#ยืนตรงไร่หมุนเวียน ตามคำท้าของนักกิจกรรม Thanagorn Atpradit รอบที่สอง

#ยืนตรงไร่หมุนเวียน ตามคำท้าของนักกิจกรรม Thanagorn Atpradit รอบที่สอง

เราทุกคนล้วนปรารถนาจะมีความมั่นคงในปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิต
สร้างฐานะทางสังคม ท่ามกลางคุณภาพชีวิต มีความศิวิไล และสิ่งแวดล้อมที่งดงาม
การได้อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น ในบ้านหลังใหญ่ มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน ญาติพี่น้องอิ่มบุญและใจดี อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ในชุมชนที่อบอุ่น มีความเอื้ออาทร แบ่งปันความสุข ไม่แย่งชิง ไม่เห็นแก่ตัว

เราหลายคนปรารถนา สิ่งเหล่านั้น ในสังคมเช่นนั้น หรืออาจเรียกว่า “ชุมชนอุดมคติ”
เราหลายคน ได้แต่ โหยหาชุมชนเช่นนั้น แม้นในชีวิตจริงจะอยู่ในสังคมที่แย่งชิงและเห็นแก่ตัว

ผมและหลายๆ คนก็อาจไม่เชื่อสายตาของตัวเองแล้ว ว่า “โลกเช่นนั้นมีอยู่จริง”
ตราบเมื่อได้เหยียบผืนดินที่ทำกินของพี่น้องกะเหรี่ยง หรือที่เขาเรียกว่า ไร่นาสวนผสมกลางขุนเขาว่า
“ไร่หมุนเวียน” ไร่นาสวนผสม ที่เปรียบ “ผู้ชาย“ ว่าเสมือนเป็น “ต้นข้าว” เปรียบผู้หญิงเป็นเช่น”ดอกไม้”

ไร่หมุนเวียนที่พวกเขาเคารพ นอบน้อม ธรรมชาติ ป่าเขาลำธารดุจญาติผู้ใหญ่ วิถีดำรงตนอย่างเรียบง่าย สมถะ ทุกวิถีขั้นตอนของการใช้ชีวิตสอดคล้องธรรมชาติกับวิถีการผลิตแบบแยกไม่ออก ก่อนเขาจะเข้าไปทำการผลิตใน “ไร่หมุนเวียน” ต้องกราบไหว้ผีปู่ย่าตายาย เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าน้ำ เจ้าไฟ ขออนุญาต ขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพืชพรรณธัญญาหารหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนให้เพียงพอและแบ่งปันคนรอบข้าง

เขา, ขอสิ่งเหล่านั้นต่อเทพเจ้าทั้งหลาย ก่อนเริ่มทำไร่หมุนเวียน ขอว่าปีหนึ่งขอทำแค่แปลงหนึ่ง แปลงเดียว แล้วก็ทิ้งไร่หมุนเวียนแปลงนั้นไว้ 7-8 ปี เพื่อเทพเจ้าดูแล ให้ธรรมชาติได้พักฟื้น ให้ดินได้หายใจ ให้ลำธารร่ายรำ ให้ต้นไม้ได้ออกดอก แตกกิ่งก้าน ขยายลำต้นใก้เติบโตเพื่อผลิตลมหายใจมาหล่อเลี้ยงโลก

ชุมชนเช่นนี้ มิใช่ที่เราเองปรารถนาจะดำรงกับโลกอย่างสอดคล้องสมดุล ชุมชนเช่นนี้ มีอยู่จริง ตามหุบเขาเล็กๆ ลำธารใสๆ ดูแลรักษาป่าผืนใหญ่ให้งดงาม บริบาลสิ่งแวดล้อมให้สมดุล เราไปพบเขาได้ในหลายๆ พื้นที่ทางเหนือของประเทศ เช่น บ้านห้วยหินลาดในที่เชียงราย, บ้านกลาง-บ้านแม่ส้าน แม่เมาะ, บ้านแม่หมีที่ลำปาง, บ้านดอยช้างป่าแป๋ที่ลำพูน, บ้านขุนแม่เหวย-แม่ปอคี ท่าสองยาง จ.ตาก, แม่กองคา, แม่หาด, นาดอย ที่แม่ฮ่องสอน, บ้านสบลาน-ป่าคา สะเมิง, แม่ป่าเส้า -แม่คองซ้าย เชียงใหม่ ฯลฯ

น่าเสียดายที่ว่า รัฐรวมศูนย์ นโยบายเชิงเดี่ยว การพัฒนากระแสหลัก ทุนนิยมเสรี และอะไรหลายอย่าง จิปาถะ กำลังบังคับให้ชุมชนเหล่านี้ เข้าสู่ลู่วิ่งของทุนนิยม สร้างความเห็นด้วยแก่ตัว การสะสมกำไร การแย่งชิง และลูกหลานเดินออกไปจากพ่อแม่ ถูกโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณ

หลายปีนี้ผมทำความเข้าใจคำว่า “พื้นที่จิตวิญญาณ” กับหลายๆ ชุมชน หลายๆ อาจารย์ และหลายๆ นักกิจกรรม และพึ่งได้ข้อสรุปที่แจ่มชัดขึ้นว่า หากพวกเขา กลุ่มชาติพันธุกะเหรี่ยงหรือชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่มีไร่หมุนเวียน ไม่มีป่าชุมชน ไม่มีป่าใช้สอย ไม่มีป่าพิธีกรรม ไม่ความเอื้ออาทรในชุมชน ก็ไร้ซึ่งจิตวิญญาณของคนในไร่หมุนเวียน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ก็คือทั้งหมดของชุม คน วิถีชีวิต ป่า การจัดการทรัพยากรและวัฒนธรรม

ปีนี้, ฤดูแล้งที่ยาวนาน ไฟป่ามีความรุนแรงด้วยเหตุเพทภัยธรรมชาติ หลายชุมชนต้องสู้กับไฟป่าอย่างลำพัง หลายพื้นที่ต่อสู้กับไฟป่าเป็นแรมเดือน หลายชุมชนเป็นที่รู้จัพทางสาธารณะ และได้รับสนับสนุนจากชุมชนทางสังคม หรือ socail movement ผ่านโลกออนไลน์ (social media ) ดังเป็นรับทราบร่วมกันแล้วนั้น

ขณะที่รัฐยังหวาดระแวงและไม่เชื่อมั่นในศักยภาพการจัดการไฟและการดูแลป่าของชาวบ้าน รัฐรวมศูนย์จากส่วนกลาง ทั้งกลไก และการจัดการแบบ top down พร้อมกับประกาศใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องจับคนเผาป่ามาลงโทษ เพื่อสร้างคะแนนนิยมที่หายไป เพราะความล้มเหลวในการจัดการวิกฤติหมอกควันที่ผ่านมา

เราหวังเพียงอย่างยิ่งว่า, ทัศนคติเช่นนั้น จะไม่ทำลายวิถีอันงดงามของชุมชนที่ทำ “ไร่หมุนเวียน” เพราะก่อนฤดูฝนมาเยือน ฤดูกาลผลิตจะเริ่มต้น พี่น้องก็ต้องเผาป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน ในแปลงที่หมุนเวียนมาครบมาอีกครั้งตามสถานการณ์การผลิตของวิถีบรรพชน

การเผาป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียนในทุกๆ ปี ที่ผ่านมา พี่น้องก็ได้มีข้อตกลงกับองค์ปกครองท้องถิ่น, ผู้ปกครองท้องที่โดยมีการแจ้งเตือนบอกกล่าวกับฝ่ายปกครองในระดับตำบล, อำเภอและจังหวัด ทั้งวันเวลาในการเผาและมีรูปแบบการจัดการไฟที่ชัดเจน และเป็นที่รับทราบของฝ่ายปกครองเป็นอย่างดี

เราขอให้วิถีเช่นนี้ดำเนินต่อไป อย่าได้สร้างดราม่า “ชนเผ่าเผาป่า” เพื่อทำลายวิถีไร่หมุนเวียนและฟื้นนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” กลับมาอีกเลย

ด้วยจิตคารวะและเคารพพลังของชุมชน
16 เมษายน 2563 เวลา 22.28 น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ