ทวนความจำ รัฐบาลจะทำอะไร? กับฝุ่นควันภาคเหนือ’63

ทวนความจำ รัฐบาลจะทำอะไร? กับฝุ่นควันภาคเหนือ’63

กลางปี 62 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะ มอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือปี 2563 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง พร้อมทั้งผู้แทนระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งประสบปัญหาฝุ่นควันในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน เป็นประจำทุกปี

ภาพถ่ายจากกลุ่มโดรนอาสา เผยแพร่ในเพจ WEVO สื่อสู้ฝุ่น ที่มาของภาพ https://www.facebook.com/wevogroup/photos/rpp.103915054467661/140600644132435/?type=3&theater

ผลประชุมวันนั้นผูกพันการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ และได้รับความเห็นชอบลงนามโดยคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 โดยมีสาระสำคัญแบ่งตามความรับผิดชอบของหน่วยงาน ดังนี้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • ลดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าให้เป็นศูนย์ ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
  • ระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือจากนอกพื้นที่มาเสริมการลาดตระเวน เฝ้าระวังและดับไฟป่า ไม่ให้เกิดการลุกลามของไฟจนไม่สามารถควบคุมได้
  • เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อจังหวัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันปัญหาหมอกควันภาคเหนือของ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท
  • ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียนภายใต้ข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างจริงจัง

กระทรวงมหาดไทย

  • อำนวยการสั่งการ (Single command) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์และบูรณาการสั่งการป้องกันและควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากพบค่าฝุ่นละออง สูงเกินมาตรฐานให้ประกาศห้ามเผาโดยทันที
  • จัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบ ให้ทยอยเผาในปริมาณที่ฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน
  • สั่งการไปถึงระดับตำบล โดยเฉพาะตำบลที่เสี่ยงเผาซ้ำซาก ให้นายอำเภอองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

กระทรวงกลาโหม

  • สนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างเต็มที่
  • หารือในกรอบความร่วมมือของคณะกรรมการชายแดนเพื่อให้ความร่วมมือ และกำชับให้ควบคุมการเผาบริเวณชายแดนอย่างเคร่งครัด

กระทรวงคมนาคม

  • กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  • เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดใน 9 จังหวัดภาคเหนือไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผาภายใน 3 ปี
  • กำกับให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์งดสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรที่มาจากการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด
  • เตรียมความพร้อมการทำฝนหลวงในช่วงวิกฤตหมอกควัน

ทุกหน่วยงาน

  • สร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูลเพื่อการสั่งการที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกของประชาชน โดยดำเนินการ ดังนี้
  • เผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน พื้นที่เกิดไฟไหม้ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และข้อมูลคุณภาพอากาศ จากกรมควบคุมมลพิษ
  • ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการที่ถูกต้องกับประชาชน โดยปรับรูปแบบการรายงานข้อมูล และสถานการณ์ให้น่าสนใจและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงต้องเป็นชุดข้อมูลเดียวกันไม่ให้เกิดความสับสน
  • สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น
  • ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพฝุ่นควันหนาทึบในพื้นที่แม่สาย ภาพเพลิงไหม้ในเขตอุทยานดอยสุเทพ-ปุย มีไลฟ์ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กถ่ายทอดการใช้เฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการดับไฟ บนดอยสูงชัดแบบนาทีต่อนาที ปรากฏการณ์นี้ถูกส่งต่อๆ กันไปผ่านวงไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์จนเกิดแฮชแท็ก #savechiangmai เรียกร้องให้สังคมมองเห็นปัญหาและชะตากรรมของคนในพื้นที่ จนถึงการเรียกร้องรัฐบาลยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ให้หน่วยงานแก้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนในฐานะที่เป็นปัญหาซ้อนปัญหา ทั้งการชะลอการระบาดของโควิด-19 และหยุดยั้งไฟป่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าฝุ่นขนาดเล็กจากกราฟด้านล่างที่ดึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อแสดงค่าฝุ่นที่วัดได้รายชั่วโมง ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2563 – 27 มีนาคม 2563 เวลา 9:00 น. ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยสะท้อนภาพความหลากหลายของพื้นที่เผชิญปัญหา และช่วงเวลาวิกฤติที่แตกต่างกัน หรืออาจทำให้เห็นภาพสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือได้ชัดเจนกว่าการ snap ภาพการขึ้นชาร์ตเมืองใหญ่ที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

มันไม่ผิดอะไรถ้าจะให้เชียงใหม่หรืออ.แม่สาย เป็นภาพตัวแทนเคราะห์กรรมของประชาชน – พลเมืองในเมืองเหนือที่กำลังใช้ชีวิตอยู่กับมลพิษทางอากาศจากฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน แต่ข้อเขียนนี้อยากตั้งข้อสังเกตและชวนจินตนาการถึงอนาคตอันใกล้ เป็นวันที่กรมควบคุมมลพิษติดตั้งเครื่องวัดตรวจจับวัดค่าได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ นั่นหมายความว่าภาครัฐจะมีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ และการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อตอบดูแลสวัสดิภาพและสิทธิในการหายใจได้อย่างปลอดภัยอย่างเป็นธรรมและเท่าทันต่อปัญหา

ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ คือ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในชั่งตวงวัดปัญหา บางจังหวัดมีเครื่องวัดที่รัฐให้การยอมรับติดตั้งอยู่หลายจุด บางจังหวัดมีเครื่องวัดเพียงจุดเดียว แม้ภาควิชาการจากหลายหน่วยงาน หลายสถาบันจะเริ่งผลิตและติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น pm2.5 ราคาประหยัด low-cost sensors นำไปติดตั้งในทุกระดับตำบลนั้นก็ยังอยู่ในชั้นของการให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ  ขณะที่การยอมรับ หรือการรับรองมาตรฐานจนถึงการนำข้อมูลเปิดทั้งหมดไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย ยังคงเป็นปริศนาว่าจะเผยตัวออกมาเป็นอย่างไร?

ในบทความครั้งหน้าเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นจะพาไปดูจุดความร้อนจากไฟป่า และสำรวจความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลและหน่วยงานได้ให้คำมั่นสัญญาว่าอยู่ในสถานะอย่างไร?

ปิดท้ายด้วยภาพแสดงจุดความร้อนของวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ดาวเทียมมองเห็น อาจจะขัดแย้งกับที่กระทรวงทรัพย์บอกว่าจะลดจุดความร้อนในเขตป่าให้เป็นศูนย์.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ