รัฐมนตรีต่างประเทศยันจีนพร้อมยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงแน่

รัฐมนตรีต่างประเทศยันจีนพร้อมยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงแน่

รัฐมนตรีต่างประเทศยันจีนพร้อมยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงแน่

ย้ำผ่านจดหมายถึงเครือข่ายประชาชน ชี้เป็นสายน้ำเพื่อชีวิตและวิถีชาวบ้าน ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์

วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และแกนนำเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่าได้รับจดหมายตอบ จากนายดอน ปรมัติถ์วินัย รัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างประเทศ กรณีที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เขียนจดหมายไปถึงเพื่อขอทราบความคืบหน้าและเอกสารหลักฐานการยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

โดยในจดหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศตอบกลับมา ลงวันที่ 27 เมษายน 2562 มีเนื้อหาระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง อย่างใกล้ชิด โดยขั้นนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น เพื่อพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ต่อวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงโครงสร้างด้านวิศวกรรมในการปรับปรุงร่องน้ำ

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมได้ใช้โอกาสต่างๆในการหยิบยกข้อกังวลฝ่ายไทยขึ้นหารือกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน นับตั้งแต่ฝ่ายจีนได้ดำเนินการสำรวจภาคสนาม ภายใต้โครงการปรับปรุงร่องน้ำเมื่อปี 2560 เป็นต้นมา รวมทั้งได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงเพื่อประสานท่าทีร่วมกันในเรื่องนี้ โดยการหารือกับนายหวัง อี้ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมได้ย้ำถึงความกังวลของฝ่ายไทยต่อการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ ซึ่งนายหวังอี้ได้แสดงความพร้อมของรัฐบาลจีนที่จะให้ความร่วมมือในการยุติโครงการ ตามข้อเสนอของไทย” นายดอนระบุ ไว้ในจดหมาย

นายนิวัฒน์กล่าวว่า เนื้อหาในจดหมายระบุอีกว่า “ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ผมได้หารือกับนายเฉิน หาว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนานและประธานสภาประชาชนมณฑลยูนนาน ที่กรุงเทพฯในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของแม่น้ำโขง ในฐานะสายน้ำแห่งชีวิตและวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง ไม่ใช่สายน้ำเพื่อการพานิชย์ พร้อมทั้งได้ขอบคุณรัฐบาลจีนที่จะไมให้มีการดำเนินการใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งขอบคุณที่รัฐบาลจีนเห็นพ้องที่จะระงับโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง”

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า พวกเราสู้เรื่องแม่น้ำโขงมาเป็นเวลาสิบกว่าปี ครั้งนี้ก็มองว่ารัฐบาลให้ความสนใจ และเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง เป็นการตอบที่ชัดเจน เราเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจเรื่องปัญหาแม่น้ำโขง และหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะต่อๆ ไป

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่าเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำโขง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะหนึ่งของประชาชนที่พยายามเรียกร้องมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้ว ถึงผลเสียหายที่อาจเกิดจากโครงการต่างๆ บนแม่น้ำโขง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์จะถูกยกเลิกโดยถาวร เพื่อให้ทรัพยากรยังคงอยู่เพื่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชุมชน และหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นสัญญาณแก่การลงทุนอื่นๆ จากจีนในลุ่มน้ำโขง ว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังเสียงชุมชนท้องถิ่น รวมคำนึงถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศ

อนึ่ง โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการพานิชย์บนแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันในนาม “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบน ระหว่างเมืองซือเหมา ในมณฑลยูนนาน จีน ถึงเมืองหลวงพระบาง ในลาว แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 (พ.ศ.2558-2563) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย โดยจะปรับปรุงร่องน้ำโขงเป็นระยะทาง 631 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-เมียนมาที่หลัก 243 ถึงหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อรองรับเรือ 500 ตัน พัฒนาท่าเรือสินค้า 3 แห่ง และท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง

และระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2568) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ มีการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 259 กิโลเมตร จากซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา ที่หลัก 243 ให้รองรับเรือ 500 ตัน และสร้างสะพานยูจินหง ขึ้นใหม่ และมีการพัฒนาท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 500 ตัน จำนวน 4 แห่ง ท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 300 ตัน และท่าเรือโดยสาร 9 แห่ง ปัจจุบันได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาด้านเทคนิค ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด

และได้มีการจัดเวทีนำเสนอรายงานผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอคือ เวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา จำนวน มีผู้เข้าร่วม 536 คน ประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ เจ้าของท่าเรือ สื่อมวลชน นักพัฒนาองค์กรเอกชน องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พระสงฆ์และ ชาวบ้านในพื้นที่ เสียงของผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวเนื่องจากกังวลถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ เศรษฐกิจของท้องถิ่นและปัญหาด้านชายแดนระหว่างไทยลาว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ