สตง.ชี้ อย่ากังวลถ้าทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการและการใช้งบประมาณในการเเก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ชวนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไขข้อสงสัยของหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการงบประมาณ ให้ตรงกับภารกิจที่ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ ไร้ความกังวลกับการเช็คบิลภายหลัง
13 ธันวาคม 2562 ที่ห้องประชุม LB1201 ชั้น 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานในการเปิดเวทีพูดคุย เกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการและการใช้งบประมาณในการเเก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (อบต.เทศบาลตำบล) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟัง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ ระบุบว่า เนื่องจากคณะนิติศาสตร์สัมพันธ์กับเนื้อหาข้อกฎหมายโดยตรง ซึ่งการใช้งานในข้อกฎหมายนั้น จะใช้วิธีตีความอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าข้อกฎหมายนั้นมีความซับซ้อน ภารกิจของภาควิชาการอย่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เลยต้องทำหน้าที่คลี่ข้อกฎหมายที่ติดขัดในเชิงปฏิบัติ นี่คือภารกิจงานบริการวิชาของคณะ
ในเวทีเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนถึงข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากข้อติดขัดที่เผชิญปัญหาไม่สามารถบริหารจัดการในด้านงบประมาณที่เป็นต้นทางในการบูรณาการแก้ปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า
โดยคุณสมคิด ปัญญาดี ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมเชียงใหม่ เล่าถึงข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐว่า การปฏิบัติงานของภาครัฐต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่รวมถึงภารกิจบทบาทของหน่วยงานนั้นหากภารกิจนั้นไม่ใช่บทบาทของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นจะไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณ หรือสนับสนุนภารกิจได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ก็ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์ในการดับไฟป่าได้ ก็จะติดปัญหาระหว่างท้องถิ่นกับป่าไม้ในเรื่องของการถ่ายโอนภารกิจของเรื่องการจัดการพื้นที่ภารกิจการดับไฟป่า กรมป่าไม้ ไปให้ อปท.
ภารกิจถ่ายโอนมาก็จริง อปท. รับมาก็จริง แต่ อปท. ไม่มีพนักงานในการดับไฟป่า มีเจ้าหน้าที่โดยตรงก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องตั้งเรื่องจัดจ้างพนักงานที่มีหน้าที่โดยตรง ระหว่างการถ่ายโอนอำนาจนั้น กรมป่าไม้ก็ไม่สามารถจ้างเสือไฟหรือเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าได้เนื่องจากภารกิจถูกถ่ายโอนไปยัง อปท.แล้ว
อีกกรณี ที่ อปท. ตั้งชุดดับไฟป่าเข้าไปยังพื้นที่ของกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน แบบนี้ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากพื้นที่เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน ซึ่งเป็นภารกิจที่ซ้ำซ้อน
ในความเป็นจริงแล้วหน่วยงานในพื้นที่ที่กำลังให้เพียงพอต้องอาศัยหน่วยงานท้องถิ่นรวมถึงกำลังชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งจะต้องได้รับอุปกรณ์และการสนับสนุนจาก อปท.
ดังนั้น ข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ปฏิบัติงานพยายามหาช่องทางการเผชิญการทำงานก็คือ
-หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถทำการการจัดซื้อคุรุภัณฑ์แจกจ่ายประชาชนโดยตรงได้กรณีการจัดการปัญญาไฟป่า การตีความของความหมายของคำว่า “คุรุภัณฑ์ และ พัสดุ” การตีความตรงนี้ละเอียดอ่อน
-ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าหรือทำแนวกันไฟได้ แต่สามารถจัดหาเพื่อฝึกอบรมได้ ที่ผ่านมา จะให้ชาวบ้านทำแนวกันไฟก็ตั้งงบฝึกอบรม
ซึ่งการตีความของผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้เจ้าหน้าหลายคนชะลอโครงการที่ทำอยู่ เพื่อป้องกันการตีความที่อาจจะเข้าข่ายการผิดระเบียบการเงินการคลัง ซึ่งกระทบต่อหน้าที่โดยตรง
การเเก้ปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า ที่ผ่านมาเมืองเชียงใหม่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยว เงื่อนไขการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติช่วงวิกฤติฝุ่นควัน ซึ่งเชียงใหม่ มักจะมองไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำไมไม่ประกาศเขตภัยพิบัติเสียที ความจริงแล้ว ผู้บริหารจังหวัดกังวลเรื่องผลกระทบ เชียงใหม่ขับเคลื่อนผ่านเศรษฐกิจระบบท่องเที่ยว 80% การประกาศเขตภัยพิบัติ นักท่องเที่ยวที่สำรองห้องพัก เที่ยวบิน สามารถยกเลิกการเดินทางและทางบริษัทจะต้องชดใช้ให้เขาด้วย ซึ่งมากกว่าการเยียวยา ที่ผ่านมาในช่วง10ปี มีผู้ว่าฯ ท่านเดียวที่เคยประกาศ แต่ก็ประกาศได้แค่วันเดียวต้องยกเลิกเพราะกระทบภาครวมของระบบเศรษฐกิจ
คุณสุทัศน์ บานเย็น นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวที โดยตนมองว่า หลายภารกิจไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องหมอกควันที่หน่วยงานท้องถิ่นไม่กล้าที่จะทำ โดยเฉพาะข้าราชการท้องถิ่นที่กังวลในการตัดสินใจในภารกิจของหน่วยงาน หลายภารกิจมีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน เช่น การทำแนวกันไฟครั้งหนึ่ง งบประมาณหลายหน่วยงานมากที่ลงไปในจุดเดียวงานเดียวกัน วันเดียวกัน เนื่องจากมาบูรณาการกัน แต่พอตรวจสอบถูกมองว่าภารกิจซ้ำซ้อนและไม่ใช้ภารกิจโดยตรง
ความไม่ชัดเจนในระเบียนปฏิบัติ เช่น การจะทำเเนวกันไฟในพื้นที่ ถามว่าใช้ระเบียบอะไร ไม่มีระเบียบหรือคำสั่งไหนรองรับ แต่ทุกวันนี้ ผมใช้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการทำแนวกันไฟ 1วัน ใช้เจ้าหน้าที่มีความเชียวชาญจากกรมป่าไม้มาอบรม1-2 ชั่วโมง ภาคบ่ายก็ฝึกปฏิบัติทำแนวกันไฟกันในพื้นที่ มีอาหารกลางวันเลี้ยง เบรคสองมื้อ ถามว่าใช่ไหม ก็ไม่ใช่แต่ต้องทำ เพราะประโยชน์ตกอยู่ที่ชุมชน ไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถูกใจชาวบ้านในพื้นที่
ด้านสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินคุณมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับตัวแทนหน่วยงานท้องถิ่นในเวที ว่า ที่หลายท่านได้ให้ข้อมูลนั้น อยากทำความเข้าใจ และอยากสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจเพื่อทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งว่า ณ ขณะนี้ ระเบียบสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมเมื่อปี 2561 เมื่อก่อนจะใช้วิธีการตรวจและขอหน่วยงานส่งเอกสาร หากพบความผิดปกติ ก็จะตั้งกรรมการตรวจสอบพร้อมเรียกเงินคืน ตามที่หลายท่านได้เผชิญ ส่งเงินคืน และกังวล
แต่ระเบียบใหม่ของปี 2561 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จะมีการเปิดโอกาสให้ชี้เเจง ถึงการใช้เงินงบประมาณ เน้นว่าเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้ชี้เเจง หากชี้เเจงแล้วไม่พบการการทุจริต ไม่คอรัปชั่น ไม่พบความเสียหาย แก่หน่วยงาน รัฐสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็มีหน้าที่ที่จะให้ คำแนะนำ วิธีการแนวทางที่ถูกต้องให้ ว่าควรปฏิบัติตามคำสั่ง ตามระเบียบ ที่มีอยู่อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสุดท้ายหากพบว่าการกระทำประชาชนได้ประโยชน์เรื่องก็ถือว่าจบไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนใดๆ นั้นหมายถึงอยากจะบอกผู้ปฏิบัติงานว่า อย่าลำคาญที่จะตอบคำถาม เพียงแต่ให้ยึดหลักการและระเบียบหรือคำสั่งที่มี และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยังได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานงานของท้องถิ่น ส่วนส่วนราชการได้ ขอความเห็นเกี่ยวกับการใช้งบประมาณยยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินด้วยซ้ำแต่ที่ผ่านมา กรณีเรื่องปัญหาฝุ่นควันยังไม่มีการขอคำปรึกษาแม้แต่กรณีเดียว
แต่อยากจะให้อยากจะอธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจการทำงานของภาครัฐ ว่าต่างจากเอกชนอย่างไร
เริ่มต้นต้องเข้าใจก่อนว่า การทำงานของภาค “รัฐ” และ “เอกชน” มีความต่างกัน
ความต่างนี้คืออะไร ?
เอกชน สามารถทำอะไรก็ได้แต่ห้ามผิดกฎหมาย…
แต่ “รัฐ” จะทำอะไรต้องดูระเบียบกฎหมายว่า มีกฎหมาย มีระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการที่กำหนดให้อำนาจไว้เท่านั้น อะไรรองรับบ้าง ถ้าพูดถึงเรื่องฝุ่นควันก็ต้องไปดู ในระเบียบ พรบ.งบประมาณ , พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานของรัฐไม่มีหน้าที่ซื้อของแจกหน่วยงานอื่นหรือใช้ภายนอกหน่วยงาน แต่ซื้อแล้วใช้ในภารกิจของหน่วยงานได้1ความคุ้มค่า สิ่งของตรงตามความต้องการของหน่วยงาน ตรงตามวัตถุประสงค์ตามการใช้งาน การใช้งานไม่เหมือนกัน เช่นการซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นท่านซื้อได้ ซื้อให้ต่างกัน กรณีคนดับไฟท่านก็ซื้อแบบหนึ่งให้เหมาะสม ซื้อแจกประชาชนก็อีกแบบหนึ่ง
และการซื้อ ถ้าหน่วยงานของคุณอยู่ที่อำเภอเชียงดาวไม่ต้องซื้อที่เชียงดาวก็ได้ ถ้ามันเเพงกว่า แล้วทางหน่วยงานได้มีบันทึกการสอบถามราคาแล้วว่า ในพื้นที่มีราคาสูงกว่า หรือด่อยคุณภาพกว่า ก็สามารถเช็คถ้าราคาเพื่อจัดหาในพื้นที่อื่น เช่นตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ราคาถูกกว่า หรือคุณภาพดีกว่า
เรื่องหมอกควันและไฟป่า อยู่ใน พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถ้าพูดถึงส่วนงบประมาณ ก็หลักๆจะอยู่ในงบประมาณเงินทดลองราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง อีกอย่างที่ต้องศึกษา คือประกาศของหน่วยงานนั้นๆ ว่ามีประกาศอะไรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหนังสือซักซ้อมท้องถิ่น
อีกข้อหนึ่งที่หลาย อปท.มักจะไม่ค่อยรู้คือ ท้องถิ่นสามารถใช้เงินงบสะสมประจำปี ใช้ในการเเก้ปัญหาฝุ่นควันได้
ที่จริงระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นควันเยอะมาก ซึ่งจะต้องไล่เรียงข้อกฎหมายทีละฉบับ ว่าแต่ละฉบับหน่วยงานไหนทำอะไรได้บ้าง แต่ต้องคำนึงว่าประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ ภารกิจไม่เกิดความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งก็ต้องแยกว่า อันนี้ส่วนของราชการส่วนภูมิภาค (ระดับจังหวัด) อันนี้ของราชการส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งทั้งหมดก็ย้อยกับมาถึงเรื่องการกล้าตัดสินใจของผู้ปฏับิตงานและความเข้าใจในระเบียบข้อกฎหมาย
อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายของการพูดคุย คุณมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุบว่า หากหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนืออ ยากจะขอคำปรึกษาเพื่อให้การใช้เงินงบประมาณในการเเก้ปัญหาฝุ่นควัน นั้นเป็นไปตามเป้าหมายของงานที่ว่างไว้ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็พร้อมที่จะลงพื้นที่ให้คำปรึกษา