(17 มีนาคม 63 ) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ พร้อมด้วย นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และนายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ แถลงข่าวที่ห้องประชุมพรหมราช ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ในกรณีมีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดอุบลราชธานี
โดยระบุว่า บุคคลดังกล่าว เป็นชายไทยอายุ 28 ปี อาชีพ เซียนมวย ทำงานที่สนามมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนิน เดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี โดยสายการบินหนึ่ง ในเย็นวันที่ 8 มีนาคม 2563 ต่อมา คืนวันที่ 9 มีนาคม ได้เข้ามาเที่ยวที่สถานบันเทิง 2 แห่ง ในตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี พร้อมทั้งเข้าพักที่โรงแรมในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
บ่ายวันที่ 10 มีนาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ตามตัว ได้ขับรถกลับบ้านในพื้นที่อำเภอที่อาศัย และแวะตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน คืนวันที่ 11 มีนาคม ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น จึงขับรถมาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์รับไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงวันที่ 13 มีนาคม แต่เนื่องจากประวัติของผู้ป่วยไม่ตรงตามนิยามของกรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จึงไม่ได้รับรหัสเพื่อส่งตรวจจากส่วนกลาง
ในวันถัดมา หลังจากที่ทราบข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ในผู้ร่วมกิจกรรมที่สนามมวยลุมพินี จึงได้ติดตามผู้ป่วยกลับมารับการรักษาทันที พร้อมขอรหัสจากกรมควบคุมโรค และเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ทั้งนี้ มาตรฐานของกรมควบคุมโรค ผู้ป่วยยืนยัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019จะต้องมีผลตรวจยืนยัน 2 แห่ง คือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี และสถาบันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือสถาบันบำราศนราดูร
ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีได้ลงติดตามค้นหาผู้สัมผัส ( ตั้งแต่วันที่ผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวนโรคทันที ) อาทิ เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้โดยสารสายการบินเดียวกัน คนขับรถแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ที่สถานพยาบาล พนักงานสถานบันเทิงทั้ง 2 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแยกเป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง จำนวน 79 ราย และผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ จำนวน 651 ราย ซึ่งจะได้ติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามารับการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ โดยได้เก็บตัวอย่างไปแล้ว 21 ราย รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนกิจกรรมติดตามควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการทำความสะอาดในพื้นที่ที่ผู้ป่วยเดินทางไป จัดทีมออกให้ความรู้ ด้านการปฏิบัติตน ในการ เฝ้าระวังตนเอง ผู้สัมผัสให้แยกตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อน ขณะ และหลังเปิดให้บริการ การคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ ตลอดจนการตั้งจุดแอลกอฮอล์เจล ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีจะได้ทำการเฝ้าระวัง สอบสวน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อไป
พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานี ได้ยกระดับการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ตาม 4 มาตรการ คือ
1.) มาตรการด้านความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานีทุกคนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่สนามบิน ด่านควบคุมโรค ช่องทางเข้า – ออกประเทศ สถานีรถไฟ โรงแรมที่พัก ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เคาะประตูบ้านเฝ้าระวังค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อลงทะเบียนเฝ้าระวังตลอด 14 วัน เริ่มตั้งแต่เข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มช่องทางรับรายงานตัวและตรวจคัดกรอง เน้นย้ำให้ประชาชนและผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเฝ้าระวังตนเอง หากมีอาการป่วยให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที
2.) มาตรการด้านกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค โดยจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์ทำความสะอาด Big Cleaning Day พร้อมกันทั้งจังหวัด ระหว่าง 18 มี.ค – 30 เม.ย 63 รวมทั้งยกเลิกและเลื่อนกิจกรรมชุมนุมที่มีคนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หากเลื่อนไม่ได้ต้องแจ้งต่อนายอำเภอและดำเนินการตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เช่น คัดกรองไข้ ใช้หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และจัดระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 1 เมตร และขอความร่วมมือผู้ที่เป็นไข้หรือมีอาการคล้ายหวัดให้รับรักษาในสถานบริการใกล้บ้าน หยุดกิจกรรมนอกบ้านและพื้นที่เสี่ยง พร้อมกักตัวอยู่ในบ้านจนกว่าจะหาย
3.) มาตรการทางการแพทย์ เตรียมห้องรักษาพยาบาล ห้องความดันลบ ห้องแยกโรคส่วนบุคคล หอผู้ป่วยแยกโรค และหอผู้ป่วยหนัก รวม 120 เตียง และพร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 65 เตียง และมีทีมหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัดและอำเภอ พร้อมทีมแพทย์และนักวิชาการ ครบทั้ง 25 อำเภอ และ
4) มาตรการขอความร่วมมือและการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคของประชาชน ตามคำแนะนำกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีคนจำนวนมากและแออัด