12 ปี การทำงานเรื่องการยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานี (2)

12 ปี การทำงานเรื่องการยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานี (2)

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สถานการณ์การทรมานหลังรัฐประหารปี 2557

หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เพียงสามวันคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ที่มีการประชุมทบทวนรายงานด้านการทรมานของประเทศไทยหลังจากได้รับบันทึกการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจำนวน 92 รายรวมได้จนถึงปี พ.ศ. 2556 ทั้งได้สอบถามข้อเท็จจริงจากทั้งภาคประชาสังคม ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐจากประเทศไทยก็ได้สรุปสถานการณ์ว่ามีความเป็นห่วงสถานการณ์เรื่องการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมหลายประการในบริบททั่วประเทศ สำหรับในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ระบุว่า

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ย่อหน้า 11. คณะกรรมการมีความห่วงใยที่ข้อกล่าวหาจำนวนมากว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตั้งข้อสังเกตว่ามีการคงสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลานาน และมีข้อจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รัฐภาคีควรดำเนินการให้แน่ใจว่า สิทธิที่บุคคลจะไม่ได้รับการกระทำทรมานเป็นสิทธิสัมบูรณ์และไม่สามารถทำการยกเว้นได้ และรัฐพึงดำเนินการให้แน่ใจว่า จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ข้อ 2 วรรค 2 ซึ่งกำหนดว่า ไม่มีพฤติการณ์พิเศษใด ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใดที่ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรับการทรมานได้นอกจากนี้รัฐควรประเมินความจำเป็นในการมีกฎหมายพิเศษที่มีอยู่ โดยตระหนักว่า เงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการตรากฎหมายฉุกเฉินควรเป็นไปด้วยความอย่างเคร่งครัดและตีความอย่างแคบและควรจะจำกัดไว้สำหรับสถานการณ์กรณีพิเศษเท่านั้น 

กฎหมายพิเศษ ย่อหน้า 12. ในขณะที่คณะผู้แทนของรัฐภาคีได้อ้างถึงเหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ 2,889 เหตุการณ์ และจำนวนการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนและบุคลากรทหาร คณะกรรมการยังมีความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับการจำนวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเป็นปกติวิสัย ที่เกิดขึ้นอย่างมาก ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ สถานการณ์เช่นนี้ถูกทำให้เลวร้ายขึ้นจากการใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งให้อำนาจฉุกเฉินในวงกว้างแก่ทหารและกองกำลังรักษาความมั่นคง นอกการควบคุมภายใต้กระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศของการลอยนวลพ้นผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง คณะกรรมการมีความกังวลอย่างยิ่ง ดังนี้ (ข้อ2, 4, 12, 13 และ ข้อ 15)

(ก) กฎหมายพิเศษให้อำนาจบริหารขยายการควบคุมตัวด้วยอำนาจฝ่ายบริหารโดยปราศจากการควบคุมจากฝ่ายตุลาการอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดการลดทอนการป้องกันขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ถูกทำให้เสียไปซึ่งเสรีภาพตาม กฎอัยการศึกมาตรา 15 และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 12 ซึ่งผู้ต้องสงสัยสามารถ ถูกควบคุมตัวได้นานถึง 37 วัน โดยไม่มีหมาย หรือกำกับดูแลจากกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะถูกนำตัวไปที่ศาล นอกจากนี้ไม่ระบุว่าต้องนำตัวผู้คุมขังถูกมาปรากฏตัวต่อศาลในการควบคุมตัวขั้นตอนใดๆ และมักไม่มีการเปิดเผยที่ตั้งของสถานที่ควบคุมตัวเสมอไป 

(ข) มีการกล่าวอ้างว่า มักไม่มีการเคารพสิ่งป้องกันการทรมานที่มีไว้ในกฎหมายและกฎระเบียบในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกคุมขังมักจะได้รับการปฏิเสธสิทธิที่จะติดต่อสมาชิกครอบครัวและให้สมาชิกในครอบครัวเยี่ยมทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ และขาดการคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นบางอย่าง เช่น สิทธิที่จะติดต่อทนายความและได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ที่เป็นอิสระทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมาย หรือไม่มีการนำหลักการนี้ไปปฏิบัติ 

(ค) กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎอัยการศึก มาตรา 7 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 17 จำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ความคุ้มครองมิให้เจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้องในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งการกระทำทรมาน ซึ่งเป็นการละเมิดบทบัญญัติของอนุสัญญา คณะกรรมการมีความกังวลกรณีผู้เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัว เช่น อิหม่ามยะผา กาเซ็ง และนายสุไลมาน แนซา ซึ่งแสดงให้เห็นอุปสรรคที่จะผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐควรตรวจสอบอย่างแข็งขัน โดยมิชักช้าและพึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะทบทวนกฎหมายฉุกเฉินและแนวปฏิบัติที่มีอยู่ และพึงยกเลิกสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่า : (ก) ผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาภายใต้กฎหมายการรักษาความมั่นคง จะได้ปรากฏตัวต่อหน้าศาล (ข) ผู้ถูกคุมขังภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับสมาชิกครอบครัว ทนายความและแพทย์ที่เป็นอิสระทันทีหลังสูญเสียเสรีภาพ ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ และมีการตรวจสอบหลักประกันสิทธิโดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ (ค) ไม่ให้ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีใดๆ แก่เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย รัฐภาคีควรดำเนินการสอบสวนทันที เป็นธรรมและละเอียดถี่ถ้วน นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการความยุติธรรม เมื่อผู้ใดได้รับการตัดสินว่ากระทำผิดจริง ต้องได้รับโทษสมควรแก่ความร้ายแรงของความผิดที่กระทำนั้น (ง) ไม่พึงมีผู้ใดถูกบังคับให้ปากคำปรักปรำตนเองหรือผู้อื่น หรือจะสารภาพผิด การสารภาพดังกล่าวต้องไม่ได้รับการยอมรับเป็นหลักฐานในศาล ยกเว้นกรณีที่ใช้ปรักปรำผู้ถูกกล่าวว่ากระทำการถูกทรมานหรือกระทำการโหดร้าย เพื่อเป็นหลักฐานว่า มีการสร้างคำสารภาพ หรือคำให้การนั้นขึ้น

รายงานสถานการณ์การทรมานปี 2557-2558 กับการเจรจาครั้งใหม่

นับเป็นเวลา 12 ปีเต็มที่ประเทศไทยได้ใช้เวลากับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงและชีวิตของประชาชนในพื้นที่และบุคคลากรหลายฝ่ายเพื่อนำความสุขสงบกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเจรจาสันติภาพกำลังจะเกิดขึ้นใหม่โดยการนำของฝ่ายทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารจัดการประเทศในรอบใหม่นี้ เราอยากนำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ที่พยายามเชื่อมโยงว่าการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมย้ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยที่เกิดขึ้นมาตลอด 12 ปีนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำพาไปสู่สันติภาพและต้องการให้ผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องการเจรจาแก้ไขโดยเร่งด่วน

ในเดือนมกราคม 2559 นี้จะมีการนำเสนอรายงานฉบับหนึ่งจำนวน 59 หน้า ชื่อ รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมจะส่งตรงถึงพลโท อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทรโอชาให้รับผิดชอบเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวน 54 ราย พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีพ.ศ. 2558 จำนวน 15 รายและในปี 2557 จำนวน 17 ราย และเหตุการณ์ระหว่างปี 2547-2556 จำนวน 22 ราย

ผู้ร้องเรียนทั้งหมดเป็นชายชาวมลายูมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 19-38 ปี จำนวน 49 คน ช่วงอายุ 39-48 ปี จำนวน 5 คน จากผู้เสียหายรวม 54 คน การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง และมีรายงานว่าเกิดขึ้นในสถานที่เดิม และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากเหยื่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหาร เหตุการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นทั้งในขั้นตอนการจับกุม การเดินทางอยู่ในการควบคุมตัวบนยานพาหนะ ระหว่างการควบคุมตัวในค่ายย่อยและในค่ายใหญ่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์ซักถาม การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในระหว่างการซักถามและการสอบสวน จากบันทึกที่ได้รับมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร 48 รายและเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 13 ราย ลักษณะการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมมีรูปแบบทั้งการทำให้เกิดการเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสทางด้านร่างกายและจิตใจในรูปแบบต่างๆ จากบันทึกของผู้เสียหายจำนวน 54 ราย อย่างเช่น

•    การทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตี เตะ ต่อย ตบหัว ถีบหลัง บริเวณใบหน้า หน้าท้อง ลำตัว ฯลฯ
•    การเอาน้ำสาดหัวและตัว โดยการใช้น้ำเย็น 
•    การบังคับให้ถอดเสื้อผ้า อยู่ในห้องแอร์
•    การทำให้สำลักน้ำ หรือบีบคอ 
•    การบดหรือขยี้ตามร่างกาย และอวัยวะสำคัญบางจุดเช่นศีรษะ อวัยวะเพศ หน้าอก 
•    การทำให้จมน้ำ จุ่มน้ำ และการทำ Water Boarding
•    การให้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำหรือร้อน
•    การใช้ไม้ หรืออุปกรณ์อื่นในการตี เฆี่ยน 
•    การทำให้วิ่ง ออกกำลังกายโดยเท้าเปล่า ตอนกลางวันจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
•    การใช้ไฟฟ้าซ๊อต 
•    การบังคับให้ดื่มหรือกิน
•    การทำให้บาดเจ็บที่เข่า
•    การใช้เสียงดังรบกวน
•    การทำให้ขาดอากาศหายใจ เช่นการบังคับจุ่มหัวในถังน้ำ การใช้ถุงดำคลอบศีรษะ
•    การล่วงละเมิดทางเพศ เช่นการดึงหรือบีบอวัยวะเพศ
•    การเปลือยกาย 
•    การกระทำรุนแรงกับอวัยวะเพศ
•    การใช้ไฟฟ้าช๊อตที่อวัยวะเพศ
•    การบังคับให้ทำท่าต่างๆ เช่น บังคับให้ยืน ให้นั่งในท่าที่ไม่สะดวก 
•    การบังคับให้ทำท่าทางต่างๆ ขณะเปลือยกายเป็นเวลานาน เช่น ให้ยืนขาเดียว ให้ลุกนั่งจนกว่าจะหมดแรง ให้ยืนก้มหัวลง

เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องร้องเรียนที่ได้จัดส่งให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติจำนวน 92 กรณีแล้วเมื่อปีพ.ศ. 2557 การสืบค้นและการดำเนินการทางกฎหมายที่ผ่านมามีข้อจำกัดมากมายทำให้การดำเนินการไม่สามารถระบุถึงผู้กระทำความผิดรายบุคคลได้ เป็นเหตุให้ไม่มีการดำเนินการทางอาญาต่อผู้กระทำความผิด เรื่องร้องเรียนในช่องทางปกติเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ไม่นำพาไปสู่การสืบสวนสอบสวนที่เพียงพอที่จะระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ อีกทั้งไม่มีข้อมูลว่ามีการสอบสวนภายในของทางหน่วยงานหรือไม่เพื่อเป็นการค้นหาความจริงต่อข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 12 ปี คำกล่าวที่ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดเลยถูกลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญาในข้อหาเรื่องการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นคำกล่าวที่ไม่มีคำปฏิเสธ (เท่าที่ติดตามคงมีแต่กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็งที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งถูกลงโทษทางวินัย) ยังคงมีแต่เพียงคำปฏิเสธว่า “เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ไม่เป็นจริงและไม่มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเลย” จากผู้บังคับบัญชาทั้งระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติ

การยื่นรายงานต่อหน่วยงานระดับสูงที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อขอให้มีการตรวจสอบและค้นหาความจริงนั้นยังเป็นความหวังของคนทำงานกลุ่มนี้ที่จะยุติการทรมานและขอให้การเสียชีวิตของนายอับดุลดายิบ ดอเลาะ ในการควบคุมตัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีสุดท้าย ถ้าการยุติการทรมานเป็นไปได้จริงทางปฏิบัติ มีคำสั่งห้ามโดยตรงต่อสาธารณะว่าไม่ใช่นโยบาย และมีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นธรรมและเอาผิดเอาโทษกับผู้กระทำผิดที่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ส่วนน้อย นั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาสันติภาพที่แท้จริงระหว่างคู่ขัดแย้งที่แท้จริงทั้งในห้องซักถามและบนโต๊ะเจรจาสันติภาพที่เราอยากให้เกิดขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 12 ปี การทำงานเรื่องการยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานี (1) https://thecitizen.plus/node/7505

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ