“ความสำคัญของธรณีวิทยาและจิตอาสา” ในภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำ : อาย ศรสวรรค์ อุทธาเครือ

“ความสำคัญของธรณีวิทยาและจิตอาสา” ในภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำ : อาย ศรสวรรค์ อุทธาเครือ

เรื่อง/ภาพ : สุวนันท์ อ่ำเทศ

“การทำงานครั้งนี้มันทำให้รู้ว่าในเรื่องของจิตอาสาในทุกคนเต็มที่มาก 100 เปอร์เซ็นมาก พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกด้านที่จะเป็นไปได้”

ประโยคแรกที่ อาย – ศรสวรรค์ อุทธาเครือ ตอบเราหลังจากถูกถามถึงความรู้สึก ในภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย โดยในภารกิจครั้งนี้ เธอทำหน้าที่สำรวจหาจุดที่จะเบี่ยงทางน้ำ และหาโพรงที่จะเชื่อมกันภายในถ้ำร่วมกับอาสาสมัครคนอื่น ๆ ในฐานะ “นักธรณีวิทยา”

อายเข้ามามีส่วนร่วมจากการประกาศหาผู้ร่วมทีมของ อนุกูล สอนเอก – นักภูมิศาสตร์ ทางเฟซบุ๊กว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งอายเองมีประสบการณ์ทำงานด้านภูมิศาสตร์มาก่อน และมีพื้นฐานการจบปริญญาตรีจากธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อายจึงอาสาที่จะมาร่วมภารกิจครั้งนี้

ตอนนั้นอายตัดสินใจหันไปบอกหัวหน้าเลยว่า พี่หักเงินเดือนไปเลยนะ ถึงไม่ให้ลาก็จะไป (หัวเราะ) แต่ด้วยความโชคดีทางบริษัทสนับสนุนและเป็นสปอนเซอร์ให้ด้วยเลย เพราะเขารู้ว่าเราไปเป็นอาสาสมัคร

บทบาทของนักธรณี

เราไปทั้งหมด 2 ช่วง คือค้นหาและช่วยชีวิต โดยการทำงานหลัก ๆ จะใช้พื้นฐานทางด้านการสำรวจ ก็คือการหาภูเขาหินที่เราสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นทางเชื่อมลงไปข้างล่างได้ ซึ่งอันนี้คือข้อมูลที่เราได้รับจากทางพี่ ๆ ทหารคือเขาจะเดินสำรวจโดยการกวาดสายตา แต่ไม่ค่อยเดินเข้าไปหา อะไรก็ตามที่รกหรือเป็นร่องรอยหินแปะเขาก็จะไม่เข้า ซึ่งพอเราเข้าไปสำรวจเอง เรารู้สึกว่าตรงนี้มันเข้าได้ มันไปต่อได้ มันยังมีโพรง เราก็จะเรียกพี่ ๆ ทหารมาแนะนำวิธีการเดินดูพื้นที่แบบคร่าว ๆ

ธรณีวิทยามันเป็นศาสตร์ของการปรับใช้ในเรื่องของฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ประวัติศาสตร์ก็คือพวกการกำเนิดของแผ่นเปลือกโลก หรือระยะเวลา ห้วงเวลาของการเกิดธรณี ก็มีเรื่องน้ำเข้ามา ทุกศาสตร์ที่มีการปรับใช้ ประยุกต์ใช้พื้นที่ที่เกี่ยวกับบนดินหรือใต้ดิน

แต่เอามาใช้ได้จริง ๆ ในสายงานที่ทำอยู่ก็จะมีทางด้านสำรวจแผนที่ และที่เห็นในงานนี้ที่เห็นกับอาจารย์ก็คือธรณีวิทยาทางด้านน้ำของกรมชลประทาน และของกรมทรัพธรณีด้วยที่จะส่งข้อมูล ตอนทำงานก็ได้เอาสิ่งที่เรียนมาใช้เต็มที่ อย่างการวัดแนวหิน การเอียงเทของหิน หรือการหาแหล่งแร่ ก็คือต้องใช้ทั้งทางด้านธรณีฟิสิกส์เข้ามาช่วยด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสำรวจ อย่างไรก็ต้องเห็นหน้างานจริง ได้เห็นลักษณะของการวางตัวของหินหรือน้ำ อะไรก็ตามต้องได้เห็นของจริง

ได้ยินมาว่าเป็นผู้หญิงคนเดียวในทีมเลย

ไม่คิดเหมือนกันว่าเราจะเป็นผู้หญิงคนเดียว(หัวเราะ) แต่ว่าในงานก็จะมีน้องผู้หญิงที่เป็นนักภูมิศาสตร์จาก ม.แม่ฟ้าหลวง อีก 2 คน แต่น้องเขาจะมาแล้วกลับ แต่อายมาจากกรุงเทพฯ เลยต้องนอนเบสแคมป์ตรงนั้นกับเขา

มีอุปสรรคเยอะไหม

อุปสรรคในการทำงานครั้งนี้คือ “เวลา” เพราะเราทำงานกับการช่วยชีวิตคน ถ้าหากเวลายิ่งผ่านไปนานเท่าไร โอกาสที่การช่วยเหลือสำเร็จจะลดลง ซึ่งในทุก ๆ วันจะมีการประชุมและคุยกันทุกคืนหลังจากทำงานเสร็จ อีกอย่างหนึ่งก็คือการติดต่อสื่อสาร

มุมมองต่อการทำงานครั้งนี้เป็นอย่างไร

ที่จำได้คือเป็นภาพแววตาของทุกคนที่เป็นจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยที่เอาอาหารมาให้ดูแลเรื่องเสื้อผ้า อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถโฟวิล หรือทางทหาร คือเวลามองแววตาเขา เวลาทำงานด้วยกันมันจะมีกำลังใจมากขึ้น ซึ่งอันนี้มันทำให้เรารู้สึกว่าการทำงานจิตอาสามันจะราบรื่น เพราะมีพวกเขาอยู่ด้วยทุกคนทำงานไปทิศทางเดียวกัน ทุกคนเห็นด้วย ทุกคนพร้อมสนับสนุนกัน อันนี้คือบทเรียนของจิตอาสาเลย คือ ความสามัคคี

คิดว่า “ธรณีวิทยา” จะมีความสำคัญขึ้นไหมในอนาคต

ในประเทศไทยบอกตรง ๆ ว่าไม่แน่ใจ แต่ในต่างประเทศมีความสำคัญมาก แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะทำให้มีความสำคัญขึ้นมาสูงมากเหมือนกัน เพราะว่าทุกถ้ำต้องได้รับการสำรวจ ได้บันทึกและจดพิกัดที่แม่นยำและแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการเดินสำรวจ การเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา การวัดมุมองศา การบึนทึกระยะระดับน้ำในถ้ำในแต่ละช่วงเวลา โครงสร้างทางธรณีที่ถ้ำวางตัว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางธรณีวิทยาหรือภูมิศาสตร์ก็ตาม จำเป็นต้องมีการสำรวจและตรวจสอบอย่างน้อย 3-5 ปีต่อครั้งก็ยังดี อายว่านี่คืออีกส่วนหนึ่งของหน้าที่ที่ต้องทำให้นักธรณีวิทยากับนักภูมิศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจ

อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่สนใจเรียนธรณีไหม

บอกไว้ก่อนว่าสาขานี้ต้องค่อนข้างลุย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อยมาก (ลากเสียง) เพราะเราทำงานหน้างาน เป็นภาคสนามซะส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นการที่เข้ามาเรียนแล้วจะมาห่วงสวย รักสวยรักงาม อันนี้ถามว่าได้ไหมก็ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอย่างน้อยก็ต้องมีรอยขีดข่วนบ้างนะ (หัวเราะ)

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ