บ้านที่อยากเห็นในเมืองที่เป็นอยู่ แป๋งเมืองน่าอยู่ ชาญฉลาดด้วยการมีส่วนร่วม

บ้านที่อยากเห็นในเมืองที่เป็นอยู่ แป๋งเมืองน่าอยู่ ชาญฉลาดด้วยการมีส่วนร่วม

เป็นเวลากว่า 6 เดือน ทีมนักวิจัยค่อยๆ พัฒนากระบวนการพัฒนาเมืองน่าอยู่และชาญฉลาดผ่านงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อมองเมืองเชียงใหม่ตรงตามที่เมืองเป็นจริงๆ 

“ถ้าเรามองเมืองเชียงใหม่มาจากสายตาคนนอก เราจะมองเห็นปัญหาและศักยภาพของเชียงใหม่ในแบบที่เราเข้าใจค่ะ” 

ก่อนลงมือวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ นักวิจัยหลักแห่งโครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) มองว่ามลพิษทางอากาศคือปัญหาของเชียงใหม่ ขณะที่การท่องเที่ยวเป็นศักยภาพของเมือง 

ซึ่งทั้งปัญหาและศักยภาพดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงหนึ่งของเมือง แต่ข้อมูลเมืองที่ทีมวิจัยเก็บเกี่ยวมาจากชาวเมืองเชียงใหม่ค่อยๆ เผยให้เห็นตัวตนด้านอื่นของเมืองด้วย

เมืองที่เป็นอยู่ 

“งานวิจัยพบว่าปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือการกระจายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจไปสู่ประชาชนกลุ่มย่อยค่ะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน กล่าว “ประชาชนกลุ่มย่อยหมายถึงธุรกิจรายย่อยหรือประชาชนชายขอบ”

‘เมืองน่าอยู่’ เป็นประเด็นที่หน่วยงานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ความสำคัญ เพราะเมืองเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ใช้ชีวิตที่สำคัญของมนุษย์ แนวโน้มของประชากรในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น การสร้างเมืองที่น่าอยู่ให้ตอบโจทย์ชีวิตของคนในเมืองแต่ละแห่งจึงมีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งเศรษฐกิจและสังคม เมืองน่าอยู่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม

‘เมืองน่าอยู่’ กลายเป็นเป้าหมายที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ระบุไว้ใน “หมุดหมายที่ 8: ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน”

ฐานข้อมูลเมืองจึงสำคัญสำหรับการพัฒนาเมือง เพราะทำให้เข้าใจลักษณะเฉพาะของเมืองแต่ละแห่ง ปัญหาใดของเมืองที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองและพื้นที่โดยรอบ เพื่อขับเคลื่อนเมืองใกล้เคียงไปพร้อมกัน ก่อให้เกิดการลงทุนตามมา

“จริงๆ แล้ว เชียงใหม่ไม่ได้มีเฉพาะคนเมือง แต่มีทั้งคนที่เดินทางมาจากปากีสถาน มีชาวมุสลิม ชาวจีน ชาวไทใหญ่ ชาติพันธุ์ต่างๆ ผู้อพยพมาจากเมืองอื่นประเทศอื่น ถ้าเรามองเห็นมิติเหล่านี้ของเมืองก็จะทำให้การพัฒนาเมืองมีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงคนที่มีความหลากหลาย”

นักวิจัยหญิงของโครงการฯ ระบุ

ทีมวิจัยใช้กระบวนการพูดคุยและสัมภาษณ์เชิงลึกประธานชุมชนในเขตเทศบาล ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน หลังจากนั้นนักวิจัยนำข้อมูลประเมินเปรียบเทียบอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเมือง 

จากกระบวนการดังกล่าวทำให้พบว่า ปัจจัยที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องคือการบริหารจัดการเมืองและการปกครองที่ประชาชนเรียกร้องการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น แต่ปัจจัยที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องได้แก่ การเดินทาง ระบบขนส่งมวลชน และเวลาที่รีบเร่งขึ้น แต่สถานการณ์ของเมืองในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ การทํางาน ปัญหาที่อยู่อาศัย สุขภาพ สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา

การที่เมืองจะเข้าหลักเกณฑ์ ‘เมืองน่าอยู่’ จะต้องมีตัวชี้วัด โครงการวิจัยชิ้นนี้ใช้กรอบการติดตามการพัฒนาเมืองของโลก (The Global Urban Monitoring Framework : UMF) เป็นตัวชี้วัด 

UMF เป็นกรอบแนวคิดที่มีการปรับประสาน (harmonize) ดัชนีชี้วัดเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันและเครื่องมือต่างๆ ให้สอดคล้องกับกรอบสากลสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ระดับเมือง ตัวชี้วัดของ UMF จำแนกออกเป็นสาขาการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการปกครอง มีมิติเป้าหมายการพัฒนาเมือง 4 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัย ความครอบคลุม ความยืดหยุ่น และความยั่งยืน

“เราอยากให้มองว่าตัวชี้วัดเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดของภาครัฐอย่างเดียว แต่เป็นตัวชี้วัดของทั้งสังคม” นักวิจัย กล่าว

ประเด็นพลิกเมืองหรือประเด็นเร่งด่วนสำคัญของเมืองเชียงใหม่คือการกระจายการสนับสนุนสู่คนกลุ่มย่อยหรือคนชายขอบ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว “แต่รวมถึงเรื่องคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเชิงพื้นที่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน ระบุ

ที่ผ่านมาการพัฒนาถูกโฟกัสเฉพาะชุมชนในเมือง ชุมชนที่ห่างจากศูนย์กลางความเจริญก็ถูกหลงลืม ขณะที่อาชีพนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก

“เมื่อเชียงใหม่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว การกระจายโอกาสจึงไม่ถูกกระจายไปยังธุรกิจรายย่อยอย่างเพียงพอ นี่คือประเด็นที่ภาคเอกชนสะท้อนให้นักวิจัยฟัง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน ระบุ

บ้านที่อยากเห็น

“เมืองที่น่าอยู่เหรอค่ะ” ส่วยจา เยาวชนแห่งกลุ่ม Shan Youth Power ทวนคำถามก่อนบอกว่า เมืองน่าอยู่ในมุมมองของเธอคือเมืองที่เอื้อให้เด็กๆ ที่มาจาก ‘ที่อื่น’ สามารถมีความฝันที่จะเติบโตในเมืองแห่งนี้ได้ เพราะเด็กที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเธอต้องพบกับอุปสรรคทางการศึกษาจากการไม่มีสถานะบุคคล

“เราไม่อยากเป็นปรสิต เราอยู่ทางนู้นไม่ได้ เราเลยต้องมาทางนี้เพื่อสร้างครอบครัว เราอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น ไม่ว่าชนชาติไหนก็อยากมีสิ่งนี้ใช่ไหมค่ะ เมืองที่น่าอยู่ ครอบครัวที่อบอุ่น เราอยากให้มีการพัฒนาการศึกษา เพราะการศึกษาจะทำให้คนพัฒนา สามารถช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้”

ส่วยจา เกิดที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา พออายุ 10 ขวบ เธอติดตามครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ ไม่ต่างจากชาวไทใหญ่และผู้คนในประเทศที่กำลังมีสงคราม ปัจจุบันเธอกำลังเรียนคณะสถาปัตยกรรม 

“ลูกหลานของผู้ย้ายถิ่นฐานต่างเติบโตขึ้นมาในเมืองเชียงใหม่ และแนวโน้มของพวกเขาในอนาคตก็น่าจะอยู่เชียงใหม่ต่อไป ฉันอยากให้มีการสนับสนุนเด็กๆ ที่จะเติบโต ทั้งเรื่องการศึกษาและพื้นที่ใช้สอย”

ส่วยจามองว่า งานวิจัยเชิงปฏิบัติการชิ้นนี้เป็นกระบอกเสียงให้พวกเธอที่มีปัญหาเรื่องการศึกษา ความเป็นอยู่ และสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เธอมองเห็นปัญหาของคนอื่นด้วย คนอื่นที่อยู่ในเมืองเดียวกับเธอ

“เราเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้มาฟังปัญหาของคนอื่น และเราก็ได้พูดถึงปัญหาของตัวเอง งานวิจัยเพื่อการพัฒนาเมืองก็จะหยิบเอาปัญหาของเราผนวกรวมเข้าไปในข้อค้นพบซึ่งจะถูกขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเมืองต่อไป ปัญหาของเราจะถูกขยายไปในวงกว้างมากขึ้นค่ะ” ส่วยจา กล่าว

ข้อค้นพบหนึ่งจากโครงการวิจัยชิ้นนี้ยังระบุถึงปัญหาสวัสดิการของผู้อพยพมาจากเมืองอื่นว่าเป็นปัญหาอีกประการหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ นั่นทำให้เรามองเมืองเห็นเชียงใหม่ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น

“การประชุมวันนี้จะแก้ปัญหาได้ไหม มันคงยังแก้ปัญหาไม่ได้ในทันทีค่ะ แต่ปัญหาของเราได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา ได้เข้าไปอยู่ในตัวชี้วัดของงานวิจัยที่จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาแก้ปัญหา เพราะการแก้ปัญหามันต้องใช้เวลา แต่ที่แน่ๆ วันนี้เราสามารถทำในสิ่งที่เราทำได้ทันที นั่นคือการเล่าปัญหาของตัวเอง และแก้ปัญหาเบื้องต้นไปก่อน” 

เมืองที่น่าอยู่ของ สุดารัตน์ ไชยรังษี หญิงวัย 72 คือหลักประกันของคนจนที่จะใช้สิทธิอยู่ในที่อาศัย ตำแหน่งแห่งที่ส่งผลต่อมุมมอง เช่นเดียวกับบ้านที่แต่ละคนอยู่ย่อมมีส่วนกำหนดภาพเมืองน่าอยู่ที่พวกเธออยากเห็น

สุดารัตน์อาศัยอยู่ในชุมชนระแกง ซึ่งเป็นชุมชนริมคลองแม่ข่า การปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำที่กำลังเขยิบเข้ามายังชุมชนระแกงได้สร้างความกังวลให้แก่ผู้อยู่อาศัย เพราะตามแผนการพัฒนาจะมีการทำพื้นที่กันชนระหว่างน้ำแม่ข่ากับที่อยู่อาศัยของชุมชนระยะ 3-5 เมตร

“คนจนต้องการอยู่ในที่ดินเดิมอย่างมั่นคง และขยายโอกาสทางพื้นที่เพื่อศักยภาพของแต่ละชุมชน เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับเมือง”

สุดารัตน์ กล่าว

“ตัวชี้วัดที่ควรคำนึง อยากให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบหาทางแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้ทุกชุมชนที่มีปัญหานี้ด้วยค่ะ” สุทธิพร พลเมฆ เครือข่ายคนแปงเมือง กล่าวในประเด็นที่ต้องการเน้นย้ำ เธอยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านของเธอในชุมชนป่าแพ่งคลองเงิน 

ที่ผ่านมาหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนได้ร่วมมือกันตามมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ, การแก้ไขปัญหาบุกรุกลำน้ำและการกำหนดแนวเขตคลองแม่ข่าที่ชัดเจน, การปรับปรุงภูมิทัศน์ 2 ฝั่งคลองแม่ข่า 

เมื่อปี 2562 บ้าน 52 ครัวเรือนถูกไล่รื้อ เหลือเพียง 17 ครัวเรือนที่กำลังรอคอยคำตัดสินจากอนาคต

“เราต้องการสิทธิในการใช้ที่ดินอยางมั่นคง เราต้องการการรับรองสิทธิให้ครอบครัวที่ถูกไล่ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมกับเขา หาบ้านให้พวกเรา อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหาทางแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้ทุกชุมชนที่มีปัญหานี้ด้วยค่ะ”

บ้านของ สุภาพร ชัยบุตร ในชุมชนวัดเกตุส่งกลิ่นเหม็นเน่าจากการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ เมืองเชียงใหม่มีร้านอาหารและโรงแรมมากมาย สถานบริการเหล่านี้นำถุงขยะไปกองทิ้งไว้ ชุมชนรอบนอกก็นำขยะเข้ามาทิ้งในชุมชน ทำให้ขยะเน่าส่งกลิ่นเหม็น 

“การสื่อสารประชาสัมพันธ์และติดตามตรวจสอบระบบการจัดการขยะควรมีมากกว่านี้” สุภาพร ระบุ 

ขณะที่ สุกัญญา พินิจวัฒน์พันธุ์ อยากให้เมืองเปิดโอกาสให้คนจนเข้าถึงทุนหรือสินเชื่อในการทำธุรกิจ เพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก 

“เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจรายเล็กสามารถแข่งขันได้ พวกเขาล้มหายจำนวนมาก เพราะไม่สามารถสู้เจ้าใหญ่ได้ เราอยากให้เมืองเปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยได้เติบโตอย่างแข็งแร็ง” สุกัญญา กล่าว “เมืองที่น่าอยู่ ผู้คนต้องอยู่ดีกินดี มีอาชีพที่ดี มีที่อยู่อาศัยที่ดี แล้วทุกอย่างมันก็จะดีตามมา”

เมืองน่าอยู่และชาญฉลาด

บุญเยี่ยม เหลาสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ระบุว่า บพท.มีหน้าที่สนับสนุนงานวิจัย สร้างบรรยากาศของการนำความรู้ของเมืองมาผสานกัน เปิดพื้นที่ให้ผู้คนทั้งเมืองระดมปัญญารวมหมู่ในการแก้ไขและพัฒนาเมืองต่อไป 

“City Engagement คือการเอาคนมาคุยกันบนฐานของประเด็นร่วม เพราะความเห็นของใครคนใดคนหนึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนเมืองได้ครับ”

บุยเยี่ยมกล่าว 

“เมืองน่าอยู่ของแต่ละคนจึงต่างกัน งานวิจัยทำให้เสียงเล็กๆ ดังออกมา แต่เสียงเล็กๆ เหล่านี้จะถูกได้ยินจากคนกำหนดนโยบายอย่างไร จะนำไปสู่การจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ตรงนี้คือประเด็นที่เรากำลังทำกัน” 

การวิจัยเชิงปฎิบัติการชิ้นนี้จึงทำให้ข้อเสนอถูกสะท้อนขึ้นมาจากชุมชนแต่ละย่าน เสียงจากแต่ละตรอกซอกซอย ชุมชน และมุมเมืองต่างๆ จะถูกนำไปแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาร่วมของเมือง 

“งานวิจัยที่กำลังทำกันนี้ เราทำ 4 พื้นที่ 4 เมือง เพื่อที่จะเห็นข้อเปรียบเทียบ และถ้ามีรูปแบบชัดเจน มันจะเป็นแพทเทิร์นของประเทศในการเป็นเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพของเมือง” ผอ. ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมฯ บพท. กล่าว

โครงการวิจัยชุดนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการใน 4 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง มหาสารคาม และนครศรีธรรมราช แต่ละเมืองมีปัญหาและศักยภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้นแนวทางการพัฒนาจึงต่างกัน

“ระยองจะมีปัญหาเรื่องน้ำ เชียงใหม่มีปัญหาเรื่องอากาศ การจัดการความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน กล่าว

แน่นอนว่าทั้ง 4 เมืองย่อมมีประเด็นร่วมกัน และมีความแตกต่างในรายละเอียดของความเป็นเมืองนั้นๆ เช่น เชียงใหม่มีประเด็นการมีส่วนร่วมของประชากรใหม่ในสังคมประชากรเดิม แต่อีก 3 เมืองปัญหานี้ไม่ได้ปรากฎเด่นชัด

“เพราะเชียงใหม่มีประชากรแฝงและประชากรที่ย้ายเข้ามาจากพื้นที่รอบๆ จากจังหวัดอื่นละประเทศอื่นๆ ก็จะแตกต่างจากที่อื่น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน กล่าว 

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจ ทั้ง 4 เมืองล้วนแต่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองใหญ่ ทั้ง 4 เมืองขาดการสนับสนุนธุรกิจรายย่อย 

“เรามองว่าเชียงใหม่มีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชัดเจน แต่คนในเชียงใหม่กลับมองว่ามันสะเปะสะปะและไม่ตรงโจทย์ความต้องการของคนเชียงใหม่ เพราะบางคนมองเห็นศักยภาพของเชียงใหม่ที่ไม่ได้มีแต่การท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ทิศทางอื่นยังไม่ถูกสนับสนุนมากพอ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน กล่าว 

สำหรับประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทีมวิจัยพบว่านี่คือประเด็นร่วมของทั้ง 4 เมือง เพราะประชาชนต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น และนโยบายของเมืองถูกผลักดันมาจากภาคประชาชนมากขึ้น 

“ต่อจากนี้ เราจะผลักดันข้อค้นพบของงานวิจัยให้ไปสู่การขับเคลื่อนของสังคม ดึงเอาภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม นี่เป็นสิ่งที่เราจะผลักดันต่อจากงานวิจัยชิ้นนี้ ตอนนี้เรากำลังดูว่าโมเดลแบบไหนที่มันเหมาะสมกับเมืองแต่ละเมือง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน กล่าว

เหมือนที่ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยผู้เป็นหัวหน้าโครงการฯ กล่าวไว้ “เชียงใหม่ไม่ได้มีเฉพาะคนในห้องนี้ เพราะถ้าเราอยากพัฒนาเมืองน่าอยู่ ก็จำเป็นที่จะต้องดึงทุกคนเข้ามา เราจึงคุยกับ บพท. และไทยพีบีเอสว่าทำอย่างไรให้กระบวนการวิจัยขยายไปได้ไกล” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว

ในก้าวต่อไป ข้อมูลเมือง ข้อมูลคน ข้อมูลผู้มีบทบาทในด้านต่างๆ หน้าตาของผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ และกระบวนการวิจัย จะถูกขยายไปสู่ประชาชนในภาพใหญ่มากขึ้น ผ่านเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้เราเข้าใกล้การพัฒนาเมืองน่าอยู่และชาญฉลาด 

ทำให้เมืองเป็นเมืองสำหรับทุกคน.

เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคืนข้อมูลและร่วมออกแบบแนวทางขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่และชาญฉลาดในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566

บทความชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ Thai PBS

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ