“เมืองเหมืองแร่ หรือเมืองท่องเที่ยว?” คำถามจากเชียงคาน

“เมืองเหมืองแร่ หรือเมืองท่องเที่ยว?” คำถามจากเชียงคาน

“เชียงคาน ภูเขาแบบนี้ แม่น้ำโขงแบบนี้ นักท่องเที่ยว เศรษฐกิจแบบนี้ ถามจริงๆ ว่าตกลงจะเป็นเมืองท่องเที่ยว หรือจะเป็นเมืองเหมือง?” คำถามของ เปี่ยม โนนน้อย

สามสี่ปีก่อน มติชนและสื่อหลายสำนักรายงานข่าวเรื่องการทำแร่เถื่อนในพื้นที่ป่าของจังหวัดเลย โดยกลุ่มนายทุนได้เข้ามาทำแร่เหล็กในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2549 กระทั่งมีข่าวการจับกุมหลายระลอก

การเสนอข่าวในเวลานั้น มีชื่อตัวละครทรงอิทธิพลและเบาะแสที่เชื่อมโยงกลุ่มคนมากหน้าหลายตา สองชื่อในนั้น คือ พาลิน และ ฉางเถ่ (คลิกอ่านที่มา : เหมืองเถื่อนท้าทายอำนาจรัฐขนเครื่องมือหนักย้ายฐานขุด!)

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ที่พบการลักลอบขุดแร่เหล็กมีทั้งในพื้นที่ป่าไม้และที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ ใน 7 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ ตำบลนาดินดำ อำเภอเมืองเลย ตำบลปากปวน และตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง และตำบลบุฮม ตำบลนาซ่าว  ตำบลเขาแก้ว  และตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน

กพร. ระบุตอนนั้นว่า ในเขตจังหวัดเลยมีประทานบัตรทำแร่เหล็กเพียง 7 แปลง (6 เหมือง) มีผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่เหล็กและแร่อื่นๆ 27 ราย มีผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่เหล็กและแร่อื่นๆ 10 ราย และมีคำขอประทานบัตรแร่ชนิดต่างๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ  291 ราย

ขณะที่ข้อมูลการยื่นขอประทานบัตรทำแร่เหล็กในจังหวัดเลยจากเว็บไซต์ของ กพร. ปี 2551 รวมพื้นที่ 6,202 ไร่ ได้แก่ ตำบลนาดินดำ 3,293 ไร่ ตำบลนาอาน 885 ไร่ ตำบลเขาแก้ว 900 ไร่ ตำบลบุฮม 616 ไร่ ตำบลจอมศรี 120 ไร่ ตำบลนาซ่าว 125 ไร่ ตำบลธาตุ 263 ไร่ บริษัทขอสัมปทาน ได้แก่ บริษัท ฉางเถ่พัฒนาการแร่ จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บันเทิงไมนิ่ง

มาในปี 2555 แค่คำขอประทานบัตรทำเหมืองเหล็กและมังกานีสใน ตำบลบุฮม ตำบลเดียวก็มีถึง 34 แปลง พื้นที่ ประมาณ 8,762 ไร่ (ที่มา-วัชราภรณ์ วัฒนขำ 26 มิ.ย. 2555)

สืบค้นข้อมูลวันที่ 18 มกราคม 2557 จากเว็บไซต์ กพร. ล่าสุดมีบริษัทได้รับประทานบัตรทำเหมืองเหล็กในตำบลบุฮมแล้ว 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซัมทองไมนิ่ง จำกัด บริษัท พรราชันย์ จำกัด และ บริษัท พาลิน จำกัด

ที่น่าสนใจคือทั้ง บริษัทพาลิน และ ฉางไถ่ เคยเป็นหนึ่งในตัวละครเรื่องการทำแร่เถื่อนที่มีการรายงานในสื่อต่างๆ เมื่อปี 2554

20142001153546.jpg

บนภูเขา “ภูซำทอง” ในตำบลบุฮม ร่องรอยผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นผ่านยุคสมัยการทำแร่เถื่อนยังปรากฎชัด

เส้นทางที่ใช้ในการเกษตรดั้งเดิมถูกตัดขยายจนกว้างใหญ่เพื่อใช้ขนแร่เถื่อนจากบนภูเขา ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์เพราะอยู่ติดน้ำโขงมีการชะล้างพังทลายและเสื่อมสภาพหลายแห่ง

แม้ข่าวจับแร่เถื่อนที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับข่าวการบุกรุกป่าในพื้นที่จังหวัดเลยยังเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ แต่สถานการณ์ในตำบลบุฮม ตามการติดตามข้อมูลการรับรู้ของชาวบ้าน บริษัทชื่อเดิมได้รับประทานบัตรจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบไปเรียบร้อยแล้ว และเริ่มเคลื่อนไหวดำเนินงานในพื้นที่ 2 บริษัท คือ “พาลิน” เริ่มเปิดหน้าดินเพื่อเตรียมระเบิดหิน ส่วน “ซัมทอง ไมนิ่ง” ได้เปิดสำนักงานมีการทำงานของพนักงานในตำบล

ส่วน “พรราชันย์”  ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าจึงยังไม่สามารถดำเนินงานได้ถึงแม้ว่าได้ประทานบัตรแล้วก็ตาม

ด้าน “พี.ที.เค ไมนิ่ง” บริษัทเดียวที่มีโรงถลุงแร่ในพื้นที่ที่ดำเนินกิจการเหมืองเหล็กในพื้นที่มานาน แต่แปลงประทานบัตรในตำบลบุฮมกำลังจะหมดอายุในปี 2559 ชาวบ้านจึงคิดว่าแร่เหล็กของบริษัทต่างๆ ที่ได้จากการขุดระเบิดจะลำเลียงส่งให้โรงถลุงแร่ของ พี.ที.เค ไม่นิ่ง

เปี่ยม โนนน้อย ชาวบ้านอุมง บอกเล่าจากประสบการณ์ที่ชาวบ้านได้เจอ

บ้านเกษตรกรที่อยู่ห่างไปเพียง 500 เมตร เกิดอันตรายกับเศษหินที่ปลิวมาจากการระเบิด เกิดการชะล้างของดินตะกอน แหล่งน้ำตื้นเขิน การเสื่อมสภาพของดิน อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละออง แหล่งน้ำ-น้ำฝนปนเปื้อน ลำห้วยถูกถมตื้นเขินจากการชะล้างของดิน ปลาและผลิตผลทางการเกษตรลดลง ความสงบของชุมชนหายไปด้วยรถบรรทุก เสียงระเบิด ทั้งหมดล้วนเกิดจากการทำเหมือง

อนาคตของ ภูซำทอง ภูซาง ภูยาง ภูเหล็ก ภูเฮี๊ยะ ภูควายเงิน?

“ผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้ง 4 ตำบล คือ ตำบลบุฮม ตำบลเชียงคาน ตำบลเขาแก้ว ตำบลนาซ่าว” เปี่ยม สรุปบทเรียนผลกระทบในหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาของพื้นที่จากการลักลอบทำแร่เถื่อนที่สร้างความเดือดร้อน ได้พัฒนามาเป็นปัญหาในระดับนโยบาย เมื่อการให้ประทานบัตรเหมืองเหล็กบนพื้นที่แทบทั้งหมดที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และบางส่วนอยู่ในพื้นที่ สปก. ประมาณ 5 ราย

หมายความว่า รัฐได้นำพื้นที่ป่า ป่าน้ำซับซึม ซึ่งมีลำห้วย ลำรางสาธารณะหลายสาย และเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ไปให้นายทุนทำเหมืองแร่อีกแล้ว

มิหนำซ้ำยังไม่มีการประชาคมหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองอีกด้วย

วัชราภรณ์ โนนน้อย อธิบายว่า “บริษัทเริ่มขอประทานบัตรเมื่อปี 2552 – 2556 ชาวบ้านไม่ได้รู้เลยว่ามีการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง จะมีแต่ผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่รู้ จนขอประทานบัตรผ่านไปแล้ว ชาวบ้านถึงพึ่งรู้เรื่อง

“3 บริษัทที่ขอประทานบัตรผ่านแล้ว 2 บริษัทยั่งนิ่งอยู่ ส่วนบริษัทพาลินกำลังเปิดหน้าดินอยู่ เริ่มดำเนินการมาได้ประมาณ 5 เดือน…ทางบริษัทไม่ได้มาประชาคมหมู่บ้านอุมุง ซึ่งหมู่บ้านเราเป็นบ้านที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด”

และหากจะมีการเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรของชุมชนในตำบลบุฮมกับการทำเหมือง ชาวบุฮมได้เก็บตัวเลขทางเศรษฐกิจของตนเองเพื่อใช้ในการยืนยัน

จากพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านปลูกเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด กล้วย มะม่วง ก็สร้างรายได้ให้ชุมชน 71 ล้านบาท/ปี ในขณะที่การทำเหมืองแร่มีอายุประทานบัตร 15 ปี รายได้ของ พี.ที.เค ไมนิ่ง โดยประมาณจะอยู่ที่ 25 ล้านบาท/ปี เท่านั้น

ส่วนค่าภาคหลวงที่บริษัทจัดสรรให้ อบต.บุฮม อยู่ที่ 223,952 บาท/ปี (ข้อมูลจากเว็บไซต์ กพร.) โดยที่แร่เหล็ก 100% ทำเพื่อส่งออก

ดังนั้น การที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศให้จังหวัดเลยเป็นแหล่งแร่สำคัญของประเทศไทย เมื่อปี 2535

การที่รัฐนำพื้นที่ป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติไปให้นายทุนทำเหมือง

การที่รัฐ นำที่ดิน สปก. ที่ควรจะให้ประชาชนเอาไว้ใช้ทำการกษตรไปให้นายทุนทำเหมือง

เชียงคาน กำลังมองว่า แท้จริงแล้วรัฐไม่ได้มองฐานคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรแร่ที่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของชุมชนหรือของประเทศ แต่เป็นการทำเพื่อนักลงทุนทำเหมืองเท่านั้น

กับทางเลือกของ เปี่ยม โนนน้อย ที่เฝ้ามองดูวิถีชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา

“เชียงคาน ภูเขาแบบนี้ แม่น้ำโขงแบบนี้ นักท่องเที่ยว เศรษฐกิจแบบนี้ ถามจริงๆ ว่าตกลงจะเป็นเมืองท่องเที่ยว หรือจะเป็นเมืองเหมือง?”

คำถามนี้ รัฐจะให้คำตอบกับเขาอย่างไร?

ที่มา : เหมืองแร่เมืองเลย

 

20142001153749.jpg

บนไหล่เขา “ภูยาง” บริษัทพลินกำลังเปิดหน้าดินเตรียมระเบิดแร่หินในเร็วๆ นี้

20142001153930.jpg

20142001154018.jpg

20142001153813.jpg

เปี่ยม โนนน้อย พานักศึกษาดาวดิน สำรวจเส้นทางเกษตรสายเก่าบนภูซำทองที่มีการขุดขยายเพื่อใช้เป็นเส้นทางขนแร่เถื่อนในอดีต

20142001153838.jpg

20142001153904.jpg

ฮง แสนวุฒิ และชาวบ้านอุมุง อธิบายการทำแร่เถื่อนในอดีตและผลกระทบที่เกิดขึ้นให้นักศึกษาฟัง พร้อมทั้งพาไปยังบริเวณที่กำลังมีการทำเหมืองเหล็กของ บริษัทพาลิน

20142001153654.jpg

ภาพ มุมสูงของพื้นที่รอยต่อระหว่างหุบเขาซึ่งมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ภูเขาหลายลูกที่เห็นนี้เป็นพื้นที่แหล่งแร่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศในปี 2535

20142001154048.jpg

ลำห้วยสาธารณะหลายสายบนภูเขา แคบลง ตื้นเขินจากการขยายถนนและการชะล้างของดิน ซึ่งหากมีการทำเหมืองเหล็กบนภูเขาจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต้นน้ำและลำห้วยเหล่านี้มากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ