื่อประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ดนตรี เพลง ละคร วรรณกรรมที่สะท้อนปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน และปลุกเร้าให้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องในท่ามกลางการเคลื่อนไหวของคนงานในยุคนั้น เช่น ศักดิ์ศรีของแรงงาน รำวงวันเมย์เดย์ มาร์ซกรรมกร ฯลฯ ยังคงขับขานกันอยู่ในปัจจุบัน

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งซึ่งคนงานในยุคปัจจุบันควรต้องเรียนรู้ และให้ความสำคัญในฐานะเหตุการณ์ที่ผลิกผันประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนงานจากการเป็นผู้ต่ำต้อยไร้ศักดิ์ศรี ไร้สิทธิในสังคมมาเป็นประชาชนที่มีสิทธิมีอำนาจการต่อรองมีศักดิ์ศรีทัดเทียมคนอื่นๆ

——————

บทความโดย รศ.ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์
ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

20141310155925.jpg20141310155926.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ