‘สามแพร่ง’ เสน่ห์ย่านเก่ากลางเมือง

‘สามแพร่ง’ เสน่ห์ย่านเก่ากลางเมือง

เอ่ยถึง “สามแพร่ง” ขึ้นมา เชื่อแน่นอนว่าใครหลายคนคงคุ้นกับชื่อนี้แน่ ๆ เพราะชื่อ “สามแพร่ง” ในช่วงหนึ่งเคยเป็นชื่อภาพยนต์สยองขวัญที่สร้างโดยค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของไทย และก็เชื่ออีกว่าน้อยคนนักที่จะรู้จัก “สามแพร่ง” ที่เป็นสถานที่จริง ๆ ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ

วันนี้แจ่มขออาสาพาทุกคนไปรู้จั “สามแพร่ง” ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่งดงามอีกย่านหนึ่งใจกลางกรุง คุยกับ “เกต-ธนัญญาพันธ์ ธนสุขเสถียร” ร้านขนมไข่หงษ์ชื่อดังในแพร่งนรา เป็นคนแพร่งแท้ ๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเก่าแก่ในแต่ละยุคสมัย และชวนทำความรู้จัก “เซียน-สืบสาน พูลมี” หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้จัดงาน “เทศกาลศิลปะชุมชน สามแพร่ง Facesteer Alive !” มายาวนานกว่า 10 ปี จนทำให้ใครหลายคนรู้จัก “สามแพร่ง”

ตามประวัติศาสตร์ “สามแพร่ง” ในอดีตเคยเป็นวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

‘แพร่งสรรพศาสตร์’ ในอดีตคือ ‘วังสรรพสาตรศุภกิจ’ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ภายหลังได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เสียหายจนหมด ทำให้วังสรรพศาสตร์ศุภกิจเหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่ยังคงความสวยงามให้คนรุ่นหลังได้ชมกันจนถึงปัจจุบัน

‘แพร่งนรา’ ในอดีตคือ ‘วังวรวรรณ’ แต่เดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงพระตำหนักไม้เก่าหลังเล็ก ที่แต่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย ต่อมาถูกปรับให้เป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ซึ่งชื่อแพร่งนรานี้เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้เป็นเจ้าของวังเดิม

‘แพรงภูธร’ ในอดีตคือ ‘วังสะพานช้างโรงสี’ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ต่อมาเมื่อกรมหมื่นภูธเรศฯได้สิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว แต่ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมอันเดิมไว้ แล้วพระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า แพร่งภูธร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์  สองแนวตึกแถวเก่าที่เรียงรายระหว่างเข้าซอย เป็นความคลาสสิกที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ของ สุขุมาลอนามัย ที่เปิดทำการเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยพระดำริของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี เพื่อให้เป็นสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่รักษาพยาบาลของคนในชุมชนอยู่

(ข้อมูลจาก museumthailand)

จนถึงปัจจุบัน “สามแพร่ง” ได้ผลัดเปลี่ยนหน้าตา และผู้คนไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังคงความเก่าแก่และสถาปัตยกรรมที่สวยงามหลายอย่างไว้ หากฟังความจากสายตาของคนภายนอกอย่างเดียว เกรงว่าจะไม่ครบถ้วนพอ แจ่มถือโอกาสเดินเข้าชุมชนหาคนแพร่งแท้ ๆ คุย จึงไปสะดุดตากับร้านขนมไข่หงษ์ ที่ทราบภายหลังว่าเป็นขนมขึ้นชื่อที่ใครมาแพร่งต้องได้ชิมของ “เกต-ธนัญญาพันธ์ ธนสุขเสถียร” คนแพร่งแท้ ๆ ที่โตมาในแพร่งนรา เลยขอเวลาระหว่างปั้นขนมไข่หงษ์ชวนคุยถึง “สามแพร่ง” ในสายตาของคนในพื้นที่บ้าง

“สามแพร่ง” ในสายตาของคนในพื้นที่

เกต-ธนัญญาพันธ์ : ชุมชนเราเปลี่ยนไปเยอะ ก่อนหน้าที่จะปรับเปลี่ยนเป็นแบบนี้ แต่ก่อนเป็นบ้านโทรม ๆ เป็นชุมชนปกติ ที่ต่างคนต่างอยู่ แต่ช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มมีกิจกรรมเยอะขึ้น และมีสำนักทรัพย์สิน (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) เข้ามาดูแลบ้านเรือน มาทาสี ปรับภูมิทัศน์ให้ ก็ทำให้น่าอยู่มากขึ้น

แต่ก่อนสามแพร่ง ทั้ง แพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งนรา แพร่งภูธร ก็เคยเป็นที่ประทับของพระราชโอรสของรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4 ต้นรัชกาลที่ 5 มีข้าราชบริพารมาอยู่กันตรงนี้ พอสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาย้ายข้าราชบริพารออกไป แล้วคนจีนก็เข้ามาพักพิงกันเป็นห้อง ๆ ก็อยู่กัน ส่วนใหญ่จะเป็นจีนแคระ พี่ก็เป็นจีนแคระ แล้วก็มีจีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง รวมตัวกันอยู่ ส่วนใหญ่จะทำเครื่องหนังกัน เป็นรองเท้า กระเป๋า ตรงต้น ๆ ซอยแพร่งนรา มีร้านดังเดิมเลยที่ทำรองเท้ามาตั้งแต่ยุคแรกและไม่เปลี่ยนอาชีพเลย

ถัดจากนั้นจะเป็นช่วงค้าขาย คนค้าขายกันเยอะมาก แต่ยุคหลัง ๆ มานี้ เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่ค่อยใช้ตัง หน่วยงานราชการรอบ ๆ นี้ก็มีการปรับปรุง พนักงานที่แต่ก่อนเข้ามาหาของกินในย่านก็หายไปด้วย

ถามว่าชุมชนเปลี่ยนไปเยอะไหม ก็เยอะนะ การจัดระเบียบก็ดูดีขึ้น จากแต่เดิมคนก็ตามใจฉัน อยากจะวางอะไรตรงไหนก็วาง แต่ก็มีการปรับภูมิทัศน์ก็ดีขึ้น ทั้งเรื่องความสะอาด ล้างถนน ขยะ เรื่องการจราจรก็จัดระเบียบให้ดีขึ้น

‘คนในชุมชน’เห็น’คุณค่าของชุมชน’

เกต-ธนัญญาพันธ์ : เรารู้นะ คนในชุมชนก็รู้และก็จะสื่อสารให้กับคนภายนอกตลอด เหมือนเวลามีคนเขาเดินเข้ามาในชุมชน ถามว่า ย่านนี้ทำไมบ้านเหมือนกันหมด เราก็จะบอกว่าเป็นบ้านของทรัพย์สิน (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) เช่าเขาอยู่ แต่เรามีสิทธิ์เป็นเจ้าของพักอาศัย เปลี่ยนมือกันไม่ได้ แต่ส่งต่อกันในลูกหลาน อย่างบ้านพี่ คนแรกเลยเป็นปู่ พอปู่เสียก็เป็นของย่า พอย่าเสียก็เป็นของพ่อ แล้วพอพ่อพี่เสียก็เป็นของพี่ และในอนาคตพอพี่เสียก็จะเป็นของรุ่นลูกต่อไป ถ้าเราไม่มีทายาทก็คืนสิทธิ์เขาไป

คนที่นี่ดีนะ น่ารัก มีอะไรก็แบ่งกันเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน พอมีกิจกรรมอะไรเราก็ช่วยกัน แล้วที่นี่ก็น่าอยู่ด้วย ถ้ามีบ้านอยู่ที่อื่นพี่ก็ไม่ไปนะ พี่ชอบที่นี่ เราอยากอยู่ที่นี่

นอกจากนั้น “เกต-ธนัญญาพันธ์” ยังเล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีให้ฟังด้วยว่า บ้านของตนเป็นหนึ่งในบ้าน 13 หลังในแพร่งนราที่โดนไฟไหม้ไป เมื่อธันวาคม ปีก่อน (ปี 2560) บ้านที่อาศัยอยู่ตอนนี้เป็นเพียงบ้านช่วงคราวเท่านั้น ระหว่างนี้ได้คุยกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เรื่องการซ่อมแซมบ้านหลังเดิม และมีกำหนดย้ายกลับหลังซ่อมแซมเสร็จในปี 2563 และยังเล่าต่อไปอีกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนที่นี่ก็เคยมีไฟไหม้ใหญ่มาแล้ว จนทำให้เกิดพิธีไหว้พระเพลิง ซึ่งเป็นงานประจำปีที่คนในสามแพร่งร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ ทำลายขวัญและกำลังใจของคนในชุมชน สู่กิจกรรม “ฝากใจไว้สามแพร่ง” หนึ่งในงานสามแพร่ง Facestreet Alive ! เทศกาลศิลปะชุมชน ที่ชวนทุกคนพับหัวใจกระดาษ เขียนข้อความให้กำลังใจสามแพร่งที่ถูกเพลิงไหม้ไป ซึ่งเป็นไฮไลท์ในปีนี้

เมื่อพูดถึง “งานสามแพร่ง” หลายคนคงมีภาพจำของงานปิดถนนในชุมชน มีพ่อค้าแม่ขายตั้งร้านขายของ มีเวทีศิลปะเล็ก ๆ วางอยู่ตลอดสองข้างทางของถนนทั้งสามแพร่ง ที่เดินทางมาจากที่ต่าง ๆ เราสามารถชวนคุยได้โดยอย่างเป็นมิตร มีลานทรายแหล่งรวมของเด็ก ๆ ให้มาละเลงงานศิลปะของตัวเองกัน บวกดนตรีเพราะ ๆ การแสดงเจ๋ง ๆ และอื่น ๆ อีกมากที่จะเจอได้ในงานนี้

10 ปีกับงานประจำปีที่สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนแพร่งเสมอ ทำให้สามแพร่งกลายเป็น “สามแพร่ง” ที่ทุกคนรู้จัก นอกเหนือจากภาพความประทับใจหน้าฉากที่เราเห็นนั้น เบื้องหลังของแสง สี โคมไฟ และงานศิลปะ ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ใช้กำลัง แรงกาย แรงใจ รวมตัวกันช่วยขับเคลื่อนงานให้ยาวนานมาจนถึงปีนี้ ในชื่อ “เทศกาลศิลปะชุมชน สามแพร่ง Facesteer Alive !” และถือเป็นโอกาสดีที่เราได้คุยกับ “เซียน-สืบสาย พูลมี” จากกลุ่มรักยิ้ม กลุ่มเยาวชนที่ชักชวนกันมาเรียนรู้ ทำงานจิตอาสาในพื้นที่สามแพร่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้จัดงานถึงความเป็นมาของกิจกรรม ความคาดหวัง จนไปถึงคำถามที่ถามว่า เรียนรู้อะไรบ้างจาก ‘สามแพร่ง’ คำตอบของเซียนทำให้เรารู้สึกรักสามแพร่งเข้าไปอีก

หลายปีที่ “สามแพร่ง” อยากให้ช่วยเล่าแนวคิดให้ฟังหน่อย

เซียน-สืบสาย : เราทำโครงการชื่อ “โครงการพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่นี้…ดีจัง” เป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ อยากให้เกิดพื้นที่ที่คนทุกเพศทุกวัยได้มาใช้เวลาร่วมกัน กลุ่มรักษ์ยิ้มก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ทำกิจกรรมนี้ เราทำงานร่วมกับกลุ่มดินสอสี ในเรื่องของเยาวชน อาสาสมัคร พาเด็กและเยาวชนมาเรียนรู้ร่วมกับชุมชน พื้นที่ที่เราทำงานคือชุมชนสามแพร่งครับ อาสาสมัครที่เข้ามาทำกิจกรรมก็จะเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชุมชนสามแพร่ง แล้วเราก็ร่วมกันจัดงานเพื่อสื่อสารเรื่องราวของชุมชนสามแพร่งผ่านฝีมือของเด็ก ๆ ฝีมือของเยาวชนครับ

ความแตกต่างของงานแต่ละปี

เซียน-สืบสาย : แต่ละปีก็จะมีคอนเซ็ปแตกต่างกันไปครับ แต่เนื้อหาใหญ่ใจความหลักของเราคือ เราต้องการขับเคลื่อนชุมชนสามแพร่งให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ศิลปะ แล้วก็อยากจะสื่อสารให้คนอื่น ๆ ทั่วไปในกรุงเทพฯ ได้เห็นว่าเราน่าจะมีพื้นที่ดี ๆ แบบนี้ให้กับตัวเราเอง ให้กับคนรุ่นต่อไป ให้กับรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ของเราต่อไป เพราะเรารู้สึกว่าในกรุงเทพฯ ย่านเมืองเก่าดี ๆ สวย ๆ แบบนี้ ใกล้จะหายไปหมดแล้ว

เรารู้สึกว่า ถ้าสิ่งที่พวกเราทำมันพอจะมีความเป็นไปได้ ที่จะทำให้เห็นว่า ชุมชนมันสวยงาม มันมีชีวิต เอาศิลปะเข้าไปจับ มันไม่จำเป็นต้องลงทุน ปรับเปลี่ยน ไล่คนออก แต่ว่ามันสวย เพราะมันมีชีวิต มีคน คนเป็นคนสื่อสารเรื่องราว

ทำไมต้องเป็นชุมชน “สามแพร่ง”

เซียน-สืบสาย : พอพูดถึงสามแพร่ง คนก็จะนึกถึงหนังผี ไม่ค่อยมีใครรู้จักชุมชนสามแพร่ง ทั้ง ๆ ที่ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ Unseen  เมื่อก่อนเราเรียนโรงเรียนวัดบวร อยู่ใกล้สามแพร่งมาก แต่เราไม่เคยรู้จักชุมชนนี้ หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปก็รู้จักน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ที่นี่มีสถาปัตยกรรมที่สวย มีแต่ของดี ๆ ทั้งอาหาร ขนมโบราณ วิถีชีวิตของชาวบ้าน มีประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่น่าสนใจที่เราน่าจะไปเรียนรู้จากมันมากอย่างนี้

วันหนึ่งเรารู้จักมัน เราแอบชอบมัน เราทำงานและอยู่กับมันมาก ๆ ผูกพันธ์กับมันมาก ๆ เราก็รักมัน เรารู้สึกว่าที่นี่เหมือนบ้านเรา จากที่เราเป็นคนอื่น จนทุกวันนี้กลายเป็นพี่ป้าน้าอา เป็นญาติ เป็นเพื่อนเป็นอะไรกันหมด

เป้าหมาย / ความคาดหวัง ในการทำงานนี้

เซียน-สืบสาย : เราอยากจะขับเคลื่อนชุมชนสามแพร่งให้เป็นชุมชนศิลปะ อยากให้มันเป็นพื้นที่ดี ๆ พื้นที่สร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ มีความสัมพันธ์ มีความผูกพันธ์ มีความทรงจำและร่วมแบ่งปันกับคนอื่นได้ เราอยากจะแสดงให้เห็นว่า ชุมชนสามแพร่งมันสวยงาม มีของดี มีชีวิตของมันอยู่แล้ว เราเพียงแค่เอาศิลปะเข้าไปเสริม ก็ทำให้มันน่าอยู่ น่ามอง แบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้โดยที่เราไม่ต้องไล่คนออก เราไม่ต้องทุบบ้านเก่า ๆให้พังแล้วสร้างมันใหม่ การไล่คนออกแล้วเอาป้ายมายืนแทนเราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยน่ามองเท่าไหร่

คาดหวังอะไรกับคนที่เข้ามาทำกิจกรรมในงานแพร่ง

เซียน-สืบสาย : ก็คง เป็นความทรงจำมั้งครับ อย่างแรกเลยเรารู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนรู้จัก “สามแพร่ง” ทั้ง ๆ ที่มันเป็นชุมชน Unseen เราเชื่อว่าพอเขามารู้จักแพร่ง เขาจะตกหลุมรักมันเหมือนที่เราเป็น เมื่อวันหนึ่งเขาชอบมัน เขารักมัน เขาจะไม่ทิ้งมัน ถ้าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นกับชุมชนสามแพร่ง มันคงไม่ใช่แค่เรื่องของคนเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของคนทุกคนที่มีความทรงจำ ที่มีความรัก ที่มีความผูกพันธ์กับที่นี่ เพราะงั้นชุมชนสามแพร่งจะไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นพื้นที่ของคนทุกคนที่ทุก ๆ คนควรจะมีสิทธ์ มีความคิด มีความคิดเห็นในการที่จะออกแบบมัน หรือมีส่วนร่วมสร้างมันให้มันเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้

เรียนรู้อะไรบ้างจาก ‘สามแพร่ง’

เซียน-สืบสาย : มันเปลี่ยนทั้งชีวิตผมไปเลยนะ ถ้าถามว่าเรียนรู้อะไร มันก็เป็นชีวิต หมายถึงว่ามันเปลี่ยนชีวิตเราไปในการทำงานแต่ละปี เรารู้มากขึ้น แต่ในบางปีเราก็ยังติดเรื่องซ้ำ ๆ กับเรื่องเดิม ๆ บางเรื่องเราก็ได้เรียนรู้เราก็ไม่ผิดแล้ว แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราได้มันมีเยอะมาก ๆ ทั้งเรื่องวิธีคิด เรื่องมุมองการใช้ชีวิตที่มากกว่าเดิม เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นงาน Event นะ แต่มันเป็นชีวิตเรา เราผูกพันธ์กับคนในชุมชนเราอยากจะทำนู้นทำนี่ด้วยกัน เราเห็นคนทุกคนเท่ากัน เห็นพลังของคนเล็กคนน้อย เห็นว่าจริง ๆ แล้วอย่างพวกเราเป็นเด็กเยาวชนทำกิจกรรมรวมตัวกันร่วมกับชาวบ้าน เราไม่ได้มีอำนาจ เราไม่ได้มีเงินทองเยอะแยะ แต่เราสามารถสร้างพื้นที่ดี ๆ สร้างความคิดใหม่ ๆ หรือสร้างชุมชนที่มันน่ารักสร้างสรรค์ให้ทุกคนได้แบ่งปันกันได้ แล้วก็ได้สื่อสารให้คนภายนอกได้รู้ในทุก ๆ ปี ถ้าถามว่าได้เรียนรู้อะไรก็ตอบยากมากเลย ก็คงเป็นทั้งชีวิตนั้นแหละ ผมคงไม่ได้เป็นแบบนี้ ถ้าผมไม่ได้มารู้จักกลุ่มรักยิ้มไม่ได้มารู้จักสามแพร่ง

ถึงปีนี้งานสามแพร่งจะจบไปแล้ว แต่ก็ยังคงเหลือภาพบรรยากาศความประทับใจ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ของคนสามแพร่งและผู้ไปเยือน ให้ทุกคนได้ชมย้อนหลังอยู่ในเพจ สามแพร่งfacestreet นอกจากนั้นเราก็ยังสามารถเข้าไปเดินเล่นในชุมชนได้ในวันธรรมดา ยังมีร้านขายของและอาหารขึ้นชื่ออีกหลายร้านในชุมชนที่รอทุกคนไปชิมอยู่ ส่วนงานแสง สี ของดี ศิลปะของสามแพร่งนั้นจะกลับมาพบกับเราใหม่ในปีหน้าแน่นอน

4-12-2561 N สามแพร่ง ชุมชนศิลปะสร้างสรรค์

Gen C Reposter จากพื้นที่สามแพร่ง ย่านเมืองเก่าใจกลางกรุงเทพฯ ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่จัดงานกิจกรรมศิลปะชุมชน ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง ในชื่อ สามแพร่ง Facesteet Alive รวมคนรุ่นใหม่ในชุมชนและคนภายนอกที่ทำงานเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ในจับตาสถานการณ์ #ThaiPBS วันที่ 4 ธ.ค. 2561 เวลา 12.00 น.

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2018

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ