ชีวิตนอกกรุง: ในวันที่ชนบทกลายเป็นเมืองและทางรอดในศตวรรษที่ 21

ชีวิตนอกกรุง: ในวันที่ชนบทกลายเป็นเมืองและทางรอดในศตวรรษที่ 21

หลายคนบอกว่า โลกกำลังปั่นป่วน หลายอย่างกำลังเปลี่ยนใหญ่ แล้วเรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อสังคมที่เราอยู่ในแง่มุมไหนบ้าง ?

สังคมในต่างจังหวัด ที่อาจถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็น “ชนบท”  ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว … “ชนบทได้กลายเป็นเมือง” หมายความว่าอย่างไร ? เกี่ยวอะไรกับเรา ?

ทีม Localist ชีวิตนอกกรุง คุยเรื่อง “ในวันที่ชนบทกลายเป็นเมือง” กับ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์  อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นักวิชาการที่เฝ้ามองและลงมือวิจัยจับชีพจรความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายๆมิติ

เพื่อให้เราเข้าใจว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคต้นศตวรรษ 21 เมื่อชนบทกลายเป็นเมือง อะไร ? และอย่างไร ? คือทางรอดของเรา

ชีวิตนอกกรุง : จากที่อาจารย์ศึกษาถึงสังคมชนบท  การเปลี่ยนแปลงจากชนบทสู่เมืองเริ่มในยุคไหน ?

อรรถจักร์: จากงานวิจัยที่เราทำทั่วประเทศ  (งานวิจัย “ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท”ในสังคมไทย: บนความคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย ) ผมคิดว่ามันเริ่มต้นในประมาณปีศตวรรษที่ 20 กว่าๆในสมัยของพล.เอกเปรม ติณลสูลานนท์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแรกที่นโยบายของรัฐทุ่มเงินไปในชนบทครั้งแรก และการทุ่มนั้นเริ่มทำให้ชาวบ้านพูดคำว่า งานเสริม การประกอบอาชีพเสริม หลังจากนั้นช่วงหลังปีพ.ศ.2540 เริ่มเกิดเข้มข้นขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นวิกฤตของภาคธนาคาร ทันทีที่ภาคธนาคารพัง ภาคการเงินอันหนึ่งที่ขยายตัว คือ Non-Bank ภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารและเริ่มไปเจาะตลาดชาวบ้าน บัตรเครดิตต่างๆ เริ่มเจาะตลาดไปถึงชาวบ้าน ชาวบ้านเริ่มมีทุน

ทันทีที่ชาวบ้านมีทุนก็เริ่มเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการ ในปี2540 หากเราดูภาคการผลิตภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย ยางพารา และอื่นๆทั้งหมดเริ่มเปลี่ยนมาสู่การจ้างงาน อย่างสวนยางภาคใต้หลังปี 2540 สถิติของการกรีดยางเองลดลง ลดลง จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ผมคิดว่าแรงงานกรีดยางในภาคใต้เป็นแรงงานจ้างแล้ว แบ่งกัน 60:40 หรือ 50:50 ก็แล้วแต่ กระบวนการแบ่งงานกันทำนี้ทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองขึ้นมา เพราะทันทีที่คุณแบ่งงานกันทำ คุณเริ่มผลิตเฉพาะยางมากขึ้น มันทำให้เมืองในชนบทมันเริ่มเกิดมากขึ้น เซเว่นถึงขยายตัวได้มีหลายสาขา ทันทีที่เริ่มแบ่งงานกันทำมากขึ้น เราเริ่มมีแรงงานเฉพาะด้านมากขึ้น ทันทีที่เกิดแรงงานเฉพาะด้านกระจายในชุมชน มันก็เกิดร้านค้าหรือกลุ่มคนที่ต้องผลิตสินค้าตอบสนองชีวิตประจำวันของเขา อย่างเช่น จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นที่ราบภาคกลาง ซึ่งเปลี่ยนเร็วกว่าที่อื่น เราเริ่มเกิดแรงงานที่เรียกว่า ที่เรียกว่าผู้ประกอบการนี่ประมาณปี2520 ต้นๆ ทันทีที่เริ่มมีแรงงานฉีดยา แรงงานเกี่ยวข้าว หรือแรงงานอื่นๆ คนก็เริ่มที่จะทำร้านอาหาร ทำอื่นๆเพื่อตอบสนองคนเหล่านี้ การกระจายตัวของการผลิตแบบนี้ทำให้เกิดพื้นที่เมือง ทุกคนเริ่มรู้ว่าถ้าเข้ามาในเมืองนี้จะไปกินก๋วยเตี๋ยวในเมืองนี้ นึกถึงสมัยก่อนถ้าเราไปชนบทเราแทบจะหาร้ายก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เลย แต่ในวันนี้เราสามารถหาได้หมดทุกคนเริ่มเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตเฉพาะด้าน และบริโภคด้านอื่นๆ กระบวนการตรงนี้คือการทำให้เกิดชุมชนเมืองขึ้นมา

.

ชีวิตนอกกรุง :การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดความเป็นเมืองรวดเร็วขนาดไหน

อรรถจักร์: ผมคิดว่าจากนี้ไปจะเร็วขึ้น จากที่ปี 2520 เริ่มต้น ปี2540 เริ่มขยายตัว จาก2560เป็นต้นไปจะไปเร็วขึ้น เพราตอนนี้ผมเรียกว่าสังคมชนบท สังคมชาวนา สังคมเกษตรแบบเดิมไม่มีแล้ว ผมใช้คำว่า สังคมผู้ประกอบการในชนบท Rural Entrepreneur society และผู้ประกอบการในชนบททั้งหลายล้วนแล้วแต่เสาะแสวงหา หรือปรับวิธีการของตัวเองในการที่จะทำให้ชีวิตตัวเองก้าวหน้ามากขึ้น ดังนั้นในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในสังคมผู้ประกอบการในชนบทนี้ ความเปลี่ยนแปลงของเมืองจะมากขึ้น รัฐบาลชุดนี้อาจจะแตะบางเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ท่องเที่ยวเมืองรอง หรือท่องเที่ยวชนบท ซึ่งก็จะมีผลกระตุ้นทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นบันได หรือเป็นสปริงบอร์ดที่สามารถจะขยับได้มากขึ้น

.

ชีวิตนอกกรุง: ปัจจัยที่เร่งให้เร็วขึ้นคืออะไร

อรรถจักร์: ผมคิดว่ากลุ่มผู้ประกอบการในชนบทเขาคิดอยู่ตลอดเวลาที่จะร่วมกันทำบางอย่าง combine something คือเชื่อมต่อของสองสามอย่างเข้ามาเพื่อผลิตสู่ตลาด ผมคิดว่าพลังผู้ประกอบการนี่สำคัญที่สุด และพลังผู้ประกอบการนี้จะไปผลักดันให้นโยบายรัฐตอบสนอง ในกรณีของศรีสะเกษ การปลูกข้าวพิเศษที่เราเรียกว่า Niche Market ตลาดพิเศษแบบข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว อะไรพวกนี้เริ่มขยายตัว และในหลายพื้นที่เริ่มขยาย ทันทีที่ตลาดพวกนี้เริ่มขยายคนพวกนี้เขาจะเชื่อมผลผลิตเขาไม่ใช่แค่ขายในพื้นที่อีกแล้วเขาเชื่อมเข้ากับเมือง ชนชั้นกลางในเมือง ดังนั้นทำให้เขามีรายได้มากขึ้น จ้างคนมากขึ้น เมืองในส่วนเขาก็จะขยายมากขึ้น

กรณีปักษ์ใต้ผมว่าน่าสนใจ บรรจง นะแส เชื่อมระหว่างประมงพื้นบ้านกับร้านอาหาร และประมงพื้นบ้านกับตลาดผู้บริโภคในกทม. ทั้งหมดนี่เปลี่ยนเมือง ชุมชนเล็กๆเริ่มกลายเป็นเมืองมากขึ้น ตัวชี้วัดอะไรที่ทำให้เห็นว่าชนบทเริ่มกลายเป็นเมืองมากขึ้นสังเกตได้จากอะไร สัดส่วนของผู้ที่ทำการค้าเล็กน้อยๆขยายตัวขึ้น อย่างที่ราบภาคกลาง แถวนครปฐม แถวศาลายาถนนบางเส้นเต็มไปด้วยร้านค้า สินค้าเกษตรที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการต่างๆเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ในกรณีภาคเหนือเราพบว่าการขยายตัวเชื่อมโยงไปถึงกรณีส่งออก มะม่วงที่ปลูกในภาคเหนือมีผลตัวชี้ว่าทุนเริ่มแบ่งเกรดมะม่วง มะม่วงดี สวย คุณส่งออกต่างประเทศ ส่งออกญี่ปุ่น มะม่วงธรรมดาเป็นตลาดภายใน คุณจะเห็นว่าการปรับตัวตรงนี้มันทำให้คนจำนวนมากเข้ามาอยู่ตรงนี้แล้วเปลี่ยนอาชีพตัวเอง สวนมะม่วงขนาดใหญ่ก็จะมีคนงาน มีร้านอาหาร อย่างนี้มันเปลี่ยนมหาศาลเลย นี่คือดัชนีชี้ความเปลี่ยนแปลงของเมืองในชนบท

.

ชีวิตนอกกรุง :ถ้าเรามองถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในระบบกับนอกระบบคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร?

อรรถจักร์: ความแตกต่างของเศรษฐกิจในระบบและนอกระบบตัวชี้วัดอย่างหนึ่งก็คือว่าเศรษฐกิจนอกระบบคือเศรษฐกิจที่ไม่ได้ไปจดทะเบียนกับรัฐ ใช้แรงงานไม่มากนัก 5-10 คน และเป็นระบบเศรษฐกิจที่พยายามจะไหลเวียนไปเรื่อยไม่คงที่ ส่วนในระบบเห็นง่ายๆก็บรรษัท ร้านค้า ร้านก๋วยเตี๋ยวที่จดทะเบียน การผลิตไม่เป็นทางการขยายตัวอย่างมาก แล้วการผลิตไม่เป็นทางการนี้อยู่ในเขตเมืองใหม่ๆที่เกิดขึ้น ตอนนี้แรงงานภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ informal sector ประมาณ 65%ของกำลังแรงงาน คนไทยเรา 66 ล้านคน เรามีกำลังแรงงานประมาณ 30 ล้านคน+- 65%ของคน 30 ล้านกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ เมืองย่อย แน่นอนว่าในกทม.เยอะที่สุด หาบเร่ แผงลอย อะไรต่างๆ แต่ในเมืองเล็กๆคนพวกนี้เริ่มเยอะขึ้น และคนพวกนี้ความใฝ่ฝันคือฉันจะขยับตัวเองให้เข้มแข็งมากขึ้น

.

ชีวิตนอกกรุง : เมืองใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีการแย่งชิงทรัพยากรกันหรือไม่?

อรรถจักร์ : อันนี้แน่นอนเลยครับ กรณีเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นจะไปขัดแย้งกับนโยบายรัฐบางอย่าง เช่น กรณี จ.ศรีสะเกษ งานของ อ.กนกวรรณ มโนรมย์ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ปลูกข้าวราคาแพงกำลังประสบปัญหาเรื่องน้ำจากเหมืองแร่ที่รัฐให้สัมปทาน อันนี้เห็นชัดเลย หลายกรณีขัดแย้งกับนโยบายของรัฐที่มองเห็นแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สองการเกิดขึ้นแบบนี้บางทีก็ขัดแย้งกันเองของพี่น้องชาวบ้าน เช่น กรณีภาคเหนือคนบนดอยก็อาจจะปลูกสตรอว์เบอร์รีแล้วใช้สารเยอะ คนกลางดอยที่ใช้น้ำที่ไหลลงมาก็เริ่มกังวล กรณีความขัดแย้งกันเองของชาวบ้านกับชาวบ้านนี่แก้ไขกันได้ พูดคุยกันได้ มีการเจรจาเรื่องการใช้น้ำในพื้นที่ภูเขาหลายพื้นที่ก็ตกลงกันได้ ระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่กรณีการแย่งใช้ทรัพยากรกับรัฐเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะรัฐบาลที่เน้นบรรษัท เน้นการขยายตัวของระบบคมนาคม ถนน หนทาง อื่นๆ พวกนี้จะไปกระทบกับชาวบ้าน กรณีภาคตะวันออกโครงการ EEC ซึ่งใช้งบประมาณ 7 แสนล้านจนถึงปีพ.ศ.2567 จะเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมด อย่างล่าสุดกรณีถมทะเลอ่าวอุดม ทันทีที่คุณถมทะเลอ่าวอุดมมันกระเทือนถึงพัทยา ซึ่งพัทยาคือเขตพื้นที่ informal sector ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกอันนี้คือสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างพี่น้องที่กำลังสร้างตัวตนขึ้นมากบนความเปลี่ยนแปลงของเมืองกับนโยบายของรัฐที่สนับสนุนทุนขนาดใหญ่นี่คือปัญหาใหญ่ ภาคใต้นี่ไม่ต้องพูดถึง มีท่าเรือปากบารา เมืองอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งหมดขีดและทำลายโอกาสของเมืองขนาดเล็กที่จะโต

.

ชีวิตนอกกรุง :จากสถานการณ์แบบนี้นโยบายควรไปในทิศทางไหน?

อรรถจักร์ : ผมคิดว่านโยบายรัฐทั้งหมดต้องนำกลับมาแล้วมาพูดคุยกันให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม กรณีภาคใต้ ในบางพื้นที่อาจจะพบว่าต้องหยุดโครงการใหญ่ เพราะว่าเมืองกำลังโตโดยการสร้างสรรค์ของชาวบ้าน ชาวบ้านได้ออกแบบทางชีวิตของเขา บนความสามารถของเขาเอง คงต้องมานั่งคุยและปรับกันใหม่ ภาคอีสานคงต้องคิดกันใหม่ ตอนนี้รัฐบาลกำลังพยายามทำให้เกิดโรงงานอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 10 โรงเป็น 30 โรง ถ้าเปิดขนาดนั้นแปลว่าทำให้พื้นที่การเพาะปลูกอ้อยในภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เหมือนกับที่บรรษัทน้ำตาลไทยทำกับเมืองสุวรรณเขตในลาว แบบนี้ต้องหยุดแล้วมานั่งคุยกัน ถ้าหากจะเพิ่มโรงงานน้ำตาลจะเพิ่มแบบไหน จะเพิ่มทำให้ชาวไร่อ้อยสามารถอยู่ได้อย่างไร นโยบายของรัฐบาลกำลังทำลายสิ่งที่เขาฝันว่าจะสร้างขึ้นมาหรือเปล่า เพราะเขาฝันว่าจะสร้างสมาร์ทซิตี้ เมืองขนาดเล็ก ที่คนมีชีวิตที่มีความสุข แต่นโยบายหลักๆหรือนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ20ปีจะกระทบกระเทือนวิถีชีวิตของคนตัวเล็กๆเหล่านี้ จะกดทับใช้คนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้อยู่ในสภาวะที่กลายเป็นแรงงานรับจ้างของบริษัทใหญ่เท่านั้นหรือ

ชีวิตนอกกรุง:คนในชุมชนต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง

อรรถจักร์ : สิ่งสำคัญของคนในพื้นที่คือจำเป็นต้องสรุปบทเรียนตัวเอง และจำเป็นต้องขยายเครือข่าย วันนี้ความสำเร็จของหลายพื้นที่น่าจะเป็นตัวอย่าง และน่าจะสร้างเครือข่ายในรูปแบบเดียวกันให้ขยายตัวมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้การต่อรองสูงมากขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้ว การที่เราทำงานเฉพาะกลุ่มที่มีความสำเร็จ อย่างเราจะเห็นได้ว่าแต่ละเมืองมีกลุ่มที่มีความสำเร็จกระจัดกระจายทั่วไป แต่หย่อมๆเหล่านี้ไม่ได้สื่อสารกันเพียงพอ หน่วยงานบางหน่วย เช่น พอช.พยายามที่จะเชื่อมตรงนี้มาแต่เขาก็ยังทำไม่สำเร็จ NGO บางกลุ่มก็พยายามจะเชื่อม ถึงวันนี้แล้วผมคิดว่าชาวบ้านอาจจะต้องเชื่อมกันเองมากขึ้น หรือมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านได้มาเชื่อมร้อย ถักสานกัน ผมเชื่อว่าเขาสามารถทำได้ และสามารถที่จะมีทุนที่จะทำ ผมคิดว่าถ้ารัฐไม่ฟังเรา พี่น้องประชาชนทั้งหลายที่เริ่มโตขึ้นมาแล้วต้องคิดแล้วว่า การสร้างเครือข่ายซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะจนลง แต่เราจะเข้มแข็งมากขึ้น ครูชบ ยอดแก้ว ที่นครศรีธรรมราช หลังจากที่ทำกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เสร็จ ก็เริ่มไปทำโรงงานทำขนมจีน เริ่มไปทำงานแปรรูปยางถ้าผมจำไม่ผิดนะ ทั้งหมดเชื่อมเครือข่ายได้กว้างขึ้น และsupport คนได้กว้างขึ้นอันนี้คือตัวอย่าง

ชีวิตนอกกรุง :ในมุมของการจัดการตัวเองชุมชนจะอยู่รอดอย่างไร ?

อรรถจักร์ : เขาคงต้องคิด 2 อย่าง คือ 1.ทำอย่างไรให้เขาเองและเครือข่ายเขาสามารถเข้าไปอยู่ในอำนาจท้องถิ่น ผมหวังว่าพี่น้องผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อยู่ในเมืองขนาดเล็กทั้งหลาย อย่างเพิ่งไปรังเกียจการเมือง ลองขยับเข้าไปเล่นในระดับ อปท.ทั้งหลาย เข้าเป็นเป็น อบต. เทศบาลเพื่อที่จะปรับฐาน อันนั้นคืออันที่หนึ่ง อย่างเพิ่งรังเกียจการเมือง 2.จำเป็นต้องเชื่อมต่อกัน แทนกันในระดับชาวบ้าน อาจจะเริ่มต้นในพื้นที่ เช่น ในภาคใต้ตอนกลาง ภาคเหนือตอนล่าง หรืออื่นๆ อย่างกรณีสงขลาผมว่าน่าสนใจ กรณีคุณสินธพ อินทรัตน์ ที่ท่าข้าม จ.สงขลา เขาสามารถเชื่อมต่อตัวเขากับอบต.อื่นๆ ในส่วนของตัวคุณสินธพ เองก็ได้สร้างประชาคมหมู่บ้านของตำบลท่าข้ามได้กว้างขวาง สิ่งแบบนี้แหละที่ผมเชื่อว่าเราต้องทำ หรืออย่างภาคเหนือตอนล่างแถวสุโขทัยก็มีหลายตำบล หลาย อบต.ที่ทำแบบนี้เราคงต้องคิดแบบนี้มากขึ้น สื่อเองก็อาจจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดการถักสานกันมากขึ้น ไม่งั้นแล้วเมืองที่กำลังโต ชีวิตคนที่กำลังจะก้าวหน้า จะถูกกดทับและก็ถูกเหยียบลงไป

.

ชีวิตนอกกรุง:ภาพใหญ่ของประเทศคนอยู่นอกกรุงอยู่ในชนบทควรอยู่อย่างไร ?

อรรถจักร์ : อันนี้เรื่องใหญ่นะครับ แต่ผมคิดว่าเขาต้องอยู่โดยที่ต้องทำให้ชีวิตเขามีอิสระโดยสัมพัทธ์จากส่วนกลางมากขึ้น ผมใช้อิสระโดยสัมพัทธ์ คือว่าเราคงไม่สามารถตัดขาดจากระบบทุนใหญ่ในบ้านเราได้ ไม่สามารถจะตัดขาดจากรัฐได้ แต่ทำอย่างไรให้เรามีอำนาจต่อรองได้มากขึ้น ตัวอย่างของการปลูกข้าวพิเศษ ปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งขยายตัวจาก 7 หมื่นไร่ มาเป็นแสนกว่าไร่ พวกนี้คือการขยับขึ้นมา 1.เป็นอิสระโดยสัมพัทธ์จากทุน 2.เป็นอิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐ คือลงไปดูที่ อปท.ให้มากขึ้น ใช้อำนาจ อปท.ซึ่งมีพอสมควรในการต่อรองกับรัฐส่วนกลาง ซีวิตของพี่น้องรอบข้างต้องกลายเป็น Full Citizen เป็นพลเมืองเต็มตัวมากขึ้น ตรงนี้คือหัวใจเลย เป็นพลเมืองไม่ได้หมายความว่า ต้องไปม๊อบ ไม่ใช่นะครับ แต่คุณต้องใช้ฐานของพลเมืองในพื้นที่ต่อรอง และก็สร้างสรรค์ฐานของตัวเองให้มั่นคงมากขึ้น

ขอบคุณภาพและเรื่องราว #ทีมปันภาพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ