ปัญหา “ผู้ลี้ภัย” ถือเป็นประเด็นยอดฮิตติดชาร์ตดราม่าประจำโลกโซเชียล ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนทุกครั้งที่ประเด็นนี้เกิดขึ้น ซึ่งวาทกรรมสุดคลาสสิกที่มักจะมาพร้อมกับดราม่า ก็คือการมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นแรงงานผิดกฎหมาย บ้างก็ว่าเป็นอาชญากรที่หนีคดีมาจากประเทศต้นทาง ผู้ลี้ภัยหลายกลุ่มถูกตีตราว่าเป็นชนชาติที่ขี้เกียจ หรือเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในประเทศไทย รวมทั้งวาทกรรมที่ว่า “ให้เอาผู้ลี้ภัยไปเลี้ยงที่บ้าน” ซึ่งตอกย้ำภาพความเป็น “ภาระ” ของผู้ลี้ภัยยิ่งกว่าเดิม
แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น วาทกรรมต่างๆ ที่ออกมาจากความคิดของคนไทยบางส่วน ก็สะท้อนให้เห็นถึงการมองผู้ที่ไม่ใช่คนไทยว่าเป็น “คนอื่น” ซึ่งทำให้เราหลงลืมที่จะทำความ “เข้าใจ” คนเหล่านี้ในฐานะมนุษย์ที่ไม่ต่างจากเรา และจากความไม่เข้าใจก็อาจจะนำไปสู่การทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยที่ไม่รู้ตัว
“Diversity Workshop”
เพราะความเข้าใจเป็นสิ่งที่จำเป็น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย จึงริเริ่มโครงการ “Diversity Workshop” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งชาวไทยและผู้ลี้ภัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยหวังว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นแรงผลักดันเล็กๆ ที่สร้างความเข้าใจให้แก่คนในสังคมในที่สุด
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เล่าว่า โครงการ Diversity Workshop จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิดเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างเยาวชนไทยกับผู้ลี้ภัยหลากหลายเชื้อชาติ โดยจัดให้เยาวชนทั้งสองกลุ่มได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ขณะเดียวกัน ผู้จัดกิจกรรมและกระบวนกรเอง ก็มีทั้งคนไทยและผู้ลี้ภัยด้วย และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ จำนวนผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมนั้นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ
“ปีแรกคนสมัครไม่เยอะเลย แต่ปีนี้เยอะเป็นหลักร้อย บางคนเข้ามาร่วมกิจกรรมตอนปีที่ 1 ปีต่อมาก็มาเป็นกระบวนกร เป็นเทรนเนอร์ ก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างปีนี้ก็จะพัฒนาให้มีทักษะในการทำงานรณรงค์เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของสิทธิผู้ลี้ภัย เราพยายามเลือกให้หลากหลายจริงๆ ไม่ใช่แค่เชื้อชาติ แต่ยังหลากหลายทั้งเพศ ความคิด และชุมชนที่มา เราก็อยากให้เห็นว่าคนเรา ถ้าถอดหมวกเชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือหมวกผู้ลี้ภัยออก เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แค่อยู่ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย” คุณปิยนุชกล่าว
นอกจากการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายแล้ว สิ่งหนึ่งที่แอมเนสตี้มุ่งเน้นในกิจกรรมนี้ คือการจุดประกายให้เยาวชนนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด ทำกิจกรรมเพื่อผู้ลี้ภัยในวิถีของคนรุ่นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา กิจกรรมเวิร์กช็อปนี้ก็มีการต่อยอดไปในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญผู้ลี้ภัยไปพูดที่โรงเรียนไทย การเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัยที่ถูกกักตัวในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย
“ความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ลี้ภัยอยากให้เกิดขึ้นก็คือ ไม่ต้องการให้คนเหมารวม (stereotype) ไม่ต้องการให้คนอื่นมองว่าเขาสกปรก ไม่มีค่า มาสร้างปัญหา อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าแค่อยากให้เห็นความหลากหลายก็พอ อีกกลุ่มหนึ่งก็อยากให้เห็นถึงทักษะที่เขามี สิ่งที่เขาสามารถให้ได้ เพราะที่จริงหลายคนก็เลยเป็นหมอ เป็นวิศวะ อยู่ที่ประเทศเขา เขามาที่นี่ก็ไม่ได้อยากนั่งเฉยๆ เพียงแต่ว่าด้วยการที่เขาไม่มีสถานะ มันทำไม่ได้จริงๆ หรือว่าถูกลืม ต้องคอยหลบซ่อนตัว โดนจับ อีกกลุ่มหนึ่งไม่อยากเห็นคนต้องมาถูกกักตัวหรือโดนส่งกลับ ให้ได้รับอันตราย ซึ่งอันนี้ก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจของเด็กกลุ่มนี้” ปิยนุชเล่า
เจมี่: ความหวังของชาวมองตาญาร์ดในเวียดนาม
นอกเหนือจากกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้าใจ Diversity Workshop ปี 3 ยังพาให้เราได้มารู้จักกับ “เจมี่” เยาวชนผู้ลี้ภัย วัย 19 ปี ชาวเอเด ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในประเทศเวียดนาม เจมี่เดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี ขณะนี้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย รอการส่งตัวไปยังประเทศที่สาม และทำงานพาร์ทไทม์เป็นล่ามให้องค์กรที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
ในประเทศเวียดนาม ชนกลุ่มน้อย หรือที่เรียกว่า “มองตานญาด” ซึ่งเป็นคำที่เรียกรวมชนเผ่าต่างๆ รวมถึงเผ่าเอเด ถูกรัฐบาลเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรง เพียงเพราะการนับถือศาสนา เจมี่เล่าว่า ครอบครัวของเขา ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเลยทีเดียว นับตั้งแต่การที่คุณตาถูกจำคุกเมื่อหลายปีก่อน ตามด้วยคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาของหมู่บ้าน ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคามตั้งแต่ปี 2543 จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อน พ่อของเจมี่ถูกจับกุมและซ้อมทรมาน เป็นเวลายาวนานถึง 8 เดือน เพื่อให้พ่อยอมรับข้อหาที่ทางการระบุไว้ ก่อนที่จะถูกจำคุกเป็นเวลา 6 ปี
“การที่เรานับถือศาสนาคริสต์และมีกลุ่มนมัสการ เราต้องเก็บเป็นความลับ เพราะไม่อยากเจออันตรายจากรัฐบาล จำได้ว่า เวลาอ่านพระคัมภีร์ เราต้องจุดเทียน ไม่กล้าเปิดไฟ ต้องนมัสการตอน 3 ทุ่ม หรือตี 2 โดยนั่งเป็นวงกลมกับสมาชิกที่โบสถ์ ตอนนั้นเงียบมาก เราไม่กล้าร้องเพลงเสียงดัง ไม่กล้าพูดเสียงดัง” เจมี่เล่าถึงการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา ที่ต้องปิดเป็นความลับ ไม่ให้ทางการจับได้และดำเนินคดี ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่อันตราย แต่เจมี่และครอบครัวก็ดูจะไม่หวาดหวั่น เขายอมรับว่าศาสนาคริสต์คือตัวตนของเขาและครอบครัว ซึ่งไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้
“ศาสนาคริสต์มันติดอยู่ในใจแล้ว จะให้เลิกก็เป็นเรื่องที่ยากที่สุด เหมือนตัวตนของเรามันเป็นแบบนี้ ถ้าให้เลิก เราก็จะไม่เป็นตัวเองแล้ว เราจะทำเหมือนเป็นคนอื่น มันยากมากต่อความรู้สึกและต่อความเป็นมนุษย์ของเรา สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำก็คือการเปลี่ยนตัวตนของเรา เปลี่ยนความคิดของเราด้วยครับ”
ด้วยศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า เจมี่ในวัย 13 ปี มีความฝันที่จะเดินทางสายนี้ในฐานะบาทหลวง แม้จะท้าทายอำนาจรัฐก็ตาม
“ตอนที่เจมี่อายุ 13 เราเป็นผู้แบ่งปันพระคัมภีร์ให้เด็กๆ ที่โบสถ์ ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นครูสอนนะครับ แค่เป็นคนอ่าน แล้วเราก็ชอบร้องเพลงมาก ก็เรียนเพลงนมัสการ แล้วก็สอนให้เด็กๆ เต้น ร้องเพลง แล้วก็อ่านพระคัมภีร์ เรามีความสุขมากที่ได้รับใช้พระเจ้า เราก็มีความฝันที่อยากจะเป็นบาทหลวง เป็นอาจารย์สอนศาสนา เราคิดว่าถ้าโตขึ้น เราจะไปเรียนศาสนาในเมือง แล้วก็จะเป็นบาทหลวง จะสอนพระคัมภีร์”
อย่างไรก็ตาม เส้นทางความฝันของเจมี่กลับไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากการเลือกปฏิบัติในโรงเรียนที่บีบให้เขาและชาวเอเดคนอื่นๆ ต้องละทิ้งศาสนา ซึ่งนั่นก็หมายถึงการละทิ้งความฝันและตัวตน
“ตอนที่อายุ 15 เพื่อนๆ ที่ไปเรียนด้วยกัน เป็นชาวเอเด เขาเลิกไปโรงเรียนกันหมดแล้ว เพราะการเลือกปฏิบัติของโรงเรียน ชาวเอเดไม่ได้มีการศึกษาสูง เพราะว่าเราทนกับความเลือกปฏิบัติจากครู จากนักเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ ในห้องเรียน 98% เป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ แต่เราเป็นชนกลุ่มน้อย แค่ 3% อะไรแบบนี้ หลายคนก็ลาออกไป แต่เราเองไม่อยากเลิกเรียน เพราะเราชอบเรียนมาก ก็พยายามเรียนถึงชั้นมัธยมปลาย แต่ที่หอพัก เขาไม่ให้เอาพระคัมภีร์ไป ไม่ให้เราอธิษฐานในโรงเรียน ไม่ให้เราพูดคุยเกี่ยวกับพระเยซูหรือความเชื่อของศาสนาของเรา” เจมี่เล่า
ในที่สุด เส้นทางชีวิตของเจมี่ก็ถึงจุดหักเหเข้าจนได้ เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจส่งเขาลี้ภัยมาอยู่ที่เมืองไทยตามลำพัง โดยไม่ได้บอกเหตุผลที่ชัดเขน ขณะที่มีอายุเพียง 15 ปี โดยอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีชาวเอเดอยู่ราว 100 คน ทำงานก่อสร้างเพื่อหาเลี้ยงชีพ และเรียนภาษาไทยจากเพื่อนคนงานด้วยกัน
“หลังจากที่พ่อแม่ส่งเรามาที่นี่ได้ประมาณ 2 – 3 เดือน ได้ข่าวมาว่าคุณพ่อถูกจับ เขาทรมานคุณพ่อ 8 เดือน ไม่ให้คุณแม่เข้าไปเยี่ยม เขาทรมานจนคุณพ่อล้มไปหลายครั้ง ก็ไม่แจ้งให้ครอบครัวรู้ หลังจากที่คุณพ่อล้มไป เขาพาไปที่โรงพยาบาลใกล้สถานีตำรวจ มีคนจากหมู่บ้านของเราไปเห็นคุณพ่อที่โรงพยาบาล ก็ไปบอกคุณแม่ คุณแม่จะเข้าไปเยี่ยม เขาก็ไม่ให้เข้าไป และเขาก็ส่งคนไปติดตามคุณแม่ทุกเดือน เดือนละ 2 – 3 ครั้ง เขาบอกกับคุณแม่ว่าต้องเรียกลูกชายกลับมา ถ้าไม่เรียกลูกชายกลับ เขาจะฆ่าคุณพ่อ แล้วก็จะจับคุณแม่” เจมี่เล่า
แม้ว่าเจมี่จะลี้ภัยมาอยู่ต่างประเทศ การข่มขู่คุกคามก็ยังตามมาไม่หยุด โดยเจมี่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ส่งข้อความข่มขู่มาทางเฟซบุ๊ก ให้เขากลับไปที่เวียดนาม มิฉะนั้นจะฆ่าพ่อแม่ หรือให้ทนายความของรัฐติดต่อมาโดยใช้คำพูดดีๆ แต่เมื่อเจมี่ไม่ยอมกลับ ก็จบลงด้วยการด่าทอและข่มขู่ ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ก็ยังคงคุกคามแม่ของเจมี่อยู่ จนแม่ตัดสินใจลี้ภัยมาอยู่กับเจมี่ในที่สุด
“มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาจับคุณแม่ไปอยู่ที่สถานีตำรวจ 4 วัน เริ่มจากตอนเช้าถึงตอนเย็น สัมภาษณ์คุณแม่แบบรุนแรงมาก ใช้เสียงดังมาก ทำให้เรากลัว เขามีประมาณ 7 คน คุณแม่มีแค่คนเดียว ซึ่งมันกระทบจิตใจของคุณแม่อย่างรุนแรง หลังจาก 4 วันนั้น คุณแม่ก็เพี้ยนไป จำเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ หงุดหงิดง่าย คุณแม่ก็คิดว่าอยู่ต่อไม่ได้แล้ว ก็เลยหาทางหนีมาที่ไทย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แม่มาถึงที่เมืองไทย ส่วนคุณพ่อยังติดคุกอยู่ที่เวียดนาม” เจมี่กล่าว
จากชะตากรรมของครอบครัวและชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เจมี่เริ่มมีความคิดที่ท้าทายอำนาจรัฐอีกครั้ง ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ความคิดนี้เริ่มมาจากที่เขาหันมาศึกษาที่มาของปัญหาการเมืองและสังคมในประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเขา
“พอเราได้ยินข่าวว่าพ่อถูกจับ เราสิ้นหวังมากนะครับ เราไม่รู้ว่าปัญหามันคืออะไร เราก็เริ่มอ่านแล้วก็เรียนรู้ เราอยากจะเข้าใจว่าปัญหาของเวียดนามมันเป็นอย่างไร ทำไมคุณพ่อต้องประสบชะตากรรมแบบนี้ ทำไมมีความไม่เท่าเทียมกันในสังคมเวียดนาม แล้วทำไมศาลถึงจัดการอย่างไม่เท่าเทียม ตอนนี้ นอกจากจะเป็นผู้สอนพระคัมภีร์ เราก็อยากเป็นทนายความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จะปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ที่เราอยู่ มันเป็นสองความคิดที่อันตราย คืออยากเป็นผู้สอนพระคัมภีร์กับอยากเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน”
อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายจากประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านเกิดเมืองนอน แต่เจมี่ก็ยังฝันที่จะกลับไปที่เวียดนาม ไปอยู่ในสังคมของตัวเอง ใช้ชีวิตตามปกติ และสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการจากรัฐบาล คือการคืนอิสรภาพในการนับถือศาสนาให้เขาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
“ตอนนี้เราเป็นผู้ลี้ภัย ก็ได้แต่รอไปเรื่อยๆ แล้วก็อธิษฐาน หวังว่าในอนาคต ถ้าสถานการณ์ในประเทศมันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็อยากกลับไปเวียดนาม ทำงานอย่างที่เราบอก อยากเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน” เจมี่สรุป
โรส: งานด้านสิทธิมนุษยชนคือ Passion
นอกจากเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังชาวเอเดแล้ว เยาวชนไทยของเราก็เป็นอีกหนึ่งความหวังสำหรับประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยเช่นกัน เธอคนนี้คือ “พิมพ์ภัทรา รักเดช” หรือ “โรส” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรสเล่าว่า เธอเริ่มสนใจเรื่องผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่อยู่ ม.6 จากภาพข่าวที่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอพยพมาทางเรือ ซึ่งทำให้เธอสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น และพยายามหาคำตอบจากการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งได้เข้าร่วม Diversity Workshop ปีที่ 2 และหลังจากที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้ว เธอรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง จึงสมัครเป็นอาสาสมัครให้มูลนิธิฉือจี้ ช่วยงานในวันฟรีคลินิก ที่ให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ผู้ลี้ภัยฟรี หรือคนไทยที่ไม่มีเงิน ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน
“มันเป็นงานที่ทำให้เราได้เข้าไปสัมผัสผู้ลี้ภัยอีกขั้นหนึ่ง ได้เห็นความลำบากในการเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ลี้ภัยที่รอตรวจ รวมถึงผู้ลี้ภัยที่เป็นพนักงาน ผู้ป่วยก็จะบอกว่าปกติเขาจะไม่มีโอกาสได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเลย อาจจะเป็นเพราะว่ากลัวโดนจับ แล้ววันฟรีคลินิกของมูลนิธิฉือจี้ก็เป็นแค่รักษาวันเดียว เมื่อมีโอกาสเขาก็จะมาตรวจสุขภาพกัน บางคนป่วยหนักมาก นั่งวีลแชร์ มีสายน้ำเกลือก็มี ก็ต้องรอส่งต่อโรงพยาบาล บางคนโอกาสรอดชีวิตต่ำ หรือว่าบางคนมีสภาพบอบช้ำทางจิตใจก็มารักษาที่นี่ ส่วนเพื่อนผู้ลี้ภัยที่เป็นพนักงานก็จะเล่าเรื่องชีวิตให้ฟังว่าที่ผ่านมาเขาประสบพบเจออะไรบ้าง เราก็เรียนรู้จากประสบการณ์ของเขา”
“พอเราได้คุยกับผู้ลี้ภัย เราก็จะมีมุมมองที่มองเขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา มีสภาพจิตใจเหมือนเรา ประสบเรื่องร้ายๆ เหมือนคนทั่วไป และเราไม่ควรจะตัดสินเขาด้วยมุมมองของกฎหมาย เพราะในความเป็นจริง ผู้ลี้ภัยเขาไม่ได้อยากจะจากบ้านมา การที่เราไปตัดสินเขาว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย มันก็ไม่แฟร์กับเขา ใครๆ ก็อยากมีโอกาสที่สองในการมีชีวิตอยู่ และการที่เขาเลือกมาที่นี่ก็เป็นเพราะว่าต้องการเอาชีวิตรอด” โรสเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้ลี้ภัย ซึ่งในที่สุดก็เปลี่ยนเธอให้กลายเป็นคนที่เปิดใจ เปิดกว้าง และรับฟังผู้อื่นมากขึ้น จนเธอตัดสินใจต่อยอดความรู้ ด้วยการฝึกงานในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งแม้จะแตกต่างจากงานอาสาสมัคร แต่โรสถือว่าเป็นการเสริมมุมมองในการทำงานด้านผู้ลี้ภัย
“เราเรียนรู้ว่ารัฐมีขีดจำกัดในการปฏิบัติงาน เราเคยถามที่ทำงานว่าทำไมเราไม่พูดบ้างว่าเราทำอะไรบ้าง พี่ๆ เขาก็บอกว่าการทำงานแบบนี้ บางทีเจ้าหน้าที่ก็ยังกลัวเลยว่าจะทำดีไหม กลัวภาคสังคมจะโจมตี แต่จริงๆ แล้วหน่วยงานรัฐทำเยอะ แค่ไม่ได้สื่อสารกับสังคมเท่านั้นเอง แต่เราคิดว่าควรจะสื่อสาร เพราะเราคิดว่าคนไทยที่คอมเมนต์กันในโซเชียลอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าจริงๆ แล้วหน่วยงานรัฐก็ช่วยเยอะ แล้วการสร้างความเข้าใจก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสังคมจะได้รู้ว่าผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยจะมีกระบวนการอะไรบ้าง ไม่ได้เข้ามาแล้วจะเป็นภาระให้ประเทศ มันมีกระบวนการส่งต่อหรือกระบวนการส่งกลับเมื่อผู้ลี้ภัยสมัครใจที่จะกลับบ้าน” โรสกล่าว
นอกจากนี้ จากการทำงานในหน่วยงานรัฐ ทำให้โรสเห็นว่า การประสานงานระหว่างหน่วยงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย เพียงแต่หน่วยงานของไทยยังไม่มีการประสานงานที่มีประสิทธิภาพมากพอ
“เราทราบมาว่ายังมีผู้ลี้ภัยที่ติดอยู่ในที่คุมขังเกินเวลาที่กำหนด ซึ่งมันก็เกิดจากหน่วยงานในประเทศไทยยังไม่สามารถประสานงานระหว่างกันเองได้ หรือหน่วยงานที่จับกุมตัว เขาจับมาทั้งครอบครัว แล้วแยกเด็กไปอยู่บ้านพัก ส่วนแม่ก็รอที่ห้องกัก กลายเป็นว่าพรากเด็กออกจากแม่ อันนี้ก็คือปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงาน มันมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ยังไม่ดีพอ และมันไม่มีหน่วยงานตรงกลางที่ปิดช่องว่างระหว่างหน่วยงานต่างๆ”
และเมื่อถามถึงแนวทางการทำงานด้านผู้ลี้ภัยในอนาคต โรสตอบว่ายังไม่มั่นใจในฝีมือของตัวเอง แต่ก็จะทำงานในองค์กรเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและทำงานอาสาสมัครอื่นๆ เพื่อศึกษามุมมองของหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป
“ก็คงทำเรื่องผู้ลี้ภัยไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามันกลายเป็น passion อย่างหนึ่งไปแล้ว และถ้าเรียนต่อก็คงจะเรียนต่อด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเหมือนกัน” โรสกล่าว
คนไทยกับปัญหาผู้ลี้ภัย
แม้ว่าทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อผู้ลี้ภัยจะยังคงเป็นเชิงลบ แต่คุณปิยนุชกลับมองว่าขณะนี้ก็มีความพยายามในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมากขึ้น ผ่านสื่อที่หลากหลายกว่าเดิม ซึ่งแม้ว่าความเห็นเชิงลบจะยังมีอยู่ แต่นั่นหมายความว่าแอมเนสตี้ก็มีการบ้านที่ต้องทำเพิ่มมากขึ้น
“เราต้องถามตัวเองว่าทำไมเราจึงมองผู้ลี้ภัยเป็นภาระ เพียงแค่ความกลัวในการแย่งพื้นที่หรือแย่งทรัพยากรเท่านั้นเหรอ อันนี้มันก็มองดูเหมือนเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ แต่พอเอาเข้าจริง มันก็ส่งผลไปถึงว่ารัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องจริงจังในการแก้ปัญหา ในเมื่อคนก็ไม่ได้ซื้อเรื่องนี้ ไม่ได้จับตาดูเรื่องนี้ แถมยังเกลียดอีก รัฐบาลก็ไม่ต้องมีข้อผูกมัดอะไรทั้งสิ้น หรือถ้ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น ส่งกลับ ก็ไม่เดือดร้อน” คุณปิยนุชกล่าว
สำหรับปิยนุช การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่รัฐเป็นตัวละครสำคัญที่จะต้องนำพาให้เกิดระบบในการปกป้องคุ้มครองผู้ลี้ภัย แต่การที่ไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ทำให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยไม่มีสถานะ กลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ รวมทั้งไม่สามารถทำงานได้ จนดูเหมือนว่าเข้ามาเกาะและเป็นภาระให้กับคนไทย เป็นวงจรต่อไปเรื่อยๆ
“เราก็ไม่สามารถจะหวังได้ว่ารัฐบาลจะรับรองสถานะ แต่อย่างน้อย พื้นฐานที่คุณต้องทำในข้อผูกพันระหว่างประเทศ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล คุณจะต้องไม่ให้เขาได้รับความเสี่ยงต่อชีวิต โดยการไม่ส่งกลับ สองก็คือ ในระหว่างที่เขาโดนผลักมา และต้องการที่จะสมัครไปยังประเทศที่สาม คุณต้องเอื้ออำนวยให้เขาดำเนินการในขั้นตอนนี้ ตามสิทธิที่เขาจะได้ และผลกระทบที่เกิดกับเด็ก ผู้หญิงและครอบครัว ที่ถูกกักอยู่ในสถานกักกัน รัฐก็ต้องดูแลตามหลักกฎหมายของประเทศ และคนก็ต้องใส่ใจด้วย ไม่ใช่ว่ามองว่ามันไม่ใช่เรื่องของตัวเอง หรือยิ่งไปด่าทอซ้ำ ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น เพราะว่าปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาทั่วโลก เราไม่สามารถหลีกหนีเรื่องนี้ได้ เพราะเราเป็นพลเมืองโลก” ปิยนุชกล่าว
ในขณะที่ความหวังที่มีต่อรัฐบาลค่อนข้างริบหรี่ ปิยนุชก็ยังเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของคนไทย ขอเพียงมีการรับฟังกัน และเห็นความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย การเคารพสิทธิก็จะเกิดขึ้น และความหวังเดียวที่มีอยู่ตอนนี้ ในการจุดประกายความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยก็คือ “เยาวชน” ที่มีทั้งพลังกาย พลังใจ ในการรณรงค์เรื่องนี้
“ดูจากสถานการณ์แล้ว เราต้องหวังกับเยาวชน เพราะเขามีศักยภาพด้านการสร้างสรรค์ การเรียกร้อง มีปากมีเสียง เขาเป็นอนาคต แต่เราไม่ควรจะรอว่าเขาคือผู้นำของวันพรุ่งนี้ เพราะเขาคือผู้นำของวันนี้ ก็ต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่เยอะๆ เรามองว่าเยาวชนกลุ่มนี้มีศักยภาพ ก็เหมือนการปลูกเมล็ดพันธุ์ที่จะกลบความเกลียดและความกลัวลงได้” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย