12 ปี การทำงานเรื่องการยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานี (1)

12 ปี การทำงานเรื่องการยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานี (1)

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

12 ปีกลับมาวนอยู่ที่เดิมเหมือนไม่ได้ไปไหนเลย

12 ปีที่ผ่านมาจากเด็กก็กลายเป็นผู้ใหญ่ จากต้นไม้ต้นเล็กก็จะเป็นต้นไม้ต้นใหญ่ 12 ปีนับเป็นเวลายาวนานพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แต่การทำงานเรื่องยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานีพบว่ากลับมาวนอยู่ที่เดิมเหมือนไม่ได้ไปไหนเลยเมื่อมีเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายอับดุลลายิบ ดอเลาะในระหว่างการควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558

วันที่ได้รับทราบข่าวตอนเช้าวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ว่ามีผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหาร นับเป็นวันที่เศร้าอีกวันของการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เศร้าสร้อยไม่ต่างจากวันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรได้มาหายไปจากการเปิดเผยเรื่องการทรมานต่อผู้ต้องสงสัยคดีปล้นปืนเมื่อเดือนมกราคม 2547 สิบสองปีเต็มๆ ที่เรื่องรุนแรงภายใต้เสียงแผ่วเบาของเหยื่อถูกกระตุกเตือนด้วยสภาพศพของนายอับดุลลายิบที่ค่ายอิงคยุทธ และกระตุกต่อมการรับรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมอีกครั้งในคำพิพากษาฎีกาของการหายตัวไปของทนายสมชาย ทุกคนทราบดีว่าที่ทนายสมชายหายไปเพราะการเรียกร้องเรื่องการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อลูกความทั้ง 5 คนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

สำหรับพวกเราคนทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาติดต่อกันสิบสองปี เราได้พัฒนาการทำงานเพื่อยุติการทรมานมาเป็นลำดับตั้งแต่ไม่มีใครกล้าพูดกล้าเล่า จนเมื่อในปี 2549 มีอดีตนักศึกษา มอ.ปัตตานีที่ถูกจับและถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ค่ายเดียวกับที่นายอับดุลลายิบเสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2558 อดีตนักศึกษาคนนั้นเป็นนักศึกษากฎหมายที่เป็นลูกศิษย์ของทนายความในพื้นที่ นับเป็นกรณีแรกที่เราได้รับรู้โดยญาติได้นำเรื่องที่เขาถูกทำร้ายร่างกายในค่ายมาร้องเรียน ต่อนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้น จนนำไปสู่การขอเข้าเยี่ยมเป็นการส่วนตัวพร้อมแพทย์อิสระ 

กรณีที่ผู้เสียหายจากการทรมานเสียชีวิต

บันทึกเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกรณีสำคัญในจังหวัดชายแดนใต้ เท่าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคดีร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิม หลักฐานของการทรมานเกิดขึ้นและปรากฎมากที่สุดเมื่อผู้เสียหายจากการทรมานเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว เราได้เรียนรู้ขั้นตอนการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายพิเศษ จากคดีความทั้งการไต่สวนการตายและการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎในชั้นศาลเป็นข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาคดี คดีเหล่านี้ได้แก่ เหตุการณ์การเสียชีวิตของนายอัสอารี สามะแอ ที่จังหวัดยะลา เสียชีวิต 22 กรกฎาคม 2550 การเสียชีวิตของนายยาการียา ปะโอมานิ จังหวัดยะลาที่ทั้งสองรายมีลักษณะของการทรมานก่อนการเสียชีวิต ในปี 2551 มีเหตุการณ์เสียชีวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง เสียชีวิต 21 มีนาคม 2551 ที่ค่ายเฉพาะกิจ 30 วัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และต่อมาก็มีรายงานการแขวนคอตายเสียชีวิตนายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิต 5 มิถุนายน 2554 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถูกส่งตัวมารักษาจากค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งกรณีนายอับดุลอาซิส สาและเสียชีวิต 15 ตุลาคม 2556 ภายหลังการถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยมีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายกรณีบ้านน้ำดำ จ.ปัตตานี รายละเอียดในคดีมีมากพอที่จะเชื่อได้ว่ามีการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นระหว่างการจับกุม ควบคุมตัว การซักถามและการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ 

รวมทั้งกรณีนายอับดุลลายิ ดอเลาะ เสียชีวิต 4 ธันวาคม 2558 ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ที่ยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนสาเหตุการตายและรอขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาลเป็นคดีไต่สวนการตาย

กรณีผู้เสียหายจากการทรมานไม่เสียชีวิต

กรณีที่ผู้เสียหายจากการทรมานไม่เสียชีวิต การทำงานยิ่งมีความยากลำบากในการหาพยานหลักฐาน แต่ตั้งแต่ปี 2554 โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานขององค์การสหประชาชาติ (UN Voluntary Fund for Torture victims) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี ได้ทำงานร่วมกันในภาระกิจที่สำคัญคือการจดบันทึกการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เราได้รับฟังเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่องของผู้เสียหายจากการทรมานทั้งสิ้น 146 ราย ทั้งหมดเป็นชายชาวมลายูมุสลิมมีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้ 

จุดตั้งต้นของการจดบันทึกอย่างละเอียดจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานโดยตรงก็เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในวาระที่ที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีจะพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2557

การเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์โดยใช้แบบฟอร์มที่มีมาตรฐาน ผู้สัมภาษณ์ได้รับการอบรมและทำความเข้าใจกับแบบฟอร์ม 34 หน้า มีการจัดอบรมทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและความเข้าใจเรื่องการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมทั้งความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์และสุขภาพจิตของผู้เสียหายจากการทรมานตามลำดับเพื่อเพิ่มพูนทักษะของผู้ทำการสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสัมภาษณ์รับฟัง ส่วนการจดบันทึกเนื่องจากจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษดังนั้นจึงทำการจดบันทึกเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการใช้เพื่อการดำเนินคดี การร้องเรียนตามกลไกทางกฎหมายของไทย รวมทั้งการส่งต่อเพื่อให้มีการเยียวยาบำบัดรักษาผู้เสียหายจากการทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ 

อาสาสมัครจากกลุ่มด้วยใจและเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีเป็นกำลังสำคัญในการเข้าถึงผู้เสียหายผ่านการทำงานทางสังคมในด้านอื่นๆ และการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ผู้เสียหายกล้าที่จะพูดและเล่าเรื่องราวที่โหดร้ายทั้งในขั้นตอนการจับกุม การควบคุมตัว การถูกซักถาม สอบสวน การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในหลายๆ รูปแบบ รวมทั้งการถูกคุมขังในกรณีถูกดำเนินคดี ซึ่งหลายกรณีกว่าที่ผู้เสียหายจะกล้าที่จะเล่าและระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาพูดต่อหน้าบุคคลอื่นนั้นอาจใช้เวลานานเป็นปี เชื่อว่ามีผู้เสียหายจากการทรมานอีกหลายรายที่อาจจะยังไม่เคยเล่าหรือบอกเรื่องราวทั้งหมดหรือเพียงแค่บางส่วนแม้แต่ต่อสมาชิกในครอบครัวตนเอง แต่เรื่องราวความเลวร้ายทั้งหมดกลับวนเวียนอยู่ในความคิด จิตใต้สำนึก และในฝันร้ายๆ ของพวกเขาตลอดเวลา 

บทเรียนเรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานในประเทศไทยและในจังหวัดชายแดนใต้

อุปสรรค์ในการให้ความช่วยเหลือยังคงมีอยู่มากมายหลายประการ โดยสรุปบทเรียนเรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานในประเทศไทยและในจังหวัดชายแดนใต้ อุปสรรค์สำคัญทางกฎหมายคือการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ยังไม่เป็นความผิดทางอาญาในกฎหมายไทย ขั้นตอนการร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งเรื่องความปลอดภัยของผู้ร้อง กลไกในการตรวจสอบ และการดำเนินคดี นำคนผิดมาลงโทษ การสอบสวนและฟ้องร้องคดีทางอาญาโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปปช. ปปท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพฯ ยังมีอุปสรรคในการทำให้ความจริงปรากฎในกรณีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน ทำให้กลไกกฎหมายและกลไกการร้องเรียนในปัจจุบันยังข้อจำกัดของสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาภายใต้กลไกที่มีอยู่ การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพมีด้วยกันห้ารูปแบบจึงยังไม่มีประสิทธิภาพ การเยียวยาที่ได้ผลนั้นได้แก่ การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การชดใช้สินไหมทดแทน การบำบัดฟื้นฟูสภาพ การทำให้พอใจ และหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก 

ไม่มีกฎหมายแล้วยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ประเทศไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องผลกระทบจากการทรมานในหมู่บุคคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างมาก แพทย์ที่ปฎิบัติหน้าที่ปกติในสถานพยาบาลมักไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจร่างกายและการตรวจรักษาอย่างละเอียด หรือไม่มีโอกาสในเข้าถึงผู้เสียหายในระยะเวลาแรกๆ หรือกลัวหรือเกรงว่าจะต้องมีบทบาทในชั้นศาลหรือขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งๆ ที่อยากจะปฏิบัติหน้าที่บุคคลกรทางการแพทย์อย่างเป็นกลางและมีจรรยาบรรณ 

ประเทศไทยยังไม่มีความรู้และการทำงานที่เป็นลักษณะเป็นองค์รวมและครอบคลุมการดูแลด้านการรักษาและจิตใจ รวมทั้งบริการทางกฎหมายและสังคม การบำบัดฟื้นฟูสมรรถนะหรือการฝึกทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการยอมรับว่ามีการทรมานเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นทางการจึงไม่มีแผนงานการสนับสนุนให้เกิดให้มีการสร้างให้เกิดสมรรถนะทางกาย ใจ สังคม และอาชีพ และการกลับเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้ตามหลักการคณะกรรมการต่อต้านการทรมานจะย้ำว่า พันธกรณีของรัฐภาคีที่จะต้องจัดให้มีช่องทางเพื่อ “การบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” หมายถึงความจำเป็นที่จะต้องบำบัดฟื้นฟูและชดเชยต่ออันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย

ประเทศไทยควรกำหนดให้มีมาตรการและโครงการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการบำบัดฟื้นฟูสภาพของผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ผู้เสียหายจากการทรมานไม่สามารถเข้าถึงโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพโดยเร็ว อีกทั้งหน่วยงานทางการแพทย์อาจไม่มีบริการล่ามแปลภาษา ในการรักษาหรือตรวจรักษาอันเกี่ยวกับการทรมาน การบริการขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นไปเพียงตามกำลังและศักยภาพ เช่นในกรณีจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งรัฐยังไม่ให้การสนับสนุน แม้ว่าจะยังไม่มีคุกคามต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเหล่านี้

การป้องกันมิให้มีการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และการเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกทรมานถือได้ว่าล้มเหลวเมื่อพบว่าการทรมานยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏในข่าวตามช่องทางต่างๆ ทั้งข่าวกระแสหลัก และข่าวกระแสรอง อีกทั้งยังไม่ปรากฏการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ จึงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวใดๆ ดังนั้นจึงควรมีการรณรงค์ และ สื่อสารเรื่องปัญหาและผลกระทบจากการกระทำทรมาน และควรสร้างแนวคิดเรื่องการทรมานเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งในระดับสังคมและสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย 

ในปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชนได้ริเริ่มที่จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทรมานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ เราได้ศึกษาถึงกลไกในการดูแล ช่วยเหลือ เหยื่อจากการทำงานขององค์กร H2H หรือ The Human to Humane Transcultural Centre for Torture Victims (H2H) แบบองค์รวม ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ การรับเรื่องร้องเรียน /การไปเยี่ยมเพื่อเก็บข้อมูล และข้อเท็จจริงต่างๆ /การประชุมทีมเพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม /การเยียวยาฟื้นฟูตามความต้องการของเหยื่อซึ่งมีหลายประเภทดังนี้ทางด้านร่างกาย/ทางด้านจิตใจ/ทางกฎหมาย/ทางสังคม/การติดตามประเมินผล

พันธกรณีระหว่างประเทศเรื่องการต่อต้านการทรมาน

ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและประเทศไทยก็ได้สมัครใจลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 การลงนามและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสำคัญฉบับนี้เกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลทหารภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 

ตั้งแต่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการทรมานฯ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต่อพันธกรณีได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะให้ประเทศไทยยุติการทรมานทั้งทางกฎหมายและในทางปฏิบัติเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้มีข้อหาการทรมาน การจัดการอบรมอนุสัญญาฉบับนี้อย่างกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงและในบริบททั่วประเทศโดยทั้งทางกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมหรือแม้แต่ทางฝ่ายกองกำลัง ทางกรมทหารพระธรรมนูญ รวมทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้จัดตั้งให้มีอนุกรรมการต่อต้านการทรมานตั้งแต่ปี 2549 หนึ่งปีก่อนที่จะมีการลงนามในอนุสัญญาฯ และได้ทำงานต่อเนื่องเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งตรวจสอบ และมีข้อเสนอแนะในประเด็นเรื่องการห้ามและยุติการควบคุมตัวที่จะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการทรมาน การเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทยแม้จะมีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับพร้อมๆ กันในการปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการตรวจเยี่ยมสถานที่ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยบุคคลภายนอก จะเป็นแนวทางในการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งต่อมาก็พัฒนาเป็นแนวทางที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยินดีที่จะเป็นคณะกรรมการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว (National Preventive Mechanism) หาประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว หรือที่เรียกกันว่า OPCAT

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ครม.ได้รับทราบรายงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีคำร้องที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่ไร้มนุษยธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกสม.ได้รับการร้องเรียนที่ขอให้ตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซ้อมทรมาน ปฏิบัติหรือใช้วิธีการลงโทษอื่นที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งกสม.เคยพิจารณาคำร้องจากประชาชนในพื้นที่จำนวน 33 คำร้อง โดยกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ฯกระทำทรมาน ปฏิบัติหรือใช้วิธีลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อผู้ที่อยู่ในระหว่างควบคุมตัวเพื่อมุ่งประสงค์ทีจะให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้น 

กสม.จึงเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยในด้านกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รัฐ ต้องสร้างระบบและว่างมาตรการในการป้องกันการทรทานทุกขั้นตอน มีการทำทะเบียนการตรวจบันทึกการตรวจร่างกายโดยแพทย์ สร้างระบบให้โปร่งใสและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ รวมทั้งกำหนดหน่วยงานที่คุมขังให้แยกต่างหากจากหน่วยงานที่ทำการจับกุม สอบสวนหรือซักถามต้องเป็นคนละหน่วยงาน และต้องกำหนดระยะเวลาการควบคุมตัวของแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน

นอกจากนี้กสม.ยังเสนอให้จัดให้มีคณะทำงานอิสระให้ทำหน้าที่ในการตรวจเยี่ยมสถานที่และผู้ถูกควบคุมตัวเป็นประจำ ต้องปรับปรุงกระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ทั้งในเชิงด้านการข่าว การแสวงหาข้อมูล หรือการปรับทัศนคติโดยจะต้องกระทำโดยไม่สร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง และต้องดูแลผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่เมื่อมีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามและการควบคุมตัว โดยกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้การซักถามผู้ต้องสงสัยเป็นไปตามหลักการสืบสวน สอบสวนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิในกระบวนการุติธรรม และเมื่อผู้ต้องสงสัยตามหมายเรียกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งทางราชการแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องลบชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากระบบฐานข้อมูลทางระเบียนว่าเป็นบุคคลถูกออกหมายเรียกที่ยังปรากฏอยู่ตามด่านตรวจต่างๆในพื้นที่ฯ 

ส่วนข้อเสนอด้านกระบวนการยุติธรรม กสม.ระบุว่า เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนต้องดำเนินการสอบสวนข้อร้องเรียนโดยพลัน โดยเที่ยงธรรมและโปร่งใส และต้องกำหนดมาตรการในการคุ้มครองพยานปกป้องเหยื่อหรือญาติที่ร้องเรียนให้พ้นจากการถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งควรมีการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับ กัก หรือควบคุมตัวที่ไม่ต่ำกว่าตรฐานสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาและมาตรฐานระหว่างประเทศ และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เสนอต่อสำนักงานศาลยุติธรรมให้นำตัวผู้ต้องสงสัยตามหมายแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯมารายงานตัวต่อศาลทุกครั้งที่มีการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวและโดยมติครม. นอกจากมีมติรับทราบแล้วยังได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน. รับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาว่าสมควรจะดำเนินการได้หรือไม่ประการใดก่อน โดยให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมผลการดำเนินการแล้วแจ้งต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ทราบต่อไป
    
ข้อมูลจาก: http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=761995

ความมุ่งมั่นของบุคคลกรระดับนโยบายต่อพันธกรณีที่สำคัญของประเทศไทยต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานก็คือการที่กระทรวงยุติธรรม ได้ริเริ่มให้มีการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. ที่มีการนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีที่ประเทศไทยพึงนำมาแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบัญญัติให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองประการคือการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาและมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด อย่างไรก็ดียังมีประเด็นทางกฎหมายและทางปฏิบัติที่ตัวแทนผู้เสียหายทั้งกรณีทรมานและการบังคับให้สูญหาย และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานใกล้ขิดกับประเด็นนี้ยังมีข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเพื่อเป็นข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … ให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

พัฒนาการที่ดีในทางนโยบายกลับสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีเรื่องร้องเรียนกว่า 100 กรณีส่งถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบว่ามีการทรมานเกิดขึ้นหรือไม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2552-2557 สำหรับศูนย์ทนายความมุสลิมที่มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ก็รับเรื่องร้องเรียนกว่า 300 กรณี บางส่วนก็ได้จัดส่งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 12 ปี การทำงานเรื่องการยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานี (2) https://thecitizen.plus/node/7506

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ