สารพัดปัญหาที่คนกรุงต้องเผชิญในชีวิตประจำวันจนเคยชิน ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่…
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ” เมื่อ 30 ต.ค. 2558 ณ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ห้อง 2407 ชั้น 24 อาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นำเสนอ 1 วันของชีวิตคนกรุงเทพฯ 24 HOURS IN BANGKOK
พร้อมระบุถ้าคนกรุงเทพฯ อยากได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ควรร่วมกันตรวจสอบการทำงาน และเสนอแนะนโยบายที่เราอยากให้เกิดขึ้นให้เป็น “วาระของกรุงเทพฯ” เพื่อเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ข้อเท็จจริงที่ 1: กทม.มี 37 หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร
ข้อเท็จจริงที่ 2: กทม.ลงทุนสูงในระบบขนส่งมวลชนที่คนใช้ไม่มาก ทำไมเราไม่ใช้เงินไปลงทุนปรับปรุงในสิ่งที่คนใช้บริการมาก เช่น ปรับปรุงคุณภาพเรือ หรือสร้างป้ายรอรถตู้ที่มีหลังคากันแดด เป็นต้น
ข้อเท็จจริงที่ 3: กทม. มีเจ้าหน้าที่เทศกิจมากถึง 3,200 คน ในขณะที่มีพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร
ข้อเท็จจริงที่ 4: งบประชาสัมพันธ์ที่ กทม. ได้รับปีละ 377 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำไปใช้ประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ของ กทม.
ข้อเท็จจริงที่ 5: ชีวิตใน กทม. แพงจนคนต้องออกไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น และการที่ที่อยู่อาศัยไกลออกไปค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ยิ่งสูงขึ้น
ข้อเท็จจริงที่ 6: กทม. มีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้และใช้ได้จริงเพียง 2.2 ตารางเมตร/ประชากร ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ กทม. ประกาศไว้
ข้อเท็จจริงที่ 7: กทม.มีข้าราชการและลูกจ้างกว่า 97,000 คน คิดเป็น 2 เท่าของจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของโซล และคิดเป็น 1.5 เท่า ของจาการ์ตา ซึ่งทั้งสองเมืองมีประชากรราว 10 ล้านคน ขณะที่ กทม. มีประชากร 9 ล้านคน
ข้อเท็จจริงที่ 8: เกือบ 2 ใน 3 ของเด็กนักเรียนสังกัด กทม. ตกวิชาคณิตศาสตร์ที่จัดสอบโดย PISA โดยผลคะแนนปี 2555 พบว่า 65% ของนักเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่นักเรียนในสังกัดเทศบาล และอบต. ทั่วประเทศ ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ 57%
ข้อเท็จจริงที่ 9: ทุกหน่วยงานของ กทม. มีผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับ “ดีมาก” ทำให้ได้รับการจัดสรรงบโบนัส 2.3 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบราว 200 ล้านบาท/ปี ในการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ และได้รับงบดูงานทั้งในและต่างประเทศ 66 ล้านบาท
ข้อเท็จจริงที่ 10: ค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรของอาคารศาลาว่าการ กทม. 2 สูงกว่าค่าก่อสร้างอาคารมหานคร ตึกที่สูงที่สุดใน กทม. ที่ตั้งของ Ritz – Carlton เรสซิเดนเซส โดยดำเนินการมากว่า 20 ปี ใช้งบก่อสร้างเฉลี่ยเป็นเงิน 103,717 บาท/ตารางเมตรพื้นที่ใช้สอย ขณะที่มูลค่าการก่อสร้างอาคารมหานครอยู่ที่ 86,855 บาท/ตารางเมตรพื้นที่ใช้สอย
ที่มาข้อมูล : สถาบันอนาคตไทยศึกษา