พิธีปล่อยขบวนคาราวาน “พม. เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อช่วยเหลือประชาชนในชุมชนต่างๆ สู้ภัย COVID-19
เริ่มแล้ววันนี้ ! กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ การเคหะแห่งชาติ และกรมอนามัย จัดทีมลงพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ ตามโครงการ “พม. เราไม่ทิ้งกัน” ชุมชนปลอดภัยสู้ภัยโควิด-19 เพื่อสำรวจกลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนตามแนวคิด “สำรวจให้พบจบที่ชุมชน” และให้ความรู้ แจกอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 ตั้งเป้าลงพื้นที่ 286 ชุมชนภายใน 30 เมษายนนี้ ขณะที่ พอช.ช่วยชุมชนพักหนี้บ้านมั่นคงทั่วประเทศ 3 เดือน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ร่วมมือกับกรมอนามัย โดยการขับเคลื่อนโครงการ “พม. เราไม่ทิ้งกัน” ชุมชนปลอดภัยสู้ภัยโควิด-19 ตามแนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” ในพื้นที่นำร่อง 286 ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวม 166,097 ครอบครัว ประชากร 507,660 คน โดยแบ่งทีมงานลงพื้นที่ 7 ทีมๆ ละ 10-12 คน แต่ละทีมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. กรมอนามัย การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ลงพื้นที่ 4 ชุมชนต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20-30 เมษายนนี้ โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ได้เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เขตวังทองหลาง เป็นชุมชนนำร่องไปแล้ว
ปลัดกระทรวง พม.ปล่อยขบวนรถคาราวาน “พม. เราไม่ทิ้งกัน”
โดยวันนี้ (20 เมษายน) เวลา 8.00 น. บริเวณด้านหน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off ปล่อยขบวนรถคาราวาน “พม. เราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่วันแรกจำนวน 34 ชุมชน เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 เช่น สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเพิ่มทรัพย์สินสมบุญ จํากัด เขตสายไหม สหกรณ์เคหสถานชายคลองบางบัว จํากัด เขตหลักสี่ หมู่บ้านเอื้ออาทรทหารเรือ เขตหนองแขม เคหะชุมชนเอื้ออาทรเพชรเกษม 81 โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ฯลฯ
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม. (กลาง)
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว จะมีการเข้าไปจัดตั้งศูนย์ชุมชนสู้ภัย Covid-19 และโรงอาหารกลางของชุมชน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น การจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด จากกระทรวงพาณิชย์ การให้ความรู้ในการป้องกันโรคโควิด-19 จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และการให้คำปรึกษาต่างๆ เช่น กรณีผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท การพักชำระหนี้บ้าน และสิทธิสวัสดิการสังคมจากรัฐ เป็นต้น
ในวันเดียวกันนี้ นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง พม. ได้เข้าเยี่ยมประชาชนชุมชนต่างๆ ย่านฝั่งธนบุรี เช่น หมู่บ้านเอื้ออาทรทหารเรือ เขตหนองแขม ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง เขตบางบอน ฯลฯ เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19
นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง พม.เยี่ยมชาวชุมชนย่านฝั่งธนบุรี
นายอวยชัย สุขประเสริฐ ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเพิ่มทรัพย์สินสมบุญ จํากัด (ใกล้ตลาดสะพานใหม่) เขตสายไหม กล่าวว่า วันนี้เจ้าหน้าที่จากกระทรวง พม. พอช. และกรมอนามัย เข้ามาแนะนำให้ความรู้ด้านการป้องกันโรค การใช้เจลล้างมือ การป้องกันการแพร่เชื้อโดยใช้หน้ากากอนามัย และให้คณะกรรมการชุมชนช่วยกันสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนต่างๆ ในชุมชน เช่น จำนวนผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ คนพิการ คนตกงาน และความต้องการของชุมชน เพื่อกระทรวง พม.จะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลพี่น้องประชาชน
“แต่ที่ชาวบ้านอยากให้ช่วยเหลือตอนนี้ก็คือ เรื่องของเงินเยียวยา 5,000 บาท เพราะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนหากินรายวัน เช่น รับจ้างอยู่ในตลาดสะพานใหม่ ค้าขายอยู่ในตลาด เมื่อมีปัญหาโควิด คนที่มาซื้อของในตลาดก็ลดน้อยลง ชาวบ้านก็มีงานรับจ้างน้อยลง และค้าขายไม่ดี จึงอยากจะได้เงินเยียวยาจากรัฐบาลเพื่อเอามาใช้จ่ายในครอบครัว เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือ ส่วนเรื่องสุขภาพอนามัยชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลตัวเอง เพราะไม่มีใครอยากจะติดเชื้อ” นายอวยชัยบอกถึงความต้องการของชาวชุมชน
เจ้าหน้าที่กรมอนามัยที่ชุมชนสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเพิ่มทรัพย์สินสมบุญ เขตสายไหม
ทั้งนี้สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเพิ่มทรัพย์สินสมบุญ จํากัด เป็นตัวอย่างหนึ่งของชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าว และร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว’ โดยการรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าวเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ตั้งแต่ปี 2559 โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ ขณะนี้ก่อสร้างบ้านมั่นคงแล้ว จำนวน 35 ชุมชน สร้างเสร็จแล้วประมาณ 3,000 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน)
พอช.พักชำระหนี้บ้านมั่นคง 3 เดือน–สนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน
ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยได้พักชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มองค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อจากสถาบันฯ เพื่อสร้างบ้านมั่นคงทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการบ้านมั่งคงริมคลองลาดพร้าวด้วย โดยไม่ต้องชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และไม่คิดดอกเบี้ย ระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนนี้ โดยมีองค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อประมาณ 500 องค์กรทั่วประเทศ มีสมาชิกประมาณ 50,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ พอช.ยังมี ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท’ ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิดงบประมาณรวม 144 ล้านบาท แยกเป็นชุมชนเมือง 72 ล้านบาท และชนบท 72 ล้านบาท เฉพาะโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง มีเป้าหมายเครือข่ายชุมชนเมือง 317 เครือข่าย/เมือง รวมทั้งชุมชนเดี่ยวที่ยังไม่มีเครือข่าย เครือข่ายชุมชนริมคลอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน 5 ศูนย์
โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณโครงการละ 30,000 – 300,000 บาท เน้นเครือข่ายชุมชน ทั้งที่ทำโครงการบ้านมั่นคงและชุมชนรายได้น้อยอื่นๆ ในเมือง เพื่อให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกัน เช่น มีการสำรวจข้อมูลชุมชน วางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งกรณีเฉพาะหน้า และระยะยาว เช่น การทำครัวกลาง จัดเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง การปลูกผักสวนครัว การปรับหรือพัฒนาทักษะอาชีพ การจัดตั้งหรือฟื้นฟูกองทุนชุมชน การเชื่อมโยงสินค้าชนบทสู่เมือง ฯลฯ
เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. พอช. และกรมอนามัยลงพื้นที่บ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว เขตสายไหม