ฤดูการรับน้อง : แมน ปกรณ์ อารีกุล

ฤดูการรับน้อง : แมน ปกรณ์ อารีกุล

เรื่อง : สาริศา รักษา / ภาพ : สุวนันท์ อ่ำเทศ

รับน้องยังอยู่ได้ เพราะสังคมไทย เป็นสังคมที่เรายอมรับในอำนาจของคนที่อยู่สูงกว่าเรา ระบบอาวุโส ระบบคนที่มาก่อน ระบบคนที่มีตำแหน่งมีอำนาจมากกว่าคนอื่น สะท้อนโครงสร้างของสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ได้เพราะสังคมไทยเป็นแบบนี้

10 ปี ของ ‘แมน ปกรณ์ อารีกุล’ ในบทบาทนักกิจกรรม ที่พยายามสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของนักศึกษา ตั้งแต่เรื่องการรับน้อง การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ไปจนถึงเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับคำถามถึงการมีอยู่ของกิจกรรมรับน้องท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และการส่งต่อการใช้อำนาจที่ยังคงมีจากรุ่นสู่รุ่น

แนะนำตัวหน่อย

แมน ปกรณ์ อารีกุลครับ เป็นนักกิจกรรมทางสังคม

เริ่มทำกิจกรรม ตั้งแต่ตอนไหน

ตั้งแต่เป็นนักศึกษาเข้ามามหาวิทยาลัยวันแรกก็ทำกิจกรรมเลย ตอนนั้นก็เป็นกิจกรรมทำบ้านดิน ทำงานอาสา แล้วก็ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรมาตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาก็ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว

อยากให้ช่วยเล่าบรรยากาศรับน้องที่เจอ 

10 ปีที่แล้วบรรยากาศก็น่าจะคล้าย ๆ ตอนนี้ เข้าไปมหาลัยก็จะมีรุ่นพี่มาต้อนรับ พาทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการให้รู้จักมหาวิทยาลัย ให้รู้จักรุ่นพี่ รุ่นน้อง เป็นการสร้างความสามัคคี สร้าง Community ซึ่งการจัดการกับคนหมู่มากก็ทำได้ยาก เวลาที่จะรวมคน พาคนไปถึงการรับรู้เหมือนกัน หลายครั้งก็จะมีกิจกรรมที่อาจจะเรียกว่า สภาวะที่ทำให้เกิดความกดดัน อาจจะมีพี่ระเบียบ พี่ว๊าก พี่วินัยเข้ามา

ต้องบอกก่อนว่าตอนมัธยม ผมเรียนโรงเรียนประจำมีโซตัสเข้มข้น ตลอด 6 ปี ที่เรียนอยู่โรงเรียนประจำก็เหมือนถูกรับน้องตลอดเวลา ตอนที่อยู่ ม.5 – ม.6 ก็อาจจะเป็นคนที่มีหน้าที่สั่งเขา แต่ว่าตั้งแต่ ม.ต้น จนถึง ม.4 ก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรุ่นพี่ตลอดเวลา ดังนั้นผมเข้ามหาวิทยาลัยแบบมีภูมิต้านทาน รู้แล้วว่าต้องเจออะไร

ถ้าถามผมจริง ๆ ในเชิงของความกลัว ผมไม่เคยกลัวเลย ผมทันมุกทุกอย่าง รู้แล้วว่ากิจกรรมแบบนี้นำไปสู่อะไร เพราะฉะนั้นในเชิงสภาพจิตใจของผม ผมไม่ได้ความหวั่นไหวต่อความกดดันของรุ่นพี่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยนะ แต่ในขณะเดียวกันรู้สึกว่า มันไม่ได้ผล

เราจะใช้เวลาสั้น ๆ ในการที่จะทำให้คนรักกัน ทำให้คนรักมหาวิทยาลัย ให้คนภูมิใจในความเป็นนักศึกษา เป็นนิสิต ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง ผมคิดว่า 2-3 เดือนที่รับน้องไม่ได้ผล

แล้วก็สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลา แล้วก็ไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายอย่างที่เขาวางไว้จริง ๆ ด้วยซ้ำ อันนี้อาจจะยังไม่ต้องพูดถึงเรื่อง รับน้องที่จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้นอย่างไร แต่รับน้องจะทำให้ไปถึงเป้าหมายของการที่นักศึกษาจะรักกัน เป็นหนึ่งเดียว เคารพรุ่นพี่ ถ้าเกิดบอกว่าโซตัสมันคือ รุ่นพี่ คำสั่ง วัฒนธรรม ความเป็นหนึ่งเดียว มันไม่ถึงสักอย่าง มันเป็นแค่การถูกทำให้อยู่ภายใต้การกดดัน แล้วก็คำขู่ต่าง ๆ แค่นั้นเอง

ยกตัวอย่างกิจกรรมรับน้องที่เจอเป็นอย่างไร

ตอนนั้นจำได้ว่าทุกเย็น เลิกเรียนเสร็จ ก็จะไปห้องเชียร์ ไปหัดร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัย เพลงประจำคณะ เพลงประจำเอก คำพูดที่รุ่นพี่มักจะพูดบ่อย ๆ “เรามีเลือดสีเดียวกัน” ตอนนั้นผมก็ตั้งคำถามเลยว่า มหาวิทยาลัยที่ผมอยู่มีสีประจำอะไรทั้ง 2 สี คือ เทา-ทอง พอมาคณะก็เป็น ขาว-ม่วง พอมาในเอกก็ เขียว-น้ำตาล ตอนนี้เราก็มี 6 สีแล้ว เราไม่ได้เทา-ทอง อย่างเดียว การเรียนมหาวิทยาลัย มันคือความหลากหลาย เราก็คุยกับรุ่นพี่ว่า คำพูดพวกนี้ใช้ไม่ได้ รุ่นพี่ก็บอกให้ทำ ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวมันก็จบ ซึ่งผมรู้สึกว่า การทำ ๆ ไปเถอะ เพราะว่าเขาทำกันมา แล้วก็ทำต่อไปให้มันจบ ๆ ไม่ได้มานั่งทบทวนกันว่า เป้าหมายที่เราทำกันแต่ละปี มันไปถึงจุดนั้นจริง ๆ หรือเปล่า มันสำเร็จจริง ๆ หรือเปล่า

ในตอนแรกผมรู้สึกว่า อยากจะเข้าร่วมนะ ถึงเราไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราก็อยากจะอยู่คนเดียวในสังคม จริง ๆ แล้วมันก็เป็นข้อเสียของการรับน้อง ถ้าคุณไม่ไป คุณก็จะไม่มีสังคมมหาวิทยาลัยเหมือนกับคนอื่น ถ้าคุณเลือกที่จะอยู่หอ เลือกที่จะไปทำอย่างอื่นในช่วงรับน้อง คุณจะไม่รู้จักเพื่อน มันเป็นทางเดียวที่คุณจะมีเพื่อน จะมีสังคมในมหาวิทยาลัย คุณต้องไปรับน้อง ผมเองก็กลัวว่าจะไม่มีเพื่อน กลัวว่าจะไม่มีสังคม กลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันคือกระบวนการแบบไหนก็ไป เพื่ออยากจะมีสังคมตรงนั้น แต่เมื่อไปแล้วรู้สึกว่า เราไม่ได้รู้สึกร่วมไปกับมัน พอมีช่องทางอื่น ตอนนั้นเขาคัดเลือกนักฟุตบอลคณะ เตะบอลเฟรชชี่ไหม ผมก็ไปสมัครเลย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าห้องเชียร์ สุดท้ายผมก็ไปเล่นฟุตบอล ไม่ได้เข้าห้องเชียร์

ตอนบอกกับรุ่นพี่ว่าวิธีรับน้องที่ทำอยู่ไม่เวิร์ค รุ่นพี่พูดหรือมีท่าทีอย่างไรบ้าง

รุ่นพี่บางคนเขาก็เข้าใจนะ ผมโชคดี ที่เรียนสังคมวิทยา พัฒนาชุมชน ซึ่งก็พูดถึงเรื่องการพัฒนาคน พูดถึงเรื่องการเชื่อว่าทุกอย่างมันพัฒนาได้ เชื่อในเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นรุ่นพี่เขาค่อนข้างจะให้อิสระพอสมควร เพียงแต่เขาก็พูดในทำนองที่ว่า เราทำแค่ไหน เราก็จะได้แค่นั้น ถ้าเราเลือกที่จะไม่ทำ มันก็เป็นสิทธิ์ของเรา ผมก็จะครึ่ง-ครึ่งในตอนนั้น

จำได้ว่าครั้งหนึ่งเป็นวันรวมล้อมธงคณะ แล้วมีเพื่อนมาสาย นายกสโมสรนิสิตตอนนั้นเขาก็สั่งให้ปี 1 ทั้งคณะ ซึ่งน่าจะประมาณเกือบ ๆ พันกว่าคน ลุกนั่ง สก็อตจั๊มพ์ ทำอยู่หลายครั้งมาก เกือบ ๆ ร้อยครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รุ่นพี่ปี 2 ปี 3 ในเอกผม เป็นคนไม่ยอมเอง เป็นคนที่ไปสู้กับสโมสรเองว่าทำแบบนี้ไม่ได้ คุณจะมาลงโทษคนแค่ไม่กี่คน แล้วทำให้คนทั้งหมดต้องลำบากไม่ได้

เอาเข้าจริงแล้ว ที่มหาวิทยาลัยหรือที่คณะผม ก็เห็นว่าในกระบวนการรับน้อง มันก็มีความคิดที่มันสู้กันอยู่ 2 วิธีคือ คนที่มันอยากจะทำแบบเดิมตลอด อยากจะทำให้กระบวนการที่เขาเชื่อว่ามันศักดิ์สิทธิ์ให้ดำเนินต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนตั้งคำถาม มีคนพยายามที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเชื่อว่า มันก็เกิดขึ้นในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย

Anti Sotus VS Sotus

จริง ๆ น้อง ๆ ในชมรมผมหลายคนก็เป็นเครือข่ายของแอนตี้โซตัส (Anti Sotus) ผมคิดว่าคุณูปการของกลุ่มแอนตี้โซตัส มันคือการสร้างวาทกรรมว่า รับน้องต้องปราศจากความรุนแรง เป็นที่ยอมรับในสังคม

อย่างสมัยก่อน เวลาที่มีข่าวรับน้อง หรือพารับน้องไปนอกสถานที่ รุ่นพี่ใช้อำนาจ ถึงแม้ว่าจะไม่กระทบกระทั่ง ไม่ถึงเนื้อถึงตัวกัน แต่ว่าการสั่งให้ทำอะไรบางอย่าง จนน้องเข้าโรงพยาบาล ผมว่า

10 ปีที่แล้ว สังคมไทยยังรับได้นะ คิดว่ามันเป็นประเพณี คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำกันมา เป็นสิ่งที่ฝึกความอดทน แต่ว่า ณ วันนี้ ผมว่าสังคมไทยเปลี่ยนแล้ว รับไม่ได้กับคนที่แค่โชคดีเกิดก่อน แล้วก็แก่กว่าแค่ปีเดียว มีอำนาจสั่งให้คนอื่นที่โชคร้ายเกิดทีหลัง หมอ ลุก คลุก คลาน จูบดิน หรือว่าต้องวิดพื้น ต้องวิ่งหลาย ๆ รอบ ผมว่ามันเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง

แล้วก็เป็นสิ่งที่เมื่อมีการ share กันใน social media ก็พบว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยรับไม่ได้แล้ว อันนี้เป็นความสำเร็จของแอนตี้โซตัส คือ การรับน้องในแบบที่แสดงถึงพฤติกรรมเชิงอำนาจที่ไม่ชอบธรรม รุ่นพี่แค่โชคดีเกิดก่อน สั่งให้ทำอะไรก็ได้ ตอนนี้สังคมไทยรับไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันไปเกี่ยวกับเรื่องวุฒิภาวะ เรื่องของความปลอดภัย ไปจนถึงการทำอันตรายต่อร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้นกับน้อง ซึ่งรุ่นพี่ไม่สามารถรับผิดชอบได้ เพราะฉะนั้น วันนี้เวลาที่มีข่าวว่ามีความรุนแรงในการรับน้อง ผมว่าสังคมไทยก็พร้อมที่จะต่อต้านมัน เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ในสังคมที่เราคิดว่ามันไม่ถูกต้อง

‘ระบบ Sotus’ ระบบเชิงอำนาจนี้จะหายไปไหม

มันก็อาจจะยังอยู่ในบางมหาวิทยาลัย อยู่ในสิ่งที่เรียนหรือว่าโครงสร้างของหลักสูตร ที่นำไปสู่งานที่ทำเมื่อเรียนจบ ในบางมหาวิทยาลัยก็อาจจะที่จะยังอยู่ได้ แต่ผมก็คิดว่ามันก็ต้องมีการปรับตัวอยู่พอสมควรเหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริง อย่างสมัยก่อนเขาว๊ากกัน หรือเวลาเขาจะพิสูจน์รุ่นกัน โดยกิจกรรมที่มันอาจจะต้องใช้แรงเยอะหน่อย อย่างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบางแห่งพิสูจน์รุ่นกันทั้งมหาวิทยาลัย ก็คือ “ซ่อม” (ซ่อม คือ การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาใหม่ด้วยการให้ออกกำลังกาย) ให้เด็กปี 1 ทุกคณะอยู่ในสนามฟุตบอล แล้วก็สั่งซ่อม ให้ทำโน่นทำนี่ ลุกนั่ง สก็อตจั๊มพ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายชั่วโมง เพื่อที่จะได้สิ่งที่เรียกว่ารุ่น สิ่งนี้เขาทำมาตลอด แต่ว่าวันหนึ่ง จำได้ว่าตอนนั้นผมอยู่ปี 4 มีคนไม่ยอม บุกขึ้นไปบนเวที มีการถ่ายคลิปลง Youtube ภาพเหล่านั้น ถูกสื่อสารออกไป สังคมได้เห็น

ช่วงแรก ๆ สังคมอาจจะเถียงกันหน่อย ว่ามันเป็นประเพณี เขาทำกันมา แต่เมื่อมันถูกถ่ายทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่าใน Social Media ข้อถกเถียงเหล่านี้ นำไปสู่การสร้างความเข้าใจใหม่ คนที่ยังทำกิจกรรมพวกนี้อยู่ก็ต้องปรับตัว ไม่ฉะนั้นก็จะอยู่ในสังคมไม่ได้ ภาพล่าสุดเราเห็นแม้กระทั่งภาพโรงเรียนมัธยมใช่ไหมครับ บางคนตกใจว่ามัธยมมีแบบนี้ด้วยเหรอ ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนผมเรียนมัธยมก็มีแบบนี้ มันหนักกว่าในคลิปด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ทุกคนมีกล้อง ทุกคนมีเครื่องมือที่จะบันทึกทั้งภาพและเสียง แล้วก็สื่อสารออกไปในมือ คนที่จะทำอะไรแบบนี้ก็ระวังมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็นำไปสู่การทำให้เกิดการปรับตัว ผมคิดว่าแบบนั้น

เปลี่ยน Mindset คนไทย ?

เพราะเราโดนรุ่นพี่ทำมา เราก็เลยทำต่อ ตอนเป็นน้องเราโดนหนักกว่าตอนที่เราเป็นพี่ แนวความคิดในการแก้ไข การแก้แค้นนี้ มันไม่น่าจะถูก มันไม่มีประโยชน์ต่ออะไรเลย เราโดนมาแบบไหน แล้วไปทำกับคนอื่น ทำกับน้องต่อ ๆ กันมา มันไม่ได้สร้างสรรค์ ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เป็นเพียงแค่ตอบสนองความต้องการต่อตัวเอง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว การที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่เรื่องของการที่คนมาก่อนมีอำนาจมากกว่าคนมาทีหลัง แต่เป็นเรื่องที่คนมาก่อนจะแนะนำ จะดูแล จะทำให้คนมาหลังให้เขารู้สึกว่า เขาจะอยู่ที่นี่ได้อย่างไรมากกว่า ถ้าเขามีปัญหาจะช่วยแก้อย่างไร

จริง ๆ แล้วระบบรับน้องมีอุปสรรคในตัวเอง ก็คือการมีเด็กซิ่ว ที่รู้มุกหมดทุกอย่าง ตอนผมอยู่ปี 2 ผมจำได้ว่า น้องปี 1 ที่เข้ามา 40 คน มีคนซิ่วมาน่าจะเกือบ ๆ 10 คน ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราจะไปนั่งเก๊ก ให้เขาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเขาเคยผ่านมาแล้ว เขารู้หมดแล้ว

สิ่งที่ผมพูดกับเขาวันนั้นคือ 1. คุณไม่ต้องเรียกผมว่าพี่ก็ได้ถ้าคุณไม่อยากเรียก เรารุ่นเดียวกัน เกิด พ.ศ. เดียวกัน 2. ก็คือว่าถ้าคุณโอเคกับกิจกรรม ไม่ได้รู้สึกว่ามันถูกละเมิด ถูกกดขี่อะไรนั้น ก็ลองทำดู คุณรู้อยู่แล้วว่า เดี๋ยวจบรับน้องไป เพื่อน 40 คนที่ถูกทำให้รักกัน ขึ้นเทอม 2 ก็จะเหลือไม่กี่คน คุณเลือกได้อยู่แล้ว ผมก็จะพูดตรง ๆ แบบนี้ ก็มีหลายคนที่ทุกวันนี้ผมก็ยังคบหา พูดคุย สร้างสรรค์ด้วยกัน โดยที่เขาก็ไม่ได้เรียกเราว่าพี่ ยังทำอะไรด้วยกันอยู่ ไม่ต้องไปจริงจังกับการที่จะต้องทำตามกฎตอนรับน้อง ซึ่งผมก็พบว่า คนเหล่านี้ก็มีเยอะ

รับน้องอยู่ได้โดยที่ 1. มหาวิทยาลัยก็ยอมรับให้มันมี โอเค หลัง ๆ มา มหาวิทยาลัยมันอาจจะตั้งศูนย์ป้องกันความรุนแรงจากการรับน้อง หลายที่ก็จะมี สภานักศึกษา สภานิสิต องค์การนิสิต องค์การนักศึกษาก็มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนอะไรพวกนี้ ผมคิดว่าดี เป็นเหมือนทางคู่ขนานกัน ความรุนแรงของการรับน้อง บางครั้งก็ไม่ได้อยู่ทางกายภาพ มันอยู่ในทางนามธรรมด้วย มันคือการสร้างวาทกรรมบางอย่าง แล้วก็ทำให้คนที่เข้าไปสู่สิ่งนั้น จำเป็นต้องยอมรับ หรือสยบยอมต่อรุ่นพี่ มันมีคำถามมากมายเลย แต่พวกเขาตั้งคำถามนั้นไม่ได้ ถึงแม้ว่ารุ่นพี่จะไม่ว๊าก ไม่ซ่อม ไม่สั่งให้ลุกนั่งเลยก็ตาม แต่ผมก็ยังมองว่ารับน้อง มันก็ยังมีความรุนแรงในเชิงการใช้อำนาจอยู่ว่า คุณไม่เปิดโอกาสให้คนที่ถูกกระทำได้พูด ได้เลือก ได้วิจารณ์ ซึ่งสังคมมหาวิทยาลัยควรเป็นสังคมแห่งการถกเถียง การนำเสนอ การมีส่วนร่วม มากกว่าที่จะไปนั่งนิ่ง ๆ 400-500 คน ในห้อง ถึง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน

มีข้อเสนอต่อการรับน้องไหม รับน้องจะเปลี่ยนหรือปรับตัวไปอย่างไร แล้วน้อง ๆ เด็ก ๆ ต่อไปจะเป็นอย่างไร

ผมเห็นด้วยกับการรวมคนนะ ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด มาเรียนมหาวิทยาลัยที่ห่างไกลบ้าน ช่วงแรกก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร มันเหงา ก็ต้องมีการดูแลอยู่นะครับ ทั้งจากรุ่นพี่ หรือจากคณะ หรือจากมหาวิทยาลัย แต่ว่ากิจกรรมมที่รวมคนที่ว่านั้น น่าจะเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ แล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมมากกว่านี้ อาจจะเป็นกิจกรรมที่พูดถึงเรื่องปัญหาของสังคม พากันไปแก้ไขปัญหาสังคม อย่างมหาวิทยาลัยผมอยู่ริมทะเล ที่ชลบุรี บางแสน แทนที่เราจะพาเด็กมานั่งร้องเพลง เล่นเกม รู้จักกัน เราก็น่าจะทำให้คนรู้จักกันโดยการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น ไปเก็บขยะริมหาด หรือถ้ารุ่นน้องปีหนึ่งมี 100 กว่าคน เราก็อาจจะแบ่งกลุ่มละ 10 คน 10 กลุ่ม เอางบประมาณไปทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งถ้าบอกว่าเป้าหมายคือ เพื่อให้คนอื่นรู้จักกัน สามัคคี รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง ผมว่ากิจกรรมพวกนี้ อาจจะเรียกว่ากระบวนการแบบค่าย กระบวนการแบบจิตอาสา ก็น่าจะทำให้ไปถึงสิ่งนั้นได้เหมือนกัน มหาวิทยาลัยก็ได้เครดิต ได้ภาพ ได้เห็นการอยู่ร่วมกันของคนและสังคมแล้วสร้างประโยชน์ อาจจะมีบางประโยคที่น่าจะเลิกพูดเลย เช่น ทุกคนต้องรักกัน ทุกคนต้องจำชื่อกันได้ จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องรักกันก็ได้ เพียงแต่ว่าเราก็ให้เกียรติกัน ไม่หวังร้ายต่อผู้อื่น บนข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถให้คนทั้งหมดมารักกันได้อยู่แล้ว เราก็ไม่ได้จะต้องไปพูดคำนั้น เอาแค่ให้เกียรติกัน เคารพกัน ไม่ละเมิดกันก็พอ

ในขณะเดียวกัน กิจกรรมที่บอกว่ารับน้องคือ การสร้างความรักกัน เรากลับละเมิดคนอื่นมากมายเลย แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร เราทำให้คนที่มาสาย ถูกเกลียดจากคนทั้งคณะ โดยการที่รุ่นพี่ทำโทษคนอื่นด้วย

ซึ่งถ้าเราเข้าสู่มหาวิทยาลัย เวลาเราขึ้นมาเป็นปี 2 ปี 3 ที่รับคนอื่นเป็นน้อง มันควรที่จะต้องมีวุฒิภาวะที่จะต้องคิดได้ว่ากิจกรรมแบบไหนที่มันจะนำไปสู่เป้าหมาย เพราะฉะนั้นผมว่ามีทางเลือกอื่น ๆ เช่นอย่างที่บอก อย่างเช่นกิจกรรมที่ออกไปทำเพื่อสังคม น่าจะเป็นทางออกอย่างหนึ่ง

อีกเรื่องที่อาจจะต้องพูดก็คือ รับน้องยังอยู่ได้ เพราะสังคมไทย เป็นสังคมที่เรายอมรับในอำนาจของคนที่อยู่สูงกว่าเรา ระบบอาวุโส ระบบคนที่มาก่อน ระบบคนที่มีตำแหน่งมีอำนาจมากกว่าคนอื่น สะท้อนโครงสร้างของสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ได้เพราะสังคมไทยเป็นแบบนี้ ดังนั้นถ้าอยากจะให้สังคมไทยเปลี่ยน ถ้าเราลองคิดแบบกลับหัว ถ้าเราลองไปเริ่มเปลี่ยนจากคนรุ่นใหม่ อาจจะต้องเป็นประเด็นเรียกร้องคนรุ่นใหม่ว่า ถ้าอยากให้สังคมเปลี่ยน เริ่มเปลี่ยนที่เรา เราลองคิดว่าเราลองอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้อำนาจกับคนอื่น เราอยู่ด้วยกันโดยสังคมแบบแนวระนาบได้ไหม ให้มันเท่ากัน แล้วก็ลองช่วยกันในการที่จะสร้างความรัก สร้างการอยู่ร่วมกัน ดีกว่าไหม ตราบใดที่เรายังเชื่อในอำนาจที่มากกว่า เชื่อว่าเราสั่งเขาได้ แล้วสังคมจะสงบสุข ผมคิดว่าตรงนี้มันล้าหลังมากสำหรับยุคปัจจุบัน

…..

ชมคลิป ฤดูการรับน้อง ได้ที่

ฤดูการรับน้อง : แมน ปกรณ์ อารีกุล

"เราไม่จำเป็นต้องรักกันก็ได้" : ฤดูการรับน้อง 'แมน ปกรณ์ อารีกุล'.10 ปี ของ แมน ปกรณ์ ในบทบาทนักกิจกรรม ที่พยายามสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของนักศึกษา ตั้งแต่เรื่องการรับน้อง การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ไปจนถึงเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ .กับคำถามถึงการมีอยู่ของกิจกรรมรับน้องท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และการส่งต่อการใช้อำนาจที่ยังคงมีจากรุ่นสู่รุ่น.อ่านบทสัมภาษณ์เต็ม ๆ ได้เร็ว ๆ นี้.#คนรุ่นใหม่ #รับน้อง #sotus #มหาวิทยาลัย #Jamชวนแจม #ThaiPBS

โพสต์โดย JAM เมื่อ วันพุธที่ 15 สิงหาคม 2018

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ