ผลผลิตลำไยทั้งหมดภายในประเทศ ร้อยละ 90 ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศ อยู่ผลผลิตลำไยส่วนใหญ่ที่บริโภคในประเทศจะอยู่ในรูปลำไยสด สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูป ได้แก่ ลำไยอบแห้ง ลำไยกระป๋องและลำไยแช่แข็ง มีการบริโภคในประเทศเล็กน้อย
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกลำไยรายใหญ่ของโลก โดยส่วนใหญ่ส่งออกในรูปลำไยสดและลำไยอบแห้ง ซึ่งตลาดหลักลำไยสดของไทยได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และฮ่องกง ส่วนตลาดหลักลำไยอบแห้ง ได้แก่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง
“สถานการณ์ตอนนี้เหมือนว่าคนไทยทำหน้าที่เฉพาะการเป็นผู้ปลูกผลไม้ แต่นอกจากตรงนี้เป็นต้นไปก็จะเป็นคนจีนมาดูแล รับผิดชอบเอง”
“ปีที่แล้วได้สองแสน แต่ปีนี้ได้หกหมื่นห้า เพราะโรคระบาด”
“ทางออก ณ ปัจจุบันคือจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีที่ขาย ตอนนี้มันต้องช่วยกัน”
เนื้อหาโปรโมตรายการสารคดี Localist ชีวิตนอกกรุง ตอน ลำไยไทย ไหวไม่ไหวก็ต้องไหว (แพร่ภาพวัน 18 เม.ย. 63) ดึงผู้เขียนเข้าสู่ความสงสัยว่าสถาณการณ์ของชาวสวนลำไย ตลาดการค้าขายลำไย เป็นอยู่อย่างไรในสถาณการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด
ปี 2562 มูลค่าลำไยการส่งออกเกือบแตะ 3 หมื่นล้านบาท
ในช่วงปี 2558-2562 ปริมาณการส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจาก 553,265 ตัน (820,591 ตันสด) ในปี 2558 เป็น 743,024 ตัน (1,151,294 ตันสด) ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.68 ต่อปี สำหรับมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 15,813 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 28,904 ล้านบาท ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.58 ต่อปี
สำหรับปี 2562 มีการส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์ปริมาณ 743,024 ตัน ลดลงจากในปี 2561 ปริมาณ 771,385 ตัน หรือลดลงร้อยละ 3.68 ขณะที่มูลค่าการส่งออก 28,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 28,756 ล้านบาท ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 เนื่องจากผลผลิตลดลงขณะที่ความต้องการบริโภคลำไยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้าการระบาดของโควิด สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ออกรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2563คาดการณ์แนวโน้มการผลิตลำไยในปี 2563 ว่า เนื้อที่ให้ผล 1,178,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก 1,169,496 ไร่ ในปี 2562 ร้อยละ 0.73 เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกลำไยกันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกลำไยในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดสระแก้วที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลำไยของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน เวียดนาม ฮ่องกง และอินโดนีเซีย
สำหรับผลผลิตคาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีปริมาณ 1,044,034 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 จากปริมาณ 1,011,276 ตัน ในปี 2562 ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ 886 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43 จาก 865 กิโลกรัม ในปี 2562 เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำฝนเพียงพอและเกษตรกรดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ส่งผลให้ลำไยออกดอกและติดผลมากขึ้น
ตลาดส่งออกเป็นใหญ่ ตลาดบริโภคภายใน 50,000 ตัน
ด้านความต้องการบริโภคลำไยภายในประเทศ คาดว่าจะมีประมาณ 52,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ตัน ในปี 2562 ร้อยละ 4.00 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และมาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ของภาครัฐ
ด้านการส่งออก คาดว่าจะมีการส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์ประมาณ 815,020 ตัน (1,281,540 ตันสด) เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.69 เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และตลาดส่งออกลำไยที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน และฮ่องกง ยังมีความต้องการบริโภคลำไยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการลำไยสดและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม และอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนการขยายการส่งออกในตลาดใหม่ ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย
ในรายงานฉบับเดียวกันยังระบุถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและการส่งออก โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต ได้แก่ สภาวะโลกร้อน ส่งผลให้พื้นที่ปลูกและผลผลิตทางการเกษตรในภาคเหนือเกิดความเสียหายรวมทั้งส่งผลต่อการติดดอกออกผล ทำให้ผลผลิตออกล่าช้าและไม่ได้คุณภาพ ดังนั้น ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตลำไยของไทย
อย่างไรก็ตามราคาผลผลิตลำไย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี2558 – 2562) ราคาผลผลิตลำไยของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลำไยของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกลำไยและดูแลรักษาต้นลำไย ทำให้เนื้อที่ปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รายงานฉบับเดียวกัน ระบุถึงมาตรการการนำเข้าสินค้าเกษตรและการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐของประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย การกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการนำเข้าของจีนจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกและการส่งออกลำไยของไทย เช่น การกำหนดราคาประเมินซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สูงขึ้น และการกำหนดให้สวนลำไยต้องผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุต้องผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน GMP ก่อนการส่งออกไปจีน รวมถึงภาครัฐจีนได้ขยายการก่อสร้างด่านนำเข้าผลไม้ ณ มณฑลกวางสีซึ่งเป็นมณฑลที่นำเข้าผลไม้มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในปี 2558 เพิ่มเติม จำนวน 3 ด่าน ทำให้ปัจจุบัน มณฑลกวางสีมีด่านนำเข้าผลไม้รวมทั้งสิ้น 6 ด่าน ประกอบด้วย ด่านชายแดน 3 แห่ง ได้แก่ ด่านผิงเสี่ยง ด่านหลงปาง และด่านตงซิ่ง ด่านชายฝั่งทะเล 2 แห่ง ได้แก่ ด่านท่าเรือฝ่างเฉิง และด่านท่าเรือคลังสินค้าทัณฑ์บนฉินโจว และด่านท่าอากาศยาน 1 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกุ้ยหลิน ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขนส่งผลไม้ของประเทศอาเซียนเข้าสู่ตลาดกวางสีและตลาดภายในประเทศได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรการนำเข้าต่าง ๆ เหล่านี้ อาจมีผลทำให้การส่งออกลำไยของไทยไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย
ขณะเดียวกันประเทศอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าลำไยจากไทยรองจากจีน ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เช่น การกำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่ควบคุมให้ผลไม้นำเข้าต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี และสารชีวภาพที่เกินกว่าระดับสูงสุดที่กำหนด รวมทั้งขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการที่ใช้ตรวจสอบระบบความปลอดภัยทางด้านอาหารเพื่อการส่งออกต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งการบังคับมาตรการเหล่านี้อาจมีผลทำให้การส่งออกลำไยของไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ตลาดลำไยอาจไม่หอมหวานในสถานการณ์โควิด?
นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา สถานการณ์ค้าลำไยนั้น ตลาดค้าลำไยสดช่อไปตลาดปลายทางประเทศจีนค่อนข้างซบเซา เนื่องจากผู้ประกอบการล้งลำไย ส่งออกไปจีนมีสินค้าตกค้างในตู้คอนเทนเนอร์ที่ตลาดค้าผลไม้ ด่านและท่าเรือ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากระบาดโควิด 19 จึงชะลอการรับซื้อ ส่วนตลาดอินโดนีเซีย ยังไม่มีการเปิดอนุญาตนำเข้าราคาลำไยขณะนี้ มีเพียงตลาดรอง อาทิ มาเลเซีย อินเดีย ยุโรปบางประเทศ แต่ผลผลิตที่รับซื้อส่งออกไม่มาก
ถึงแม้ปัจจุบันเริ่มมีการรายงานว่าจีนจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือปรากฏว่าล้งเริ่มเคลื่อนไหวติดต่อเจรจากับชาวสวน เพื่อต่อรองซื้อขายล่วงหน้า อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าประชาชนจีนยังนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตก่อน ซึ่งลำไยและผลไม้ไทยจัดอยู่ในสินค้าสุขภาพ การบริโภคผลไม้จากไทยจึงอาจไม่มากเท่าช่วงเวลาเดียวกันในสถานการณ์ปกติ
นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก ฝ่ายเกษตรกว่างโจวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดว่าการประกาศมาตรการป้องกันการระบาดของ COVID-19 ที่จะเข้ามาจากต่างประเทศผ่านการเดินทางทางถนนและทางน้ำของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง รัฐบาลพยายามไม่ให้กระทบต่อการนำเข้าและส่งออกผ่านด่านของเขตฯกว่างซีจ้วง ในเส้นทางขนส่งทางบก จึงไม่ได้มีการปิดด่านขนส่งทางบกที่สำคัญ เช่น ด่านโหย่วอี้กวนและด่านตงซิง เพียงจำกัดการเดินทางเข้าออกของผู้โดยสาร ในขณะที่การขนส่งสินค้ายังดำเนินการได้ตามปกติ แต่มีมาตรการควบคุมเพิ่มขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ดีมีผลไม้ของไทยที่ผ่านด่านโหย่วอี้กวนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจีนจะไม่ปิดด่านแต่การระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อการขนส่งในเส้นทางดังกล่าวไม่น้อย
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ประกาศการขึ้นทะเบียนสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุภัณฑ์ผลไม้ส่งออกสาธารณรัฐประชาชนจีนของไทย รายชื่อฉบับเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนสวนลำไยทั่วประเทศได้รับการขึ้นทะเบียนจากจีนจำนวน 13,109 สวน ส่วนโรงคัดบรรจุภัณฑ์ผลไม้ 5 ชนิด (มะม่วง ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่) ได้รับการขึ้นทะเบียน 1,474 แห่ง
ที่มา: สำนักงานการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
นี่คือความหวังที่ทุกฝ่ายหวังให้สถานการณ์การส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญจะกลับสู่ปกติ ซึ่งไม่มีใครบอกว่าได้ว่า เมื่อไหร่? ภายใต้สถานการณ์นี้เอง จึงเห็นตัวอย่างการดิ้นรนของชาวสวนลำไยและผู้รับซื้อรายย่อยที่พยายามช่วยเหลือกันด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ
1.ต้องวิเคาระห์ตลาดให้เป็น
2.ลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ยิ่งต้นทุนน้อย ความเสี่ยงก็ต่ำ
3.จับกลุ่ม รวมตัว แบ่งพื้นที่ปลูก ไม่ให้ผลผลิตออกมาชนกัน
4.สร้างช่องทางใหม่ ส่งตรงไปยังผู้ซื้อ
5.เปิดพื้นที่หาตลาดใหม่ๆ ไม่ผูกขาดอยู่แค่ตลาดเดียว
นี่คือสถานการณ์และรูปธรรมการช่วยเหลือกันในระดับย่อย ระดับพื้นที่ ขณะเดียวกันภาครัฐก็พยายามจะขยับและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรทั้งหมด ไม่ใช่เพียงเฉพาะลำไย แต่วิกฤตจะแปลงเป็นโอกาสหรือวิกฤตจะซ้อนวิกฤตนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อ
หนุนกระจายสินค้าภายในประเทศ เพิ่มตลาดให้เกษตร
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวังผลกระทบสินค้าเกษตรจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้วางแนวทางการบริหารผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ แบ่งเป็น 8 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการด้านการผลิต
1.1 การบริหารจัดการเรื่องแรงงานเก็บผลไม้ โดยจะมีการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขต ขยายการต่อใบอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอีก 3 เดือน และเน้นการตรวจสุขภาพให้แก่แรงงานทุกราย
1.2 การดูแลความเป็นธรรมเรื่องราคาและปริมาณ จะมีการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามาควบคุม
1.3 การส่งเสริมให้มีการทำคอนแทรกฟาร์มมิ่ง เกษตรพันธะสัญญา 4) การเชื่อมโยงการกระจายผลไม้ผ่านห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และผู้บริโภคโดยสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ ขนาด 5 กิโลกรัม (กก.) 10 กก. และ 20 กก. ให้แก่เกษตรกร
2. มาตรการด้านตลาดในประเทศ ได้แก่
2.1 ภาครัฐจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยขอความร่วมมือไปรษณีย์ไทยมาช่วยในการจัดส่งผลไม้ ฟรี 200 ตัน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก
2.2 การผลักดันให้นำผลไม้จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายผลไม้ทางช่องทางออนไลน์
2.3 การรณรงค์การบริโภคผลไม้ในประเทศ (Eat Thai First) เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้บริโภคผลไม้ไทยเกรด Premium ในราคายุติธรรมตามฤดูกาล และส่งเสริมให้นำผลไม้มอบเป็นของฝากของขวัญ
3. มาตรการด้านตลาดต่างประเทศ
3.1 เดินหน้าการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในรูปแบบออนไลน์ให้มากขึ้น
3.2 มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งส่งเสริมการขายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และประสานการจัดหาสินค้านำเข้า ไทยเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศจากไทย 4) การสนับสนุนค่าขนส่งทางอากาศ
4. มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
4.1 ช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้ในอัตรา 3% ระยะเวลา 10 เดือน
4.2 ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้เพื่อส่งออกในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน และ 3) ช่วยค่าใช้จ่ายรวบรวมเพื่อส่งออกอีกกิโลกรัมละ 3 บาท เป้าหมาย 1 หมื่นตัน
5. มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเตรียมมาตรการช่วยลดภาระทางการเงิน ซึ่งมอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งได้ขอความร่วมมือ ธ.ก.ส. ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร
6. มาตรการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการมาตรฐานผลไม้ ได้แก่ สร้าง Central Lap ของไทยกรณีสินค้าเกษตรส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะไม่มีการตรวจสอบซ้ำที่ด่านปลายทาง ทั้งนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานฝ่ายจีน และเร่งออกใบรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 70,000 แปลงให้เกษตรกรไทย รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ด้านเทคนิคการบรรจุห่อเพื่อยืดอายุผลไม้ในยาวนานขึ้น
7. มาตรการเก็บรักษาและแปรรูปสร้างมูลค่าผลไม้โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
7.1 ผลไม้ส่วนเกินนำเข้าสู่ระบบการเก็บรักษาด้วยการอบการแช่เย็นและวิธีอื่นๆ
7.2 การแปรรูปผลไม้เป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับตลาดในและต่างประเทศ
8. มาตรการเพิ่มปริมาณการบริโภคภายในประเทศและระบบโลจิสติกส์
8.1 ระบบโลจิสติกส์และการจำหน่ายผลไม้ทุกชุมชนทั่วประเทศโดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผลไม้ร่วมกับผู้ประกอบการผลไม้และผู้ประกอบการบริการโลจิสติกส์โดยการสนับสนุนงบประมาณของคชก.และกระทรวงพาณิชย์รวบรวมผลผลิตขนส่งและจำหน่ายทั่วประเทศผ่านร้านธงฟ้า สหกรณ์ รถเร่และตลาดชุมชนกว่า 70,000 จุด
8.2 ขอความร่วมมือหน่วยราชการส่วนกลาง/ภูมิภาค/ท้องถิ่น-รัฐวิสาหกิจ-องค์กรมหาชน-รัฐสภา-องค์กรอิสระกว่า 10,000 หน่วย เพื่อช่วยซื้อผลไม้โดยแจ้งปริมาณจะจัดส่งทุก 5 วันและขอความร่วมมือเป็นจุดขาย
รับชมรายการ #Localist #ชีวิตนอกกรุง : “ลำไยไทย…ไม่ไหวก็ต้องไหว” ที่ออกอากาศในวันที่ 18 เม.ย. 2563 … เมื่อลำไยไทยตกอยู่ในกลไกตลาดของนายทุนจีน และชีวิตชาวสวนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สารพัดปัญหาที่ถาโถมเข้ามา ล้งเล็กของไทยจึงต้องงัดทุกกลยุทธ์สู้วิกฤตเฉพาะหน้ามาใช้
อ้างอิง
สถานการณ์และแนวโน้มสินค้าเกษตรที่สำคัญปี 2563
สวนผลไม้ 5 ชนิดและโรงคัดบรรจุภัณฑ์ผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้สามารถส่งออกสาธารณรัฐประชาชนจีน