จับอุณหภูมิองศาร้อนของประชาชน  เมื่อ #เชียงใหม่จะไม่ทน นับ 1 

จับอุณหภูมิองศาร้อนของประชาชน  เมื่อ #เชียงใหม่จะไม่ทน นับ 1 

วงธรรมชาติ “เชียงใหม่จะไม่ทน” เมื่อ 17 เมษายน 2562 น่าสนใจมาก ฟางเส้นสุดท้ายของปัญหาฝุ่นควันปี 2562 ดึงดูดชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วนมาล้อมวงคุย  น้ำหนักวงอาจอยู่ที่สิ่งที่เผชิญร่วมเฉพาะหน้าคือ “ฝุ่นควัน”  แม้โจทย์ของเชียงใหม่จะไม่ทนจะอยู่ที่อีกหลายประเด็น เช่น การจัดการน้ำแม่ข่า  การตัดต้นยางนา  การเกิดหมู่บ้านป่าแหว่ง และการเกิดโครงการหรือการจัดการของภาครัฐอีกหลายส่วนที่ทำให้ประชาชนต้องเหน็ดเหนื่อยตามไล่ยื่นหนังสือ ตามคัดค้านหรือแก้ไข   แต่นับว่าเป็นก้าวสำคัญของการหลอมพลังเมืองและเกาะเกี่ยวกันเพื่อเคลื่อนเมืองไปในทิศทางที่คนที่มีชีวิตอยู่ที่นี่ต้องการ                  บรรยากาศวงเหมือนจะอัดอั้นมานาน  พรั่งพรูความเห็น ข้อเสนอ  หลายประเด็นเลยทีเดียว  ข้อสังเกตุที่น่าสนใจคือการเปิดรับฟังทุกมุมมอง  จุดไหนเห็นด้วยก็บอกสนับสนุน  จุดไหนเห็นต่างก็ซักถามหรือบอกเหตุผลที่เห็นต่างและมีข้อเสนออย่างมีวุฒิภาวะ  ความรู้สึกเดียวกันของการเป็นผู้ประสบภัยทำให้บอกมุมมองกันอย่างตรงไปตรงมา และที่น่าสนใจคือ ทุกคนพร้อมลงมือทำทันที

วงเริ่มต้นด้วยให้ข้อมูลสถานการณ์ในอดีตเล็กน้อยเรื่องปัญหาฝุ่นควัน ว่าเราอยู่กับมันมา 12 ปี ในแง่ของการผลักดันให้แก้ไขปัญหาจากภาคประชาชน เคยดันจนถึงวาระแห่งชาติเมื่อสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์มาแล้ว “ปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่ เมื่อ2549  ได้ยื่นหนังสือไปแต่ก็เงียบหาย  ปี 2550  มีรองนายกรัฐมนตรี ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  มาพบกับประชาชนและเคยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็เงียบหาย ปี 2559 ภาคประชาชนได้ลงชื่อ 7,000 รายชื่อ ยื่นให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุยันยกระดับการแก้ไขปัญหา  สำนักนายกฯก็มีหนังสือตอบกลับมา แต่ก็เงียบหาย  ปีนี้นายกรัฐมนตรีมาเชียงใหม่อีกทีเมื่อสถานการณ์หนักหนาไปแล้ว   ดังนั้นจากประสบการณ์ของภาคประชาชนต่อให้เรื่องใหญ่ หนักหนาแค่ไหนก็จะเงียบหาย ฝนมากระแสหมอกควันก็จะลง  เช่นกับ ประเด็นเสือดำ ป่าแหว่งก็ลง แม้ว่าทางภาคเอกชน หอการค้า กกร.พยายามผลักดัน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตั้งกรรมการมีข้อเสนอต่างๆมากมาย  แต่เรารู้โดยประสบการณ์ว่า  ต่อให้มีข้อเสนอมากมายแค่ไหน  ถ้าไม่มีกระแสสังคม รัฐเงียบแน่นอน

“ที่ผ่านมาภาคประชาชนมีประสบการณ์  ต้องวิ่งต่อสู้กับการพัฒนาเมืองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตัดถนนเข้าสู่เมืองในแยกเมย่า  การตัดต้นยาง หมู่บ้านป่าแหว่ง  หรือการจัดการกับปัญหาหมอกควัน เป็นเรื่องเดียวกันคือ รัฐไม่แยแส  ไม่ให้น้ำหนักกับสิ่งแวดล้อม  จะทำอะไรก็ทำไม่ฟังเสียงท้วงติงหรือทิศทางพัฒนาเมืองจากประชาชน  ดังนั้น การมาเจอกันของคนเชียงใหม่ โจทย์คือ จะทำอะไรเพื่อไม่ให้ปีหน้า เราไม่เจอกับสิ่งแบบนี้อีก” บัณรส บัวคลี่ ในฐานะผู้ดำเนินวงคุยตั้งโจทย์และขอให้ผู้ร่วมเสนอความเห็นใน 2 ประเด็นหลักคือ

1.มาตรการที่มองไปข้างหน้า นำไปสู่การผลักดันให้กลไกรัฐขยับ

2.วิธีการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน

คุณเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองเชียงใหม่เริ่มเปิดประเด็นว่า  ประเด็นฝุ่นควันปีนี้หนักหนาสุดๆ  และได้รับผลกระทบหมดไม่ว่ารวยและจน  และเกี่ยวโยงกับหลายประเด็นที่ขับเคลื่อน ข้อสังเกตุถึงสิ่งที่ขาดคือความร่วมมือจากทุกฝ่าย รัฐ เอกชน ชาวบ้าน บางทีเรื่องฝุ่นควันหากหน่วยงานรัฐถ้าเริ่มแต่แรกคงไม่หนักหนา  แต่กว่าจะเริ่มสถานการณ์ผ่านไปแล้ว รัฐไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี  เครือข่ายฯได้เสนอให้ติดน้ำฝอยให้ความชุ่มชื้น  ซึ่งภาคเอกชนที่ร่วมมือมี 17 รายเท่านั้น  ดังนั้นการวางแผนล่วงหน้าสำคัญ  อีกประเด็นที่สังเกตุคือ ค่าฝุ่นอันตรายสุดๆ แต่คนยังไม่ตระหนัก เนื่องจากไม่มีความรู้มากพอ  เลยมองว่าถ้าวางแผนและร่วมมือกันที่ดี ในวิกฤอาจเป็นโอกาส เช่นวันนี้ที่ทำให้หลายคนอออกมาแสดงความคิดเห็น สิ่งที่ต้องช่วยกันทำคือมาตรการที่เราควรทำในส่วนของเราภาคเมืองที่จะทำได้ก่อน ช่วยเหลือตัวเองเช่น ติดน้ำฝอย ปลูกป่าหรือจะช่วยให้สถานการณ์ดีกว่านี้  เพราะถ้ารอว่าจะเลิกเผาเมื่อไหร่คงอีกนาน ขณะเดียวกันต้องไม่ให้กระแสตก โดยอยู่ที่เราว่าจะแสดงพลังและตัวตนเออกมาต้องช่วยกันให้ต่อเนื่อง  ประสบการณ์คือหลายเรื่องถ้าเรานำเสนอแล้วไม่ติดตามเรื่องจะหาย

คุณรุจิรัตน์ สุวรรณสัย จากลุ่มล่ามช้างเล่าว่าได้ทำงานร่วมกับทีมวิชาการ โดยนำแผนที่การใช้พื้นที่ภาคเหนือตอนบน เทียบกับจุดความร้อน ดาวเทียมเผาไหม้ พบว่า 80 % อยู่ในพื้นที่ป่า อีก 20 % อยู่ในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวคือไร่ข้าวโพด  ส่วนการเผาไร่นาน้อยมาก  ซึ่ง 2 ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ชุมชนขับเคลื่อนเองไม่ได้ โจทย์การเผาไหม้ในป่าและไร่ข้าวโพดนั้น  ในพื้นที่ไร่ข้าวโพดน่าจะง่ายกว่าเพราะอยู่ในที่แจ้ง แต่ต้องใช้มาตรการของรัฐบังคับ  แต่ในป่ามีความซับซ้อนหลายอย่างมาก  คนบอกว่าเป็นการหาของป่าเป็นตัวร้าย แต่ในป่ามีการเผาทั้งเพื่อให้พื้นที่เสื่อมสภาพแล้วปลูกพืชไร่ก็มี  การหาของป่า ล่าสัตว์ก็มี การเผากลั่นแกล้งกันก็มี การจะแก้ปัญหาจึงจะบอกสูตรสำเร็จไม่ได้ ต้องโฟกัสไปในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด แล้วหาโมเดล 5-6 แบบแก้ไข  รากของปัญหาเกิดจากเขายากจนจนต้องทำและไม่รู้ว่าพิษภัยเกิดขึ้นกับคนทั้งหมด ประสบการณ์ของกลุ่มล่ามช้างทำเรื่องกฏหมายโรงแรมที่ไม่เป็นธรรมกับคนตัวเล็ก เลยทำกับรัฐบาล คือก่อนหน้านี้ได้ประสานทีมพรรคพลังประชารัฐ ให้เขาลงในพื้นที่ และให้ข้อมูล ซึ่งตนไม่อยากให้มองว่าเป็นการเมือง แต่เป็นภาคส่วนหนึ่งที่ต้องทำงานเรื่องนี้เพราะอยู่ในรัฐบาล  และไม่ว่าจะพรรคอะไรก็ตามก็ต้องทำงานด้วย โดยพรรคพลังประชารัฐ ได้ตั้ง ดร.กอบศักดิ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการมาทำงาน ซึ่งตนได้ขอว่า ให้เป็นคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน เพระภาครัฐไม่มีข้อมูลมากเท่าประชาชนในพื้นที่ เลยเสนอต่อวงนี้ว่า ถ้าเราจะจัดตั้งเป็นภาคีชั่วคราวหรือเฉพาะเรื่องก็ได้ แต่ขอให้ผลักดันเรื่องนี้ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วยเป็นอีกช่องทางหนึ่ง

“ส่วนการจะทำให้เรื่องนี้ต่อเนื่อง ผมเห็นว่าถ้าเราทำงานลักษณะร้องขอความช่วยเหลือหรือทำให้เขาทำงาน  เราจะหวังไม่ได้ เพราะทำแบบนี้มานานและไม่เคยสำเร็จ เราต้องรวบรวมปัญหาและเทคแอคชั่นก่อน และเรากดดันไปที่รัฐบาล แต่ถ้าขอให้เขาแก้ปัญหา เขาจะปัดไว้ทีหลังอ้างว่ามีปัญหามากมาย เราหาทางเดินด้วยตัวเอง”รุจิรัตน์กล่าว

อ.เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีฮักเชียงใหม่กล่าวว่า  ปี 2547  ปัญหาฝุ่นควันเริ่มต้นแต่ช่วงนั้นการเผาตอซังไม่มากแต่มีแนวโน้ม ตนมีบทบาทเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเกษตรในปี  47-58  ติดตามงนวิจัยที่รัฐบาลไทยไปช่วยพม่า ลาว พบเห็นการปลูกข้าวโพดมากมายมหาศาล ในบ้านเราก็ปลูกแพร่ น่าน แม่แจ่ม และมีการเผาตอซัง ขยายพื้นที่ ราคาเมล็ดข้ามโพดอาหารสัตว์ 3 บาท จนราคา 7 บาท มีการบุกรุกป่าสงวน ได้ประสานรัฐบาลในการแก้ไข  เสนอสภาวิจัยแห่งชาติ ช่วงนั้นเน้นควบคุมการบุกรุกพื้นที่ป่า  แต่ปัจจุบันชัดเจนว่าสาเหตุฝุ่นควันเป็นปัญหาระดับภูมิภาค เหมือนอินโดนเซียเผาป่าลอยมาปักษ์ใต้ ดังนั้นโจทย์ระหว่างชาติจะจัดการอย่างไรได้หรือไม่ ส่วนปัญหาภายในเรามาตรการและวิธีการที่มีแต่รัฐบาลไม่เอาจริงเอาจัง ถ้าเอาจริง เราจะตำหนิไม่ได้เต็มที่  แต่นี่ทำไม่เต็มที่ไม่จริงจัง ต้องผลักดันให้ทำจริงจัง ส่วนการประสานระหว่างเครือข่ายฯเห็นว่ายุคสื่อสื่อสังคมออนไลน์สามารถทำให้การรวมกลุ่มหรือการสื่อสารทำได้ง่ายมากขึ้น

ตัวแทนศิลปินเสนอว่าควรจะ 1.มองไปข้างหน้าโดยตั้งองค์กร ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐหรือพรรคการเมือง กำหนดคนที่จะดำเนินงานให้ชัดเจน 2.ระดมทุนกับภาคธุรกิจต่างๆในเชียงใหม่ ในส่วนตัวจะจัดแสดงงานศิลปะและมอบเงินให้องค์กรที่จะเคลื่อนเรื่องนี้ 3.สร้างนวัตกรรมใหม่ในป่า และ 4.กระตุ้นให้ถึงระดับโลก

ดร.ณัฐสิทธิ์ ศรันรักษ์ เครือข่ายแก้ไขปัญหาหมอกควัน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ปัญหาที่ผ่านมาเห็นว่าคนเชียงใหม่เคลื่อนมานาน ในปี 2562 ปัญหาล่วงเลยมา เมื่อกลับมา เลยรวมเครือข่ายฯ โดยเห็นว่า บ่ต้วงบ่ได้แล้ว ล่วงเลยไป AQHI สูงมาก เลยมาคุยกันในหมู่ประชาชนและนักวิชาการเมื่อ 18 มีนาคม 2562 มีข้อเสนอ และยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัด  โดยภารกิจตัวแทนที่คอยบันทึกและหาวิธีแก้ไขปัญหา 3 ระยะ เร่งด่วน คือขอประกาศภาวะเร่งด่วน  และสนับสนุนส่งเสริมอุปกรณ์ เสบียงคนทำงาน  ซึ่งระยะนั้นทำได้ประมาณนั้น เพราะเห็นว่าทำงานแทนเราหนักมาก  และไม่ขอรับเงิน ขอเป็นอุปกรณ์มากกว่า นอกจากนั้นก็ข้อเสนอระยะกลาง และระยะยาว

“ผมขอเล่าถึงข้อสรุปงานวิจัยหลายๆงานทั้งไทยและต่างประเทศ พิษของหมอกควันเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 คือเกิดแน่ๆ  คนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1  ความรุนแรงเหมือนอายุของเราลดลง 4 ปีขณะที่จังหวัดอื่น 1-1.5 ปี  ในม.ช.เองก่อนสงกรานต์ มีการจัดตั้งศูนย์รวบรวมวิชาการด้านหมอกควัน และการประชุมแก้ไขปัญหาต้องเป็นเชิงพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน  หมอกควันคือมลพิษคือไม่เติมสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ด้งนั้นจะเกี่ยวข้องแม้กับผังเมือง การจราจร  ส่วนข้อเสนอทางออกที่เสนอระยะยาวในระดับนานาชาติ  มีทางเลือ 2 ทางคือ เป็นผู้ร้ายหรือพระเอก  ถ้าจะพลิกจากการแก้ไขปัญหาหมอกควันให้เป็นต้นแบบของโลก  หรืออีกทางหนึ่งจะเป็นตัวร้ายแน่ๆ ถ้าเราไม่สนใจใยดีปัญหานี้   เมื่อปีที่แล้ว WHO ตั้งกลุ่มว่าจะมอบอากาศแบบนี้ให้ลูกหลานหรือไม่ และตั้งเป้าหมาย 2030 ว่าเป็นปีของ SDG  กำหนดไว้โดยนักวิทยาศาสตร์ที่กำหนดไว้ว่าเป็นเวลาของอนาคตที่ย้อนกลับไม่ได้”

คุณพัชรี อาจหาญ ตัวแทนกลุ่มธุรกิจโรงแรม เสนอว่า ปัญหาหมอกควันมีองค์ประกอบคือ พื้นที่ คน  แต่การจะขับเคลื่อนไปก็ต้องอาศัยผู้นำ เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งคงจะหลุดจากภาครัฐไม่ได้ แต่ในส่วนของพวกเราก็เห็นด้วยว่าจะต้องตั้งองค์กรมาร่วมมือ แต่ภาครัฐก็ต้องมาร่วมโดยมีหน้าที่ผลักดันให้เป็นนโยบายหลักของประเทศ ของจังหวัดต่างๆในภาคเหนือ ไม่เงียบเมื่อฝนมา ดำเนินการต่อเนื่อง เราจะไม่เงียบ โดยคอยกระตุ้นร่วมมือทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการวางแผนโครงการ หน่วยงานต่างๆ ต้องมาร่วม ผู้ว่าเป็นผู้ประสานงาน  มหาดไทย เกษตรคุยกันใหม่ว่าพืชอะไรจะทดแทน เช่นภาคเกษตร มีการเปลี่ยนวิถีชีวิตการปลูกพืชแทนการปลูกข้าวโพด  หรือการให้การศึกษาความรู้ด้านฝุ่นควันกับเยาวชน  สาธารณสุขต้องใช้ความรู้ ภาครัฐต้องทำ เราคณะทำงานต้องทำเชิงรุก กระตุ้นให้ภาครัฐว่าจะทอดทิ้งเราไม่ได้ เช่น คนที่เข้าไปดับไฟ อุปกรณ์ดับไฟที่มีประสิทธิภาพไม่มี เราปล่อยให้คนตายได้อย่างไร ดังนั้นภาคประชาชนจะต้องทำงานเข้มข้น ดึงศักยภาพของภาครัฐออกมา เช่น สำนักงานสาธารณสุขจะมาบอกแค่สถิติคนป่วยไม่ได้  แต่เขาต้องทำอะไรอีก ให้ความรู้ประชาชน เชื่อมเครือข่าย อสมหรือไม่ นอกจากนั้นอยากให้เชื่อมเครือข่ายภาคส่วนอื่นด้วยเช่นภาคท่องเที่ยว ปีละ 4 หมื่นล้านกำลังจะล่มสลาย  และเครือข่ายจังหวัดอื่นๆ ที่เกิดเหตุเช่นกันด้วย เช่นที่  แม่ฮ่องสอนรุนแรง  อยากให้สร้างเครือข่ายทุกระดับ  ประสานกับจังหวัดทั่วภาคเหนือ

ครูแบลล่า จากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกล่าวว่า อารมณ์ของเชียงใหม่เป็นรถยนต์พร้อมขับเคลื่อนไป ขาดน้ำมัน คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่คนในเชียงใหม่เดือดร้อนมาร่วมกัน เสนอให้รวมตัวกันสื่อสารลักษณะม็อบที่มาจากความถูกต้องของการเรียกร้อง เช่น สื่อสารไปว่า  เชียงใหม่ต้องการผู้ว่าฯ ที่รู้งาน และการที่จะไปเสนอก็ไม่ได้ต้องการให้มีความรู้สึกว่าเราเอาแต่เรียกร้อง แต่เรามีข้อมูลพร้อมจะช่วยทำงาน  โดยให้ผู้ว่าฯ ฟังโจทย์คนเชียงใหม่ แล้วอยากมาช่วยคนเชียงใหม่ เป็นพลังให้รถเราเคลื่อนไปได้มากกว่า

คุณปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ กล่าวว่า  ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นว่าเมื่อมีไฟ ก็ต้องดับไฟ เลยรวมกลุ่ม ทีมช่วยเพื่อนดับไฟ บริจากสิ่งของช่วยเหลือเป็นกำลังใจคนทำงาน  ซึ่งทำให้รับทราบปัญหาจากเจ้าหน้าที่ทำให้ชัดเจน ยิ่งขึ้นว่ากระทรวงมหาดไทยจะต้องส่งผู้ว่าแบบไหนมาอยู่เมืองรองจากกรุงเทพ  เมืองที่มีนักวิชาการ เมืองที่มีชนชั้นกลางพร้อมที่จะส่งเสียงและลงมือแก้ไขปัญหาเมือง  เมืองที่เศรษฐกิจอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว เมืองที่มีผู้พำนักระยะยาวจากทั่วโลกที่ต้องการจะอยู่ในเมืองอากาศสะอาด   ผู้นำหรือผู้ว่าฯที่มาอยู่ต้องมีอายุงานมากกว่า 1 ปี เพื่อให้มีโอกาสแก้ปัญหาเมืองอย่างแท้จริง มี

คุณมนตรี วงษ์เกษม กล่าวว่าเรามาจากหลายส่วนและทำทุกอย่างมาแล้ว  แต่สิ่งสำคัญคือต้องการผู้นำจากภาคประชาชนที่จะผลักดันร่วมกันต่อเนื่อง  เห็นว่าการไประดมบริจาคอาจเป็นอีกวิธีการ แต่อาจเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่โจทย์หรือต้องกดดันต้นสังกัดให้ทำงาน ให้ส่งอุปกรณ์ดีดีให้คนทำงาน

คุณโซไรดา ซาลวาลา สมาชิกสมัชชาสิ่งแวดล้อม    กล่าวว่า อยู่จ.ลำปางได้รับผลกระทบทุกปี ตนเองเป็นผลพวงของปัญหาซึ่งปัจจุบันป่วนทั้งโรคหัวใจและทางเดินหายใจ ต้องการมาสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชนและร่วมมือกัน

ดร.จอห์นนพดล  วศินสุนทร พูดถึงกลยุทธ์ในการเคลื่อนของภาคประชาชนว่า  ไม่เห็นด้วยว่าจัดทำองค์กรอะไรเพิ่ม  เนื่องจากมีเยอะและภาคประชาชนมีหลายหน้าที่ เครือข่ายที่มีจิตอาสา มีความสามารถหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องเจอกันบ่อยๆ   มีมาตรการเรื่อยๆ กำหนดวิธีการ มีกิจกรรม โดยตนยังเห็นว่า การทำงานกับหน่วยงานรัฐ หรือส่วนการเมืองมีความสำคัญ ตนเองก็เคยเสนอตัวลงภาคการเมือง แต่ต้องมองเชิงบวก ว่าเขามาต้องช่วยสังคม ทุกพรรค  ส่วนประชาชนจะเลือกหรือไม่เลือกตัดสินใจเอง ส่วนการขับเคลื่อนเห็นว่า  ทุกคนลงมือทำ แต่ความพร้อมไม่เท่ากันไม่เป็นไร เพียงแต่เราไม่ทำสะเปะสะปะ  รววมกลุ่มกำหนดทิศทางและก้าวไปพร้อมๆกัน ช่วงฝุ่นควันมา รวมกลุ่มหากลยุทธ์  แต่ถ้าเราทำแบบสะเปะสะปะ  แต่ถ้ารวมกุ่มจะกำหนดทิศทางและเล่นไปพร้อมกันในแต่ละประเด็น และจังหวะที่เหมาะสม  เช่นการทำม็อบ ตนเห็นด้วย แต่ขยายความวิธีการคือ เมื่อต้องการให้สังคมสนใจประเด็นนี้ สามารถทำได้หลายวิธีการ เช่น อาจารย์ออกข้อมูลให้ประชาชนรู้  การสื่อสารเป็นระยะ  รวมกลุ่มกันต้องทำให้ถี่ ยกระดับความเคลื่อนไหว  ร้องป่าวตามสไตล์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่นต้นเดือนจะมีงานพระราชพิธี การรวมกลุ่มอาจไม่เหมาะ ก็หากิจกรรมที่เหมาะสม เมื่อผ่านพ้นงานพระราชพิธีอาจสื่อสารอีกลักษณะ ที่สำคัญด้านการสื่อสารทุกคนมีมือถือสามารถผลักดันและสื่อสารได้เลย

คุณชัชวาลย ทองดีเลิศ เสนอว่า  1.ตั้ง Warroom เลย เนื่องจากขณะนี้ เครือข่ายเกิดขึ้นแล้ว คนหน้าเดิมและหน้าใหม่ ที่เห็นว่าใครทำอะไร แต่คณะที่วางแผนกำกับการขับเคลื่อนยังขาด น่าจะมีอาสาสมัคร1 ชุดมา  โดยทำเนื้อหา เช่นแผนลดมลพิษ แผนเพิ่มพื้นที่สีเขียว

2.การจัดกระบวนการการมีส่วนร่วม เสนอว่าในส่วนของชุมชนถ้าเรามองด้านลบย่อมเป็นศรัตรูกัน  การเผาเกิดในป่าอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ไม่พอ มีปัญหากับประชาชน  กระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนทุกระดับ หมู่บ้าน อสม.อปท. สำคัญต้องมีคณะหนึ่งไปดูระบบการมีส่วนร่วมนหมู่บ้านถึงจังหวัด

3.ภารกิจกดดันรัฐให้ทำหน้าที่เต็ม 100   ตอนนี้ทำแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ไม่พอ จะกดดันรัฐให้ทำตามสิ่งที่ควรจะทำ เป็นระยะ ให้ทำตามแผนที่ประชาชนวาง

4.ดันวาระแห่งชาติ ระดับประเทศและต่างประเทศ ให้เชียงใหม่เป็นโมเดลการแก้ไขปัญหาหมอกควัน

คุณชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล นักธุรกิจกล่าวว่า วันนี้เชื่อว่าทุกคนหวังดีกับบ้านกับเมือง จะไม่พูดสิ่งที่เคยทำ อยากพูดสิ่งที่ควรทำ ไปข้างหน้า เห็นว่าวงวันนี้น่าจะกรุ๊ปสิ่งที่จะต้องพูดคุยในอนาคต 1-5 เรื่องอะไร แล้วนำแต่ละเรื่องมาคุยเป็นเรื่องเป็นราวในรายละเอียดต่อไป

คุณธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ  เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกล่าวว่า ปัญหาในเชียงใหม่มีหลายประเด็น  เช่นการตัดต้นยาง ล่ามช้าง ต้นปูน ป่าแหว่ง  จุดร่วมสำคัญคือความห่วยของรัฐ  โอกาสดีที่ภาคประชาชนได้รวมกัน แต่ปัญหาของเชียงใหม่คือคนเก่งเยอะ  เราเห็นความตั้งใจ เราน่าจะจัดตั้ง ให้ได้ 1 เรื่อง ว่าใครจะเป็นแกน คราวหน้าเอาอย่างไร ตั้งองค์กร ให้เป็น war room ต่อไปนัดกับบ่อยขึ้น

คุณวีรวิทย์ จากกลุ่มล่ามช้าง กล่าวว่า เราทุกคนทราบปัญหา ตอนนีแต่ละหน่วยงานประชุมกันมากมาย  พอมีกระแสแรงขึ้น ก็จะมีประชุมนั่นนี่ คำถามคือมีการประชุมกันเพื่ออะไร ทำทำไม หลังประชุมมีการติดตามอะไรไหม หรือประชุมเพื่อเอางบมาใช้  แต่วงวันนี้เป็นการเสวนาโดยชาวบ้านที่ตั้งใจจะทำงานจริงๆ  สำหรับตัวเองข้อเสนอที่เอาภาครัฐ และภาคการเมืองเข้ามาร่วม  ตนเห็นด้วย เพราะเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไข เรารวมกันถ้าเขาไม่รับฟังจะทำอย่างไร ในกกร. ผมไปนั่งประชุมเสนอข้อมูลเพื่อเข้า ครมสัญจร เสนออะไร ผู้ว่าฯ ตีตก ทั้งที่เป็นความเป็นจริง เป็นเรื่องเดือดร้อน เป็นปัญหาของเมือง เมื่อเป็นแบบนี้จะตั้งเราขึ้นมาทำไม จึงเห็นว่าจะเสนอถึงนโยบายจะไม่ผ่านข้าราชการเป็นอีกช่องทางหนึ่ง สิ่งที่ได้ทำไปคือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำทีม ดร.กอบศักดิ์ไป ต.ยั้งเมินเพื่อคุยกับชาวบ้าน  เมื่อเขาเห็นสภาพความเป็นจริง เขาพร้อมจะช่วย   วิธีการคืออะไร  เราติดปัญหาอะไร จนท.ภาครัฐหรือไม่  ดังนั้นในการแก้ปัญหาภาคนโยบาย มีโอกาสโดยตรงเสนอได้ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนราชการแล้วโดนตีตก

คุณวีรวิทย์ กล่าวว่าระยะเร่งด่วน ทำอะไรได้ทำทันที แม้การช่วยเหลือคือปลายเหตุ  ด้านของเครื่องฟอกอากาศ ทำประชาสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ประกอบการธกิจ รับบริจาคได้เงินมาทำทันที   ขั้นตอนต่อมา เสนอทำกฏหมายอากาศสะอาด ซึ่งสามารถทำได้เมื่ออยู่ในภาคนโยบาย ก็ผลักดันผ่านกลไกทีมการเมืองเคย

“เราเคยทำมาหลายอย่าง แต่ติดขั้นตอนราชการ  ทุกวันนี้เสนอไปถึงจังหวัด  ถ้าจังหวัดไม่ผ่าน ไม่มีทาง แต่ถ้าเราแทงทะลุไปได้กับทางนโยบายได้ จะรวดเร็ว ถ้าเขารับปาก   ผมไม่ฝักฝ่ายพรรคการมือง ผมเป็นชาวบ้านที่ประสบกับปัญหา พรรคใดก็แล้วแต่ มาทำปฏิญญานกันไหม  เอกชน  ราชการ ทุกภาคส่วนทำให้ถาวร  การแก้กฏมายหรืออกกฏหมายใช้เวลาแต่ทำได้    สิ่งที่คุยกันทุกคนมีจุดหมายเดียวกัน แต่ช่องทางไหนเร็วที่สุด สำเร็จไดคือสิ่งสำคัญ”

ตัวแทนเครือข่ายม้ง ดอยปุยกล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนเห็นไฟข้างบน แต่เจ็บที่ใจ  เราไม่เข้าใจไฟ  ผมเคยมาพูดให้นักศึกษาฟัง ตั้งคำถามว่าในที่นี้มีใครไปดับไฟมาแล้ว ไม่มีสักคน  ผมทำเรื่องสิ่งแวดล้อมบนดอยสุเทพมี 30 กว่าหน่วยงานอยู่ หลายมหาวิทยาลัย แต่ทำไมเราไม่ได้ความสำคัญ    ถ้าจะเดินต่อคนต้องมีส่วรวม เราต้องพูดถึงหลายอย่างกล้าไหม หมู่บ้านผมเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวตายตั้งแต่วันประกาศ ตัวชี้วัดชัดเจน องค์กรต่างๆ ช่วยทำข้อมูลความเสียหายเท่าไหร่  งบประมาณเพื่อไฟป่ามีเท่าไหร่ ทุกวันนี้เราจะไปบอกชาวบ้านจะไม่เข้าใจ คนปลูกข้าวโพดไม่ได้มานอนโรงแรมในเมือง  ในพื้นที่มีคนเข้าไปขายปุ๋ยขายยาให้คนมีเป้า ใครขายได้ 80,000  ไปจีน  40,000 ไปภูเก็ต 20,000 ไปเขื่อนเป็นต้น  และการทำงานจัดการในพื้นที่เป็นเรื่องของหน้าที่และสิทธิ์ เช่นถ้าไม่ได้ทำแนวกันไฟหรือไปดับไฟด้วยกันมีการปรับค่าแรงที่ไม่ได้ร่วมเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจในสำนึกและหน้าที่

คุณเดอะจิ๊กกุ้ง เสนอการทำงานให้มีการตั้งกลุ่มออนไลน์เพื่อรวบรวมประเด็น มีคนดูแล สรุปความเห็น แทนที่จะต้องมาประชุมรวมกันบ่อยๆ  แต่สามารถเข้าไปอ่าน ให้ความเห็นได้ จะได้สะดวก อีกเรื่องคือ เชียงใหม่มีทรัพยากรหลายอย่าง ประเด็นอื่นๆกระแสยังไม่ชัดเจน    สร้างกระแส มีกลุ่มหรือทีมทำสื่อที่จะรวมประเด็นมาเสนอ  โดยมีความคิดแล้วมีแรงผลักดันในการทำ โอกาสจะขับเคลื่อนเป็นไปได้ เรื่องทรัพยากร น่ามีพอที่จะจัดการ ปลุกกระแสขึ้นมา เช่นหมอกควันสามารถจัดการได้  แต่ผู้ว่าหรือผู้นำ  ที่เข้ามาทำหน้าที่ไม่กี่เดือน เหมือนคนขับรถ แต่เราเป็นเจ้าของรถ จะเอาชีวิตไปฝากเขาทั้งหมดหรือ  บางคนเกียร์ว่าง  เราก็ลำบาก หน้าที่เราคือระดมควาเมห็นและสร้างกระแสใช้สื่อออนไลน์ได้

คุณสุรีรัตน์ ตรีมรรคา  เครือข่ายด้านสุขภาพ กล่าวว่ามีสมาชิกที่ทำงานใกล้ชิดกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ สิ่งที่จะทำคือ 1.สื่อสารสร้างความเข้าใจฝุ่นพิษ และนำเสนอ แม้เพียงเรื่องหน้ากาก ทำอย่างไรให้คนใส่หน้ากาก จะมีวงประชุมจัดพูดคุยเสนอโครงการ เพราะคนยังไม่เข้าใจอันตราย  2. คู่มือการบริจาคคิดว่าสำคัญที่จะได้เตรียมแผนว่าจะบริจาคอะไร และ 3.สิ่งที่อยากทำคือกำหนดสเป็คผู้ว่าฯ  เป็นเรื่องท้าทาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องทำ และ 4.  เมื่อม.ช.อาสามัครเป็นศูนย์รวมข้อมูล อยากให้ทำจริงจังร่วมกับหลายมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพื่อที่ประชาชนจะได้ใช้ถังข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อไป

คุณชาญยุทธ  มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ  เล่าว่า ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีหน้ากากไม่ใส่  ต้องสร้างความตระหนักต่อเนื่องโดยร่วมกับสาธารณสุข  และจะสรุปบทเรียนที่ทำงาน  จะมีวิธีการจัดการอย่างไร เช่นที่โป่งน้ำร้อนมีป่าชุมชน จะต้องรักษาอย่างดี จะไปถอดบทเรียนเรื่องการจัดการไฟป่า และขยายผลภัยพิบัตอื่นๆ สร้างความตระหนักต่อเนื่อง และน่าจะมีภัยพิบัติอื่นๆ เช่น  น้ำท่วมเชียงใหม่ น่าจะศึกษาพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เวทีต่างๆ ขอเชื่อมโยงกับ ม.ช. วิเคราะห์ลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ว่ามีพื้นที่เสี่ยงอะไร เพื่อทำแผนระยะยาวเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ

คุณวิทยา ครองทรัพย์ ตัวแทนภาคเอกชน ที่จัดทำกรอบแนวคิดเสนอต่อรัฐบาลเล่าแนวคิดที่ระดมจากหลายเวทีเล่าความคืบหน้าว่า   วาระแห่งชาติประกาศเมื่อ กพ. 62 แต่รายละเอียดไม่มี  ที่เสนอไปคือน่าจะมีศูนย์บริหารภาพรวมของภาคเหนือ  รายละเอียดเมื่อมีแนวคิดหลักแล้ว การแก้ไขไปตามบริบทพื้นที่ต่างๆ  ตั้งกรอบไว้ว่า พ.ค. – ธ.ค. ต้องทำ   ต่อมาเป็นเรื่องของกฏหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังไม่มี ควรมีการตั้งคณะทำงาน ปัจจุบันมีผู้ร่างบ้างแล้ว  พรรคพลังประชารัฐรับปากจะทำใน 2 เดือน  ส่วนกลไกการแก้ไข  จากการระดมความคิดเห็นพบว่าหากชนเผ่าคือปัญหาการเผาป่า ป่าหมดประเทศไปนานแล้ว เขาต่างหากที่รักษาป่า มีภูมิความรู้ต่างๆ และคนชนบทใกล้ป่าที่ได้รับประโยชน์จากป่าด้วย แต่ภายหลังมีเงื่อนไขทำให้ป่ากับชาวบ้านห่างกัน  ดังนั้นชุมชนจึงเป็นกลไกหลักในการแก้ไข ปัญหาทุกอย่างที่หยิบขึ้นมาต้องไม่ตำหนิ  หากใช้อำนาจ กฏหมาย จะเป็นคนอาละวาดเสมอ เราต้อเริ่มต้นไม่ตำหนิใคร ใจเย็น แม้จะอึดอัดก็ตาม

ควรตั้งคณะทำงานค้นหาสาเหตุ ในและนอกประเทศ เพราะทุกวันนี้เรามีหลักฐานอะไร ว่าไฟเกิดจากอะไรไหม   ตรงนี้จำเป็นต้องมีการค้นหาหรือไม่ วิชาการมีมากพอจะช่วยกันไหม เมื่อเจอสาเหตุจะเจอการแก้ไขที่ถูกต้อง ควัน เผาอุตสาหกรรม เผาชาวบ้าน ไอเสียดีเซล และเชื้อเพลิงในป่าที่ต้องบริหาร

ตั้งคณะทำงานเยียวยาในแต่ละปัญหา เช่นที่เราเจอปัญหา เชิญผู้มีส่วนได้เสียมาคุย เยียวยาเกษตรกร  วิถีชาวบ้าน ถ้ามีอะไรที่ดีกว่า เขายินดี  อยากมีรายได้เหมือนเดิมแต่ไม่เผาก็มาร่วมมือกัน ภาคเมืองและชนบทเอื้อมมือหากัน เช่น หากสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนว่า สินค้าที่ผลิตจะได้รับความช่วยเหลือ  เช่นบางพื้นที่เป็นโฮมสเตยจะมีจิดอาสาไปช่วยเหลือ  ขอบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่สามารถจับคู่ 1 ชุมชน 1 บริษัท คนเกี่ยวข้องได้รับโอกาสด้านการทำงานอย่างไร เป็นต้น  และถัดมาคือฝุ่นควันจากไอเสีย ดีเซล แม้ไม่เยอะ แต่ก็ใช้กฏหมายเคร่งครัดจัดการได้    การจัดการเชื้อเพลิงในเขตป่า ก็จะต้องทำ  และการบริหารงบในการรักษาป่า เปลี่ยนจากเผาเยอะได้งบเยอะ เปลี่ยนไปไม่เผาได้งบเยอะ เป็นต้น

คุณอภิวัฒน คุณารักษ์ อดีตข้าราชการด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า อุปสรรคสำหรับราชการ คือ แต่ละคน แต่ะลองค์กรมีอาณาจักรของตนเอง การไปล่วงล้ำอาณาจักรไม่ใช่เรื่องง่าย ภาคประชาชนต้องเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันแก้ไข ตนเสนอให้มีศูนย์ประสานงาน  สถาบันวิจัยสังคมทำได้หรือไม่ และภาคประชาชนไปร่วมมือ และเสนอให้มีระยะเวลา เตรียมความพร้อม ปฏิบัติการป้องกัน และเผชิญเหตุ  ส่วนเรื่องทุน รัฐบาลเงินมหาศาล แต่ไม่คล่องตัว  แต่โอกาสเอามาใช้เขามีกฏหมายมีระเบียบเงื่อนไขมาก  เอกชนทำลักษณะกองทุนจะคล่องตัวกว่า

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากกลุ่มล่ามช้าง  เห็นว่าภาประชาน เป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองกฏหมาย ไม่กลัวหน่วยงานรัฐ    ผู้ว่าที่จะมาเป็นผู้ว่าเชียงใหม่  จะต้องไม่มารอเกษียณย ไม่มาแค่ออกสังคม ไม่เอามากินโควต้าล็อตเตอรี่

คุณคำศรีดา  แป้นไทย ตั้งข้อสังเกตุกว่า ต้องการคำอธิบายจากรัฐว่าไฟที่เกิดในป่าสงวนปีนี้มากมาย มีนัยยะแอบแฝงหรือเบี่ยงประเด็นจากการปลูกข้าวโพดด้วยหรือไม่   มหาดไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพย์ฯ ต้องตอบให้ได้  และปีนี้ไทยมีบทบาทในอาเซียน แต่ปัญหาฝุ่นควันมียาวนานมากกว่า 10 ปี ได้ทำอะไรบ้าง ทำอะไรแล้ว ประชาชาอยากทราบเพราะความเข้มข้นของปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน

ข้อสรุปจากวง เชียงใหม่จะไม่ทนครั้งที่ 1 คือ  ถ้าจะเดินไปข้างหน้า การจะไม่ทนแบบของประชาชนคือจะ รวมกลุ่มกัน

1.เชื่อมโยงประสานกันทั้งทางสังคมออนไลน์และพบกัน  มีกิจกรรมประชาชนต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละครั้ง  วงเชียงใหม่จะไม่ทน ในเรื่องเฉพาะ  เพื่อเสนอชุดความคิด ความเห็นของประชาชนที่มีต่อการแก้ปัญหาเมือง ซึ่งจะเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ได้ด้วยซ้ำ

2.ถอดบทเรียนภาคประชาชนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา อะไรควร ไม่ควร อะไรเคลื่อนไหวแบบไหนที่ปีหน้าจะต้องปรับปรุงแก้ไข  เช่น การบริจาค การทำงานร่วมเป็นต้น

3,ปฏิญญาประชาชน และกฏหมายสะอาด  เชิญทุกฝ่ายมาร่วมกันเป็นการ เชิญโดยประชาชน มีชุดข้อเสนอ 1-5 ข้อที่ทำงานร่วมกันมา

4.ข้อเสนอกำหนดสเป็คผู้ว่าฯน่าสนใจ ที่จะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนเสนอไปยังส่วนกลางว่าต้องการแบบไหน แต่เป็นเรื่องที่อาจยังพอมีเวลาพิจารณาให้ละเอียด

บัณรส บัวคลี่ โพสต์เฟสบุ๊คบอกถึงเจตนา หลังทำหน้าที่ผู้นำกระบวนการสนทนา #เชียงใหม่จะไม่ทน จบลง

“ในต่างประเทศที่เชื่อว่าประชาชนเป็นเจ้าของเมือง (แน่นอน ไม่ใช่ราชการหรือผู้บริหารที่เวียนกันมาอยู่) เวลาเกิดมีปัญหาอะไรกับเมืองขึ้นมา เขาจะเปิดสภาเมืองเพื่อให้ประชาคมชาวเมืองได้พูดคุย หารือ ถกเถียงหาทางออก บางครั้งมันก็สามารถได้ข้อยุติเอกฉันท์โดยไม่ต้องโหวตด้วยซ้ำไป เป็น Deliberative Democracy  การที่ประชาชนที่อึดอัดใจมารวมกันแบบวงเชียงใหม่จะไม่ทนบ่ายวันนี้ก็เช่นกัน บางท่านอยากระบายความอึดอัดก็ได้ระบาย บางท่านอยากเสนอความคิดก็ได้เสนอ  วงนี้ไม่สร้างกติกามากมาย มีกรอบกว้างๆ ต่อปัญหาที่เมืองเชียงใหม่เจอ ท่านมีข้อเสนอเชิงมาตรการอย่างไร ด้วยวิธีใด พยายามให้มองเป้าหมายอีก 8 เดือนเบื้องหน้า เมื่อฤดูฝุ่นใหม่จะมา  เพราะเราอยู่กับปัญหานี้มาเกิน 12 ปี รู้เช่นเห็นชาติกลไกแก้ปัญหาที่ไม่เอาจริง   ฝนมาก็เปิดตูดหายไป โยกย้ายเปลี่ยนคนใหม่ มาถึงก็งัดแผนเดิมๆ ทำกันไป ไม่ได้คิดแก้ให้จีรังยั่งยืน ……..กลุ่มคนเล็กๆ จะติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาล จะเคลื่อนไหวต่อเนื่องเท่าที่กำลังเล็กๆ ของเราทำได้ เพื่อกระตุ้นให้รัฐยกระดับมาตรการใหม่ ก่อนฤดูฝุ่นรอบใหม่จะมาเยือน  หมดฝุ่น ประเดี๋ยวเดือนหน้า เดือนหน้าโน้น ก็จะมีปัญหาของประชาชนใหม่ๆ ทยอยมาอีกแน่นอน มันเป็นวัฎจักรซ้ำซาก  โครงการรัฐชุ่ยๆ ที่ไม่บอกกล่าว นี่ประจำ  ซึ่งเราก็จะไม่ทนกับอะไรแบบนี้อีกแล้วเช่นกัน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ