ทันทีที่มาเลเซียปิดด่าน ห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ เราได้เห็นภาพผู้คนจำนวนมากรีบเดินทางกลับมายังประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้
ทีมแลต๊ะแลใต้ พูดคุยกับ นายแพทย์มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักระบาดวิทยา และอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ในหลายๆ คำถาม
สำคัญคือ เราต้องระมัดระวังและดูแลตัวเองแค่ไหนในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะวิธีป้องกันตนเองเมื่อกลับมาจากประเทศหรือจังหวัดเสี่ยง และเรื่องโรคระบาดในทัศนะของอิสลาม มีวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติอย่างไร
คุณหมอช่วยขยายความนิยามคำว่า “กลุ่มเฝ้าระวัง” กับ “กลุ่มที่ติดเชื้อ”
เราต้องแยกกลุ่มเฝ้าระวังกับกลุ่มที่ติดเชื้อ เพราะว่าโคโรน่าไวรัส คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเข้าไปติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ลักษณะการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสกับการติดเชื้อหวัดทั่วไปแทบไม่ต่างกัน คนที่เป็นหวัดจำนวนมากก็ต้องมาแยกดูว่าเป็นโคโรน่าไวรัสหรือไม่ เพราะว่าอาการเหมือนกันหมดเลย เพียงแต่ว่าสองโรคนี้มันต่างตรงที่ โรคหนึ่งเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้วก็คือโรคหวัดทั่วไปเป็นโรคประจำถิ่น คนที่เป็นจะมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำ ขณะที่ไวรัสโคโรน่าเป็นโรคตัวใหม่ คนที่ได้รับเชื้อจะมีปฏิกิริยาที่รุนแรงมากกว่าเชื้อประจำถิ่น อาการที่มันแสดงออกเหมือนกันจะทำให้คนสับสนว่า ตัวเองเป็นไวรัสโคโรน่าหรือเปล่า ในกระบวนการที่แยกว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดาหรือโคโรน่าไวรัส ต้องมีการตรวจ สิ่งที่ตรวจก็คือสารคัดหลั่งอยู่ที่จมูกและในคอ จะตรวจสองอย่างนี้โดยใช้กระบวนการดีเอ็นเอ เป็นกระบวนการทางเทคนิคพิเศษ ซึ่งจะต้องไปตรวจที่แลป ซึ่งจะต้องใช้เวลา มันจะต้องรอเวลาให้เชื้อเพิ่มตัวมากขึ้น ถึงจะมีโอกาสตรวจเจอเชื้อ
คนที่จะเป็นและไม่เป็นจะมีข้อแตกต่างอย่างไร
อาการทั่วไปของโคโรน่าไวรัสเหมือนกับไข้หวัดทุกประการ ถ้าเรามีอาการคล้ายไข้หวัดบวกกับการเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือการสัมผัสบุคคลที่มีความเสี่ยง บุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโคโรน่าไวรัส อันนั้นเป็นผู้ต้องสงสัยอย่างยิ่ง อาการไข้หวัดมีอะไรบ้าง หนึ่งมีไข้ สองอาการไอ มีน้ำมูก มีปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาการอื่นๆ แต่หลักๆสามอาการนี้ มีไข้ ไอมีน้ำมูก เมื่อยตามร่างกาย
ประชาชนควรระมัดระวังตัวมากแค่ไหน เรื่องใดเป็นสำคัญ
ระมัดระวังตัวระดับที่เคยสัมผัสคลุกคลีกับคนที่เป็นไข้หวัด การระวังตัวทั่วไป คือการกินร้อน ล้างมือ พยายามไม่รับสารคัดหลั่งจากคนอื่น ถ้ามีอาการป่วยใส่หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่เชื้อไปให้คนอื่น ถ้าต้องเดินไปไปสัมผัสพยายามล้างมือด้วยแอลกอฮอล์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นบ่อยๆ พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าและปาก ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ไวรัสจะเข้ามาในร่างกายของเรา ในกรณีที่พบเคสแล้ว เราจะต้องทำการโซเชียลดิสแทนซิ่ง หรือการสร้างระยะห่างให้กับชุมชน ยกเลิกและละเว้นกิจกรรมที่อยู่ร่วมกันกับคนมากๆ โรงเรียน โรงพยาบาล ถ้าไม่มีความจำเป็นไม่ต้องไป โรงเรียนก็ขอให้หยุด ถ้าพบเคสจำนวนมากขึ้น มาตรการต่อไปที่จะต้องทำคือ ซิตี้ล็อคดาวน์ ก็คือการปิดเมือง ในเมืองมีกิจกรรมน้อยที่สุด คนก็จะอยู่แต่ในบ้านอย่างเดียว
ความรู้หรือข้อปฏิบัติเรื่องโรคระบาดในทัศนะของอิสลาม มีแนวทางอย่างไรบ้าง
หลักการอิสลามคือเราไม่วิ่งไปหาโรค เราไม่ขอพระเจ้าส่งโรคมาให้เรา “ท่านนบี” หรือ ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด เคยรับคนต่างเมืองเข้ามาเพื่อเรียนศาสนากับท่านที่เมืองมาดีนะห์ ท่านก็รีบสอนให้แล้วเสร็จ บรรดาอัครสาวก (ซอฮาบัต) ก็สงสัยว่าทำไมรีบสอน ท่านเลยบอกว่าชายคนนั้นมาจากเมืองที่มีการระบาดของโรค เมื่อสอนเสร็จก็จะรีบให้ออกจากเมืองแต่โดยดี
การที่ท่านนบีรู้ว่าชายดังกล่าวมาจากเมืองที่เกิดโรคระบาดและให้รีบออกไป แสดงว่าศาสนาอิสลามเข้าใจและมีการป้องกันจากโรคระบาด แม้ว่าทราบกันดีว่าท่านนบีรักการเผยแผ่คำสอนทางศาสนาอิสลาม (ดะวะห์) มากเพียงใด แต่ท่านนบีก็จำกัดเวลาคนที่เดินทางมาจากต่างเมือง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจ เพราะโรคระบาดมีตั้งแต่ในสมัยนั้นแล้ว
เราไม่รู้ว่าคนที่มาจะพาโรคระบาดมาด้วยหรือเปล่า แต่สิ่งที่ทำคือการป้องกันไว้ก่อน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในเมือง ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาด โดยขอให้เขาออกไป เราจะเห็นว่าการเผยแผ่คำสอนทางศาสนาอิสลามสามารถเป็นประเด็นที่รองลงมาได้ สำคัญคือให้มีการป้องกันการติดเชื้อของชาวเมืองไว้ก่อน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นสมัยท่านนบี
อีกหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้นสมัยก่อน คือเมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว หนึ่งในคำสั่งของศาสนา ซึ่งปัจจุบันอาจจะเรียกว่า “City Lockdown” นั่นคือ คนที่อยู่ข้างในไม่ให้ออก คนที่อยู่ข้างนอกไม่ให้เข้า การลดความเสี่ยงที่จะได้รับโรคระบาด มีผลตอบแทนในโลกหน้า คือการเสียสละหรือการเสียชีวิตเพื่อสนับสนุนและปกป้องศาสนา (ชะฮีด) และเป็นชะฮีดที่ตำแหน่งสูงส่ง เทียบเท่ากับชะฮีดที่เสียชีวิตในสงคราม ความดีอยู่ในระดับสูงสุด การตายในโรคระบาดของศาสนาอิสลามเป็นเรื่องที่ถูกยกย่อง แต่ความหมายนั้นไม่ใช่ว่าเราจะวิ่งเข้าหาโรคระบาด
มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเมื่อท่านนบีมีข้อมูลว่าชายที่มีโรคระบาดได้เดินทางมาที่เมืองของท่าน ท่านก็ป้องกันโรคระบาดเต็มที่ เมื่อมีการระบาดในเมืองแล้ว การที่ให้ชาวเมืองที่มีโรคระบาดเสียชีวิตในเมืองที่มีโรคระบาดนั้นเป็นการป้องกันไม่ให้แพร่ไปที่อื่น เราไม่ส่งเสริมให้มุสลิมของเราติดโรคระบาดเพื่อได้ตายชะฮีด แต่ว่าต้องป้องกันอย่างเต็มที่สุดความสามารถ แต่ถ้าติดแล้วเราก็มีรางวัลสำหรับผู้ศรัทธาที่ทำตามคำสั่งของท่านนบีที่ว่าไม่ออกจากเมือง แต่ในกรณีที่ว่าเราติดเชื้อแล้วเดินทางไปเอาโรคระบาดไปติดคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
คลิป : ความรู้เรื่องโรคระบาดตามทัศนะอิสลาม
คุณหมอมีคำแนะนำการประกอบศาสนกิจแบบรวมกลุ่มในสถานการณ์นี้อย่างไร
การละหมาดรวมหมู่ร่วมกัน (ญะมาอะห์) ที่มัสยิด 5 เวลา ก็มีข้อยกเว้นในหลายเหตุการณ์ ในสมัยท่านนบีถ้ามีภัยพิบัติ อย่างน้ำท่วมหรือมีฝนตกหนัก การไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิดก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต้องปฏิบัติ (วาญิบ) อีกต่อไป ฉะนั้นความปลอดภัยของชีวิตและสติปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้นๆ จึงเปรียบเทียบกันได้ กรณีที่หลักการศาสนาเดิมบังคับให้ผู้ชายทุกคนต้องไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด แต่ก็มีข้อยกเว้น ในบางกรณี เช่น คนเดินทางก็ไม่ต้องไป คนป่วยก็ไม่ต้องไป กรณีที่มีโรคระบาดแล้วอันตรายต่อชีวิตของคนในสังคม เราสามารถที่จะทำให้วาญิบ ตรงนี้ผ่อนผันไปก่อนได้
เราไม่ได้ปฏิเสธว่าการละหมาดวันศุกร์ไม่เป็นวาญิบ แต่ในสถานการณ์พิเศษนั้น ก็ให้รักษาชีวิตของผู้ตาม (มะมูม) ก่อน เพราะถ้าเราไปละหมาดที่มัสยิดแล้วติดโรคระบาดกันหมด ก็จะไม่มีการละหมาดในชุมชนหรือในสังคมนั้นๆ อีกต่อไปอันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในหลักนิติศาสตร์อิสลาม อยู่ในสิทธิทางกฏหมายอิสลาม (มะกอศิดชาริอะห์) ที่ต้องเรียงลำดับความสำคัญที่ชีวิตต้องถูกรักษาก่อน
ข้อเสนอแนะในการกักตัวเองของผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง
การกักตัวเองเป็นสิ่งหนึ่งที่เราแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจ เราเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่อยู่รวมกันสังคมเดียวกัน การเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หมายความว่าเรามีโอกาสที่จะนำเชื้อโรคที่เป็นโรคระบาดกลับมาในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ไม่มีใครที่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราไปความเสี่ยงก็ให้มันจบที่เรา ก็ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน ลดการสัมผัสกับผู้อื่น ถ้ามีภรรยาก็แยกห้องนอน ถ้านอนกับลูกก็ต้องแยกห้องนอน เพราะพื้นที่เสี่ยงไม่ใช่แค่มาเลเซียอย่างเดียวแล้ว การเดินทางไปกรุงเทพมหานครก็อาจเป็นพื้นที่เสี่ยงได้เช่นกัน ก็ขอให้ระมัดระวังตัว ลดกิจกรรมที่ต้องเดินทางออกไปนอกพื้นที่
ขออธิบายเพิ่มจำนวนวันที่บอกว่า 14 วัน เพราะว่าข้อมูลที่เราเจอผู้ที่ได้รับเชื้อแสดงอาการภายใน3-4 วัน พอถึงวันที่7 แล้ว 80เปอร์เซ็นของคนที่ได้รับเชื้อก็จะแสดงอาการ พอวันที่14 จะอยู่ประมาณ 96 เปอร์เซ็น หลังจากวันที่14 ก็อาจจะมีคนที่ได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ แต่ถือว่าไม่เป็นไร เราถือว่า14วัน คนได้รับเชื้อน่าจะแสดงอาการ ออกหมดละ ถ้าไม่มีอาการตอนนี้ มีโอกาสน้อยมากที่จะมีเชื้อยู่ในตัว เลยตั้งว่าให้ดูแลตัวเอง 14 วัน
คลิป : การปฎิบัติตัว หลังเตือนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่หลายจังหวัด (ภาษามลายู)
ข้อแนะนำการติดตามข่าวในตอนนี้อย่างไร
ข่าวสารใดๆก็ตาม ขอให้เชื่อในข้อมูลที่ทางการรายงาน ขอให้เชื่อมั่นการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ คิดว่าส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญ ตอนนี้ ผมคิดว่านอกจากการติดตามข่าวสาร จากสื่อที่มีความน่าเชื่อถือสูงแล้ว ก็ขอให้ติดตามข้อมูลที่เป็นความจริง อะไรที่หลุดมาจากไลน์ก็ขอให้ระมัดระวัง มีความเป็นไปได้สูงที่ไม่เป็นความจริง
ชมคลิปประกอบ : “เราต้องระมัดระวังและดูแลตัวเองแค่ไหนในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 “ ฟังคำตอบจากนักระบาดวิทยาชายแดนใต้ คุณหมอมูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ หนึ่งในแพทย์ผู้ขับเคลื่อนงานชุมชนสร้างความเข้าใจในพื้นที่ชายแดนใต้