ชื่อบทความเดิม: “ธนาคารอาหาร (Food Bank)” ทางเลือกเพื่อความมั่นคงทางอาหารและสิทธิในการเข้าถึงอาหารภายใต้สถานการณ์ Covid-19
เขียนโดย: เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช และบดินทร์ สายแสง สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
เมษายน 2563
วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เรียกว่า Covid-19 นอกจากจะเป็นวิกฤตการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ยังก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว ในหลายพื้นมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินและสั่งห้ามการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหลายประเภท ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการและลูกจ้างในกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ
ทั้งนี้ การหยุดกิจการหรือปิดกิจการย่อมหมายถึงการที่ลูกจ้างจำนวนมากจะต้องตกงานและขาดรายได้ ซึ่งประชากรส่วนนี้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและมีความเปราะบางกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ดังจะเห็นได้จากการที่คนทำงานในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากมีคำสั่งให้บรรดากิจการห้างร้านต่าง ๆ ที่ประกอบกิจการตามประกาศต้องหยุดหรือปิดกิจการไป เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นขาดรายได้ที่เพียงพอต่อรายจ่ายในชีวิตประจำวัน
สภาวะดังที่กล่าวไปตอนต้นอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างมากขึ้น ถ้าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังดำเนินต่อไปนานขึ้น หรือนานกว่าที่คนในสังคมคาดหมายไว้ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมก็อาจจะขยายตัวไปสู่กลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ค้ารายย่อย หรือแม้กระทั่งลูกจ้างขององค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นกังวลก็คือ คนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าถึงมาตรการการเยียวยาโดยรัฐฯ หรือกระทั่งมาตรการต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างปกติสุขหรืออย่างน้อยก็สามารถจะเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตได้ เช่น สิทธิในการเข้าถึงอาหาร ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐหรือภาคประชาชนที่มีศักยภาพควรจะต้องคำนึงถึงก็คือ มาตรการที่อาจจำเป็นในกรณีที่วิกฤตการณ์ดังกล่าวแพร่ขยายไปเกินกว่าการควบคุม หรือเมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายมากที่สุด
ในอดีตเมื่อหลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจน้อย อาจไม่สามารถที่จะซื้อหาอาหารให้เพียงพอกับการบริโภคในแต่ละวัน ธนาคารอาหารนับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการรับผิดชอบทางสังคมที่ถูกนำมาใช้ และสามารถช่วยเหลือผู้คนได้เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งแม้จะเป็นในสภาวะปกติ ธนาคารอาหารก็ยังเป็นที่พึ่งพิงของผู้ที่ขาดแคลนทรัพยากรและโอกาสในการเข้าถึงอาหาร
นอกจากนี้ ธนาคารอาหารยังเป็นกระบวนการในการร่วมมือกันทางสังคม ซึ่งถือกำเนิดมาจากแนวความคิดด้านสังคมสงเคราะห์ และขยายวงกว้างขึ้นเป็นแนวความคิดการรับผิดชอบต่อสังคมในด้านอาหาร และเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารจัดการทางสังคมเรื่องความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ทั้งนี้ ธนาคารอาหารอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการรับมือกับการขาดโอกาสในการเข้าถึงอาหารของคนจำนวนมากในช่วงวิกฤตการณ์ครั้งนี้
สำหรับบทเรียนจากต่างประเทศในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 นั้น ในบทความเรื่อง How will COVID-19 affect Africa’s food systems? ได้วิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับศักยภาพของผู้คนในการเข้าถึงอาหารเพื่อการยังชีพ รวมทั้งสิ่งที่ต้องทำไว้ว่า กลุ่มคนที่จะเผชิญกับปัญหาเรื่องอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid-19 รวมทั้งมาตรการการปิดเมืองและการเว้นระยะห่างทางสังคม คือ “กลุ่มคนยากจน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ทำให้การจ้างงานลดน้อยลง ดังนั้น การเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาในชนบทของพวกเขาก็เพื่อโอกาสที่ง่ายกว่าในการเข้าถึงอาหาร แต่กระนั้น นี่ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หนีจากภัยความรุนแรงและความหิวโหย
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการเข้าถึงหรือการซื้อหาอาหารยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งผู้คนจำนวนมากยังต้องพึ่งพาร้านค้าขนาดเล็กและตลาดเปิดกลางแจ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการค้าที่สำคัญสำหรับผู้มีกำลังซื้อน้อย การปิดพื้นที่ดังกล่าวอาจทำให้ศักยภาพในการเข้าถึงและการซื้อหาอาหารของผู้คนลดน้อยลง รวมถึงยังเป็นการตัดตอนการทำมาหาได้ของผู้ผลิตและผู้ขายด้วย ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงการออกแบบมาตรการเพื่อช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ (1) ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับความอดอยากและความไม่มั่นคงทางอาหาร และ (2) ระบบการจัดหาอาหารในภาวะฉุกเฉิน โดยสองระบบนี้จะต้องทำทั้งในพื้นที่ชนบทและในเขตเมือง
ในบทความ เรื่อง How Covid-19 has exposed inequalities in the UK food system: The case of UK food and poverty ได้เสนอมาตรการ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างหลักประกันทางสังคม โดยประเด็นสำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่จะสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่ครัวเรือน กล่าวคือครัวเรือนจะต้องการรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงต้นของวิกฤตการแพร่ระบาดใหญ่ และในช่วงหลังการระบาดใหญ่ความต้องการแรงงานและการหางานจะพุ่งสูงขึ้น ประเด็นสำคัญ จึงอยู่ที่การร่นเวลาในกระบวนการจัดหางาน ซึ่งหากกระบวนการนี้มีความรวดเร็วจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และหนี้สินผูกผันที่ประชาชนจะต้องแบกรับลง
(2) การจัดหาอาหารในภาวะฉุกเฉิน และ (3) มาตรการสำหรับร้านค้าปลีก/ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ สำหรับประเทศที่มีศักยภาพในเรื่องธนาคารอาหารแล้ว ควรมีมาตรการให้เงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนผ่านกองทุนรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งนอกจากนี้ รายได้จากยอดขายที่สูงขึ้นของร้านค้าปลีก/ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ควรถูกจัดสรรเป็นค่าตอบแทนแก่แรงงานในอัตรา ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ (Real Living Wage) แทนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
การสร้างมาตรการเพื่อจัดหาอาหารในภาวะฉุกเฉินด้วยการตั้ง “ธนาคารอาหาร” โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละชุมชนนั้น นอกเหนือไปจากการเตรียมความพร้อมเรื่องธนาคารอาหารให้แก่ชุมชนและผู้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารอื่น ๆ เพื่อให้องคาพยพดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการแล้ว ภาครัฐตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นขึ้นไปก็จะต้องเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีการก็คือ จัดหากลไกเพื่อสนับสนุนมาตรการการจัดหาอาหารในภาวะฉุกเฉิน โดยไม่ทิ้งให้ชุมชนท้องถิ่นรับภาระรับผิดชอบมากเกินศักยภาพ
ทั้งนี้ นอกจากการมาตรการให้เงินช่วยเหลือในภาวะวิกฤตแก่ครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อหาอาหารได้เองแล้ว ก็ยังต้องวางแนวทางในการระดมทรัพยากรและการแบ่งปันอาหารให้แก่ธนาคารอาหาร ซึ่งก็สามารถทำได้โดยเมื่อครัวเรือนประกอบอาหารหนึ่งอย่างเพื่อบริโภคกันเองภายในครัวเรือน ก็ขอให้ปันส่วนที่เหลือใช้หนึ่งอย่างนั้นให้แก่ธนาคารอาหาร นอกจากนี้ ห้างร้านและภาคธุรกิจในชุมชนก็สามารถที่จะร่วมกันให้คำมั่นว่าจะบริจาคเครื่องอุปโภคและบริโภคแก่ธนาคารอาหาร ตามศักยภาพและความเหมาะสม
รูปแบบของธนาคารอาหาร
1) การทำหน้าที่เป็นศูนย์รับบริจาคและกระจายอาหาร ในหลาย ๆ ประเทศ ธนาคารอาหารได้ก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรสาธารณกุศล เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนและไม่สามารถซื้อหาอาหารได้เพียงพอกับการบริโภคของตนเองและครอบครัว ซึ่งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาใช้ระบบศูนย์กลางการรวบรวมรับบริจาค และเป็นศูนย์ส่งเหมือนระบบการรวบรวมสินค้าและกระจายสินค้า โดยเป็นการตั้งโกดังสินค้าในพื้นที่ที่มีปริมาณอาหารค่อนข้างมาก และมีสินค้ารวมทั้งอาหารที่เกินกว่าความต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นที่อาหารสดและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่าง ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางอาหารที่กำลังการผลิตเกินความต้องการของผู้บริโภค และผู้ประกอบการยินดีนำมาบริจาคกับธนาคารอาหาร
ในประเทศอื่น ๆ เช่นในทวีปยุโรป ธนาคารอาหารก็มีลักษณะที่คล้าย ๆ กันคือเป็นแหล่งรวบรวมอาหารเพื่อการแจกจ่าย แต่ในบางสภาวะแวดล้อม การรับบริจาคหรือการกระจายอาหารก็ปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็น ทั้งในทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศ เช่น การขนส่งที่ยากลำบากในบางพื้นที่ ทำให้การลำเลียงอาหารสดไปในพื้นที่ที่เข้าถึงยากไม่สามารถทำได้ หรือทำให้คุณภาพของอาหารสดไม่เหมาะสมในการบริโภค หรือในฤดูร้อนที่อาหารสดอาจจะเน่าเสียได้ง่าย ธนาคารอาหารบางที่ก็จะงดหรือลดการรับบริจาคอาหารสด และเพิ่มการขอรับบริจาคผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการถนอมอาหารมาแล้ว หรือผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง
ทั้งนี้ การกระจายอาหารอาจจะมีความสิ้นเปลืองในระบบโลจิสติกส์หรือระบบการจัดการการขนส่ง เนื่องจากต้องมีทั้งศูนย์รับและส่งต่ออาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นอาหารสดก็อาจจะเกิดความเสียหายต่ออาหารในกระบวนการรวบรวมและกระจายอาหารได้ และจำเป็นต้องมีอาสาสมัครที่ทำหน้าที่ในการแยกประเภทของอาหารและควบคุมคุณภาพของอาหารที่ได้รับมา และควบคุณคุณภาพของอาหารที่แจกจ่ายออกไปตามสาขาต่าง ๆ ของธนาคารอาหาร
2) การทำหน้าที่เป็นศูนย์อาหาร (โรงทาน) ระบบนี้คนไทยอาจจะคุ้นเคยเพราะเป็นระบบที่คล้ายคลึงกับโรงทานในประเทศไทย ซึ่งศูนย์ให้บริการอาหารเหล่านี้จะเป็นศูนย์ในการปรุงอาหารสำเร็จพร้อมรับประทาน และเปิดให้ผู้คนเข้ามารับประทานเหมือนศูนย์อาหารโดยทั่วไป ซึ่งธนาคารอาหารในประเภทแรกหลาย ๆ องค์กรก็ทำศูนย์อาหารประเภทนี้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในแต่ละศูนย์กระจายอาหารเมื่อกระจายไปตามศูนย์ย่อยหรือสาขาของธนาคารอาหารแล้วก็เปิดให้บริการศูนย์อาหารพร้อมบริโภคควบคู่ไปด้วย
ในกรณีวิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ สมเด็จพระสังฆราชได้มีพระดำริให้วัดทั่วประเทศเปิดโรงทาน เพื่อนำอาหารที่ได้จากการทำบุญจากญาติโยมนำมาแจกจ่ายให้กับบุคคลทั่วไป ตามแต่กำลังและศักยภาพของแต่ละวัด ซึ่งถ้าเปรียบเหมือนวัดทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการรับอาหาร และโรงทานของวัดเหมือนเป็นศูนย์อาหารพร้อมบริโภค ก็จะมีลักษณะของการกระจายอาหารของธนาคารอาหารเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องเข้าใจว่า บทบาทในการกระจายอาหารของวัดแต่ละวัดขึ้นอยู่กับศักยภาพ และอาจจะไม่สามารถรับผิดชอบในหน้าที่ของศูนย์กระจายอาหารได้ในระยะยาวมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ธนาคารอาหารก็เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคเอกชนและองค์กรทางศาสนา ซึ่งหลาย ๆ พื้นที่ก็ใช้อาคารและสถานที่ของโบสถ์ในคริสต์ศาสนาเป็นศูนย์กลางชุมชนในการตั้งศูนย์อาหารและศูนย์กระจายอาหารชุมชน
ระบบการกระจายอาหารในลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีอาสาสมัครจำนวนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ในการคัดแยกอาหารและประกอบอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องเป็นอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญในการปรุงอาหารและประกอบอาหาร รวมทั้งอาจจะรวมไปถึงความรู้และประสบการณ์ในเรื่องโภชนาการทางอาหารด้วย
3) การทำหน้าที่ในการบริการชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อลดการทิ้งอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ ธนาคารอาหารในลักษณะนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของธนาคารอาหารให้กว้างขวางกว่างานด้านสาธารณกุศล โดยในแต่ละชุมชนซึ่งมีการบริโภคอาหารจากการจับจ่ายใช้สอยตามปกติแต่ไม่สามารถที่จะบริโภคให้หมดภายในครัวเรือนก็สามารถนำอาหารเหล่านั้นมาเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่ของชุมชน สำหรับผู้คนทั่วไปสามารถมาเลือกนำผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่เหล่านั้นไปบริโภคได้ตามความต้องการ เช่น เราซื้อส้มมา 2 กิโลกรัมแต่บริโภคไปเพียง 1 กิโลกรัมและไม่ต้องการบริโภคอีก ก็นำส้มที่เหลือไปใส่ตู้เย็นของชุมชนไว้คนอื่นที่ผ่านมาต้องการบริโภคก็สามารถหยิบไปได้ โดยจะหยิบเพียง 1 ลูก หรือเอาไปทั้งหมดก็ได้ เพราะถือว่าเมื่อเราเอาไปใส่ในตู้แช่ของชุมชนแล้วก็ถือว่าเป็นของสาธารณะ ซึ่งการทำธนาคารอาหารแบบนี้นอกจากเป็นการแบ่งปันกันในชุมชนแล้ว ก็ยังเป็นการลดปริมาณขยะที่เกิดจากการทิ้งอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ยังมีคุณภาพดีเหมาะสมกับการบริโภค
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการธนาคารอาหารของชุมชนในลักษณะนี้ก็คือ ต้องมีอาสาสมัครคอยควบคุมคุณภาพของอาหารที่มีผู้นำมาบรรจุในตู้เย็นหรือตู้แช่ มีการควบคุมวันหมดอายุหรือให้ผู้ที่นำผลิตภัณฑ์อาหารมาระบุวันที่นำอาหารมาให้ชัดเจน ซึ่งอาสาสมัครต้องได้รับการฝึกฝนในเรื่องเหล่านี้ก่อนปฏิบัติงาน รวมทั้งอาสาสมัครควรมีหน้าที่ในการทำความสะอาดตู้แช่ตามระยะเวลาที่เหมาะสม
4 ) ธนาคารอาหารแบบทางเลือกใหม่ อาหารปลอดสารพิษ อาหารเฉพาะถิ่น เป็นลักษณะของการร่วมมือกันในชุมชนและระหว่างชุมชนเพื่อสร้างความสมดุลของการผลิตอาหารที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในระบบปกติและในสภาวะขาดแคลนอาหาร
การประยุกต์ใช้รูปแบบธนาคารอาหารในสังคมไทยในสภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 และในอนาคต
ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ถ้าการระบาดของเชื้อไวรัส Covod-19 ดำเนินต่อไปนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจเป็นไปได้ว่าคนสังคมไทยจะเผชิญกับปัญหาการขาดโอกาสในการเข้าถึงอาหาร ถึงแม้ว่าอาหารจะไม่ขาดแคลนก็ตาม เนื่องจากศักยภาพของคนที่จะซื้อหาอาหารมารับประทานได้เองอาจจะน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในสังคมเมืองและคนจนในเมือง ดังนั้น การเข้าถึงอาหารโดยมีโครงสร้างของธนาคารอาหารอาจจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บางส่วน
ทั้งนี้ สามารถแจกแจงวิธีการในการดำเนินการธนาคารอาหารในชุมชนที่เหมาะสมกับสังคมไทยได้ดังตารางต่อไปนี้
รูปแบบที่ควรใช้/ประเภทชุมชน | กระบวนการ/วิธีการ | ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง |
1) ชุมชนเมือง/ชุมชนกึ่งเมือง | ||
การตั้งธนาคารอาหารชุมชน – ในชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่จำนวนมาก – หมู่บ้านจัดสรร – อาคารพักอาศัย – ลานจอดรถ | – การก่อตั้งโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน – ในกรณีที่มีการร่วมกันของหลายชุมชน หรือชุมชนที่มีขนาดใหญ่ การดำเนินการ ในรูปแบบสหกรณ์จะทำให้เกิดความยั่งยืน – มีการตั้งศูนย์รับบริจาคอาหารจากบริษัทห้างร้านในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง หรือผู้บริจาครายใหญ่ – การใช้บริการตู้แช่ในชุมชน โดยอาจจะขอให้บริษัทเครื่องดื่มหรือบริษัทอาหารที่มีการให้บริการตู้แช่จาก Supplier ของผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว สามารถนำตู้มาตั้งในพื้นที่บริการของชุมชนได้ – แบ่งประเภทของอาหาร เช่น อาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงเสร็จพร้อมรับประทาน อาหารกระป๋อง ฯลฯ – การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานอาหาร และการกำหนดวันหมดอายุของอาหาร – การรับอาสาสมัครซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพและความสะอาดของอาหารและตู้แช่ – การลดปริมาณขยะจากอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ และการบริโภคอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม | มาตรฐานด้านสาธารณสุข – การรักษาความสะอาดและการปลอดเชื้อของภาชนะและอาหาร – การควบคุมคุณภาพอาหารให้มีคุณภาพทางโภชนาการ – การรักษาอนามัยของอาสาสมัครและผู้ที่สัมผัสอาหาร ความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ – อาจจำเป็นต้องพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่เป็นการกระจายอาหารออกนอกชุมชน – ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารในกรณีชุมชนร่วมจัดหา – ค่าใช้จ่ายสำหรับอาสาสมัคร และการดูแลความสะอาดและการฆ่าเชื้อ – ค่าใช้จ่ายสำหรับสาธารณูปโภค – ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่อาจจะสูงเกินความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ |
การตั้งศูนย์อาหารชุมชน (โรงทาน) – วัด/ศาสนสถานในชุมชน – ศูนย์บริการชุมชน – สถานศึกษา – ลานจอดรถ | – จัดตั้งโดยการร่วมมือกันระหว่างองค์กรศาสนา หรือสถานศึกษา และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และคนในชุมชน – มีการตั้งศูนย์รับบริจาคอาหารจากบริษัท ห้างร้านในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง หรือผู้บริจาครายใหญ่ – มีการจัดตารางการแจกจ่ายอาหารที่ชัดเจน รวมทั้งปริมาณการแจกจ่ายต่อวัน/มื้อ – อาจจะมีการแจกคูปองอาหารล่วงหน้า – การรับอาสาสมัครในการจัดการทั้งอาคารสถานที่ ทั้งในกรณีที่สามารถรับประทานได้ในบริเวณศูนย์อาหาร และการนำกลับไปรับประทานที่บ้าน – อาสาสมัครที่มีความสามารถในการประกอบอาหาร และมีความรู้เรื่องโภชนาการ | มาตรฐานด้านสาธารณสุข – การรักษาความสะอาดและการปลอดเชื้อของภาชนะและอาหาร และสถานที่รับประทานอาหาร – การควบคุมคุณภาพอาหารให้มีคุณภาพทางโภชนาการ – การรักษาอนามัยของผู้ประกอบอาหาร ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ – สร้างผลลัพธ์ทางสังคม และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม – การพัฒนาขยายขอบเขตจากโรงทาน เป็นศูนย์อาหารเพื่อชุมชน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาจากสาธารณกุศล เป็นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน – ค่าใช้จ่ายเรื่องอาสาสมัคร อุปกรณ์ในการทำอาหาร และอุปกรณ์ล้างทำความสะอาดและค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ – ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่อาจจะสูงเกินความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ – ขั้นตอนในการเก็บและถนอมอาหาร |
การตั้งศูนย์กระจายอาหาร – องค์กรจัดตั้งขนาดใหญ่ – สถานที่ใกล้แหล่งผลิตอาหาร เช่นพื้นที่เพาะปลูก – สถานที่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร | – จำเป็นต้องมีความร่วมมือในระดับองค์กรและ/หรือชุมชนจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการตั้งศูนย์รวบรวม และแจกจ่ายอาหารได้ในพื้นที่ที่ครอบคลุม – การตั้งคลังสินค้าสำหรับรวบรวมอาหารที่ได้รับการบริจาคจากผู้ผลิตอาหารโดยตรง – การจัดตั้งสาขาเพื่อรับการกระจายอาหาร และการตั้งระบบควบคุมคุณภาพอาหาร การกำหนดวันหมดอายุ และกระบวนการในการคัดกรองและแยกประเภทของอาหาร – การลดปริมาณขยะจากอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ และการบริโภคอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม | มาตรฐานด้านสาธารณสุข – การรักษาความสะอาดและการปลอดเชื้อของภาชนะและอาหาร – การควบคุมคุณภาพอาหารให้มีคุณภาพทางโภชนาการ – การรักษาอนามัยของอาสาสมัครและผู้ที่สัมผัสอาหาร ความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ – อาจจำเป็นต้องพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่เป็นการกระจายอาหารออกนอกชุมชน – ค่าใช้จ่ายสำหรับอาสาสมัคร และการดูแลความสะอาดและการฆ่าเชื้อ – ค่าใช้จ่ายสำหรับสาธารณูปโภคและการขนส่ง |
2) ชุมชนชนบท | ||
ธนาคารอาหารทางเลือกใหม่ และแบบผสมผสาน – องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น – วัด/ศาสนสถาน – พื้นที่สาธารณะในชุมชน – ร้านค้าสหกรณ์ชุมชน | – ประยุกต์ใช้ลักษณะของธนาคารอาหารประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะกับสภาพของชุมชนและศักยภาพการผลิตอาหารของชุมชนนั้น ๆ – การสร้างระบบการแลกเปลี่ยนอาหารและสินค้าชุมชน – การสร้างเครือข่ายธนาคารอาหารระหว่างชุมชนต่าง ๆ – การพัฒนาระบบสหกรณ์ให้สนับสนุนระบบธนาคารอาหาร และการขายสินค้าที่เหลือจากการผลิตในร้านค้าชุมชนในเครือข่ายที่มีความต้องการสินค้าต่างกัน – การสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค | มาตรฐานด้านสาธารณสุข – การรักษาความสะอาดและการปลอดเชื้อของภาชนะและอาหาร – การควบคุมคุณภาพอาหารให้มีคุณภาพทางโภชนาการ – การรักษาอนามัยของอาสาสมัครและผู้ที่สัมผัสอาหาร ความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ – อาจจำเป็นต้องพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในกรณีที่เป็นการกระจายอาหารออกนอกชุมชน – ความซ้ำซ้อนของผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน – ค่าใช้จ่ายสำหรับอาสาสมัคร และการดูแลความสะอาดและการฆ่าเชื้อ – ค่าใช้จ่ายสำหรับสาธารณูปโภคและการขนส่ง |
อ้างอิง
Filip Sosenko, Mandy Littlewood, Glen Bramley, Suzanne Fitzpatrick, Janice Blenkinsopp, Jenny Wood. State of Hunger: A study of poverty and food insecurity in the UK (November 2019) เข้าถึงข้อมูลที่ https://www.stateofhunger.org/wp-content/uploads/2019/11/State-of-Hunger-Report-November2019-Digital.pdf
Power M, Doherty B, Pybus K and Pickett K. How Covid-19 has exposed inequalities in the UK food system: The case of UK food and poverty
[version 1; peer review: 2 approved
with reservations]
. Emerald Open Res 2020, 2:11 (https://doi.org/10.35241/emeraldopenres.13539.1)
WILLIAM MOSELEY, “How will COVID-19 affect Africa’s food systems?” (MARCH 25, 2020) เข้าถึงข้อมูลที่ https://africanarguments.org/2020/03/25/covid-19-africa-food-systems/