‘ต่อลมหายใจให้เชียงใหม่’ อีกครั้ง: แก้ปัญหา ฝุ่น ควัน จากทุกภาคส่วน

‘ต่อลมหายใจให้เชียงใหม่’ อีกครั้ง: แก้ปัญหา ฝุ่น ควัน จากทุกภาคส่วน

FM100 ม.เชียงใหม่ ร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ จัดเวทีสาธารณะ “ต่อลมหายใจให้เชียงใหม่ (อีกครั้ง)” ระดมความเห็นทุกภาคส่วน แก้ปัญหาฝุ่นควัน

เวทีสาธารณะ “ต่อลมหายใจให้เชียงใหม่ (อีกครั้ง)” ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน (FM 100 MHz) คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ จัดเวทีสาธารณะ “ต่อลมหายใจให้เชียงใหม่ (อีกครั้ง)” โดยมี รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน และผู้ร่วมเวทีประกอบด้วย นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ (ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่) นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ อ.ดร.สมพร  จันทระ  คณะทำงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนางสาวปริศนา  พรหมมา  ผู้แทนสภาลมหายใจเชียงใหม่

ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เข้าสู่ระดับวิกฤต เป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามต่อสุขภาพของประชาชนและส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ สังคม ทั้งการคมนาคมและภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  แม้จะมีความพยายามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  และมีการตื่นตัวของภาคประชาชนเพิ่มขึ้น ในการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐเพื่อจัดการและยกระดับสถานการณ์ ให้เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข

 

ธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่

ธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทน ปภ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าภาพรวมปีนี้จากการคาดหมาย กรมอุตุฯคาดว่าสภาพอากาศจะคล้ายปีที่ผ่านมาในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. คาดว่าความกดอากาศจะยังคงแรง หากเกิดการเผาประกอบกับเชียงใหม่เป็นแอ่งกระทะอาจเผชิญปัญหาฝุ่นควันเหมือนปีที่ผ่านมา

จังหวัดเชียงใหม่ การเตรียมรับมือปีนี้ เริ่มจากการใช้ศาสตร์พระราชา เช่นการทำป่าเปียก สร้างฝาย เริ่มตั้งแต่ พ.ค.-พ.ย.และประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างจิตสำนึกประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่มีการเผา

ส่วนยุทธศาสตร์เตรียมการยังใช้ยุทธศาสตร์เหมือนเดิมปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มความเข้มข้น 4 พื้นที่ คือพื้นที่เกษตร ชุมชนเมือง พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ป่าไม้  โดยมีผู้รับผิดชอบชัดเจน ใช้ดาวเทียมตรวจจับความร้อน หากพบต้องเร่งแก้ไขในส่วนที่รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการได้ทันที

ยุทธศาสตร์จัดการ ยึดผู้บัญชาการเหตุการณ์ใช้ระบบ single command ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ แต่ก่อนจะถึงผู้ว่าฯต้องอยู่ในการดูแลองค์การปกครองท้องถิ่น และนายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันก่อน เพราะนโยบายให้ส่วนท้องถิ่นดำเนินการเองก่อนเพราะมีงบประมาณ และใกล้ชิดประชาชน

ขณะที่ปีนี้ยังมีภาคประชาชนเข้าร่วม เช่น สภาลมหายใจ ถือว่าเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งมีการตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาฝุ่นควันตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ด้านการบังคับใช้กฎหมายจะเข้มข้นขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงห้ามเผา  ซึ่งปีนี้จะซ้อมใหญ่ แก้ปัญหาฝุ่นควัน โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในช่วงประมาณเดือน ม.ค.หรือ ก.พ.

ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

ด้านนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ระบุว่าเตรียมรับมือปัญหาฝุ่นควันในเมืองเน้นย้ำ มี 3 ประเด็นโดยประเด็นแรก คือเรื่องสุขภาพ  เตรียมพื้นที่ตั้งพื้นที่ปลอดภัย หรือ เซฟตี้โซน 14จุดในเทศบาลนครเชียงใหม่และให้ความรู้เรื่องฝุ่นละอองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ

ประเด็นที่ 2 ลดปัจจัยฝุ่นควัน คือลดแหล่งกำเนิด เช่น การก่อสร้างตึกต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน ผ้าคลุม เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ส่วนปัญหาการเผาเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้นัดหมายการเก็บขยะ เช่น ใบไม้ จะนัดเก็บทุกวันศุกร์เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนรถยนต์ในเมืองเน้นมาตรการตรวจควันดำ และเน้นให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ประเด็นที่ 3 เทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมหารือตึกสูงในเทศบาลนครเชียงใหม่เพิ่มฉีดละอองน้ำตามตึก เมื่อปีที่ผ่านมาได้ขอความมือได้ประมาณ 40 ตึกเตรียมขยายเพิ่มเติม ขณะเดียวกันเตรียมเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะให้มากขึ้น

อ.ดร.สมพร จันทระ คณะทำงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร.สมพร  จันทระ คณะทำงานแก้ปัญหาหมอกควันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ระบุว่ามหาวิทยาลัยรวบรวมนักวิจัยสาขาต่างๆมารวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน คณะทำงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุน ความรู้จากภาควิชาการที่ต่างคนต่างทำมารวมไว้แล้ว เพื่อให้ขอมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้ส่วนงานที่ต้องการการสนับสนุนนำไปใช้ต่อยอดเพื่อแก้ปัญหา

อีกอันที่เราทำคือ ระบบ Low Cost Sensorในการรายงานค่าคุณภาพอากาศให้ประชาชนได้เข้าถึงและรู้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเพื่อการป้องกันตัวเอง ตอนนี้เราพยายามทำข้อมูลคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต่อให้เราไม่ทำ ตอนนี้ประชาชนไม่ได้รอดูข้อมูลจากแหล่งเดียว เขาเข้าถึงเช่นที่นิยมกันคือ Air Visual และจัดทำเว็บไซต์ให้เห็นภาพรวมปัญหาหมอกควัน

คิดนวัตกรรมใหม่ในการใช้ชีวิตของประชาชนการป้องกันตัวเอง เช่น Nano Filler ที่ใช้กรองฝุ่นสามารถล้างทำความสะอาดได้ ไม่ต้องทิ้ง

การให้ความรู้เชิงวิชาการ เช่น ต้นกล้าท้าฝุ่นควัน คือให้ผู้เข้าร่วมรู้กับเยาวชน ถึงสาเหตุ การป้องกันตัวเอง

ปริศนา พรหมมา ตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่

ปริศนา พรหมมา ตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควันมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2550 แต่แก้ปัญหาไม่ได้สภาลมหายใจจึงรวมตัวจากกลุ่มคนที่จะมาแก้ปัญหานี้ ที่มามีการหารือแนวทางการทำงานภาคเมือง ภาคชนบท และส่วนราชการ มีการจัดการพื้นที่ 2 ส่วนภาคเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดีขึ้นแก้ปัญหาระยะยาว และเตรียมจัดมหกรรมพลังเชียงใหม่ลมหายใจเดียวกัน จัดวันที่ 15 ธันวาคมเพื่อประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหาฝุ่นควัน  ส่วนชนบท มี 32 ชุมชนจัดการฝุ่นควันประสบความสำเร็จ เครือข่ายฯเตรียมลงพื้นที่ฟังสถานการณ์ ต้นทุนการจัดการ และสนับสนุน เตรียมขยายไปยังชุมชนอื่นๆ  ส่วนการจัดการเชื้อเพลิงโดยวิธีการชิงเผาเตรียมการทำวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งในชุมชน

ที่ผ่านทำมาหลังฝุ่นควันหนักหน่วง เราก็ช่วยกันอย่างเช่นฝนมี่ผ่านมาก็ปลูกต้นไม้ ช่วยกันปลูกช่วยกันปัก ร่วมถึงตอนนี้ที่ทำร่วมกับสภาองค์กรชุมชนที่มีการเข้าไปร่วมฟังและร่วมออกแบบกันคนในท้องถิ่นที่แต่ละที่มีวิธีการจัดการไม่เหมือนกัน บางที่ท้องถิ่นมีศักยภาพในการสนับสนุนชุมชนในการจัดการปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณ หรืออุปกรณ์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ