เปลี่ยนเสียงคนระยอง ร่วมปั้นดัชนีสร้างเมืองให้น่าอยู่

เปลี่ยนเสียงคนระยอง ร่วมปั้นดัชนีสร้างเมืองให้น่าอยู่

เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว การพัฒนาเมืองระยองให้มีความน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ได้ดำเนินการวิจัยด้วยกระบวนสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ จนเริ่มเห็นความต้องการที่เข้าใกล้การสร้างดัชนีวัดเมืองอันน่าอยู่ที่มีความเฉพาะตัว

“แต่ละคนก็จะมองความน่าอยู่(ของเมือง)แตกต่างกัน มองว่าบ้านตัวเองน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่”

ก่อนเริ่มการวิจัยเชิงปฏิบัติการ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับพี่น้องประชาชนหลายครั้ง จนได้ข้อมูลเรื่องความน่าอยู่ที่หลากหลาย 

ทำให้ต้องมีการ วัด ว่าความน่าอยู่ของระยองคืออะไร

แม้ว่าประเด็นเมืองน่าอยู่ เป็นสิ่งที่สภาพัฒน์ฯ ที่ดูด้านนโยบายจะมีกรอบอะไรใช้วัดความน่าอยู่ของเมือง แต่ในการวัดความน่าอยู่ของเมือง ต้องเกิดขึ้นจากคนในพื้นที่ มีอะไรบ้างที่จะวัดความน่าอยู่ในแบบเฉพาะของระยอง และสิ่งที่ชาวระยองกำลังทำอยู่คือข้อมูลพื้นฐาน ผ่านกิจกรรมสนุก ๆ แต่ทำให้ได้ตัวชี้วัดเมืองระยองที่เชื่อมโยงกับระดับประเทศ

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการวิจัยฯ

เปลี่ยนเมืองที่เป็นอยู่ ให้น่าอยู่

ด้านภูษิต ไชยฉ่ำ รองนายกเทศมนตรีนครระยอง กล่าวว่า ด้วยตัวเองมีโอกาสบริหารเมือง พบว่าสิ่งที่ขาดหายไปอย่างชัดเจนคือ “ข้อมูล” ทำให้ขาดการเชื่อมต่อกับสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่  จึงรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าขับเคลื่อนเข้าไป และตอนนี้เราอยู่ในช่วงโลกเดือด สมัยก่อนตอนเด็กไม่มีปัญหาหน้าฝุ่นเดินออกจากบ้านแล้วต้องระคายคอ วันนี้ปัญหามาถึงเราแล้ว โลกเปลี่ยนเร็วมาก

ภูษิต ไชยฉ่ำ รองนายกเทศมนตรีนครระยอง

“ผมอยากให้เราทุกคนรับทราบ เราควรมีความยืดหยุ่นของตัวเราเอง เพื่อรับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ มีภูมิคุ้มกันกับโลกใบนี้ได้” รองนายกเทศมนตรีนครระยองกล่าว 

การจัดงานครั้งนี้จึงอยากรู้ว่า ทุกคนอยากได้เรื่องไหนอีกบ้าง แน่นอนว่าไม่ใช่ระดับระยองแต่เป็นระดับโลก เพราะด้วยกรอบวัดการติดตามการพัฒนาเมืองของโลก (Urban Monitoring Framework- UMF) ของ UN-Habitat ที่วางกรอบให้แต่ละเมืองต้องมีหลักยึด ไม่ใช่แบบบนลงล่าง แต่เขาเลือก ทุกคนนึกภาพพิซซ่ามี 16 ชิ้นในนั้น เราก็เลือกว่าจะเอาพิซซ่าหน้าอะไร ชอบชิ้นไหน ก็จะหยิบชิ้นนั้น

“สิ่งที่ทุกคนทำในวันนี้ คือการปักหมุดหมายให้กับสภาพัฒน์ฯ ซึ่งอยู่ในกรอบ UMF แล้วนำข้อมูลที่จะได้จากทุกคน สิ่งเหล่านี้สภาพัฒน์ฯจะนำไปวางนโยบาย ให้กระทรวงมหาดไทยรับเรื่อง แล้วส่งต่อลงมายังเทศบาล วันนี้เป็นโอกาสแล้ว ที่อยากให้ทุกคนแสดงความกระหายต้องการในทุกเรื่อง” นายภูษิต กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ นักวิจัยหลักฯ ได้ประมวลช่วงเวลาการเก็บข้อมูลวิจัยทั้ง 2 ครั้งโดยครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2566 จัดเป็นกลุ่มย่อยโดยเน้นประเด็นเฉพาะกับภาคเอกชนและประชาสังคม และครั้งนี้ มีกลุ่มตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน ความน่าอยู่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การได้รับเสียงที่หลากหลายเป็นสิ่งจำเป็น 

การจากเก็บข้อมูลวิจัยในครั้ง แสดงให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในระยองคือการเดินทาง เรื่องสิ่งแวดล้อมให้คะแนนน้อยสุด เมื่อดูด้านการทำงานและเศรษฐกิจก็มีคะแนนที่เยอะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์

ถ้าดูจากอดีตถึงปัจจุบัน ประเด็นที่พัฒนาต่อเนื่องในระยองที่หลายกลุ่มจัดลำดับแนวโน้มในอนาคต ที่สูงขึ้นคือการเดินทาง แม้เป็นปัญหาแต่อดีตแย่กว่ามาก อนาคตน่าจะดีกว่านี้ การบริหารจัดการ นันทนาการ ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีด้านที่ถดถอยด้วย คือ การทำงาน สังคม ที่อยู่อาศัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม 

จากนั้นในการเก็บข้อมูลวิจัยครั้งที่ 2 ได้มีการเพิ่มในเรื่องกรอบ UMF เพราะว่าเป็นการชี้วัดหนึ่งที่สภาพัฒน์ฯ โดยเอากรอบนี้มาถามกับตัวแทนจากภาคเอกชนและประชาสังคม ประเด็นไหนเร่งด่วนหรือรอได้ อะไรถ้าเปลี่ยนก็จะพลิกเมือง 

ผลที่ได้ออกมาชัดคือ สิ่งแวดล้อม ต้องปลอดภัยและมีแผนแก้ไขจากวิกฤต เช่น สารพิษหรือภัยธรรมชาติ ที่น่าสนใจกว่า คือทำวัดกันถึง 4 เมือง ได้แก่ ระยอง เชียงใหม่ มหาสารคามและนครศรีธรรมราช ประเด็นที่ซ้ำกันคือ สังคม ประชากรแฝง มีเศรษฐกิจ รายได้ไม่เพียงพอ การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยยังขาดอยู่ การพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร สิ่งแวดล้อมเจอทุกเมืองแม้ไม่เหมือนกัน อย่างเชียงใหม่เจอมลพิษทางอากาศ ระยองมีมลพิษทางน้ำ 

จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับระยอง คือ ทุกคนฟิตมาก พร้อมใจกันเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว ทำให้การมีส่วนร่วมชัดเจนและง่ายขึ้น

“การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ จึงอยากให้ทุกคนช่วยเติมสิ่งที่ยังขาดหายไปในกรอบ UMF นี้ให้ครบ” นักวิจัยหลัก กล่าวและย้ำว่า จริง ๆ แล้ว ทุกคนมีส่วนในการขับเคลื่อนเมืองตัวเองทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย

เมืองที่คนระยองอยากเห็น บ้านที่อยากให้เป็น

เมืองที่น่าอยู่ของ ตัวแทนกลุ่มชุมชนก้นปึก-บ้านเกตุ วิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กเก้ายอด คือ “อยากให้เมืองระยองมีระบบขนส่งพลังไฟฟ้า และการมีเส้นทางขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทุกกลุ่ม” เปลี่ยนรถโดยสารพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ลดมลพิษ เพราะระยองมีปัญหามลพิษทางอากาศชัดเจน อีกทั้งยังช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน 

“สิ่งที่ภาคประชาชนทำได้อย่างชัดเจนเลยคือ บอกความต้องการของตัวเอง ซึ่งอีกไม่นานจะมีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ชุมชนอยากได้อะไร ให้ผู้ปกครองบอกไปเลย อยากได้รถไฟฟ้าให้บุตรหลานไปโรงเรียนหรือผู้สูงวัยไปโรงพยาบาลได้สะดวก” ตัวแทนกลุ่มกล่าว

ขณะที่ ตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce-YEC หอการค้าจังหวัดระยอง เสนอในวงแลกเปลี่ยนว่า ขยะล้นเป็นปัญหาร่วมของทุกชุมชนครับ ยกตัวอย่างชุมชนบางจาก ต้องประสบปัญหากองขยะ ประธานชุมชนได้คุยกับเทศบาลและได้ออกนโยบายให้ค่าหัว ถ้าพบเห็นคนทิ้งขยะ ให้ถ่ายรูปส่งมายังเทศบาล พอประธานชุมชนเข้มแข็ง ตอนนี้ชุมชนบางจากไม่มีขยะทิ้งไม่เป็นที่แล้ว 

“อยากให้ประธานชุมชนทุกคน ลองกลับไปคุยกับคนในชุมชน ทุกคนมีบ้านของเรา ไม่อยากให้ขยะล้นเลอะออกมา ทางแก้คือ ให้ชุมชนร่วมรณรงค์ในเรื่องการคัดแยกขยะ หรือให้เทศบาลเข้ามาทำงานเชิงรุกลงแต่ละชุมชนว่าชุมชนมีการจัดการเข้มแข็งและเพียงพอไหม ผมว่าเราอยากให้บ้านตัวเองสะอาดครับ” ตัวแทนจาก YEC กล่าว 

ตัวแทนของกลุ่มชุมชนวัดป่าประดู่-วิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กเก้ายอด-โครงการหมู่บ้านนิคมพัฒนา ได้ชี้ประเด็น “มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม” ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษและการเผาไหม้จากโรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบด้านสุขภาพ ภาครัฐต้องเข้ามากำหนดเกณฑ์โรงงาน มีกฎระเบียบรองรับ ให้ประชาชนได้รับทราบได้ เพราะประชาชนไม่เข้าใจรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น เวลาได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเกิดจากอะไร 

“อยากให้โรงงานและภาครัฐ มีการพูดคุย หรือทำประชาพิจารณ์กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้ประชาชนอยู่กับบริษัทอย่างยั่งยืน” ตัวแทนกลุ่มชุมชนวัดป่าประดู่-วิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กเก้ายอด-โครงการหมู่บ้านนิคมพัฒนา กล่าว

ชาวระยองร่วมมือร่วมใจทำให้นครระยองน่าอยู่

นอกจากนี้ ภัสสร ข้าราชการครูเกษียณ ได้สะท้อนเสียงของงานเก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้ว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งในตำบลเนินพระ ยินดีมากที่ได้มีส่วนร่วมวันนี้ เห็นว่าชาวระยองร่วมมือร่วมใจทำให้นครระยองน่าอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราทุกคนต้องสนใจดูแลตัวเอง เพื่อจะได้ไปดูแลเหล่าพี่น้องและชุมชนระยอง งานครั้งนี้เป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้

“สิ่งที่เกิดขึ้น ขอให้เราบอกความจริงกับภาครัฐและเทศบาลที่อยู่ใกล้ บอกความจริงว่า ที่สิ่งเราได้รับ สิ่งที่กระทบกับเรามีอะไร สิ่งนี้คือข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ การทำวิจัยเป็นเรื่องยากเพราะต้องเกิดจากความหลากหลาย ความคิดเราต่างกันได้ แต่เราต้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์กับนครระยอง” ข้าราชการครูเกษียณ กล่าว

เมืองน่าอยู่และชาญฉลาด

กัญญาวีร์ ประยูรสิทธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้ร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นเรื่องยินดีที่ได้ร่วมงานครั้งนี้ ชุมชนในเทศบาลนครระยองให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันมาก  ทำอยู่ คือการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 หมุดหมายที่ 8 หมุดหมายนี้ได้กำหนดเป้าหมายว่า การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่ ยั่งยืน และพร้อมรับมือ ปรับตัวกับความ เปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทั่วถึง สิ่งที่ทุกคนทำอยู่ คือการสร้างตัวชี้วัดของเมืองน่าอยู่ 

“ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ได้ทดลองตัวชี้วัด UMF กับบางเทศบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ต่อมาในเดือนสิงหาคม มีการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำกรอบ UMF แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วน ลำดับต่อไป สภาพัฒน์ฯจะมีการกลั่นกรองตัวชี้วัดว่าตัวไหนที่จะเหมาะสมกับบริบทของไทยและการพิจารณาตัวชี้วัดทดแทน รวมถึงการหารือแนวทางจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำตัวชี้วัดของไทยเอง ให้สอดคล้องกับยูเอ็น” ผู้เชี่ยวชาญจากสภาพัฒน์ฯ กล่าว

พิชากร พิมลเสถียร หัวหน้าโครงการวิจัย บริษัท ระยองพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในคราวก่อน ได้ชวนชาวระยองทำกราฟแมงมุม โดยมอง 3 ช่วงคือ “ปัจจุบัน” เรารู้สึกอย่างไร เรื่องอากาศ จราจร สิ่งแวดล้อม แล้วพอถอยกลับไปเทียบกับ “อดีต” ดีกว่าหรือแย่กว่า และเรื่อง “อนาคต” เราต้องการให้นครระยองเป็นอย่างไร

“คนที่จะมาช่วยกำหนดว่า อนาคตระยองควรเป็นยังไง ไม่ใช่ผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายเดียว ไม่ใช่พวกเราเพียงไม่กี่สิบคน แต่ถ้ามีมาร่วมกันมากๆ ก็จะทำให้เห็นภาพระยองที่ชัดขึ้น เราคนระยอง ระยองเป็นของเรา เราควรต้องมีส่วนร่วมออกแบบอนาคตระยองด้วย อย่างน้อยออกแบบเพื่อลูกหลานของเรา เรามาช่วยกันดีกว่า มาเป็นพลังหนึ่ง และเป็นพลังไปขยายต่อ ช่วยสร้างระยองให้เป็นของเรา” หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว

พิชากรกล่าวอีกว่า ทีมวิจัยของ ระยองพัฒนาเมือง เชื่อมั่นว่า คนระยองทุกคนร่วมใจขยาย และอีกไม่นาน ก็จะมีสมาชิกพลังพลเมือง โดยระยองพัฒนาเมืองจะเป็นกลไกรวบรวมความคิดเห็น มาวางแผน กำหนดอนาคตให้ระยอง และส่งแผนให้ภาครัฐต่อไป มาร่วมช่วยเขียนอนาคตระยองด้วยกัน ระยองเป็นของเรา เป็นของลูกหลานเราทุกคน

สำหรับบทความชิ้นนี้ เป็นการสรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมการประชุมคืนข้อมูลและร่วมออกแบบแนวทางขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่และชาญฉลาด โดยความร่วมมือระหว่าง โครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) บริษัท ระยองพัฒนาเมือง (วิสาหกิจสังคม) จำกัด และ Thai PBS

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ