‘ลมหนาว’ กระทบประมงใต้ เหนือ-อีสาน ปรับตัวรับภัยหนาว

‘ลมหนาว’ กระทบประมงใต้ เหนือ-อีสาน ปรับตัวรับภัยหนาว

จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (25-26 ม.ค.59) ในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือที่มีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทางภาคใต้มีมรสุม ส่งผลให้เกิดคลื่นสูง และลมพัดกระโชกแรง ดิฉันมีโอกาสได้ไปร่วมพูดคุยกับ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ หัวหน้าโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี (PB Watch) นักวิชาการด้านภัยพิบัติชายแดนใต้ ถึงปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศที่กำลังเกิดขึ้น

ดร.สมพร อธิบายว่า โดยปกติแล้วในช่วงฤดูหนาว จะมีสภาพอากาศที่ลดลงอยู่แล้ว แต่สำหรับปีนี้มีอุณหภูมิลดลงมากกว่าปกติ เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนและทะเลจีนใต้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นผลให้ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง จะมีอากาศหนาว  

ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบถึงภาคใต้ซึ่งเกิดการยกตัวของอากาศร้อน ส่งผลให้บริเวณมวลอากาศภาคใต้ยกตัวสูงขึ้นจึงเกิดเป็นฝนลงมาในบางส่วนของพื้นที่มีคลื่นลมแรง เนื่องจากมวลอากาศเย็นดันมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คลื่นลมในทะเลอ่าวไทยมีลมพัดแรงด้วยความเร็วประมาณ 37 น๊อตทำให้บ้านเรือนในหลายพื้นที่โดนลมพัดกระหน่ำ หลังคาบ้านเสียหาย และเกิดการกัดเซาะบริเวณชายฝั่ง โดยเฉพาะตั้งแต่พื้นที่บริเวณแหลมตาชี บริเวณปัตตานีฝั่งทะเลด้านนอก และในหลายพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ

“หากดูข้อมูลลักษณะแบบจำลองของคลื่นจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ตั้งแต่วันที่ 25 – 27 มกราคม ความแรงของคลื่นสูงและจะมีความแรงลดลงหลังจากนี้ โดยความแรงของคลื่นอาจกลับมาอีกระรอกขึ้นอยู่กับความกดอากาศสูงจากประเทศจีน และคาดการณ์ว่าจะกลับมาอีกครั้ง ประมาณวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้”  ดร.สมพร กล่าว

ดร.สมพร กล่าวเพิ่มเติมถึงความกังวลต่อการดูแลสุขภาพในสภาพอากาศเช่นนี้ว่า ต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่สูงในภาคเหนือ ภาคอีสาน เพราะตอนนี้อุณหภูมิอาจลดลงต่ำกว่า 20 องศา และมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ไม่แน่นอน ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองโดยการทำให้ร่างกายอบอุ่นตลอดเวลา ซึ่งอาจใช้วิธีการผิงไฟ แต่วิธีนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะหากเกิดนอนหลับไปร่างกายอาจสูญเสียความร้อน ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้หลับแล้วเสียชีวิตได้ และรวมไปถึงคนที่มีโรคประจำตัวก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ

จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปก่อนหน้านี้ทางภาคใต้ของไทยได้รับผลกระทบปัญหาหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ของทุกปีทางภาคเหนือของไทยก็จะได้รับผลกระทบเรื่องหมอกควันจากการเผาไร่เพื่อเตรียมหน้าดินสำหรับการเพาะปลูกด้วยเช่นกัน

ดร.สมพร กล่าวด้วยว่า การจัดการเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันก็คาดหวังว่าในปีนี้ปัญหาเรื่องหมอกควันจะลดลง เพราะทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้องพยายาม แปลงการเผาเป็นปุ๋ย หมายถึง ลดอัตราการเผาในพื้นที่เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยทดแทน ดังนั้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมของปีนี้ หากลดการเผาได้จริงจะสามารถแก้ปัญหาหมอกควันได้แน่นอน และปัญหาหมอกควันนี้จำเป็นต้องวางแผนการจัดการที่ดี ผ่านการพูดคุยและมีส่วนร่วมให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ