“ผมในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการฯ ก็ต้องตกอยู่วังวนของการสร้างภาพของกระบวนการใช้เหตุผลอันน่าชื่นชมนั้นไปพร้อมๆ กับพี่น้องปากมูล แต่สุดท้าย พวกเราทั้งหมดก็ตกอยู่ในวังวนของการใช้อำนาจ ไม่แตกต่างอะไรจากฝูงปลาที่ต้องว่ายวนอยู่หน้าบานประตูเหล็กกล้าของเขื่อนปากมูล”
เดชรัตน์ สุขกําเนิด
เผยแพร่ครั้งแรก : Decharut Sukkumnoed
2 สิงหาคม 2558
เกือบ 20 ปีมาแล้วนับจากวันที่เขื่อนปากมูลสร้างเสร็จ แม่น้ำมูลก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ปลาตามธรรมชาติที่เคยแหวกว่ายเกาะแก่งน้อยใหญ่ตามธรรมชาติ ขึ้นไปวางไข่ในลำน้ำมูล ก็ต้องติดประตูเขื่อนอันมหึมา 8 บาน บันไดปลาโจนที่สร้างขึ้น ก็มีความกว้างเปรียบเสมือนตรอกอันคับแคบ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดแม่น้ำมูลที่กว้างดั่งซุปเปอร์ไฮย์เวย์ และมันก็ชันมาก จนปลาน้อยมากที่จะข้ามไปวางไข่ได้ ปลาจำนวนมากจึงต้องว่ายวนเวียนเหมือนติดกับดักอยู่บริเวณท้ายเขื่อนปากมูลนั่นเอง
“สัญญาหน้าฝน” จึงเกิดขึ้นเมื่อผลการศึกษาจากหลายสำนัก ทั้งคณะกรรมธิการเขื่อนโลก และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อ 10 กว่าปีก่อน (ปี พ.ศ. 2545) สอดคล้องตรงกันว่า ปลาจำนวนมากไม่อาจผ่านเขื่อนและบันได้ปลาโจนขึ้นไปสืบสายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ จนส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูล เพราะฉะนั้น จึงต้องเปิดประตูระบายน้ำให้ปลาขึ้นไปวางไข่ได้ตามธรรมชาติ
แต่ด้วยอำนาจแห่งรัฐ รัฐบาลและหน่วยงานเจ้าของโครงการจึงมีการต่อรอง และตกลงให้สัญญากันว่า จะเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ทุก 4 เดือนในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเวลาวางไข่ของปลาตามธรรมชาติ
การตามทวง “สัญญาหน้าฝน” จึงเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีหลังจากนั้น เพราะทางเจ้าของโครงการอย่าง กฟผ. และผู้ใช้อำนาจรัฐในพื้นที่อย่างจังหวัดอุบลราชธานี มักมีเหตุผลต่างๆ ในการเลื่อนการเปิดประตูรายน้ำของเขื่อนออกไป จนบางปี ไม่สามารถเปิดเขื่อนได้ครบ 4 เดือน
มาถึงปีนี้ ดูเหมือนข้ออ้างจะยิ่งหนักขึ้น เมื่อมีการยกเหตุภัยแล้งขึ้นมา โดยแสดงความเป็นห่วงว่า หากเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลแล้ว จะทำให้น้ำในแม่น้ำมูลแห้งลง และมีผลกระทบต่อการสูบน้ำเพื่อการเกษตรของเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่
เมื่อเหล่าพี่น้องปากมูลส่งเสียงเรียกร้องทวง “สัญญาหน้าฝน” หนักขึ้น รัฐบาล คสช. จึงตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลฯ” ขึ้นมา โดยมีนักวิชาการและหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงผมคนหนึ่งด้วย
เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เป็นไปโดยตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่เป็นจริงจากทุกฝ่าย คณะกรรมการฯ จึงได้ลงไปสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา โดยได้รับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็น และสำรวจข้อเท็จจริงจากทั้งฝ่ายที่อยากและไม่อยากให้เปิดเขื่อน และประชุมกันในวันที่ 20 มิถุนายน ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยพยายามนำข้อห่วงใยของทุกฝ่ายมากำหนดเป็นเกณฑ์สำหรับ “สัญญาหน้าฝน” (เฉพาะกิจ) ในปีฝนแล้งว่า
การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน จะทำเมื่อ
(ก) ปริมาณการไหลของน้ำในลำน้ำมูลที่ อ.เมือง จ.อบุลราชธานี เท่ากับ 500 ลบ.ม./วินาที (เป็นตัวชี้วัดว่า น้ำมูลมาแล้ว) หรือ
(ข) ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เท่ากับ 95 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (เป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำโขงมาแล้ว แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดจะมาถึงก่อน
คณะกรรมการฯ ยังได้มีมติว่า เมื่อถึงเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ให้กฟผ. แจ้งเตือนและค่อยเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน ในระยะเวลา 10-13 วัน (เพื่อป้องกันตลิ่งพังจากการลดลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว) เมื่อมีการเปิดประตูแล้ว ก็จะมีคณะทำงานติดตามและประเมินผลฯ ลงมาดูว่า จะมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงหรือไม่? และจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร? และคณะกรรมการฯ จะมาลงพื้นที่และมีมติกันอีกครั้งว่าจะปิดประตูระบายน้ำอีกครั้งเมื่อใด?
จากวันที่ 20 มิถุนายน พี่น้องปากมูลก็ได้เฝ้าติดตามระดับน้ำตามเกณฑ์ดังกล่าวมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จนกระทั่ง วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงก็ได้ขึ้นถึง 95.03 เมตร รทก. ซึ่งก็คือถึงเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตาม “สัญญาหน้าฝน” (ฉบับเฉพาะกิจ) นั่นคือ จะต้องเริ่มกระบวนการแจ้งเตือนและเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ภายในเวลา 10-13 วัน ซึ่งจะครบกำหนดที่เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานในวันที่ 3 สิงหาคม 2558
แต่ปรากฏว่า เมื่อประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ถูกเปิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 24 กรกฎาคม (3 วันหลังแจ้งเตือน) แต่แล้วเพียงช่วงเย็นวันนั้นเองบานประตู 4 บานก็กลับถูกปิดลงอีกครั้ง (โดยไม่มีการขอมติหรือความเห็นจากคณะกรรมการฯ ก่อน) การเปิดประตูระบายเพียงบางส่วนทำให้กระแสน้ำที่ไหลผ่านบานประตูส่วนที่เปิดไหลแรงจนปลาส่วนใหญ่ไม่อาจว่ายผ่านขึ้นไปได้ ปลาจึงว่ายวนเวียนเหมือนติดกับดักกันอยู่ที่ท้ายเขื่อนปากมูล
เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะทำงานติดตามและประเมินผลจึงได้ลงไปในพื้นที่เมื่อวันที่ 28-29 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้รับคำชี้แจงจากทางจังหวัดอุบลราชธานีว่า มีข้อห่วงกังวลว่า เมื่อเปิดประตูระบายน้ำแล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำมูลหน้าเขื่อนปากมูลจะลดต่ำลง จนต่ำกว่าระดับ 105 เมตร รทก. และจะส่งผลกระทบต่อการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ทางจังหวัดยืนยันว่าจะต้องรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนปากมูลไว้ที่ 105 เมตร รทก. จึงไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานได้ ทั้งๆ ที่ตัวเลข 105 เมตร รทก. ไม่เคยมีอยู่ในมติของคณะกรรมการฯ
แต่เมื่อคณะทำงานฯ ลงสำรวจพื้นที่จริงก็พบว่า (ก) จุดสูบน้ำส่วนใหญ่เป็นแพลอยที่สามารถปรับระดับตามระดับน้ำ เพียงแต่จะมีต้นทุนค่าสูบน้ำมากขึ้น (ข) จุดสูบน้ำที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นอาคารสูบน้ำถาวร ซึ่งมีเพียง 3 แห่ง และบางแห่งชำรุดอยู่แล้วในปัจจุบัน และ (ค) เกษตรกรมีความจำเป็นต้องสูบน้ำลดลงมากกว่า เพราะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกชุกมากในพื้นที่ปากมูล และการสูบน้ำต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 100 บาท/ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อมีฝน เกษตรกรจึงใช้น้ำฝนมากกว่าเพื่อประหยัดต้นทุน
ส่วนปลาจากน้ำโขงนั้น คณะทำงานฯ ได้พบว่า มีปลาจากแม่น้ำโขงที่จะขึ้นมาวางไข่ได้มาถึงและติดอยู่ท้ายเขื่อนปากมูลเป็นจำนวนมาก
จากวันที่ 21 กรกฎาคม จึงถึงวันนี้ก็ผ่านมาแล้ว 12 วัน ซึ่งกำลังจะครบกำหนดเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน ในวันพรุ่งนี้ (วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2558) แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าทั้ง กฟผ. และจังหวัดอุบลราชธานีจะดำเนินการตาม “สัญญาหน้าฝน” ที่ตกลงกันไว้แต่อย่างใด ตรงกันข้าม บานประตูทั้ง 8 บานได้ปิดสนิทลงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ครับ
ล่าสุด (เช้าวันนี้) ระดับน้ำในลำน้ำโขงได้ขึ้นระดับ 100.27 เมตร รทก. (เกินกว่าข้อตกลงไว้ถึง 5 เมตรแล้ว) ระดับน้ำหน้าเขื่อนปากมูลอยู่ที่ระดับ 107.3 เมตร รทก. แต่ก็ยังมิได้มีสัญญาณการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานตามที่ตกลงไว้
เมื่อเป็นเช่นนี้ “สัญญาหน้าฝน” จึงเป็นเพียงแค่ “ลมปาก” ที่คนปากมูลต้องเฝ้ารอต่อไป กระบวนการที่รัฐบาล คสช. พยายามแสดงให้เห็นว่า สามารถหาข้อยุติในสังคม โดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ร่วมกับกระบวนการทางวิชาการจึงเป็นเพียงแค่ “ละครฉากหนึ่ง” ซึ่งมิได้มีผลจริงจังในทางปฏิบัติ ตราบใดที่ผู้กุมอำนาจรัฐไม่ประสงค์จะทำตาม
ในกรณีเขื่อนปากมูล ความสัมพันธ์ระหว่าง “อำนาจ” และ “เหตุผล” (Power VS Rationality) ก็มีคำตอบแบบเบ็ดเสร็จและชัดเจนแล้วว่า อะไรที่ทั้งยาวทั้งใหญ่กว่ากัน?
ผมในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการฯ ก็ต้องตกอยู่วังวนของการสร้างภาพของกระบวนการใช้เหตุผลอันน่าชื่นชมนั้นไปพร้อมๆ กับพี่น้องปากมูล แต่สุดท้าย พวกเราทั้งหมดก็ตกอยู่ในวังวนของการใช้อำนาจ ไม่แตกต่างอะไรจากฝูงปลาที่ต้องว่ายวนอยู่หน้าบานประตูเหล็กกล้าของเขื่อนปากมูล
ลำพัง “สัญญาหน้าฝน” ที่ตนต้องรับผิดชอบ ในฐานะผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่อาจฟื้นคืนกลับมา (Irreversible impacts) รัฐบาลและหน่วยงานแห่งนี้ ยังไม่สามารถปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนมือเปล่าๆ ได้ ใครก็ตามที่คิดจะเชื่อคำมั่นสัญญาของรัฐบาลนี้ และหน่วยงานแห่งนี้จึงควรพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
อย่าให้ซ้ำรอย “ผม” “ปลา” และ “คน” ปากมูล