รับมือ PM2.5 อย่างเข้าใจ ฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษที่คนไทยต้องเผชิญ

รับมือ PM2.5 อย่างเข้าใจ ฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษที่คนไทยต้องเผชิญ

รับมือ PM2.5 อย่างเข้าใจ ฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษที่คนไทยต้องเผชิญ

โดย…ผศ.ดร.ภัคพงศ์ พจนารถ
รักษาการแทนคณบดี คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นิด้า
.
ปีนี้คนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องปรากฏการณ์การเกิดฝุ่นละออง PM2.5 และปัญหาด้านสุขภาพที่จะตามมากันมาก ถึงขั้นหน้ากากอนามัยขาดตลาด เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตนเอง การที่สื่อให้ความสนใจและนำเสนอปัญหาอย่างจริงจัง ตัวแทนองค์การต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือบรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันเช่นเดียวกับฝุ่นละออง ออกมาแถลงการณ์ให้ข่าวๆเกี่ยวกับปัญหามลพิษ PM2.5 เท่าที่ผมผ่านตามา ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยหลักๆ มูลนิธิต่างๆ องค์การอิสระ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งนักวิชาการสังกัดองค์การและนักวิชาการอิสระ ต่างออกมาให้ข่าวกันแทบทั้งสิ้น เรียกว่าแย่งพื้นที่ข่าวรายวันกันเลยทีเดียว และต้องขอเรียนตามตรงว่า หลายๆข่าวก็ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมีประโยชน์ ส่วนอีกหลายๆข่าวก็สร้างความสับสนและชวนกลุ้มสำหรับคนที่ทำงานในวงการด้านมลพิษทางอากาศได้เหมือนกัน
.
อยู่ดีๆทำไมปัญหา PM2.5 มาเกิดปีสองปีนี้?
อันนี้ตอบได้เลยว่า เปล่าเลยครับ ปัญหาฝุ่นละอองในช่วงฤดูหนาวของ กทม. และปริมณฑล มีมาหลายปีแล้ว อย่างน้อยที่สุดผมมาทำงานที่กรุงเทพได้แปดปี ผมก็สังเกตเห็นมาทุกปี ถ่ายรูปเก็บไว้เกือบทุกปี รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง เรียกว่าเป็นปัญหามลพิษประจำฤดูหนาว ของ กทม. ได้เลยครับ แต่ที่เพิ่งมาตื่นตัวกันเมื่อปีสองปีที่ผ่านมาเพราะ ภาคประชาสังคมโดยผ่านทางสื่อและโซเชียลเนตเวิร์คมีการประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของ PM2.5 หรือฝุ่นละเอียด มีการเรียกร้องให้ภาครัฐเผยแพร่ข้อมูล PM2.5 และใช้เป็นเกณฑ์ตัวหนึ่งในการระบุค่าดัชนีคุณภาพอากาศหรือ AQI คราวนี้ภาครัฐเราเพิ่งมีการตรวจติดตามฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบเครือข่ายและรายงานต่อสาธารณะมาได้ไม่กี่ปีนี่เอง ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่เราวัดฝุ่นละอองรวม (TSP ซึ่งรวมฝุ่นขนาดใหญ่) และ PM10 หรือฝุ่นละอองที่เล็กกว่า 10 ไมครอน ดังนั้นค่าฝุ่นละอองที่รายงานในอดีตจึงเป็นค่า PM10 เสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมานี้ ภาครัฐเราก็ตัดสินใจ ใช้ค่า PM2.5 เข้ามาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณดัชนีคุณภาพในปีที่ผ่านมาแล้วนะครับ
.
สาเหตุมาจากอะไรกันแน่ รถยนต์ดีเซล การก่อสร้าง หรือปิ้งย่างหมูกระทะ?
ก่อนตอบปัญหานี้ ผมขอให้เรามองปัญหาฝุ่นละอองหรือมลพิษทางอากาศให้เป็นระบบนะครับ ระบบที่ว่านี้คือ ปัญหาฝุ่นละอองจะเกิดขึ้นได้ มันต้องมีองค์ประกอบสามอย่างคือ แหล่งกำเนิด ตัวกลาง (ซึ่งก็คือ อากาศและสภาพอากาศ) และผู้รับผลกระทบ ถ้าองค์ประกอบที่ว่าชัดเจน เช่น แหล่งกำเนิดมีมาก สภาพอากาศเป็นใจ ผู้รับผลกระทบมีเยอะ ปัญหาก็ยิ่งรุนแรงครับ ถ้าเรามาดูถึง แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 หลักๆก็ตามที่ข่าวรายงานนั่นแหละครับ ก็คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งถ้าเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล รถบรรทุก รถประจำทาง เรือ รถไฟ ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ได้ในปริมาณที่สูงทั้งนั้น แต่โทษดีเซลอย่างเดียวไม่ได้ครับ การเผาชีวมวล เผาถ่านเผาฟืน ปิ้งย่างเตาถ่าน การเผาไร่หลังฤดูเก็บเกี่ยว ไปถึงเครื่องยนต์เบนซิน โรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองจากพื้นดิน ถนนลูกรัง แหล่งกำเนิดเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้เกิด PM2.5 ทั้งสิ้นครับ การก่อสร้างที่พูดถึงกันมากก็มีส่วนในสองด้าน ด้านแรกคือมีการเปิดหน้าดิน ใช้ปูนใช้ทราย ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย แต่ก็เรียกว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลและการเผาชีวมวล แต่ด้านที่สองนี่น่าจะมีส่วนอย่างมากคือ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในถนนหลักหลายสายของ กทม. ทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น ยิ่งการจราจรติดขัดและเคลื่อนตัวได้ช้า PM2.5 ก็ยิ่งถูกปล่อยออกมาจากยานพาหนะได้มากกว่า สภาวะถนนที่ไม่มีการจราจรติดขัดครับ ถ้าจะเป็นวิชาการนิดหนึ่ง เราสามารถแยกประเภทแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่มาจากการจราจรได้สามประเภทครับ คือ 1) จากท่อไอเสียโดยตรง (รวมทั้งการรั่วไหลจากเครื่องยนต์) 2) จากการฟุ้งกระจายจากถนน โดยเฉพาะถนนพวกดินลูกรัง อันนี้ใน กทม. ไม่ค่อยมีนะครับ เราเรียกว่า Fujitive Dust ครับ และ 3) เป็นฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดตามขึ้นมาภายหลังจากมลพิษทางอากาศชนิดอื่นๆ อันนี้ถึงบอกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นดีเซล แต่เครื่องยนต์ต่างๆที่ปล่อยมลพิษทางอากาศก็มีศักยภาพในการทำให้เกิด PM2.5 ได้ครับ ในระยะหลังๆนี่ เริ่มมีการกล่าวถึง PM2.5 ที่มาจากการเสียดสีของผ้าเบรก หรือยางรถยนต์ด้วย แต่ส่วนตัวผมมองว่า ปริมาณผ้าเบรคกับยางรถยนต์ที่สึกหรอกไปในแต่ละปีของรถแต่ละคัน มันยังน้อยถ้าเทียบกับปริมาณน้ำมันที่รถยนต์ใช้ครับ
.
ทำไมถึงเป็นปัญหาประจำฤดูหนาว?
ถ้าเราบอกว่าสาเหตุหลักมากจากการจราจรขนส่ง แล้วทำไมหน้าฝนไม่มีปัญหา ทั้งๆที่การจราจรก็เหมือนเดิม ขอให้กลับไปมองที่ แหล่งกำเนิด ตัวกลาง ผู้รับนะครับ แหล่งกำเนิดที่มาจากการจราจรนี่ ทั้งปีแทบจะไม่เปลี่ยนอยู่แล้วครับ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาในฤดูหนาวก็คือ แหล่งกำเนิดประเภทการเผาชีวมวลที่มากขึ้นครับ แต่สาเหตุหลักมันอยู่ที่ตัวกลาง คือ สภาพอากาศในฤดูหนาวที่มีความกดอากาศสูง และมักจะเกิดสภาพอากาศนิ่งไม่ค่อยมีการระบายอากาศ ทำให้ฝุ่นละอองที่ถูกปล่อยมาแต่ละวันสะสมตัวขึ้นเรื่อยๆครับ อันนี้ต่างจากหน้าฝนที่มีการระบายอากาศที่ดีครับ มลพิษทางอากาศต่างๆในหน้าฝนจะเกิดการยกตัวขึ้นไปในบรรยากาศระดับสูงขึ้นด้วยการพาความร้อนของอากาศ รวมทั้งฝนที่ตกในปริมาณเป็นประจำก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองไปได้ครับ ดังนั้น ถ้าแหล่งกำเนิดยังเป็นอย่างนี้ สภาพอากาศยังเป็นอย่างนี้ เราก็จะเจอปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างนี้ไปเรื่อยๆในอนาคตครับ
.
สาเหตุอย่างอื่นมีหรือไม่?
มีครับ อย่างมลพิษข้ามพรมแดนก็เป็นไปได้ แต่เนื่องจากฝุ่นละอองเป็นอนุภาค มีมวลมากกว่ามลพิษทางอากาศที่เป็นก๊าซ ดังนั้นการแพร่กระจายในระยะไกลมาจากต่างประเทศถึงขั้นเกิดปัญหาในอีกประเทศหนึ่งจะมีโอกาสค่อนข้างต่ำครับ ยกเว้นว่าเป็นแหล่งกำเนิดที่ใหญ่มากๆและสภาพอากาศเอื้ออำนวย อย่างเช่น ไฟป่าในอินโดนีเซียในบางปีที่รุนแรงและส่งผลกระทบภาคใต้ของเรา หรือ หมอกควันในภาคเหนือที่มาจากแหล่งกำเนิดระดับภูมิภาคทั้งในไทย พม่า ลาว รวมๆกันนั่นแหละครับ เมื่อสองสามวันก่อน มีข่าวที่มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ใช้ข้อมูลดาวเทียมของจำนวนจุดร้อนที่พบมากช่วงนี้ในกัมพูชาและทิศทางลม แล้วสรุปว่า ฝุ่นละอองส่วนใหญ่ใน กทม. และปริมณฑล มาจากประเทศกัมพูชา อันนี้ผมเห็นว่าท่านด่วนสรุปไปหน่อยและคงไม่สามารถเห็นด้วยได้นะครับ กรณีนี้ถ้าเกิดในต่างประเทศอาจเป็นเรื่องราวประท้วงใหญ่โตไปแล้ว ด้วยกลไกการเกิดมลพิษข้ามพรมแดนถ้าใช้คำว่าบางส่วนจะดูสมเหตุสมผลกว่านี้ครับ
.
เกิดที่กรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้นหรือเปล่า?
ข้อนี้ไม่ต้องกังวลครับ กังวลไปเครียดเปล่าๆ ในประเทศไทยนี่นอกจาก กทม. และปริมณฑลแล้ว จังหวัดอื่นๆก็เจอปัญหาฝุ่นละอองครับ จะเป็นฤดูหมอกควันของภาคเหนือที่เกิดทุกปี หรือหมอกควันข้ามพรมแดนในภาคใต้ที่เกิดขึ้นในบางปี หรือที่เจอตลอดหนักกว่า กทม. อีกก็เช่น ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี หรือในต่างประเทศในประเทศกำลังพัฒนาก็มีเมืองใหญ่ๆมากมาย ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงกว่า กทม. ของเราครับ โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย มีเมืองที่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเป็นอันดับต้นๆของโลกหลายเมือง สาเหตุหลักๆก็คล้ายๆกันครับ คือมาจากแหล่งกำเนิดที่ปล่อยออกมามากเกินกว่าขีดความสามารถของตัวกลางคืออากาศจะรองรับและระบายได้ทัน ซึ่งจริงๆปัญหานี้เกิดคู่กับการพัฒนาเมืองมาตลอด ในประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ญี่ปุ่น หรือหลายประเทศในยุโรปเมื่อหลายสิบปีก่อนก็เกิดปัญหาแบบนี้เราประสบตอนนี้เหมือนกันครับ แต่ว่าปัจจุบันเขาสามารถจัดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ได้แล้ว เราเองก็คงต้องใช้เวลาอีกครู่ใหญ่กว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาของเราให้ได้ มองชาติในแง่บวกเข้าไว้ครับ แต่ที่น่าคิดคือ ในเมืองหลักหลายๆเมืองในจีน การจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมีการพัฒนาการที่รวดเร็วและเห็นผลทันใจกว่าเมื่อสมัยที่ประเทศพัฒนาแล้วแก้ไขปัญหาของตัวเองอีกครับ
.
แล้วดูยังไงว่าอันตรายหรือไม่?
การที่ประชาชนทั่วไปจะรับรู้ข่าวสารเรื่องฝุ่นละออง 2.5 และเข้าใจง่ายที่สุด ก็คงเป็นจากการดูดัชนีคุณภาพอากาศหรือ AQI นี่แหละครับ AQI เป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศจากค่ามลพิษทางอากาศหลักในรูปตัวเลขและสีในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจ สำหรับประเทศไทยเรา ถ้า AQI เกิน 100 หมายถึง คุณภาพอากาศเริ่มไม่ดี มีผลกระทบต่อสุขภาพในประชากรบางกลุ่ม เราใช้สีส้มแทนสำหรับ AQI 101-200 ถ้า 201 ขึ้นไปใช้สีแดง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นคุณภาพอากาศวันนี้มีสีส้ม ก็ต้องระวังหาทางป้องกันแล้วครับ ถ้ายิ่งเป็นสีแดงยิ่งต้องป้องกัน แต่เรื่อง AQI นี้ถ้าลงรายละเอียดต่ออีกหน่อย ก็จะมีประเด็น คือ ค่า AQI ในแต่ละประเทศอาจมีความหมายไม่เหมือนกันครับ ทั้งค่าและสี เพราะแต่ละประเทศกำหนดแตกต่างกันออกไป เช่น อเมริกา ค่า 101-150 เป็นสีส้ม 151-200 เป็นสีแดง เกินกว่านั้นยังมีสีม่วง และสีแดงเลือดหมู แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการคำนวณค่า ส่วนใหญ่มาจากสูตรพื้นฐานที่คล้ายๆกันครับ คือมีการใช้ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของมลพิษทางอากาศชนิดนั้นๆเป็นตัวอ้างอิง ถ้าให้คิดง่ายๆเอาแบบคร่าวๆ คือ ถ้าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 สูงเท่าค่ามาตรฐาน ค่า AQI ของ PM2.5 ก็จะออกมาใกล้เคียงกับ 100 นี่แหละครับ บวกลบนิดหน่อย ส่วนจะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ประเทศนั้นกำหนด ปีก่อนหน้านั้นมันเกิดประเด็นตรงที่มีการรายงานค่า AQI ของ PM2.5 อย่างไม่เป็นทางการ ใน กทม. โดยใช้สูตรคำนวณและสี ตามข้อกำหนดประเทศอื่นนี่แหละครับ ปีที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษก็เลยปรับใช้ PM2.5 มาใช้ใน AQI ด้วย ถ้าเราลองดูในเว็บไซต์ของไทยที่รายงานค่า AQI กับเว็บไซต์ต่างประเทศที่รายงานของบ้านเรา ทุกวันนี้ก็ยังแสดงคนละค่าคนละสีกันครับ ยังไงก็ยึดของไทยเป็นหลักไว้ก่อน
.
ตกลงถ้า AQI ต่ำกว่า 100 ไม่เป็นอันตรายใช่หรือไม่?
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ เนื่องจากค่า AQI 100 ของแต่ละประเทศ มันมาจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศของมลพิษที่แต่ละประเทศกำหนดค่าความเข้มข้นไว้ไม่เท่ากันครับ ผมจะยกตัวอย่าง ค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของไทยอยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบม. (ค่าสูงสุด) แต่ของอเมริกาอยู่ที่ไม่เกิน 35 ไมโครกรัม/ลบม.(เปอร์เซ็นไทล์ที่ 98) ครับ ถ้าเราวัดฝุ่น PM2.5 ในอากาศได้ สมมุติเป็น 37 ไมโครกรัม/ลบม. ถ้าเอามาคำนวณ AQI ของไทยจะออกมาราวๆ 50 ซึ่งยังเป็นสีเขียว แปลว่า คุณภาพอากาศดีทำกิจกรรมได้ตามปกติครับ แต่ถ้าเราเอาไปใส่สูตรของอเมริกา AQI จะคำนวณได้ 105 เป็นสีส้ม ซึ่งหมายถึงเป็นไม่ปลอดภัยต่อประชากรในกลุ่มที่สุ่มสี่ยงแล้วครับ ทำไมเรากำหนดค่ามาตรฐานที่ต่างจากกว่าอเมริกา รวมทั้งวิธีการกำหนดค่ามาตรฐานที่ต่างกันด้วย แปลว่า คนไทยทนฝุ่น PM2.5 ได้เก่งกว่าคนอเมริกันหรือเปล่า อันนี้ต้องคุยรายละเอียดกับกรมควบคุมมลพิษครับ จริงๆ AQI มันเป็นค่าที่บอกได้คร่าวๆมาก และเป็นตัวแทนของมลพิษแค่ตัวเดียว (ตัวอย่างเช่น วันนี้สีแดง อาจมาจาก PM2.5 สูง แต่พรุ่งนี้สีแดงอาจมาจาก โอโซนสูงก็ได้) แต่เนื่องจากสะดวกในการรายงานต่อสาธารณะ หลายๆประเทศจึงใช้เป็นมาตรฐานอยู่ครับ มีบางประเทศ เช่น แคนาดา พยายามปรับปรุงให้มันละเอียดมากขึ้นเป็น AQHI ก็มีเป็นต้นครับ
.
ผลกระทบต่อสุขภาพของ PM2.5 เป็นอย่างไร?
ส่วนนี้ไม่ลงรายละเอียด เนื่องจากผมไม่ใช่บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข แต่จากสารพัดผลงานศึกษาวิจัย รวมทั้งการแถลงการณ์การจากบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญของหลายๆองค์การ ประเด็นนี้ทั่วโลกยอมรับว่า PM2.5 เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และสามารถทำให้เกิดสารพัดโรคทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ ด้วยองค์ประกอบของสารใน PM2.5และ ขนาดอนุภาคที่เล็กมากของมันนะครับ โอกาสที่เราจะรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 ได้ ก็มาจากทางการหายใจเป็นหลัก คนที่มีอาการภูมิแพ้ก็จะมีอาการเฉียบพลันที่เห็นชัดเจน เช่นมีน้ำมูก หายใจลำบาก ทางผิวหนังก็มีบ้างสำหรับคนแพ้ง่ายครับ มีการคันตา น้ำตาไหล คันผิว จะว่าไปคนที่มีอาการนี่อาจจะโชคดีกว่าคนที่ไม่มีอาการภูมิแพ้นะครับ เพราะการที่มีอาการทำให้เราต้องหาทางป้องกันแก้ไข ส่วนคนที่ไม่มีอาการนี่ ถ้าเกิดตายใจไม่สนใจเรื่องการป้องกัน แล้วรับสัมผัสยาวๆไป สุดท้ายไปถูกหวยเอาที่ อาการเรื้อรัง หรือ โรคร้ายแรงต่างๆ ก็สายเกินไปแล้วครับ ป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด ไม่ว่าคุณจะมีอาการภูมิแพ้หรือไม่มีในช่วงนี้ก็ตาม
.
PM2.5 เป็นอันตรายกว่า PM10 ใช่หรือไม่?
ในความเข้าใจของหลายภาคส่วน PM2.5 เป็นฝุ่นละเอียด ดังนั้นฝุ่นละเอียดที่แทรกซึมเข้าไปในทางเดินหายใจของเราได้มากกว่า รวมทั้งมีโอกาสเข้าไปสู่เส้นเลือด ย่อมเป็นอันตรายกว่า PM10 อันนี้ก็มีส่วนจริงครับ แต่คำถามนี้จะเป็นคำถามเล่ห์เหลี่ยมนิดนึงนะครับ เนื่องจาก PM10 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ส่วน PM2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ดังนั้น PM2.5 จะเป็นส่วนหนึ่งของ PM10 เสมอครับ ผมเคยอ่านเจอรายงานข่าวที่ว่า PM2.5 ในประเทศหนึ่งสูงกว่า PM10 อ่านแล้วกลุ้มใจแทน จริงๆแล้วประเด็น PM2.5 กับ PM10 ในประเทศไทยเรานี่ก็น่าพิจารณาต่อมาก เมื่อเทียบกับอเมริกา ซึ่งตั้งค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของ PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 150 ไมโครกรัม/ลบม. ส่วน PM2.5 อยู่ที่ ไม่เกิน 35 ไมโครกรัม/ลบม.ดังที่กล่าวไปแล้ว ส่วนของไทยเรา กลับตั้ง ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของ PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 120 ไมโครกรัม/ลบม. ส่วน PM2.5 อยู่ที่ ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบม. ซึ่งกลับกันดีครับ ดูตัวเลขแล้วขำดี คล้ายๆว่า คนอเมริกันทน PM10 ได้เก่ง ส่วนคนไทยทน PM2.5 ได้เก่ง มีอย่างนี้ด้วย
.
แล้วเราจะจัดการกับปัญหา PM2.5 ได้อย่างไร?
ผมขอกลับมาที่สามองค์ประกอบของปัญหาฝุ่นละอองนะครับ แหล่งกำเนิด ตัวกลาง และผู้รับ การจัดการปัญหามลพิษมีทางเลือกหลักสามทางนี่แหละครับ จัดการที่แหล่งกำเนิด จัดการที่ตัวกลาง หรือจัดการที่ผู้รับ หรือไม่ก็บูรณาการกันมากกว่าหนึ่งทางขึ้นไป การจัดการที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิด แต่ก็เป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนทางการเงินสูงและกระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเช่นกันครับ ในทางปฏิบัติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงยังไม่กล้าใช้ยาแรงกับการลดที่แหล่งกำเนิดครับ มาดูที่ กทม. ของเรา ถ้าเราจำกัดหรือยกเลิกการใช้รถดีเซลใน กทม. ควบคุมการเผาในที่โล่งของในปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง รับรองว่าคุณภาพอากาศดีขึ้นแน่นอนครับ เพียงแต่ว่าการทำแบบนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะมันกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและมีผลทางเศรษฐกิจมากเกินไปครับ เราถึงต้องหามาตรการที่มันดูประณีประนอมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (แต่ลดมลพิษไม่ค่อยได้) เช่น รณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัว รณรงค์ให้ใช้รถขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ส่วนคนจะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่ พอมาดูที่การจัดการที่ตัวกลาง คือ อากาศหรือสภาพอากาศ อันนี้ยิ่งเป็นไปได้ยากเข้าไปใหญ่ แต่ก็ใช่ว่ารัฐเราจะไม่พยายาม ตัวอย่างก็เช่นการพยายามสร้างให้เกิดฝนหลวงใน กทม. ในช่วงปัญหาฝุ่นละออง อันนี้ก็นับว่าเป็นการจัดการที่ตัวกลางครับ ส่วนอันสุดท้ายคือ จัดการที่ผู้รับผลกระทบ อันนี้ง่ายสุดครับ ก็คือการผลักภาระให้ประชาชนไปจัดการตัวเองดีๆนี่แหละครับ ออกคำเตือน ใส่หน้ากากกันเข้าไว้ งดออกจากบ้านนะครับ อันนี้ต้นทุนระยะสั้นในการแก้ปัญหาจะต่ำมาก แต่ถ้าเราคิดถึงเรื่องต้นทุนทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา มันจะสูงมากครับครับ เพราะไม่ใช่ว่าผู้รับผลกระทบทั้งหมดจะมีความสามารถในการจัดการลดความเสี่ยงจากฝุ่นละอองได้เท่ากัน กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงสุดก็คือกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางมากที่สุด ทั้งครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ เด็ก คนชรา ผู้ป่วยทั้งหลายนี่แหละครับ
.
มาตรการปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้ผลหรือไม่?
มาตรการระยะสั้นที่กรมควบคุมมลพิษ และ กทม. ใช้ในปัจจุบัน อาทิเช่น การเพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำในอากาศ การเข้มงวดตรวจจับรถควันดำ การเข้มงวดมิให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง การรณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอด หรือ การตั้งคณะกรรมการร่วม คณะทำงานร่วมต่างๆ นี่ นักวิชาการและคนทำงานสายมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่คงได้แต่ยิ้มปลงๆ เพราะเป็นมาตรการทางจิตวิทยาเสียเป็นส่วนใหญ่ และไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นการล้างถนน อันนี้ช่วยได้สำหรับพวกฝุ่นขนาดใหญ่ และฝุ่นหยาบบ้างครับ ส่วน PM2.5 ไม่ช่วยเท่าไร เพราะมันมีขนาดเล็กมาก ไม่ค่อยมาตกกองอยู่พื้นถนนเหมือนฝุ่นขนาดใหญ่ครับ หรือการฉีดน้ำในอากาศ ลดฝุ่นได้หรือไม่ ตอบว่าได้ครับ แต่ได้ตรงที่ฉีดนั่นแหละ พอเลิกฉีด ค่ามันก็สูงขึ้น ทำเอาผมนึกถึงมาตรการที่บางท้องถิ่นใช้ขณะเกิดปัญหาหมอกควันภาคเหนือเมื่อทางจังหวัดมีนโยบายว่าค่า PM10 ต้องไม่สูงเกินเท่านั้นเท่านี้ ท้องถิ่นก็แก้ปัญหาด้วยการใช้รถขนน้ำไปฉีดตรงสถานีตรวจวัดเอา แต่ก็เข้าใจได้ครับ ว่ามาตรการระยะสั้นนี่แหละทำได้ยากสุด ถ้าไม่ใช้ยาแรง สำหรับมาตรการระยะยาวก็ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนประเภทของเชื้อเพลิงของรถโดยสารสาธารณะ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5/6 การปรับลดอายุการตรวจสภาพรถยนต์ใช้งาน การเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า จัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น พวกนี้ถ้าทำได้จริงก็มีส่วนช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้ครับ
.
อีกสามปีปัญหาคลี่คลายจริงหรือเปล่า?
นี่ก็เหมือนกันครับ จากคำแถลงของท่ายรองนายกรัฐมนตรี และของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นไปในแนวที่ว่า อีกสามปีก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จ สถานการณ์ฝุ่นละอองก็จะคลี่คลาย โดยมองจากปัญหาการจราจรและการก่อสร้างเป็นหลัก แต่ส่วนตัวผมเองไม่เห็นด้วย เพราะเห็นปัญหานี้มาหลายปี หลายประเทศแล้ว สิ่งที่จะเกิดเมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จ คือ การจราจรบริเวณที่ก่อสร้างรถไฟฟ้านั้นจะโล่งขึ้นจริงครับ แต่เนื่องจาก กทม. และปริมณฑล เป็นกลุ่มเมืองที่มีความพิเศษคือ เป็นเมืองหลักแห่งเดียวของประเทศไทย การที่ระบบขนส่งสาธารณะสะดวกและมีเครือข่ายมากขึ้น เมืองก็จะยิ่งขยายขึ้นเรื่อยๆครับ คนก็จะโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานมากขึ้น สุดท้ายปริมาณยานพาหนะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอยู่ดีต่อให้เรามีรถไฟฟ้าใช้กัน ทุกวันนี้ ถ้าเราดูที่ประชากร กทม. และปริมณฑล เราจะพบว่า ถึงแม้ประชากรของ กทม. จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ประชากรในจังหวัดปริมณฑลนั้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมาก รวมในทะเบียนตอนนี้ ทั้งหมดก็ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนเข้าไปแล้ว นี่ยังไม่รวมประชากรแฝงที่มีเป็นหลักล้านคนเช่นกัน ถ้าภายในสามปีนี้ เราไม่สามารถออกมาตรการควบคุมปริมาณรถยนต์อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือต่างๆเช่น โซนนิ่ง ภาษี ที่จอด การตรวจสภาพรถ การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำๆ ผมรับรองว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงอยู่กับเราไปอีกนานแน่นอน ตราบเท่าที่รถยนต์เก่าๆของเรายังอยู่คาท้องถนนไปเรื่อยๆ (รถผมก็เก่า) ตราบเท่าที่ เรายังแอบลักลอบเผาไร่น่า เผาขยะกันในที่โล่ง อย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือตราบเท่าที่เราปล่อยให้มีอิสระในการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ถ่านใช้ฟืน ในการประกอบอาหารในทุกที่ของ กทม.และปริมณฑล อย่างนี้ไปเรื่อยๆเช่นกันครับ
.
แล้วมาตรการใดที่ได้ผลในการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 ?
จริงๆแล้วรายงานการศึกษาถึงมาตรการในการลดฝุ่น PM2.5 นี่ก็มีนักวิจัยทำไว้เยอะทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคในทวีปเอเชีย หรือในประเทศเราก็มีครับ เสิร์ชเนตหาอ่านได้ง่ายๆเลย แต่เรื่องมาตรการหลายอย่างมันเกี่ยวกับนโยบายระดับชาติ ดังนั้นส่วนใหญ่ก็จะได้อ่านประมาณเพลินๆ เพราะรู้ว่าในทางปฏิบัติคงเป็นไปได้ยากครับ แต่เรื่องระยะยาวที่จริงจังและเป็นไปได้ก็มีครับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เขามีมาตรการหลัก 25 อย่างที่สามารถใช้ในการควบคุมมลพิษทางอากาศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การจราจรขนส่ง ก็มีอยู่หลายข้อที่ถ้าเราเข้มงวด เราก็สามารถทำได้ครับ เช่น การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะที่มันเข้มงวดขึ้น หรือ การตรวจสภาพและบำรุงรักษาสภาพรถที่เข้มงวดจริงจังครับ ทุกวันนี้รถยนต์เก่าที่อายุเกิน 7 ปีต้องรับการตรวจสภาพ แต่เราก็ยังเห็นรถควันดำวิ่งกันอยู่เต็มเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น การจัดเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น ในขณะที่เราจะสนับสนุนเชื้อเพลิง และเครื่องยนต์ที่รองรับ ยูโร5/6 ในอนาคต เราก็ยังมีรถเก่าที่ประสิทธิภาพเครื่องยนต์ต่ำลงเรื่อยๆและปล่อยมลพิษออกมามากขึ้นเรื่อยๆอยู่ทั่วท้องถนน ทั้งนี้เนื่องจากรถยนต์ไม่ใช้สิ่งของที่คนส่วนใหญ่จะเปลี่ยนกันได้บ่อย หรือคนไม่น้อยไม่อยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่ต้องซื้อรถยนต์มือสองมาใช้ รัฐเราก็สนับสนุนการใช้รถยนต์เก่าด้วยการเก็บภาษีที่ถูกลงเรื่อยๆ ยิ่งเก่ายิ่งถูกไปจนรถยนต์อายุประมาณ 10 ปีภาษีถึงไม่ลดลงอีกแล้ว อันนี้เข้าใจว่ามาตรการนี้กำหนดจากการที่รัฐเข้าใจสภาพเศรษฐกิจของประชาชนเป็นหลัก แต่อาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มันเป็นต้นทุนหนักขึ้นเรื่อยๆในระยะยาวเท่าไร มาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการจราจรขนส่งก็เช่นเรื่อง การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ต้องมีการควบคุมที่ดีขึ้น อย่างเรือขนส่งนี่ก็ตัวดีเลยครับ ภาพถ่ายทางอากาศหรือดาวเทียมในเส้นทางการเดินเรือนี่หนาแน่น หรือในบริเวณท่าเรือขนาดใหญ่นี่เห็นมลพิษกันชัดเจนมาก การปรับปรุงขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นมาตรการหลักที่เกือบทุกประเทศนำมาใช้กันและปฏิบัติได้ในระยะกลางและระยะยาวครับ อีกประการคือเรื่อง ยานพาหนะส่วนตัวไฟฟ้าหรือ EV ที่ตอนนี้ทั้งในอเมริกา ยุโรป จีน ให้ความสำคัญมาก ในจีนนี่ เมืองใหญ่หลักของเขา ยอดขายรถยนต์ EV ของเขานี่คิดเป็น 40% หรือประมาณสองแสนกว่าคัน ของยอดขายรถยนต์ EV ทั่วประเทศ ซึ่งตกปีละประมาณหกแสนคัน คิดเป็นราวๆ 2.2% ของส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ หรืออย่างประเทศในยุโรปเช่น นอร์เวย์ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ยอดขายรถยนต์ใหม่ 1 ใน 3 กลายเป็นรถ EV ไปแล้วครับ นอร์เวย์นี่มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน ยอดขายรถใหม่ปีที่แล้ว แสนสี่หมื่นกว่าคัน เป็นรถ EV ไปสี่หมื่นกว่าคันได้ ส่วนรถ EV บ้านเรา รัฐเหมือนจะให้การสนับสนุนแต่มีข้อจำกัดเยอะมาก การผลิตในประเทศเลยยังไม่ชัดเจน ส่วนรถนำเข้า ถึงจะลดภาษีศุลกากรลงมาแล้วราคาก็ยังเกินเอื้อมสำหรับครอบครัวคนรายได้ปานกลางส่วนใหญ่อยู่ดี ส่วนครอบครัวที่รายได้ต่ำ ไม่มีสิทธิจะไปฝันถึงเลยครับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดขายน่าจะอยู่ที่ 400 คัน จากส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ทั้งหมด เก้าแสนกว่าคัน ถ้าในประเทศไทยมีการแจ้งเกิดรถ EV และใน กทม.และปริมณฑลมีการใช้รถ EV อย่างมีนัยสำคัญนี่ ก็สามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้มากเลยครับ
.
ท้ายที่สุดนี้ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองต้องใช้เวลา ปัจจุบันในประเทศไทยพิสูจน์แล้วว่า มาตรการที่ภาครัฐรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย การใช้เครื่องมือต่างๆ ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหา PM2.5 PM10 ที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ที่ประสบปัญหาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน และปัจจุบันปัญหาก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผมเคยได้ยินภาครัฐกล่าวถึงการมีมาตรการจัดการปัญหาระยะสั้น ซึ่งไม่ค่อยได้ผล มาตรการระยะยาว ซึ่งยังไม่ได้นำมาปฏิบัติ และการพิจารณามาตรการพิเศษประกาศเป็นช่วงวิกฤต ซึ่งก็ยังไม่ได้นำมาใช้เช่นกัน แต่ก็ยังมองในแง่ดีว่า ในระยะยาวหลังจากมาตรการต่างๆ ได้ถูกนำมาปฏิบัติ ความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM2.5 คงบรรเทาลง แต่สำหรับในระยะเวลาอันสั้นนี้ การจัดการปัญหาที่ตัวผู้รับผลกระทบคงเป็นมาตรการหลักเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนใน กทม. และปริมณฑล ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ร่วมทำให้เกิดปัญหา PM2.5 ด้วย ต้องจัดการดูแลตัวเองไปก่อนครับ หลีกเลี่ยงการออกกลางแจ้งในวันที่ฝุ่นละอองสูง ใช้หน้ากากอนามัย กันได้ไม่ถึง 99.9% ก็ใช้ไปเถิดครับ ดีกว่าไม่มีหน้ากากเลย ใครที่คันตาก็อาจล้างตาและใส่แว่นกันแดดใหญ่ๆ ช่วยกันได้บ้าง หรือใครแพ้ที่ผิวหนังก็อาจต้องใช้เสื้อผ้าที่มิดชิด หมั่นทำความสะอาด ในบ้านใครมีเครื่องกรองอากาศก็เปิดใช้ แล้วพออีกเดือนหรือสองเดือน สถานการณ์เช่นนี้ผ่านไป เราก็อย่าปล่อยให้มันผ่านแบบลืมมันไป ปีหน้าเจอกันใหม่ แต่คงต้องช่วยกันส่งเสริมและกระตุ้นให้มาตรการต่างๆของภาครัฐที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติ ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดผลจริงจัง ถ้าภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและไม่ปล่อยวางก็เป็นการตรวจสอบตรวจทานการดำเนินการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอีกรอบหนึ่งครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ