โจทย์การขับเคลื่อนนโยบายสู่เมืองน่าอยู่ ด้วยเครื่องมือดัชนีวัดเมือง (city index)

โจทย์การขับเคลื่อนนโยบายสู่เมืองน่าอยู่ ด้วยเครื่องมือดัชนีวัดเมือง (city index)

“เมืองน่าอยู่” เป็นประเด็นที่หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน เนื่องจากถือเป็นการให้ความสำคัญของเมืองในฐานะพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ที่อยู่อาศัย และใช้ชีวิตที่สำคัญของมนุษย์ ไปจนถึงแนวโน้มของประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างเมืองน่าอยู่และเมืองที่ตอบโจทย์ชีวิตของคนในเมืองแต่ละเมืองจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคมของประชากร และมีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมของแต่ละประเทศด้วย

ในประเทศไทยเองได้มีหน่วยงานที่ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยงานระหว่างประเทศทั้งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) โดยมีกระบวนการที่ใช้ “ดัชนีชี้วัดเมือง (City Index)” ในฐานะเครื่องมือเพื่อวัดสถานะความน่าอยู่ในแต่ละประเด็นของเมือง 

รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการวางเป้าหมายของการสร้างเมืองน่าอยู่ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันยังมีความท้าทายและข้อจำกัดอยู่ในการใช้ดัชนีนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่

เครื่องมือและกรอบการทำงานสู่เมืองน่าอยู่

แนวคิด ‘เมืองน่าอยู่’ (Livable City) ถูกหยิบยกมาเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาเมืองแต่ละพื้นที่ โดยมีหลายหน่วยงานที่นำไปใช้หลายภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยความเป็นเมืองน่าอยู่มีตัวชี้วัด การพัฒนาจากหลายสำนักทั่วโลก ซึ่งมีเกณฑ์หลัก ๆ คือ ความปลอดภัย สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น 

รวมถึงการพัฒนาเมืองยืดหยุ่น (Resilience) จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิกาพของเมือง และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาเมืองก็เป็นปัจจัยสำคัญ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดไว้ในข้อ 11 จากทั้งหมด 17 ข้อ ว่าด้วย การสร้างเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)

นางสาวอรชพร นิมิตกุลพร กล่าวว่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDG Localization) คือการนำ SDG ไปเป็นกรอบและเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มในระดับท้องถิ่น ในจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครราชสีมา นราธิวาส ปัตตานี เพชรบุรี ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สงขลา สุราษฎร์ธานี อุดรธานี อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร

ตัวชี้วัด SDG 17 ข้อ

นางสาวอาภาภัทร อธิภาคย์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการใช้เครื่องมือ The Global Urban Monitoring Framework (UMF) เพื่อติดตามการพัฒนาเมือง จัดทำโดย UN-Habitat ที่สอดคล้องกับเครื่องมือของ SDGs 

ปี 2563 ได้รับงบประมาณทำ โครงการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน (Livable and Sustainable Future City: LSFC) เพื่อยกระดับความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการวางแผนการพัฒนาเมือง เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีเป้าหมาย 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่

  1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิต 10 ตัวชี้วัด เช่น ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ไฟฟ้าอย่างเท่าเทียม
  2. ด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม 6 ตัวชี้วัด เช่น มีการจัดพื้นที่สีเขียว การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
  3. ด้านการเติบโตและประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ 2 ตัวชี้วัด ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการน้ำเสียและขยะ
  4. ด้านความเท่าเทียมและการยอมรับทุกกลุ่มในสังคม 2 ตัวชี้วัด 
  5. ด้านธรรมภิบาลการบริหารจัดการเมือง 4 ตัวชี้วัด 

ได้เอาไปใช้กับเทศบาลลำปาง เทศบาลเมืองสุโขทัย เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม เทศบาลเมืองนางรอง บุรีรัมย์

นอกจากนี้ จะมีการประเมินความยั่งยืนตามตัวชี้วัด หรือ Traffic lights ตามผลของสีไฟจราจร 3 สี โดยสีแดง หมายถึง ปรับปรุง สีเหลือง หมายถึง ผ่านเกณฑ์ และสีเขียว หมายถึง ระดับดี 

นางสาวว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ ที่ปรึกษาห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยธรรมาภิบาลเมืองเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (RL-UGHW) องค์กรอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการนี้จัดทำโดยองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก (World Health Organization South-East Asia Office – WHO-SEARO) ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) 

โดยมีเป้าหมายเพื่อ ส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และจะสนับสนุนกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ 1 ในนั้นคือประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goals) เป้าหมายที่ 3, 11 และ 17

เป้าหมายที่ทำคือ การบริหารปกครองเมืองจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

โดยพื้นที่ที่ทำเช่น เทศบาลบ้านสวนชลบุรี, คลองชะอันและบ้านเชี่ยวหลาน สุราษฎร์ธานี, สะเดา สงขลา, กรุงเทพมหานคร, อำเภอเมือง นนทบุรี และท่าศาลา เชียงใหม่” ซึ่งกระบวนการเป้าหมายทำงานคือ 

1. ให้เมืองรู้สึกอยากพัฒนา (encourage) 

2. แต่ละเมืองรู้สึกได้รับการสนับสนุนจากเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาค 

3. ความเป็นธรรมในเรื่องสุขภาพ การเข้าถึงเรื่องสุขภาพ 

แลกเปลี่ยนมุมมอง 3 เมืองน่าอยู่เป็นยังไ

เมือง กลายเป็นโจทย์การพัฒนาสำคัญขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นหน่วยงานระดับพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีหน้าที่ในการพัฒนาเมือง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาพร้อมกับความเป็นเมือง โดยมีหลายพื้นที่นำแนวคิด และเครื่องมือต่าง ๆ นำมาใช้เพื่อไปให้สู่เป้าหมาย เช่น เมืองสร้างสรรค์ (creative city) เมืองยืดหยุ่น (resilience city) เป็นต้น

เทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นเมืองขนาดเล็กแต่โดดเด่นในเรื่องการศึกษา เพราะเป็นศูนย์สถานศึกษาหลายแห่งไว้ที่นี่ ได้จัดทำโครงการสร้างสุขภาวะร่วมกับสสส. เพื่อยกระดับเทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชนเขตเมือง

นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีมหาสารคาม กล่าวว่า ทำ 9 ประเด็น เช่น เพิ่มพื้นที่ในการออกกำลังกายในชุมชน เพิ่มพื้นที่สาธารณะในชุมชนสร้างอาหารปลอดสารพิษ สร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุ มีแอปพลิเคชันติดตามการดูและผู้สูงอายุในพื้นที่ เป็นต้น

มีการใช้ตัวชี้วัด 58 ตัว ในการกำหนดเป้าหมาย และหลังจากนี้จะจัดหมวดหมู่ตัวชี้วัดให้เป็นกลุ่ม และขยายทำงานต่อร่วมกันระหว่างบพท.หรือทางสภาพัฒน์

ถัดมาฝั่งภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ที่เทศบาลนครพิษณุโลก เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ 18.26 ตารางกิโลเมตร บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย เป็นแหล่งเศรษฐกิจของเมือง รายล้อมไปด้วยสถานที่ราชการและมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงครามและสถานศึกษา

นางสาวณัฐทรัชต์ ชามพูนท รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า เทศบาลนครพิษณุโลกเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับเลือกเป็น mice city และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) และการดํารงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพฯ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน กำหนดไว้ “9 ด้าน 9 ดี” หรือ 9 มิติเมืองกรุงเทพฯ คือโจทย์หลักที่ใช้ในการออกแบบนโยบาย โดยใช้ดัชนีวัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เป็นพื้นฐานในการจัดทำนโยบาย ประกอบด้วย

  • ปลอดภัยดี
  • เดินทางดี
  • สุขภาพดี
  • สร้างสรรค์ดี
  • สิ่งแวดล้อมดี
  • โครงสร้างดี
  • บริหารจัดการดี
  • เรียนดี
  • เศรษฐกิจดี

ตัวอย่างประเด็นเดินทางดี มีการปรับปรุงทางเท้า 221.47 กม. ให้มีมาตรฐานทางเท้าใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้ทางเท้าแข็งแรงขึ้น มีการปรับลานทางเดินเลียบคลองแสนแสบ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้เป็น Universal Design เป็นต้น 

แนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตของแต่ละหน่วยงานจะขยับให้เห็นเป็นภาพที่ชัดขึ้นหลังจากการต่อยอดเอาเครื่องมือที่ใช้ในการชี้วัดเมืองน่าอยู่ต่อไปในจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งมีวี่แววว่าจะกระจายตัวชี้วัดไปในให้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในแต่ละเมืองรวมถึงอาจจะทำให้เห็นภาพความเป็นเมืองน่าอยู่ชัดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาเมืองน่าอยู่ให้ยกระดับเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน และเมืองที่ทุกคนออกแบบได้เองจากข้อมูลในการชี้วัดเพื่อนำมาสานต่อด้วยปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดขึ้นได้จริง

เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาสาธารณะ “ดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ : จากนโยบายสู่การขับเคลื่อนเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 หน่วยงานร่วมจัด ได้แก่

  • หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
  • สมาคมสันติบาติเทศบาลแห่งประเทศไทย 
  • สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ