ข้อมูลในเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 100 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31.64 จากพื้นที่ทั้งประเทศ นั่นทำให้หลายภาคส่วนระดมความร่วมมือในการดูแลและพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้นในหลายลักษณะ รวมถึง “ป่าชุมชน”
วันนี้ ฟังเสียงประเทศไทย ชวนออกเดินทางไป “เลาะ” สำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าปรีย์ทม ป่าชุมชนพื้นที่กว่า 128 ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก อ.เมืองสุรินทร์ อีกพื้นที่รูปธรรมการมีส่วนร่วมดูแล และใช้ประโยชน์อย่างเข้มแข็งร่วมกันของคนในชุมชนท้องถิ่น พร้อมล้อมวงสนทนาถึงอนาคตผืนป่าที่ทุกคนร่วมออกแบบ
ทำไมต้องเป็น “สุรินทร์” ?
จังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร (5,077,535 ไร่) แบ่งการปกครองออกเป็น 17 อำเภอ (อ.เมืองสุรินทร์, อ.ปราสาท, อ.สังขะ, อ.ศีขรภูมิ, อ.รัตนบุรี, อ.ท่าตูม, อ.สำโรงทาบ, อ.ชุมพลบุรี, อ.จอมพระ, อ.สนม, อ.บัวเชด, อ.ลำดวน, อ.กาบเชิง,อ.ศรีณรงค์, อ.พนมดงรัก, อ.เขวาสินรินทร์, อ.โนนนารายณ์)
มีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 1,261,423 ไร่
- ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 29 ป่า เนื้อที่ 1,115,284 ไร่
- ป่าไม้ถาวรของชาติ จำนวน 15 ป่า เนื้อที่ 146,139 ไร่
- ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม เนื้อที่ 163,831 ไร่
- ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย เนื้อที่ 313,750 ไร่
- พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มอบให้ ส.ป.ก. เนื้อที่ 890,248 ไร่
- และพื้นที่ป่าอื่น ๆ กว่า 2 แสนไร่
จังหวัดสุรินทร์เป็นหนึ่งใน 30 จังหวัด ที่มีปัญหาวิกฤตด้านทรัพยากรป่าไม้ สาเหตุมาจากการลักลอบตัดต้นไม้ โดยปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์มีการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ข้อมูลซึ่งได้รับการตรวจสอบแล้ว จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุรินทร์ พบว่า มีพื้นที่ป่าสีเขียวร้อยละ 11.46 หรือประมาณ 581,885 ไร่ ที่เหลือเป็นป่าที่มีลักษณะเสื่อมโทรมและบางพื้นที่มีการบุกรุกเข้าทำประโยชน์
ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดสุรินทร์
ในปี พ.ศ.2562 จังหวัดสุรินทร์มีมูลค่า 81,007 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์ต่อหัวอยู่ที่ 75,919บทต่อคนต่อปี เพิ่มจากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 3.54
โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดสุรินทร์การผลิตหลัก คือ
- การผลิตภาคการเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 25.3
- การผลิตภาคนอกการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 74.7
การผลิตที่สำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัด 3 อันดับแรก ได้แก่
- สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ร้อยละ 25.3
- สาขาการศึกษา ร้อยละ 14.1
- สาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ ร้อยละ 13.8
นิยามป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน
ป่าเศรษฐกิจ กำหนดไว้เพื่อการผลิตไม้และของป่า เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ หรือ เขตพื้นที่อื่นใดที่มีความเหมาะสมกับการกำหนดให้เป็นเขตป่าเศรษฐกิจโดยอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ ประกอบด้วย
- ป่าเศรษฐกิจในที่ดินของรัฐ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ (ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5) เขตป่าไม้ของรัฐที่ได้รับอนุญาต ให้ใช้ประโยชน์ตามกฎหมายให้เป็นป่าเศรษฐกิจ เขตพื้นที่อื่นของรัฐที่ประสงค์จะสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลนนอกเขตป่าชายเลนอนุรักษ์ และ
- ป่าเศรษฐกิจในที่ดินของเอกชน ได้แก่ ที่ดินกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินนอกเขตป่าไม้ของรัฐอื่น ๆ
ป่าชุมชน หมายถึง ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ที่ได้รับ อนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน
พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย 2565
ปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้เพียงร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือคิดเป็น 102,135,974.96 ไร่ ซึ่งลดลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 0.02 คิดเป็น 76,459.41 ไร่ อย่างไรก็ตามจากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2565 พบว่า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างจะคงที่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire) หรือการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น
นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562
มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็น
- พื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25
- พื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนร้อยละ 15
ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) มีการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศภายในปี พ.ศ.2580 แบ่งเป็น
- พื้นที่ทีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35
- พื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15
- และพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบทร้อยละ 5
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่ม
- พื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 33 และ
- พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 12
ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2570
ปัจจุบันประเทศไทย เหลือพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ โดยเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 22 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนร้อยละ 9 หากมองย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีหลัง จะพบว่า พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง
“เมืองเกษตรอินทรีย์ ศูนย์เศรษฐกิจชายแดน ท่องเที่ยววิถีชุมชน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
คือเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2566-2570 โดยมีหลักสำคัญดังนี้
- การพัฒนาและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร
- การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุน การบริหาร และเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน
- การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน
- การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
- การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
- การเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัย
ฉากทัศน์ ภาพอนาคต “คนกับป่าชุมชน ณ เมืองสุรินทร์”
ฉากทัศน์ A : วิ่ง 100 เมตร
การจัดการดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน เป็นไปตามแนวทางข้อตกลงและปฏิบัติการของชุมชนในพื้นที่ มีความคล่องตัว ประชาชนเป็นกำลังหลักในการออกแบบ วางแผน ดูแล และใช้ประโยชน์ในระดับชุมชน ร่วมกันกับหน่วยงานในระดับท้องที่ท้องถิ่น มีระเบียบข้อบังคับร่วมกับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ป่าชุมชนได้ตามวิถีท้องถิ่น แต่ยังขาดแคลนงบประมาณ และการสนับสนุนในหลายมิติ อย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
ฉากทัศน์ B : วิ่งผลัด 4 x 100
การจัดการดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน เป็นไปตามการออกแบบร่วมกันจากหน่วยงานหลายภาคส่วน ที่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีกฎหมาย ระเบียบแนวทางและการวางแผนดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ยังขาดความคล่องตัวจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งระดับพื้นที่ และระดับชาติ เนื่องจากมีระเบียบข้อบังคับหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามแนวนโยบายเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่นให้มีความหลากหลาย
ฉากทัศน์ C : วิ่งมาราธอน
การจัดการดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ให้ความสำคัญกับเครือข่ายการทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐ เอกชน นักวิชาการ และประชาชน ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการหาแนวร่วม และนำเอาระบบฐานข้อมูล DATA ที่เกี่ยวข้องมาใช้บริหารจัดการดูแลป่า เพราะมีความเกี่ยวข้อง ทั้ง ระดับครัวเรือน ชุมชน และ ประเทศ ตลอดจนให้คนนอกชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและเกิดประสบการณ์ร่วมในโลกเสมือน
การฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ และส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ภายใต้การร่วมทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการป่าชุมชน ตลอดจนสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจ แบบที่ป่าปรีย์ทมได้พัฒนาตลาดควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นอีกโจทย์สำคัญที่จะเสริมพลังและขยายเครือข่ายผู้พิทักษ์ป่าชุมชนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
คุณผู้ชมสามารถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการมองภาพอนาคตและหาทางแก้โจทย์นี้ โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ www.thecitizen.plus พร้อมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส