7 พ.ย. 2562 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง เผยแพร่แถลงการณ์ ข้อเท็จจริง 8 ประการจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่แม่น้ำโขง กรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับวันที่ 29 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อขายอย่างเป็นทางการให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
รายละเอียดแถลงการณ์มี ดังนี้
ข้อเท็จจริง 8 ประการจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่แม่น้ำโขง
กรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม2562
โดย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง
7 พฤศจิกายน 2562
สืบเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อขายอย่างเป็นทางการให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งทำงานติดตามกรณีผลกระทบจากการพัฒนาบนแม่น้ำโขงมาตลอด ขอมีข้อชี้แจง ดังนี้
1.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: โรงไฟฟ้าต้นแบบ “ฝายทดน้ำขนาดใหญ่” Run of river มีการอธิบายว่าโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยการยกระดับน้ำ บริหารจัดการน้ำแบบ in flow = out flow ยกระดับเท่าตลิ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก ยกระดับเพียง 1 ครั้งตลอดอายุของโรงไฟฟ้า ไม่มีอ่างเก็บน้ำ
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: แม้จะเรียกตัวเองว่า “ฝายทดน้ำ” แต่โครงสร้างของเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ พาดผ่านกลางลำน้ำโขง ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คือ เขื่อนขนาดใหญ่ (mega dam หรือ large dam) ที่มีความสูง 35 เมตร และยาวมากกว่า 820 เมตร มีการยกระดับน้ำตอนเหนือเขื่อนขึ้นไปประมาณ 30-65 เมตร เอกสารโครงการระบุว่า มีอ่างเก็บน้ำกินความยาวไปตามลำน้ำถึง 80 กิโลเมตร (impoundment)
การใช้งานเขื่อนในช่วงการทดลองผลิตไฟฟ้า และการเปิดใช้งานของเขื่อนไซยะบุรีอย่างเป็นทางการ เป็นที่ประจักษ์และปรากฎแก่สายตาของประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำ ตั้งแต่เมืองปากลายใน สปป.ลาว ลงมาตลอดระยะทาง 700 กิโลเมตร ในเขตภาคอีสานริมฝั่งแม่น้ำโขงของไทย ว่าเกิดเหตุการณ์ระดับน้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ ผิดฤดูกาลอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ขณะที่สภาพแม่น้ำโขงในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทางเหนือของเขื่อนไซยะบุรี เขตแขวงไซยะบุรี แขวงหลวงพระบางระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร กลับมีปริมาณน้ำเต็มสองฝั่งนับตั้งแต่มีการทดลองผลิตไฟฟ้า ปัจจุบัน และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ตลอดอายุการใช้งานของเขื่อน
โดยวงจรธรรมชาติ ในช่วงฤดูฝนแม่น้ำโขงต้องท่วมหลาก สิ่งมีชีวิต ปลา ฯลฯ ต้องว่ายอพยพมุ่งสู่ลำน้ำโขงตอนบน ลำน้ำสาขา และพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ตลอดลุ่มน้ำ เพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ และอนุบาลตัวอ่อน เมื่อเขื่อนตอนบนกักเก็บน้ำทำให้เกิดปรากฎการณ์ระดับน้ำในฤดูฝนลดลงอย่างมาก และผันผวน ทำให้วงจรของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบ ลำน้ำสาขาและพื้นที่ชุ่มน้ำไม่สามารถมีน้ำหลาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน (หรือที่ผู้พัฒนาโครงการ พยายามเรียกว่า “ยกระดับน้ำ”) ทำให้ตะกอนแร่ธาตุ ที่เป็นหัวใจของความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำโขง ถูกกักเก็บไปในปริมาณมาก และหายไปจากระบบแม่น้ำโขง
ระดับน้ำโขงที่ผันผวน สร้างความเสียหายอย่างยับเยินต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของประชาชน ไปจนถึงปลายน้ำ พรรณพืชที่มีความสำคัญ เช่น ต้นไคร้น้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนป่าชายเลนของแม่น้ำโขง เป็นแหล่งอาศัยวางไข่สัตว์น้ำ ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับน้ำ ที่ขึ้นลงผิดฤดูกาล ถูกทำลาย ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และตายซากอย่างมากมาย อย่างที่ปรากฎในภาพข่าว และ social media ต่าง ๆ
สิ่งที่ทางเจ้าของโครงการอ้างถึง run of river และ in flow=out flow เป็นการนำเสนอข้อมูลแบบไม่มีข้อมูลปัจจุบัน (real time) ที่สำคัญอย่างยิ่งข้อมูลที่กล่าวอ้างนี้ สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงหรือร่วมตรวจสอบได้
อนึ่ง ตัวอย่างรูปธรรมของ “เขื่อน run of river” ที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง คือ เขื่อนปากมูล ที่สร้างกั้นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง
2.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: ต้นแบบ“โรงไฟฟ้าล่องหน” ที่กล่าวอ้างว่าด้วยความก้าวหน้าทุกแขนง และที่ปรึกษาจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ออกแบบและคัดสรรเทคโนโลยีเพื่อให้ฝูงปลา ตะกอน และเรือในแม่น้ำโขง ยังคงเดินทางผ่านโครงสร้างได้เสมือนว่าไม่มีโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ ทางปลาผ่านที่สมบูรณ์แบบที่สุดในปัจจุบัน โครงสร้างประตู 11 บาน ออกแบบเพื่อรองรับการระบายน้ำและตะกอน มีทางสัญจรเรือที่ทันสมัย
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: โรงไฟฟ้าล่องหน ถือเป็นการสร้างวาทกรรมที่อำพรางความจริง ทั้งที่เป็นเขื่อนคอนกรีตสูงกว่า 35 เมตร และยาว 820 เมตรกขวางกั้นลำน้ำโขง และในรายงานการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง หรือ Council Study ระบุว่า ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านประตูมีความเร็วมากถึง 7-10 เมตร/วินาที หรือ 25-36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเป็นอันตรายต่อการขึ้นลงของปลาแม่น้ำโขง ซึ่งมีปกติปลาสามารถว่ายความแรงเฉลี่ย 1.1 เมตรต่อวินาที หรือความเร็ว 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทางปลาผ่านที่อ้างถึงจึงเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรู ที่สร้างไปบนข้อเท็จจริงที่ไม่มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและสาธารณะ
ผลกระทบด้านตะกอน การศึกษาทบทวนการออกแบบเขื่อนโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง Review of the Design Changes Made for Xayaburi Hydropower Project (MRC 2019) ระบุชัดเจนว่าผลกระทบต่อปริมาณตะกอนและการพังของตลิ่ง จะเกิดเป็นบริเวณกว้างตลอดพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี เป็นระยะทางนับร้อยกิโลเมตร หรือที่เรียกว่า “คลื่นตลิ่งพัง” erosional wave ดังที่ปรากฎในพื้นที่ท้ายน้ำชัดเจนในหลายจังหวัดในภาคอีสาน และจะส่งผลไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
ประเด็นสำคัญคือ การออกแบบเขื่อนใหม่ที่อ้างว่าออกแบบโดยที่ปรึกษาจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกและคัดสรรเทคโนโลยีที่สุดนั้น กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังที่เอกสาร Review of the Design Changes Made for Xayaburi Hydropower Project (MRC 2019) ระบุว่า การลงทุนในทางปลาผ่านใหม่ของเจ้าของโครงการแทบไม่มีมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องและคำขอหลายครั้งจากภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำโขงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังมีข้อค้นพบว่า ผู้พัฒนาโครงการได้พยายามลงทุนอย่างมาก เพื่อแก้ไขตามข้อกังวลที่มีการเสนอระหว่างการทบทวนด้านเทคนิคของเขื่อนไซยะบุรี อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการให้ข้อมูลมากเพียงพอเพื่อให้สามารถประเมินประสิทธิภาพของมาตรการเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณท์ในการเดินเครื่องที่ได้รับการปรับปรุง
3.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำลดภาวะโลกร้อน ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 7,600 ล้านหน่วยไฟฟ้าต่อปี มีความสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.8 ล้านตันต่อปี
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: คำอธิบายนี้เป็นระบบคิดที่ไม่ถูกต้องและตีความเอาเองโดยไม่ได้คำนวณความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง ซึ่งมีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่ประเมินค่ามิได้ และยังไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่า เขื่อนจะผลิตไฟฟ้าได้จริงตามจำนวนที่ระบุไว้ตามสัญญาซื้อขายเท่านั้น
ผู้ดำเนินการควรอ้างอิงเอกสารที่มีการศึกษาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันได้เรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรีของท่านเอง (Council Study: The Study on Sustainable Management and Development of the Mekong River including Impacts of Mainstream Hydropower Projects 2018) (http://www.mrcmekong.org/highlights/the-study-on-sustainable-management-and-development-of-the-mekong-river-including-impacts-of-mainstream-hydropower-projects/)
4.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: ต้นแบบ “โรงไฟฟ้ามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด”
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: เป็นเพียงคำอธิบายที่กล่าวอ้างของผู้พัฒนาโครงการเท่านั้น ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวต่อสาธารณะ
5.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: ต้นแบบ “โรงไฟฟ้าพัฒนาชุมชน” โดยอ้างว่าใส่ใจคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนโดยรอบ เป้าหมายให้ทุกครอบครัวรอบโรงไฟฟ้าพ้นขีดความยากจน มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นกว่า 60% ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน จัดทำโครงการเพื่อสาธารณะประโยชน์มุ่งพัฒนาบ้าน โรงเรียน และชุมชนโดยรอบ
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: ชุมชนลุ่มน้ำโขงมีประชาชนอาศัยและพึ่งพาทรัพยากรลุ่มน้ำโขงตอนล่างถึง 60 ล้านคน แต่ผู้พัฒนาเขื่อนไซยะบุรีนับ “ผู้ได้รับผลกระทบ” หรือ “ชุมชน” เพียงผู้ที่อาศัยในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า หรือผู้ที่อพยพออกไปจากแม่น้ำโขงเพื่อให้สามารถสร้างเขื่อนได้เท่านั้น
วิธีคิดของผู้พัฒนาเขื่อนไซยะบุรี เป็นการกีดกันและไม่นับผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมากที่อาศัยและพึ่งพาแม่น้ำโขง อาทิ ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ใน 7 จังหวัดภาคอีสานของไทย ที่กำลังเผชิญผลกระทบจากเหตุการณ์ระดับน้ำโขงผันผวนผิดฤดูกาลอยู่ในขณะนี้ การประปาเทศบาลและภูมิภาค ที่ได้รับผลกระทบต่อการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำโขงเนื่องจากแม่น้ำโขงท้ายน้ำเขื่อนไซยะบุรีลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
แม่น้ำที่เคยเป็นแหล่งต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม และพื้นที่ของรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในลุ่มน้ำ กำลังจะสูญหายไปจากการสร้างเขื่อน คนท้องถิ่นกำลังเป็นผู้เสียเปรียบและผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมจากการทดลองเทคโนโลยีเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ที่ต้องแลกกับการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศประมงและสัตว์น้ำอย่างมหาศาล ทั้งทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรน้ำ เช่น ปลา สาหร่ายน้ำจืด เกษตรริมน้ำ เนื่องจากสูญเสียที่ดินจากน้ำท่วมและการลดลงของธาตุอาหารในดินจากการสูญเสียตะกอน เพราะอัตราการพัดพาลงมาจากต้นน้ำสู่ท้ายน้ำลดลง เขื่อนได้กักเก็บตะกอนไว้เป็นจำนวนมาก และลดทอนสิทธิชุมชนและศักดิ์ศรีและคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีฐานมาจากระบบนิเวศแม่น้ำ การประเมินผลกระทบเชิงกลยุทธ์ในลำน้ำโขงสายหลักให้กับคณะกรรมการแม่น้ำโขง ได้เสนอว่า ไม่ควรให้แม่น้ำโขงเป็นสถานที่ทดลองเทคโนโลยีสำหรับเขื่อน (https://isaanrecord.com/2019/08/08/dams-and-development-mekong-region/)
6.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: ต้นแบบ “โรงไฟฟ้ารักษ์ปลา” โดยอ้างว่าได้ศึกษาพฤติกรรมปลาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบทางปลาผ่านที่ทันสมัยและก้าวหน้าที่สุดจากทุกมุมโลกมาใช้ร่วมกันแบบ muti-system fish passing facilities เพื่อให้ระบบครอบคลุมความหลากหลายของพันธุ์ปลา มีช่องทางให้ปลาว่ายผ่านได้ตลอดทั้งโครงสร้างโรงไฟฟ้า กังหันน้ำที่เป็นมิตรกับปลา fish friendly turbine เป็นกังหันแกนตั้งมีรอบหมุนต่ำ มีจำนวนใบพัดน้อย และอ้างอีกว่ามุ่งมั่นศึกษาวิจัยพฤติกรรมของปลาในบริเวณพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบทางปลาผ่านให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: ลุ่มน้ำโขงมีการประมงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปลาธรรมชาติที่ศึกษาพบถึง 1,000 ชนิด และการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่ากว่า 70 % เป็นพันธุ์ปลาอพยพทางไกล มีพฤติกรรมการอยู่อาศัย หาหอาหาร อพยพ แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ฤดูกาล และระบบนิเวศ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนและการอพยพของปลาน้ำโขงที่หลากหลายได้
“กังหันน้ำที่เป็นมิตรกับปลา” เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง หลายกรณีทั่วโลกพบว่าไม่สามาถแก้ไขปัญหาการอพยพลงท้ายน้ำของปลาต่างขนาดต่างชนิดได้ และพบว่าอัตราการตายของสัตว์น้ำที่ผ่านกังหันมรณะดังกล่าวอยู่ในะดับสูง
ระบบต่างๆ ที่ผู้พัฒนาเขื่อนระบุไว้ในเนื้อหาโฆษณานั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างโดยไม่มีการพิสูจน์ และไม่มีสถาบันที่เป็นกลางที่เชื่อถือได้ให้การรับรอง
สิ่งที่บริษัทจะต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณะคือ ต้องมีข้อมูลปลาที่ผ่านขึ้น/ลง และกระบวนการติดตามการอพยพของปลา มีปริมาณมากน้อยแค่ไหน มีปลากี่สายพันธ์ุ ขนาดของปลา ทั้งการอพยพขึ้นและลง ที่ผ่านระบบติดตั้งที่บริษัทอ้างว่าเป็นมิตกับปลา บริษัทควรจะเสนอข้อมูลว่า ระบบทางปลาผ่านนั้นมีขนาดและน้ำหนักของปลาระดับไหนจึงจะสามารถผ่านได้ เพราะ เพราะปลาน้ำโขงตัวใหญ่ ๆ ขนาดประมาณ 40-200 กิโลกรัม มีหลายชนิด ปลาที่มีขนาดเหล่านี้จะสามารถผ่านทางปลาผ่านที่ติดติดตั้งได้จริงหรือไม่ ต้องแสดงการขึ้นลงของน้ำในแต่ละวันแต่ละฤดูกาลจะเป็นอย่างไร เพื่อเปิดเผยและให้สาธารณะร่วมกันตรวจสอบมาตรการดังกล่าวว่ามีประสิทธิภาพอย่างไร
7.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: ต้นแบบ “การสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม” โดยอ้างว่ามีการลงทุนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมสูงถึง 19,400 ล้านบาท มีการศึกษาระบบนิเวศโดยรอบอย่างละเอียดก่อนเริ่มก่อสร้าง เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยที่สุดจากทั่วโลกและยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นต้นแบบมาตรฐานในการลงทุนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: ต้นแบบของเขื่อนไซยะบุรีอาจจะเรียกได้ว่า “สร้างไป ศึกษาไป กู้ไป” การลงทุนสร้างเขื่อนไซยะบุรี นอกจากผลกำไรจากการก่อสร้างแล้ว ผู้พัฒนาเขื่อนยังระบุอีกว่าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าถึง 13,000-14,000 ล้านบาทต่อปี (หรือคิดเป็นรายได้ 35-38 ล้านบาทต่อวัน) จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการสัมปานพัฒนาเขื่อนไซยะบุรี เป็นการนำทรัพยากรส่วนรวมของภูมิภาคอุษาคเนย์ไปใช้สร้างผลกำไรสำหรับบริษัทและครอบครัวไม่กี่ราย
การเพิ่มเงินลงทุนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมในวงเงินที่สูง ไม่ได้แปลว่ามาตรการดังกล่าวจะได้ผล ในเมื่อความสำคัญอันดับแรกของเขื่อนคือเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อขายสร้างรายได้ นอกจากนี้ข้อมูลที่ปรากฎระบุว่าผู้พัฒนาโครงการยังได้ผลตอบแทนเพิ่ม คือได้ขยายเวลาสัมปทานเป็น 31 ปีอีกด้วย
ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตของแม่น้ำโขง มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก มีวัฏจักรการขึ้นลงของน้ำตามฤดูกาล ซึ่งเป็นหัวใจในการดำรงอยู่ของวงจรชีวิตต่าง ๆ การอ้างถึงการลงทุนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยงบประมาณที่สูง ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันว่า เทคโนโลยีนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาและมีประสิทธิภาพได้แท้จริง
สิ่งสำคัญคือ เจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีกำลังใช้ชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศของแม่น้ำโขง เป็นห้องทดลองเทคโนโลยีนั้น โดยมีประชาชนในภูมิภาคนี้ต้องแบกรับภาระความเสี่ยง
8.ข้อเท็จจริงที่อวดอ้างบนสื่อ: ต้นแบบ “โรงไฟฟ้าเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงานของภูมิภาค โดยอ้างว่าพลังงานน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนเพียงชนิดเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า และสามารถเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก เชื่อมโยงสายส่งของกฟผ. สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟ้ฟ้าหลัก รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน daily peaking รวมถึงทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉิน สามารถเพิ่มกำลังผลิตชดเชยส่วนที่ขาดได้ มีความยืดหยุ่นในการเดินเครื่องพร้อมกัน 7 เครื่อง หรือแยกเดินเฉพาะเครื่องให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในลำน้ำและความต้องการใช้ไฟ
ข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่: ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบของประเทศไทย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 43,253 เมกะวัตต์ และความต้องการใช้พลังงานสูงสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 30,853.20 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศอยู่ที่ 12,400 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 30 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ อาจกล่าวได้ว่า การผลิตไฟ้ฟ้าของขื่อนไซยะบุรีเข้าสู่ระบบตามสัญญาซื้อขาย ก็เท่ากับการซื้อไฟฟ้ามาสู่ระบบสำรองพลังงานของประเทศเท่านั้น
การนิยามว่า พลังงานน้ำ เป็นพลังงานหมุนเวียนและเป็นทางเลือก แต่ลักษณะของเขื่อนขนาดใหญ่นั้น ต้องปิดกั้นแม่น้ำสายใหญ่และต้องการพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของประชาชน และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเหล่านั้นไม่ได้ถูกคำนวณอยู่ในความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ แต่มีการคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เฉพาะเจ้าของโครงการเท่านั้น
วิถีชีวิตของพวกเราและระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก และขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างเป็นทางการ เราพบว่าปริมาณน้ำโขงที่ลดลงจนแห้งขอด ได้ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำทั้งอุปโภคและบริโภค เพราะหลายหมู่บ้าน เมืองและจังหวัดใหญ่ ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำโขงเป็นต้นทุนในการผลิตน้ำประปา การขาดแคลนน้ำในการเกษตรริมฝั่งโขง ความเสียหายต่อพันธุ์ปลาที่ไม่สามารถวางไข่และอพยพผิดฤดูกาล การสะสมของดินตะกอนริมฝั่งแม่น้ำโขงปีนี้ลดลงอย่างมากเนื่องจากไม่มีระดับน้ำหลากสูงสุด และทำให้ภาวะตลิ่งพังในหลายพื้นที่
พวกเราขอเรียกร้องให้บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ มีมาตราการที่แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคาร ต้องทำการประเมินโดยอิสระ ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ที่ธนาคารเคยบอกว่าได้ตรวจสอบแล้ว กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคม