: คุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
สถานการณ์ฝุ่นควันภาคเหนือในขณะนี้ ยังคงมีค่าอากาศสูงอย่างต่อเนื่องโดยถูกจัดอันดับให้อยู่อันดับที่ 1 ของโลก แต่หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ก็ได้มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเราในการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าได้ หนึ่งในนั้นคือ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Thai Air Quality” พยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าสูงสุดได้ 3 วัน ครอบคลุมทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถใช้เป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจเตรียมตัว เตรียมการป้องกันล่วงหน้าได้ จะช่วยทำให้เรารู้ว่าอากาศในอีก 2 – 3 วันข้างหน้าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ทิศทางลมจะส่งผลอะไรกับภาคเหนือหรือไม่
องศาเหนือ Special : โควิด-19 ก้าวผ่านหื้อได้ ! วันนี้คุยกับตัวแทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้คิดค้นร่วมมือพัฒนาแอปพลิเคชัน “Thai Air Quality” พยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า การพยากรณ์จะช่วยเรื่องอะไรบ้าง นอกจากการเตรียมตัวเป็นรายบุคคลแล้วการพยากรณ์นี้จะช่วยวางแผนในด้านไหนบ้าง แล้วการพยากรณ์ใช้ข้อมูลใดบ้าง
Q : เล่าถึงแบบจำลองเพื่อจะคาดการณ์ภูมิอากาศในภาคเหนือโดยใช้หลักต่าง ๆ ใช้เพื่ออะไรบ้าง ?
A : จุดเริ่มต้นของแบบจำลองเป็นแบบจำลองเชิงวิจัย ที่ได้จำลองคุณภาพอากาศที่สำคัญทั้ง 3 ปัจจัยประกอบไปด้วยตัวแหล่งกำเนิด ปัจจัยด้านภูมิประเทศและ ปัจจัยด้านภูมิอากาศ หลังจากทำวิจัยไประยะหนึ่ง ทางทีมมีการตรวจสอบความถูกต้องของตัวแบบจำลองว่าเราสามารถที่เลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นจริง พบว่าตัวแบบจำลองสามารถที่จะจำลองคุณภาพอากาศได้ถูกต้องมากกว่า 70 % จากนั้นได้พัฒนาต่อยอดถึงการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ถึง 3 วัน ในช่วงแรกจะครอบคลุมประเทศไทยและภาคเหนือตอนบนแต่ปัจจุบันขยายครอบคลุมประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านแต่ในภาคเหนือตอนบนจะพยากรณ์ได้ละเอียดสูงสุดถึง 4 กิโลเมตร ใน17 จังหวัดภาคเหนือ แต่คุณภาพอากาศที่พยากรณ์นั้นอย่างไรก็ตามจะขึ้นอยู่กับผลการพยากรณ์ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย เราจะพยากรณได้ว่าผลของคุณภาพอากาศ ความเข้มข้นของ PM 2.5 หรือรวมทั้งมวลสารอื่น ๆ ในพื้นที่มีจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากปัจจัยเรื่องความเข้มข้นของตัวฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถพิจารณาดัชนีทางอุตุนิยมวิทยาตัวอื่น ๆ ที่มีผลต่อสภาพอากาศ เช่น ความเร็วลม ศักยภาพในการยกตัวขึ้นของอากาศหาว่าอากาศสามารถลอยตัวขึ้นได้ไหม นำเอาทั้ง 2 ปัจจัยนี้มาใช้ในการคำนวณดัชนีบางตัวที่เรียกว่า ดัชนีการระบายอากาศ ซึ่งถ้าความเร็วลมต่ำ ถ้าศักยภาพในการลอยตัวขึ้นของการเป็นไปได้ไม่ดีจะส่งผลให้ดัชนีการระบายอากาศต่ำ ซึ่งลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาลักษณะนี้คือจะเอื้อต่อการสะสมของมลพิษทางอากาศ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วง 2 – 3 อาทิตย์ที่ผ่านมาในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการเผาไหม้และแหล่งกำเนิดก็ยังคงมีอยู่ รวมทั้งปัจจัยในเรื่องอขงสภาพอากาศ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนการระบายอากาศจะแย่มากแทบไม่สามารถช่วยในการระบายอากาศได้เลย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาคเหนือของเราเผชิญกับสภาพอากาศที่แย่ลงในทุกวัน
Q : เพราะฉะนั้นอัตราการระบายอากาศช่วงใดดีที่สุด ?
A : ช่วงเวลาในการระบายอากาศที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับแต่ละวันในช่วงวันขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพอากาศ แต่โดยปกติในรอบ 1 วัน การระบายอากาศจะดีที่สุดคือในช่วงบ่าย 15.00 – 16.00 น. ในเวลาที่อากาศร้อนจัดช่วงนั้นจะช่วยให้การระบายของอากาศดีขึ้น ดั้งนั้นจะเห็นได้ว่าแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาคุณภาพอากาศใน เชียงใหม่ ลำพูน คุณภาพอากาศก็จะดีขึ้นพอตกช่วงเย็นการระบายอากาศกลับมาแย่ลงเหมือนเดิม เพราะฝุ่นที่ลอยขึ้นในช่วงกลางวันถูกอากาศกดลงมาให้แพร่กระจายบริเวณใกล้พื้นผิว ส่งผลทำให้คุณภาพอากาศที่เราอยู่มันแย่ลง แต่ในปีนี้ต้องยอมรับเรื่องภัยแล้วที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วนั้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การลุกลามของไฟเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพอากาศเอื้อด้วย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
Q : การคำนวณหรือการคาดการณ์แบบนี้นั้นเอาข้อมูลที่เราได้มาล่วงหน้า 3 วันเพื่อวางแผนทำอะไรได้บ้าง ?
A : ดัชนีการระบายอากาศในต่างประเทศที่มีปัญหาเรื่องของการเผาชีวะมวลแล้วส่งผลต่อคุณภาพอากาศใช้เป็นดัชนีสำคัญ ในการกำหนดมาตรการในเรื่องของการเผาในที่โล่ง โดยพิจารณาร่วมระหว่าง ความเข้มข้นของฝุ่นที่มีว่ามีมากน้อยเพียงใดแล้วใช้ตัวดัชนีการระบายอากาศเพื่อที่จะคาดการณ์ว่า ดัชนีการระบายอากาศแย่ ถึงแม้ว่าฝุ่นต้นทุนในอากาศจะไม่มากก็ห้ามเผา แต่ถ้าดัชนีการระบายอากาศดีขึ้นเราต้องดูว่ากลุ่มต้นทุนในบรรยากาศตอนนั้นมีมากน้อยขนาดไหน ถ้าหากเรามีความจำเป็นในการใช้ไฟจริงๆ ไฟนั้นจะต้องควบคุมได้ อย่างไรก็ตามดัชนีการระบายอากาศเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ร่วมในการพิจารณาในการบริหารจัดการเพื่อเฝ้าระวังเรื่องคุณภาพอากาศเท่านั้น ดั้นนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยาในปัจจุบัน และปัจจัยในเรื่องของความเข้มข้นของฝุ่นที่เป็นต้นทุนในปัจจุบัน และการพยากรณ์ล่วงหน้าว่าการระบายอากาศในอนาคตจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ใช้เป็นข้อมูลร่วมสนับสนุนการตัดสินใจกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการหรือการบริหารจัดการที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศน้อยที่สุด
Q : เมื่อเรามีข้อมูลแล้วคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เขาจะมีการบริหารได้ในเชิงพื้นที่ จะสามารถที่ลงลึกแยกเป็นรายพื้นที่ได้หรือไม่ ?
A : อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าความละเอียดครอบคลุมพื้นที่ใน 4 กิโลเมตรมองในระดับ 4 กิโลเมตรคือรายตำบล ในช่วงที่ผ่านมาในคณะทำงานบริการวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีความเห็นว่า สำหรับข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจของทางจังหวัด เรื่องการบริหารจัดการหรือการแก้ไขปัญหาหมอกควัน คือเรื่องของข้อมูลทางพยากรณ์อากาศ คุณภาพอากาศรวมทั้งดัชนีทางอุตุนิยมวิทยา เพื่อร่วมในการกำหนดว่าพื้นที่ใดสามารถที่จะพอใช้เป็นข้อมูลร่วมสนับสนุนข้อมูลตรงนี้ให้กับทางจังหวัด
“ ถึงเราจะมีการกำหนดวันห้ามเผาโดยเด็ดขาด แต่พอพ้นวันห้ามแล้ว
ความน่ากังวลคือ จุดความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และระดับความเข้มข้นของฝุ่นสูงเป็นอย่างมาก
คนปกติถ้าหนึ่งวันอาจไม่ส่งผลกระทบ แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยง
อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะฉับพลันได้ ”
Q : พูดคุยกันมาถึงจุดนี้ถ้าดูจากแบบจำลองของอาจารย์ภาพจากเว็บไซด์เราจะเห็นว่าแบบจำลองจะมีสีที่ต่างกันไป สีแต่ละสีมีความหมายอะไร และอยากจะรู้การพยากรณ์ในอีก 3 วันข้างหน้า พื้นที่ภาพเหนือจะเจอกับรูปแบบอากาศแบบใด ?
A : สีที่ปรากฏบนเว็บไซด์พยากรณ์ที่นำเสนอนั้น ระดับสีอ้างอิงตามคุณภาพอากาศของ USAQI เพราะเน้นเฝ้าระวังในเรื่องสุขภาพ ดังนั้นเราจึงใช้ตัวดัชนีคุณภาพอากาศที่อ้างอิงตามเกณฑ์มาตรฐานของ USAQI ซึ่งถ้าเป็น สีเขียวคือ = ดี สีเหลืองคือ = ปานกลาง สีส้มและสีแดงคือไล่ระดับตามความรุนแรงขึ้นไป
- ใน 3 วันข้างหน้าคุณภาพอากาศจะเป็นอย่างไร
“ อัพเดตผลพยากรณ์ล่าสุด คือ ในช่วงเวลากลางวันคุณภาพอากาศจะดีขึ้น แต่พอตะวันตกดินในช่วงเวลากลางคืนถึงเช้ามืดก็จะกลับมาแย่ลง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เรายังต้องเผชิญกันลักษณะคุณภาพอากาศแบบนี้ต่อไปอีก แต่ในช่วงวันที่ 2 เมษายนในบางพื้นที่อาจมี อาจมีลมพายุฤดูร้อนแต่ไม่ทั่วทั้งภาคเหนือ อาจมีฝนตกลงมา แต่ฝนที่ตกจะมีปริมาณไม่มากนัก ต้องอัพเดตสถานการณ์กันเป็นรายวัน ดังนั้นถ้าประชาชนที่มีเครื่องกรองอากาศในช่วงนี้ถือว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้อยู่ รวมทั้งการเดินทางออกไปยังที่โล่ง ยังคงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัย นอกจากป้องกันฝุ่นแล้วยังป้องกันโรคระบาดในเวลานี้อีกด้วย ”