สภาลมหายใจเชียงใหม่ ยื่นหนังสือ”บิ๊กตู่” ให้ยกระดับแก้ปัญหาฝุ่นควัน ด่วน!

สภาลมหายใจเชียงใหม่ ยื่นหนังสือ”บิ๊กตู่” ให้ยกระดับแก้ปัญหาฝุ่นควัน ด่วน!

หลังติดตามสถานการณ๋์ฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่อง และพยายามเข้าทำงานกับกลไกราชการในพื้นที่เพื่อแก้โจทย์การจัดการร่วมกัน ภายใต้วิธีคิด “ลมหายใจเดียวกัน” อย่างไรก็ตาม ขนาดและความรุนแรงของปัญหา จำเป็นที่หน่วยงานระดับชาติและต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ เป็นเหตุให้ วันนี้ (02 มี.ค.63) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพิเชษฐ์ ตัณติโรจนกุล ผู้แทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้รัฐบาลยกระดับปฏิบัติการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันระยะเผชิญเหตุร้ายแรงสุด ระหว่างมีนาคม-พฤษภาคม)

ภาพมุมสูงจากชมรมร่มบินเชียงใหม่ ทำให้เห็นสภาพท้องฟ้าแอ่งเชียงใหม่ ลำพูนที่ปกคลุมด้วยฝุ่นควัน

โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่า ปัญหามลพิษฝุ่นควันและผลกระทบจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 ของปีนี้มาเร็วกว่าทุกปี นับตั้งเดือนมกราคมเป็นต้นมาประชาชนต้องทนทุกข์กับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมาโดยลำดับ ล่าสุดระหว่างวันที่ 28-29 ก.พ. ที่ผ่านมา ตัวเมืองเชียงใหม่มีค่าฝุ่นละออง pm2.5 เฉลี่ย 24 ช.ม. เกินกว่าระดับ 100 มคก./ลบ.ม. ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษกำหนดเป็นสีแดงอันเป็นระดับอันตรายสุดตามมาตรฐานไทย ในทุกๆ วันมีการเผาไหม้ขนาดใหญ่ทั่วไปในภาคเหนือ มีพื้นที่มีสภาพป่าเขาสูงชันการดับไฟด้วยคนเดินเท้าไม่สามารถทำได้ จำนวนเจ้าหน้าที่มีจำกัดและต้องทำงานต่อเนื่องมาตลอด 2 เดือน ทั้งๆ ที่ตามสถิติตลอดหลายปีมานี้ เดือนมีนาคมกับเดือนเมษายนเป็นช่วงที่ปัญหาจะทวีขึ้นสูงสุดทั้งจำนวนจุดเผาไหม้และผลกระทบค่ามลพิษ

สภาลมหายใจเชียงใหม่อันเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนหลายภาคส่วนขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ยกระดับปฏิบัติการแก้ปัญหาและลดผลกระทบอันเกิดจากมลพิษฝุ่นควันระยะเผชิญเหตุร้ายแรงสุด ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมในทันที ดังนี้

  1. ให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคน้ำประปา-ไฟฟ้าในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน รวม 3 เดือนที่มีค่าฝุ่นรุนแรง ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้นจากการป้องกันตนเอง ใช้เครื่องไฟฟ้าฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ หน้ากากกันฝุ่น รวมถึงต้องใช้น้ำเพื่อรดบรรเทาฝุ่นละอองเพิ่มจากปกติ ยังไม่นับรวมภาระอันจากสุขภาวะที่ย่ำแย่ลง
  2. ต่อปัญหาการเกิดไฟไหม้ในที่โล่ง ทั้งเขตป่าและเขตเมืองอันเป็นสาเหตุหลักลำดับแรกๆ ของปัญหาที่ยังเกิดอยู่ต่อเนื่อง ให้ระดมทรัพยากร เจ้าหน้าที่ บุคลากร (เสือไฟ ป้องกันภัยฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร) และเครื่องจักรจากพื้นที่อื่นมาในเขตภาคเหนือตอนบน ให้เพียงพอกับ ขนาดจุดความร้อน / จุดเกิดไฟไหม้ / และสภาพยากลำบากภูมิประเทศ รวมถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอย่าให้เป็นภาระของมท้องถิ่น ชุมชน หรือ ประชาชน
  3. ให้ปรับปรุงระบบรายงานจุดไฟไหม้ ขนาดกลางและเล็กเข้าไปในรายงานและปฏิบัติการของศูนย์สั่งการฯ เพราะดาวเทียมมีรอบเวลา คือบ่ายโมง/บ่ายสอง และ ตีหนึ่ง/ตีสอง ปรากฏว่ามีจุดอ่อนจากระบบการรายงาน เพราะมักจะมีการลอบเผาในช่วงเช้ามืด ทำให้จุดเกิดไฟไม่มีอยู่ในรายงานสั่งการ รอบปฏิบัติการตามหลังเหตุที่เกิดเกิน 10 ช.ม. ไฟลุกลาม ไม่ทันการณ์
  4. มาตรการเขตเมือง ให้เข้มงวดอย่างจริงจัง ใช้กฎหมายพิเศษหรือข้อกำหนดอื่นใด เพื่อห้ามปล่อยควันจากปากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างขนาดใหญ่ ในวันที่ ค่าอากาศเฉลี่ยเกินมาตรฐาน เพราะควันจากปากปล่องและการก่อสร้างเหล่านี้จะเพิ่มปริมาณและความเข้มข้นของฝุ่นควันยิ่งขึ้นไปอีก
  5. สำรวจพื้นที่เสี่ยงของแต่ละตำบลที่ยังไม่ถูกเผา หรือถูกเผาซ้ำซาก เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันพื้นที่ดังกล่าว โดยให้เพิ่มอัตราโทษการลักลอบเผา และจัดชุดเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องติดตามพื้นที่เสี่ยง ให้มีระบบป้องกันและติดตามเอาผิดจริงจัง แม้ว่าที่ผ่านมามีการตั้งด่านกลั่นกรองผู้ผ่านเข้าป่า และมาตรการปิดป่าของพื้นที่อนุรักษ์แต่ยังไม่เพียงพอ
  6. รักษาและให้กำลังใจพื้นที่ซึ่งรักษาและป้องกันการเผาไหม้ที่จัดการได้ดี เช่นพื้นที่ป่าชุมชน หรือ บางชุมชนที่รวมตัวเข้มแข็งเพื่อป้องกันรักษาพื้นที่ป่าละแวกของตน ให้รัฐบาลสนับสนุนกลุ่มจัดการดังกล่าวในระยะ 2 เดือน(มีนาคม-เมษายน) อย่างเร่งด่วน ทั้งงบประมาณและอุปกรณ์ที่กลุ่มดังกล่าวร้องขอ

โดยหลังจากนี้สภาลมหายใจเชียงใหม่ จะติดตามการรับเรื่องและแนวทางการแก้ปัญหาจากรัฐบาล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ