ชีวิตนอกกรุง : ภูมิภาค 2020 กับ “ความต่าง”จังหวัด

ชีวิตนอกกรุง : ภูมิภาค 2020 กับ “ความต่าง”จังหวัด

ภูมิภาค 2020 กับ “ความต่าง”จังหวัด

บทความพิเศษ โดย บัณรส บัวคลี่  

 

​ถ้าจะถามตอนนี้ว่า เห็นปรากฏการณ์อะไรในพื้นที่ภูมิภาคบ้าง ?

​ในฐานะที่เคยทำงานข่าวสารในพื้นที่เหนือ ใต้ อีสาน  ตะวันออกและก็ไป-มาอยู่ในต่างจังหวัดตลอดชีวิต ขอตอบว่า ได้เห็นปรากฏการณ์มากมายระยิบระยับไปหมด ภูมิภาคอันหมายถึงต่างจังหวัดทั้งหมดกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ซึ่งมันก็เป็นทั้งโอกาสและความน่ากังวล ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคต้นศตวรรษ 21

​ตอนทำงานเป็นนักข่าวใหม่เมื่อ 30 ปีก่อน ขับรถออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือ ถนนแถวรังสิตกำลังขยายเลน ถัดเลยไปจากอยุธยาเริ่มเปลี่ยว เลยกำแพงเพชรไปส่วนใหญ่เป็นถนนสองเลน ส่วนเพชรเกษมลงใต้เป็นถนนสองเลนล้วนๆ อันตรายมากเพราะฝนตกเยอะ มีสายการบินเดียวคือการบินไทย ค่าตั๋วจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ ราว 3,400 บาท การเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองยังไม่สะดวก จังหวัดต่างๆ ที่ผ่านทางมีตัวตลาดหรือตัวเมืองที่ตั้งอำเภอเมือง ถ้าเป็นจังหวัดใหญ่ขนาดกว้างยาวก็ไม่เกิน 10 ก.ม. จังหวัดเล็กก็เล็กกว่านั้น พื้นที่ชนบท (rural area) เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของต่างจังหวัด

​เราถูกฝึกให้มองให้เห็นข่าว ซึ่งก็คือปรากฏการณ์สำคัญของพื้นที่ ที่ง่ายที่สุดก็คือกิจกรรมประจำถิ่น ทางใต้ทำเรื่อง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กุ้งกุลาดำ(ที่เพิ่งเริ่มฮิตทำกันในยุคนั้น) ทางเหนือก็ ไม้เถื่อน ใบยาสูบ ลำไย เส้นทางท่องเที่ยวที่ตื่นตามากก็คือบ้านบ่อสร้าง ปัจจุบันซบเซาลงไปแล้ว ห้างใหญ่ระดับชาติคือเซ็นทรัลออกต่างจังหวัดครั้งแรกที่เชียงใหม่ชนกับห้างท้องถิ่นเป็นข่าวใหญ่ สะท้อนว่า ยุคนั้นโครงสร้างการค้าขายต่างๆ ยังอยู่ในมือของพ่อค้าท้องถิ่น เป็นเอเยนต์ เป็นดีลเลอร์ตัวแทน เทียบกับเพื่อนนักข่าวในกรุงเทพฯแล้ว กิจกรรมข่าวสารน่าสนใจในต่างจังหวัดแร้นแค้นหายากกว่ากันเยอะ ขณะโต๊ะข่าวในกรุงเทพฯ มีกิจกรรมมากมายเป็นประเด็นให้เลือกหยิบนำเสนอในแต่ละวัน สื่อส่วนใหญ่รอรายงานข่าวอาชญากรรมยืนพื้น

​อาจจะยกเว้นก็แต่ข่าวชายแดนที่นำเสนอแง่มุมอะไรไปก็ล้วนแต่น่าสนใจจากคนส่วนกลาง

​กรุงเทพไม่มีชายแดน แต่ภูมิภาคต่างจังหวัดมี

นั่นเพราะว่ายุคนั้นพรมแดนเพิ่งเปิด พม่า ลาว เขมร เปลี่ยนจากสนามรบและเพิ่งแง้มประตูบ้านออก เรื่องราวที่ตรงพรมแดนมันสะท้อนไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่เบื้องหลังกำแพง อันว่าเมืองชายแดนที่ไหนๆ ก็คล้ายๆ กัน ก็คือมีประเด็นว่าด้วยความเถื่อนเป็นเรื่องราวหลัก ของเถื่อนหนีภาษี คนเถื่อนลอดรัฐ นักเลงมาเฟีย อิทธิพล ยุคนั้นเพิ่งริเริ่มกรอบการพัฒนาสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ จีนก็พยายามจะล่องเรือลงมา ส่วนทางพรมแดนมาเลเซียยุคโน้นยังกระทบกระทั่งเรื่องการปักปันเขตแดนไม่เสร็จ สินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน ผู้หญิงและย่านกลางคืน ฯลฯ เป็นเรื่องราวของพรมแดนภาคใต้

เวลาผ่านไปเร็ว แค่ราว 30 ปีทุกอย่างของภูมิภาคที่เคยเห็น ไม่เหมือนเดิมแล้ว ++

​ก็แน่นอนล่ะ เวลาขนาดนี้มันก็ต้องเปลี่ยนบ้างสิ แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่ามันเปลี่ยนไปถึงโครงสร้าง ดังนั้นคำว่าไม่เหมือนเดิมในที่นี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงใหญ่

​การคมนาคมยุคใหม่เปิดทุกอย่างออก เมืองที่มีสนามบินสามารถบินข้ามไปมาโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องที่กรุงเทพฯ แถมยังบินตรงไปต่างประเทศได้อีก ถนนสี่เลนแปดเลนทะลุทะลวงเชื่อมทุกจังหวัด รถไปรษณีย์เอกชนนำสินค้าที่สั่งผ่านมือถือวิ่งไปถึงในตัวตำบลห่างไกลหลังจากสั่งสินค้าแค่สามวัน ผักจากบนดอยวิ่งแค่ค่อนคืนก็ถึงตลาดขายส่งชานกรุง ไม่ต้องผ่านคนกลางหลายทอดเหมือนแต่ก่อน ของทะเลจากท่าเรือระยองวิ่งส่งถึงเชียงรายใน 1 คืน แต่ก็ต้องแข่งขันกับกุ้งปูปลาจากพม่าที่วิ่งผ่านแม่สอดไปส่งภาคเหนือในราคาที่ถูกลงกว่าสองปีก่อนเพราะทางสะดวกขึ้น

 

​เมืองใหญ่ๆ ที่เป็นหัวเมืองหลักประจำภาค โตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสองหรือสามเท่าในเชิงกายภาพ หาดใหญ่ที่เคยแยกจากสงขลาด้วยเส้นทางชนบทและเปลี่ยวหลังสามทุ่ม บัดนี้เชื่อมเป็นเมืองตลอดระยะทาง 30 ก.ม.  มีความเจริญของบ้านช่องผู้คนหนาแน่นต่อเนื่องตลอดทั้งสาย เมืองเชียงใหม่ก็ขยายออกไปเชื่อมกับอำเภอรอบๆ เป็นนครขนาดใหญ่  จากหัวท้ายแม่ริม-หางดง เกิน 40 ก.ม. มีความเป็นเมืองตลอดทั้งเส้น เช่นเดียวกับอุดรธานี ขอนแก่น โคราช พิษณุโลก ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ตึกสูงกำลังทยอยโผล่ขึ้น กรุงเทพฯมีอะไรต่างจังหวัดก็มีเช่นกัน

​กรุงเทพฯ รวมศูนย์มานาน ทุกอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งระบบบริหารราชการรวมศูนย์ ความเป็นศูนย์กลางการค้า การเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง การเงิน การศึกษา ฯลฯ ซึ่งก็ทำให้ถนนทุกสายต้องมุ่งสู่กรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งความเจริญกว่า ให้โอกาสมากกว่า แต่ปัญหาที่สะสมอยู่ในกรุงเทพฯ วันนี้ไม่มีดึงดูดผู้คนเทียบเท่าในอดีต  ในทางกลับกันนี่เป็นยุคที่คนเริ่มแสวงหาโอกาสและทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ คนหนุ่มสาวจำนวนมากให้ความสนใจกรณีมีผู้ประสบความสำเร็จในเส้นทางใหม่ๆ นอกกรุง  อาทิ การทำเกษตรแนวใหม่ ออกแบบสร้างสรรค์สินค้าต่อยอดภูมิปัญญา ทำการตลาดแบบใหม่ขายสินค้าท้องถิ่นออนไลน์ หรือกระทั่งการเลือกทำธุรกิจในต่างจังหวัดที่กำลังเติบโต

แต่ก็ไม่ใช่แค่คนต่างจังหวัดแสวงหาลู่ทางในบ้านเกิดตน หรือคนกรุงเทพฯ ที่สนใจออกสู่ต่างจังหวัด  โลกไร้พรมแดนยุคนี้ยังเปิดโอกาสให้กับชาวต่างชาติเข้ามาแสวงหาโอกาสในพื้นที่ภูมิภาค ไม่ใช่แค่ตามแหล่งท่องเที่ยว หรือเมืองพักอาศัยที่มีสาธารณูปโภครองรับเท่านั้น พื้นที่ผลผลิตการเกษตรก็เป็นโอกาสของต่างชาติประกอบการค้าส่งออกซึ่งนี่ก็เป็นอีกประเด็นที่กำลังท้าทายสังคมไทย โลกไร้พรมแดนเป็นทั้งโอกาสของเรา และของเขา คนชาติอื่นพร้อมกันไปด้วย

​เทคโนโลยีใหม่ก็เป็นอีกตัวการสำคัญที่เขย่าเปลี่ยนภูมิภาค ยุคนี้แทบไม่มีใครที่ไม่ใช้มือถือสมาร์ทโฟน ใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดีย ในหมู่บ้าน ตำบล ตามป่าเขาที่มีคน สัญญาณยังไปถึง ชนบทจึงไม่ใช่ดินแดนลี้ลับเช่นในอดีต นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงเนื้อหา ที่จะกล่าวถึงโดยละเอียดในตอนหลัง

ชายแดน

​ชายแดนยุคนี้ไม่เหมือนชายแดนยุคโน้น !

​ไม่ใช่อาคารบ้านเรือนหรือผู้คนที่เปลี่ยนไปหรอก นั่นแต่การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ แต่ชายแดนยุคนี้มันเปลี่ยนแปลงในเชิงเนื้อหาสาระ

จังหวัดชายแดนทั่วทุกภูมิภาคเป็นโจทย์ และความท้าทายของทั้งรัฐและประชาชน

นั่นเพราะว่าด่านชายแดนไม่ใช่ประตูกั้น “ความต่าง” อย่างที่เคยเป็นมา !!

ยุคก่อนโน้นพรมแดนเป็นเส้นกั้น “ความแตกต่าง” ของสองฝั่งประเทศ สินค้าฝั่งโน้นราคาถูกกว่าฝั่งนี้ ค่าแรงงานของคนฝั่งโน้นถูกกว่าฝั่งนี้ วัตถุดิบก็เช่นกัน มันจึงเกิดการไหลเวียนเปลี่ยนถ่ายของคนสินค้าทั้งในระบบและนอกระบบตรงจุดนั้น ความคิดเรื่องเขตนิคมอุตสาหกรรมชายแดน เกิดขึ้นเพราะต้องการแรงงานและวัตถุดิบจากอีกฝั่ง แล้วมันก็มีการลงทุนเกิดขึ้นจริงๆ ผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นตัวแทนค้าส่งสินค้า เฉพาะจัดส่งเข้าไปก็ร่ำรวย เนื่องเพราะแต่เดิมการเดินทางไม่สะดวก การติดต่อลำบาก

แต่มายุคนี้โครงการสำคัญของรัฐบาลจะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมื่อ 4-5 ปีก่อน ยังไม่ประสบความสำเร็จสักแห่ง โลกไร้พรมแดน เปลี่ยนแปลงสภาพเงื่อนไขของเมืองชายแดนจากเดิมไปแทบหมดแล้ว !

เพราะมันแทบไม่เหลือความต่างและเงื่อนไขทำให้แตกต่างอีกต่อไป

ไม่น่าเชื่อว่าเมืองเมียวดีฝั่งตรงข้ามด่านแม่สอด มีแสงไฟสว่างไสว ราตรีคึกคักด้วยผู้คน รถราขวักไขว่ยิ่งกว่าฝั่งแม่สอด และถนนเดิมที่เล็กแคบลัดเลาะผ่านภูเขาที่ต้องผ่านกองกำลังชนกลุ่มน้อย เล็กแคบขนาดกำหนดเดินรถวันเว้นวัน เพื่อไม่ให้สวนทางกันกลางเขา มาวันนี้เป็นทางลาดยางใหญ่สะดวกสามารถเดินทางทะลุถึงมะละแหม่งภายในวันเดียว

ชายแดนฝั่งตรงกันข้ามกับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย / มุกดาหาร / หนองคาย ก็เช่นกัน  ที่ฝั่งตรงข้ามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเปิดรับการลงทุนต่างชาติที่คึกคักยิ่ง เพราะระบบถนนปัจจุบันพุ่งตรงเข้าประเทศจีนผ่านด่านบ่อเตน-บ่อหานแถมกำลังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟที่คืบหน้าไปมาก ชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านเขาก็อยากดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติแบบเดียวกับเรา แถมเขามีจุดแข็งบางอย่างเหนือกว่าเราด้วยซ้ำไป

พ่อค้าที่ด่านชายแดนหลายคนต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะสินค้าที่คู่ค้าเดิมต้องการบัดนี้มีระบบการขายแบบใหม่ โดยเจ้าใหม่ที่สะดวกกว่าเร็วกว่ามาแข่ง

เมืองหาดใหญ่ เป็นเมืองศูนย์กลางภาคใต้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วหลังพ.ศ.2500 ด้วยอานิสงส์ของเศรษฐกิจชายแดน เมื่อ 30 ปีก่อน ยังมีเส้นทางวิ่งรถของเถื่อนที่คึกคักมากจากหาดใหญ่ไปด่านปาดังเบซาร์ หาดใหญ่ราตรียิ่งคึกคักกว่าเพราะเป็นเป้าหมายเดินทางของเพื่อนบ้าน ตลาดกิมหยงและตลาดสาย1-3 เต็มไปด้วยสินค้าจากชายแดน แต่วันนี้ถนนสาย 1-3 แทบไม่มีคนเดิน ร้านค้าแบบเดิมทยอยปิด หาดใหญ่ไม่ได้เป็นเป้าหมายของนักท่องราตรีจากอีกฝั่ง แถมยังมีเมืองราตรีเล็กๆ ย้ายไปประชิดพรมแดนมากกว่า สะดวกกว่า ใกล้กว่า

มันไม่มีความแตกต่างระหว่างฝั่งพรมแดนเช่นในอดีต ผู้คนสามารถหาซื้อสินค้าแบบเดียวกันได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ การเดินทางยุคนี้สะดวกกว่าเดิม ก่อนหน้านั้นการไปเที่ยวนอนค้างที่หาดใหญ่เกิดขึ้นเพราะมีระยะทางไม่ใกล้-ไม่ไกล แต่บัดนี้จากปีนังสามารถนั่งเครื่องบิน 1 ชั่วโมงไปยังจุดใดก็ได้ ทั้งกระบี่ ภูเก็ต หรือกระทั่งกรุงเทพฯ

ไม่มีความ “ต่าง” ที่พรมแดนเช่นในอดีต !

ที่ลึกกว่าการเปลี่ยนแปลงภายภาพ

​จากความต่างที่พรมแดน หันมาพิจารณาความต่างของต่างจังหวัดบ้าง .. มันก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

​“ต่างจังหวัด” มีความ “ต่าง” ที่เปลี่ยนนัยไปจากเดิม

​นัยประหวัดของคำว่า “ต่างจังหวัด” ที่ใช้ในในยุคก่อน บ่งบอกด้วยตัวของมันเองถึง “ความต่าง”จากศูนย์อำนาจส่วนกลาง สำเนียงภาษาพูด การแต่งกาย ธรรมเนียมท้องถิ่น ความต่างดังกล่าวถูกทำให้ผู้คนจากภูมิภาคต่างๆ รู้สึกด้อยกว่าอยู่ในที ค่านิยมที่ชาวกรุงเหนือกว่าชาวบ้านนอก“ต่าง”จังหวัด เกิดมาตั้งแต่เมื่อใดไม่รู้ หัสนิยายสามเกลอว่าด้วยเรื่องตัวละคร “ลุงเชย” มีอิทธิพลทำให้คำว่าเชย (ที่เดิมมีความหมายดี) กลายเป็นความหมายของอาการเปิ่น ไม่ทันสมัยของคนบ้านนอก ในยุคสมัยหนึ่งเพลงสนุกสนานตลกๆ ของท้องถิ่นทั้งเหนือ ใต้ อีสาน มีเนื้อหาล้อเลียนสำเนียงภาษาถิ่นของคนที่เข้าไปแสดงอาการ เชย เปิ่น บ้านนอกในเมืองหลวง จนกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยปัญหา เดินทางลำบาก อยู่ยาก กินยาก คุณภาพชีวิตแย่ เพลงลูกทุ่งจำนวนมากสะท้อนความไม่เทียมที่ “ต่าง” กันระหว่างเมืองกรุงกับบ้านนอก

​สะท้อนผ่านทางความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติของผู้คน ​

​แต่พอมาถึงยุคนี้ผู้คนกลับมองความต่างเปลี่ยนไป แถมจำนวนไม่น้อยถือเป็นจุดเด่น เป็นโอกาสด้วยซ้ำไป

ความต่างกลับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขับดันของคนในภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม กลายเป็นจุดขาย สิ่งที่ถูกเชิดชูให้ภาคภูมิใจ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่มีหนึ่งเดียว

​วัฒนธรรมเฉพาะ ประเพณีเฉพาะ ธรรมเนียมเฉพาะ สำเนียงเฉพาะ ภูมิอากาศเฉพาะ ลักษณะดินเฉพาะ ฯลฯ

ในทางการตลาดนี่คือยุคของการช่วงชิงเพื่อสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ เกิดการสร้างสินค้าที่มีคุณลักษณ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)  มากมายเป็นประวัติการณ์ กาแฟของคนดอยที่พิสูจน์ว่าคนดอยขายเองสามารถขายแพงกว่ากาแฟคนพื้นราบทำ ทุเรียนศรีสะเกษได้รับการโปรโมตเป็นทุเรียนดินภูเขาไฟมีความเฉพาะที่สวนทุเรียนใดไม่มี นี่ก็ขายแพงส้มโอน้ำสีแดงสดใสที่ปากพนังเรียกว่าทับทิมสยามขายความเป็นดินน้ำกร่อยเฉพาะถิ่น แล้วก็มีตัวอย่างทำนองนี้อีกร้อยแปดที่กำลังขยับเต้นอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของเรา

​ยุคนี้ คนอีสาน คนปักษ์ใต้ คนสุพรรณ ไม่เขินอายที่จะพูดภาษาท้องถิ่นกันในที่สาธารณะกลางกรุงเทพฯ ความเป็นภูมิภาคอยู่ต่างจังหวัดไม่ได้ด้อยกว่าคนเมืองหลวง ไม่เพียงเท่านั้นผู้คนยังรู้สึกอยากจะพัฒนาผลักดันให้เมืองและท้องถิ่นของตนก้าวหน้า มีความทันสมัยตามที่ใจอยากเห็น

​ในรอบสามสี่ปีมานี้ มีปรากฏการณ์มากมายสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในพื้นที่ภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คนโคราชรวมตัวคัดค้านไม่เอาโครงการรางรถไฟทางคู่ผ่ากลางเมือง เรียกร้องให้ยกระดับ คนขอนแก่นลงขันกันทำรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน คนสงขลาอยากให้เมืองของตนเป็นมรดกโลกฟื้นฟูเมืองเก่าให้กลายเป็นจุดขายใหม่กันเอง คนเชียงใหม่ไม่เอาการขยายถนนที่แยกรินคำอยากจะให้พัฒนาเป็นทางเดินเท้าที่ร่มรื่นแทน ฯลฯ

​เหล่านี้เป็นอาการอึดอัดของคนในภูมิภาค..ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ!

​คนรุ่นที่กำกับดูแลกิจการที่เป็นกำลังเมืองอยู่ในภูมิภาคเหนือ ใต้ ออก ตก อายุประมาณ 45-55 ปี เป็นรุ่นลูกที่ผ่านระบบการศึกษาดีๆ มีทุนทรัพย์ มีกำลังความคิดสติปัญญา บ้างก็รับมรดกเตี่ย บ้างก็สร้างกิจการเอง บ้างก็ผ่านงานอาชีพมีประสบการณ์ มีครอบครัว ย่อมมีความต้องการให้ชุมชนเมืองจังหวัดของตนเจริญก้าวหน้า เติบโต ทันสมัย มีความปลอดภัย มีความสุข และสวยงามขึ้น โลกยุคนี้เล็กลง คนจังหวัดนี้ได้ออกไปเห็นจังหวัดโน้น ไม่ใช่แค่จังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านเขาไปถึงไหนแล้วคนในต่างจังหวัดยุคนี้เดินทางไปเห็นด้วยสายตาตัวเองสะดวกง่ายดาย

​คนในภูมิภาคเริ่มอยากแสดงออกให้เห็นถึงศักยภาพของท้องถิ่นตัว ทีมกีฬาฟุตบอลของจังหวัดต่างๆ ที่กำลังแสดงอิทธิฤทธิ์อยู่ในตารางคะแนนไทยลีกการแสดงออกของกองเชียร์ท้องถิ่นและเอกชนในท้องถิ่น เป็นรูปธรรมหนึ่งของการพยายามปลดปล่อยศักยภาพของภูมิภาคออกมา ย้อนกลับไป 10-20 ปีก่อนหน้า หัวแถวของทีมฟุตบอลล้วนแต่อยู่ในกรุงเทพฯทั้งสิ้น

​ความต่างที่เคยเป็นปมของความด้อยกว่าของคนภูมิภาคในยุคก่อน มันหายไปแล้วสำหรับคนภูมิภาครุ่นนี้ ในทางกลับกัน ความต่างกลับเป็นความภาคภูมิใจ นี่จังหวัดของฉัน !ภูมิภาคนิยม ! จังหวัดนิยม! ก่อเกิดแรงบันดาลใจและแรงขับอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนให้ดีขึ้น อวดสายตาคนอื่นได้

ระบบราชการ

​แรงขับดันอยากให้ท้องถิ่นของตนเติบโตก้าวหน้าของคนในแต่ละภูมิภาคล้ำไปไกลกว่าความสามารถที่รัฐจัดให้ได้

ระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่อธิบดี และแถมยังแยกส่วนหน่วยใครหน่วยมันที่เคยเป็นกลไกขับเคลื่อนพื้นที่ภูมิภาคมีข้อจำกัดในตัวเอง สิ่งที่คนท้องถิ่นในภูมิภาคอยากเห็น อยากได้ อยากให้เกิด รัฐสนองตอบให้ไม่ได้ หรือไม่ทันใจ

มันสวนทางกัน !

ขณะที่คนในท้องถิ่นตื่นตัวขึ้น ภูมิภาคกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นแหล่งสร้างโอกาสใหม่ มีความเป็นเมืองใหญ่ขึ้น คนท้องถิ่นหลายจังหวัดกำลังพยายามสร้างจุดขายให้กับเมืองของตน แต่ระบบราชการแบบเดิมขยับยาก ไม่เพียงเท่านั้น ระบบบริหารราชส่วนภูมิภาคที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นแกน ออกแบบระบบให้บริหารงานท้องที่ ซึ่งก็คือเขตชนบทให้ครอบคลุมเป็นหลัก เป็นเช่นนี้มายาวนานตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้เวลามากกว่าค่อนชีวิตไต่จากปลัดอำเภอ นายอำเภออยู่ในเขตชนบทกว่าจะขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอายุเฉลี่ยประมาณ 55 ปี  แต่พื้นที่ภูมิภาคยุคใหม่กำลังแปรเป็นเมืองมากขึ้น

สำหรับเมืองใหญ่มากที่เป็นเมืองหลักของภาค เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก โคราช ขอนแก่น อุดรธานี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา รวมถึงจังหวัดปริมณฑล สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ล้วนแต่เป็นเมืองใหญ่มาก  ความเป็นเมืองขยายออกครอบคลุมไปยังอำเภอรอบๆ ยิ่งจังหวัดปริมณฑลยิ่งมีความเป็นเมืองเกือบทั้งจังหวัด

การวางแผนบริหารพัฒนา “เมืองยุคใหม่” ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคกลายเป็นโจทย์ท้าทายต่อระบบบริหารราชการแบบเดิมๆ ที่มีมหาดไทยเป็นแกนกลางและฝึกบุคลากรให้เติบโตมาจากชนบทเป็นสำคัญ

เมืองใหญ่ในภูมิภาคล้วนแต่มีฐานะเป็นเทศบาลนครทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติความอาณาเขตเป็นเมืองขยายใหญ่กว่าเขตเทศบาลนครหลายเท่า ดังนั้นมันจึงเกิดภาวะที่เมือง (หรือควรเรียกว่าจังหวัดนคร?) มีหน่วยบริหารจัดการเป็น อปท.เล็กใหญ่ร่วม 10 อปท. ร่วมกันบริหารจัดการเมืองๆ นั้น นครโคราช นครขอนแก่น นครเชียงใหม่ นครสงขลา ฯลฯ ล้วนแต่มีลักษณะที่ว่า สิ่งที่ตามมาคือ ขาดพลังของการทำให้เมืองพัฒนาไปข้างหน้าอย่างมีเอกภาพในทิศทางใหญ่ แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เพราะระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีแผนพัฒนาเมืองที่เป็น city อย่างแท้จริง มีแค่แผนพัฒนาจังหวัดซึ่งเป็นแผนรายโครงการในภาพรวม

ระบบราชการรวมศูนย์เคลื่อนได้ช้ากว่าแรงขับดันและความต้องการของชาวเมือง อย่างเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากนี้ก็คงจะมีตัวอย่างรูปธรรมทยอยออกมาให้เห็นมากขึ้น

ชนบทและเมืองรอง

​นโยบายการพัฒนาเมืองหลักประจำภูมิภาคเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนกำหนดให้แต่ละภาคมีเมืองหลัก 2-3 เมือง แน่นอนจังหวัดดังกล่าวจะต้องมีตำแหน่งราชการระดับเขต มีหน่วยงานไปตั้งอยู่มากกว่าจังหวัดอื่น ทุ่มเทสาธารณูปโภคลงไป หัวเมืองหลักจึงเติบโตมากกว่าจังหวัดอื่น แล้วก็เพิ่งมายุคนี้เองที่รัฐบาลบัญญัติศัพท์คำว่า “เมืองรอง” ขึ้นมาสำหรับกระตุ้นเสริมให้คนไปท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ว่านิยามของเมืองรองของรัฐจะหมายถึงจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวน้อยแต่มันก็ตรงกับความรับรู้ของคนทั่วไปว่าเมืองรองน่ะ เป็นรองเมืองหลักในทุกด้าน ไม่ใช่แค่จำนวนนักท่องเที่ยว

​ราชการและอำนาจรวมศูนย์ที่ทำกันมาต่อเนื่อง มีระดับชั้น กรุงเทพฯ เป็นผู้กำหนดว่า พื้นที่ไหนในภูมิภาคควรจะได้โอกาสสนับสนุนให้เติบโตมีความเจริญได้โอกาสมากกว่าพื้นที่อื่น ในนามของการพัฒนาเมืองหลัก จึงบังเกิดเมืองรองขึ้นมาร่วมๆ 50 จังหวัด พร้อมๆ กันนั้น ระบบรวมศูนย์ยังมีอานุภาพทำให้ชนบทเงียบเหงาซบเซา ผู้คนจากชนบทเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค เมืองรองซบเซา ชนบทยิ่งซบเซากว่า

​ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนในเมืองรองกำลังดิ้นรนเพื่อให้จังหวัดและท้องถิ่นตนหลุดพ้นสภาพ “เป็นรอง” ในหลายๆ มิติ ปรากฏการณ์ดิ้นรน พยายามถีบตัวเองขึ้นของผู้คนในเมืองเป็นเรื่องน่าสนใจ พร้อมๆ กันนั้นชนบทก็กลายมาเป็นโอกาสของผู้คนจากเมืองศูนย์กลางที่แน่นขนัด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชนบทก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ทรัพยากร

​เสน่ห์ดึงดูดของพื้นที่ภูมิภาคจากอำนาจและทุนภายนอกก็คือทรัพยากร และมันก็เป็นเช่นนี้ตั้งแต่รัฐชาติยุคใหม่ก่อกำเนิดเมื่อ 100 กว่าปีก่อน จนกลายเป็นมณฑลเทศาภิบาล และระบบจังหวัด อำเภอ ในยุคปัจจุบัน

​ยุคก่อนโน้น ฝรั่งและผู้มีจะกินส่วนกลางแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรในภูมิภาคต่างๆ ทางใต้จากสัมปทานเหมืองแร่ ทางเหนือจากสัมปทานไม้สัก ยุคต่อๆ มาก็เหมืองหิน ขุดทราย ล้วนแต่มีแบบแผนคล้ายคลึงกันก็คือ ประชาชนในพื้นที่ยอมรับสภาพความเหนือกว่าของผู้มาตักตวง ที่ได้สิทธิ์นั้นจากอำนาจรัฐ

แต่ก็นั่นล่ะยุคสมัยมันเปลี่ยน คนรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์มีส่วนในทรัพยากรของชุมชนตนมากขึ้น เลยไม่ยอมกันง่ายๆ เหมือนแต่ก่อน 10 ปีมานี้ปัญหากระทบกระทั่งเรื่องทรัพยากรกับคนภูมิภาคในท้องที่ยังคงเกิดอย่างสม่ำเสมอ เหมืองทองคำ การจับปลาในทะเลที่ไม่เป็นธรรมกับคนท้องถิ่นชายฝั่ง

​สังเกตอะไรไหม ? คำว่า “สิทธิชุมชน” ถูกยกขึ้นมาใช้อ้างอิงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก ก็เพราะคนท้องถิ่นในภูมิภาคยุคใหม่ ไม่เหมือนกับคนท้องถิ่นยุคที่ฝรั่งทำไม้พาเหรดเข้ามา ความรู้สึกร่วมต่อความเป็นเจ้าของทรัพยากรเติบโตขึ้น แต่ก็นั่นล่ะ ในยุคทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ขั้นสูง อำนาจทุนลอยข้ามพรมแดนไม่รู้ต้นทางและสัญชาติ ก็ยังสามารถได้ทรัพยากรที่ประสงค์ได้โดยไม่ยากหากท้องถิ่นภูมิภาคนั้นๆ ยินยอม กรณีการกว้านซื้อที่ดิน ที่นาจำนวนมากก็ใช่ และยิ่งไปกว่านั้นการแย่งชิงทรัพยากรยุคใหม่มีความแนบเนียนและซับซ้อนยิ่งขึ้น หลายครั้งมาพร้อมกับอำนาจรัฐและกฎหมาย นโยบายการพัฒนา

​ความขัดแย้งเรื่องนี้ เหมือนจะเป็นหนึ่งในความขัดแย้งหลักของภูมิภาค แถมยังยกระดับความซับซ้อนมากขึ้นอีกต่างหาก

เชื่อมโลก

​ผู้คนในภูมิภาค แม้กระทั่งระดับอำเภอ หรือตำบล สามารถทำมาค้าขายกับคนต่างแดนผ่านโทรศัพท์มือถือ บางครั้งก็ไม่รู้ว่าการสั่งสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นนั้น ต้นทางสินค้าเดินทางมาจากโกดังในประเทศจีน ส่งผ่านบริษัทโลจิสติกส์-โกดังแยกสินค้าชานเมืองกรุงฯ ผ่านไปรษณีย์เอกชนยุคใหม่ ถึงมือภายใน 10-15 วัน

​ที่พักขนาดเล็กในเขตตำบล หรืออำเภอห่างไกล ขายห้องเช่ารายวันของตนผ่านแอพลิเคชั่นห้องพักให้กับแขกต่างชาติภาษา

​รถเร่สินค้าตามตลาดนัดในหมู่บ้านรู้สึกว่าทำมาหากินยากขึ้น ที่แท้ลูกค้าประจำสั่งสินค้าออนไลน์ สินค้าพื้นเมืองหลายรายการทำการตลาดเองผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดียมีจำนวนมากที่กำลังโด่งดังเป็นแบรนด์ดาวรุ่งระดับประเทศ น้ำยำขนมจีน น้ำปลาร้า น้ำบูดูเคี่ยวเตาถ่านที่แม่บ้านในหมู่บ้านผลิตเอง ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ Lazada   ไลน์เป็นช่องทางสื่อสารหลักของคนในหมู่บ้านชนบท ไม่ใช่ร้านกาแฟ งานวัด หรืองานศพ การสื่อสารผ่านไลน์เร็วกว่าผู้ใหญ่บ้านประกาศผ่านลำโพงเสียงตามสาย แน่นอนที่สุดเรื่องราวที่เผยแพร่กันบางอย่างมันก็แชร์ต่อๆ กันโดยปราศจากความจริง ปนๆ กันไปกับเรื่องจริงที่เกิดในชุมชน

​มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

​อาชีพเดิมที่อาจต้องพึ่งพาอะไรสักอย่าง เช่นขายสินค้าแต่ก่อนต้องพึ่งพาคนกลางมารับซื้อไป บัดนี้ไม่ต้องแล้ว ข้าวสารรวมกลุ่มสีเอง บรรจุถุงขายกันเอง ไม่ต้องง้อระบบโรงสีและพ่อค้ารับซื้อแบบแต่ก่อน

​ผู้คนในชนบทมีช่องติดต่อตรง ไม่ต้องผ่านอำเภอ-จังหวัด คนกลางหลายทอดตามโครงสร้างรวมศูนย์แบบเดิม มีหลายคนที่มองเห็น และใช้โอกาสนั้นแล้ว

​ผู้คนในเมืองรองก็เช่นเดียวกัน !

​แต่ทั้งหมดทั้งมวล ต้องรำลึกเสมอว่าเหรียญมีสองด้าน มีโอกาสก็มีส่วนที่สูญเสียโอกาส มีช่องทำมาหากินสะดวกขึ้นก็มีช่องทางที่ถูกคนอื่นเขามาตักตวงสะดวกง่ายเช่นเดียวกัน

​ภูมิภาคยุคนี้ เปรียบเสมือนดินแดนตะวันตกยุคคาวบอยขี่ม้าขับเกวียนออกไปแสวงโชค ดินแดนแห่งขุมทรัพย์ย่อมเปี่ยมอันตรายเป็นธรรมดา

​เหล่านี้ คือสภาพโดยสังเขปของภูมิภาคต่างจังหวัดของเรา ก่อนเข้าสู่ปี 2020 ​

 

ผู้เขียน : บัณรส บัวคลี่ ​สื่ออิสระผู้ตรงไปตรงมา นักเดินทางทั่วทุกภูมิภาค มีชีวิตนอกกรุงนับแต่เกิดที่สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันใช้ชีวิตที่เชียงใหม่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ