คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงฯลงพื้นที่เชียงเพ็ง จ.ยโสธร เก็บข้อมูลการมีส่วนร่วม กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล

คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงฯลงพื้นที่เชียงเพ็ง จ.ยโสธร เก็บข้อมูลการมีส่วนร่วม กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล

 

ภาพ /ข่าว : เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน

7 พฤศจิกายน 61 เวลา 10.00 น. คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากรและสุขภาพ กรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร จังหวัดยโสธร ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 559 ครัวเรือน เพื่อจะนำไปวิเคราะห์และกำหนดทิศทางในกระบวนการการทำงานเพื่อจะส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561

นายนิรันดร คำนุ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในคณะทำงานในฐานะตัวแทนภาคนักวิชาการได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านในตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยวัตถุประสงค์การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของคณะทำงานในครั้งนี้ เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากมติที่ประชุมของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งมีการประชุมร่วมกับคณะของ กกพ. เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 เพื่อช่วยในการออกแบบวิธีการศึกษา และดำเนินการศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยเน้นเฉพาะกรณีการศึกษาข้อเท็จจริงของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวทางคณะทำงานฯ จะนำไปจัดทำรายงานผลการศึกษาฯ เสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ทาง กกพ. ใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุมของ กกพ. ต่อไป

นายนิรันดร คำนุ กล่าวว่า คณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการแก้ไขปัญหา ซึ่งในเบื้องต้นการศึกษาข้อเท็จจริงสามารถดำเนินการได้เพียงความพยายามในการตอบข้อเท็จจริงประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รัศมี 5 กิโลเมตร ของจังหวัดยโสธร ส่วนปัญหาตามข้อร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่มันคาบเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาในลักษณะของคณะกรรมการร่วม นอกจากนี้แล้วการศึกษาข้อเท็จจริงในมิติอื่น ๆ ก็มีความสำคัญมาก เช่น ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศในพื้นที่ เป็นต้น

ด้าน นายสิริศักดิ์ สะดวก คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ของคณะทำงานฯ ในครั้งนี้เป็นการสอบถามข้อมูลความเป็นจริงของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ของจังหวัดยโสธร การศึกษาข้อเท็จจริงในประเด็นการมีส่วนร่วม ส่วนที่ 1 คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการรับฟังความคิดเห็น รับรู้ และตัดสินใจถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ในประเด็นด้าน ทรัพยากร และสุขภาพ ของชุมชนในเขตรัศมี 5 กิโลเมตร เขตพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรับฟังความคิดเห็น ในที่นี้ หมายถึง การมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น มีบทบาทของประชาชน/ชุมชน ในเรื่องการได้รับรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ผ่านการชี้แจง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือการประชาพิจารณ์ ส่วนที่ 2 การมีส่วนร่วมการรับรู้การประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมในการร่วมรับฟังความคิดเห็น ในการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่ 4 ความเห็นของประชาชนในการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เห็นด้วยหรือไม่ เพราะอะไร โดยมีแบบสอบถามที่ชัดเจน

นายสิริศักดิ์ กล่าวว่า “การลงพื้นที่ใน 5 หมู่บ้าน ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของจังหวัดยโสธร เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และเพื่อจะได้รับรู้ข้อมูลข้อกังวลของชุมชน หลังจากนี้คณะทำงานฯ จะสรุปข้อมูลเพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำไปพิจารณาร่วมด้วยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 นี้ โดยตัวแทนคณะทำงานและชุมชนจะไปยื่นเอกสารด้วยตัวเอง”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ