หวั่นป่าเเหว่งเอื้อประโยชน์ เตรียมข้อมูลร้อง ป.ป.ช.

หวั่นป่าเเหว่งเอื้อประโยชน์ เตรียมข้อมูลร้อง ป.ป.ช.

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพสุดทน   ร้องป.ป.ง ส.ต.ง ก.บ.ศ ตรวจสอบ หวั่นมีผลประโยชน์ทับซ้อนผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างหมู่บ้านป่าแหว่ง   หลังพบข้อมูลสายสัมพันธุ์เพื่อนร่วมรุ่น  และไม่แจ้งรายละเอียดการประมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) เผยก่อสร้างล่าช้าต่อสัญญาต่อเนื่องจนบัดนี้ยังไม่ส่งมอบ

เชียงใหม่/ 29 ก.ย. 2561   ที่โฮงเฮียนสืบสานล้านนา มีการประชุม 55 องค์กรเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ประจำเดือนกันยายน 2561 ประเด็นสำคัญที่ประชุมมีมติให้ส่งตัวแทนยื่นร้องเรียนกรณีการคัดเลือกผู้รับเหมาออกแบบและก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ “บ้านป่าแหว่ง” ไม่โปร่งใส ไม่ได้แจ้งรายละเอียดการประมูลให้ครบถ้วนเข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ปิดบังข้อมูลในขั้นตอนคัดเลือก และส่อว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้รับเหมาทั้งในระยะออกแบบ และการก่อสร้าง

นายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ  ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการขอมติสำคัญ หลังการเคลื่อนไหวกรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงปัจจุบันกว่า 6 เดือน ที่ชาวเชียงใหม่ดำเนินการหลายวิธี ทั้งบวชป่า คุยกับหน่วยทหาร ชุมนุมใหญ่ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดและได้มีสรุปแนวทางว่า ให้ส่งมอบพื้นที่ให้ธนารักษ์ รื้อย้ายบ้าน 45 หลังและอาคารชุด 9 หลัง ย้ายผู้พักอาศัยในอาคารชุดลงมา แต่สำนักงานศาลยุติธรรมและรัฐบาลกลับเพิกเฉย ไม่มีการตอบรับหรือดำเนินการใดใด  ประกอบกับเครือข่ายฯได้รับข้อมูลที่นำไปสู่ข้อสงสัย  ที่ว่าโครงการนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฏหมาย อาจไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด   จึงนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อสงสัยในสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง  การก่อสร้างที่ล่าช้า และไม่ส่งมอบงาน ซึ่งหากนับจากกำหนดสัญญา จะต้องเกิดค่าปรับกว่า 25 ล้านบาทแล้ว

นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกล่าวว่า ข้อพิรุธของข้อมูลที่ประชาชนได้รับคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้จ้างกับผู้รับจ้าง  และเงื่อนไขการจ้างออกแบบเขียนไว้อย่างไร ทำให้ออกแบบก่อสร้างโครงการบนพื้นที่สูงชันเช่นนั้น นอกจากนั้นคือการต่ออายุสัญญาโดยไม่มีการชี้แจงใดใด เป็นการต่ออายุเปล่าๆ หรือแบบมีเงื่อนไข เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ เนื่องจากโครงการนี้มี 3 สัญญา ซึ่งตรวจสอบพบว่าสัญญาที่ 1 มีรายละเอียดเผยแพร่สาธารณะ แต่สัญญาที่ 2-3 ไม่มีรายละเอียด

“ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นต้นตอความไม่ปกติ เพราะเหตุนี้หรือไม่ จึงไม่มีการเปิดเผยแบบแปลนให้กรรมการระดับจังหวัด หรือ อบต. ที่ได้ร้องขอไป เหตุเหล่านี้ทำให้เราจำเป็นต้องยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ”

สำหรับรายละเอียดที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพมีมติยื่นร้องให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย กรณีการคัดเลือกผู้รับเหมาออกแบบและก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ “บ้านป่าแหว่ง” ไม่โปร่งใส ไม่ได้แจ้งรายละเอียดการประมูลให้ครบถ้วนเข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ปิดบังข้อมูลในขั้นตอนคัดเลือก และส่อว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้รับเหมาทั้งในระยะออกแบบ และการก่อสร้าง

กรณีแรก – เครือข่ายฯ พบว่า ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานออกแบบและก่อสร้างสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย (อุเทน46) กับ ผู้บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท เกทเวย์ อาร์คิเท็ค จำกัด ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้ออกแบบโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีหลักฐานภาพถ่ายและข่าวในสื่อมวลชนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน แม้ฝ่ายหนึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารงานออกแบบและก่อสร้าง กับอีกฝ่ายหนึ่งในฐานะบริษัทผู้รับเหมาที่รับงานจากสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว

 

ข้อสงสัยสำคัญ : การได้รับการคัดเลือกให้รับงานออกแบบโครงการ “บ้านป่าแหว่ง” ในครั้งนั้น ไม่ปรากฏในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้ตรวจสอบเพิ่มพบว่า บริษัทเกทเวย์ อาร์คิเท็ค จำกัด เคยรับงานและเป็นคู่สัญญากับสำนักงานศาลยุติธรรมอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ปรากฏในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

การออกแบบโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ “บ้านป่าแหว่ง” ที่ อ.แม่ริม ประสบปัญหาจนเกิดความล่าช้าใช้เวลาก่อสร้างนานร่วม 5 ปีจากกำหนดเดิมไม่เกิน 2 ปี และต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสัญญาหลายครั้งปรากฏในบันทึกท้ายสัญญา ทั้งยังพบว่าบ้านพักหลายหลังตั้งบนพื้นที่ลาดชันไม่เหมาะสม จึงควรจะมีการตรวจสอบว่าในขั้นตอนการกำหนดขอบเขตงานออกแบบก่อสร้างมีข้อผิดพลาดไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ หรือ มีการเอื้อประโยชน์กำหนดคุณสมบัติเอกชนผู้รับงานหรือไม่

​กรณีที่สอง – การประกวดราคาหาผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการและอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่โปร่งใส แบ่งโครงการออกเป็นสามสัญญา ได้เอกชนรายเดียวกันเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และมีการปกปิดข้อมูลไม่แจ้งเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดว่า เหตุใดจึงได้เอกชนรายเดิมในการประมูลสัญญาที่ 2 และ 3

โครงการนี้มีการแบ่งเป็นสามสัญญา คือ สัญญาแรกทำกันเมื่อ 19 มิถุนายน 2556 ให้ก่อสร้างบ้านพักระดับประธานและรองฯ จำนวน 9 หลัง บวกกับอาคารชุด 64 หน่วย มูลค่า 342,432,710.28 บาท ขั้นตอนการประกวดราคา มีผู้ซื้อซอง 26 ราย ยื่นจริง 4 ราย ได้บริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์. จำกัดเป็นผู้ชนะและได้รับคัดเลือกทำสัญญา

​โครงการแรก ได้แจ้งรายละเอียดเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐครบถ้วน ยังทำให้สื่อมวลชนเช่น สำนักข่าวอิศรา และ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เคยใช้รายงานสกู๊ปข่าวนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

​แต่ปรากฏว่าสัญญาที่ 2  ก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดส่วนที่เหลือ มูลค่า321,670,000 บาท ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2557 กับสัญญาที่ 3 ก่อสร้างอาคารสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 มูลค่า 290,885,000 บาท เมื่อกลางปี 2557 กลับไม่มีรายละเอียดแจ้งลงในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะรายละเอียดการยื่นเสนอราคา จำนวนเอกชนที่ซื้อซองและเอกชนที่ยื่นราคา

เพราะว่าในที่สุดเอกชนรายเดิมที่ได้สัญญาแรกคือ บริษัทพี.เอ็น.เอส.ไซน์. จำกัด ได้สัญญาก่อสร้างทั้งหมดไป

การปกปิดข้อมูลสำคัญไม่แจ้งเข้าระบบเพื่อให้สาธารณะตรวจสอบได้ เป็นข้อพิรุธที่สมควรให้หน่วยงานตรวจสอบเข้ามาดำเนินการให้เกิดความกระจ่าง

ทั้งนี้จนกระทั่งล่าสุด สำนักงานศาลยุติธรรมยังไม่สามารถรับมอบงานจากผู้รับเหมาได้ตามกำหนด ทั้งที่มีการต่อเวลาก่อสร้างนานกว่าสามปี รอบสุดท้ายกำหนดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ได้ต่ออายุสัญญาหรืออนุญาตให้เอกชนผู้รับเหมาดำเนินการต่อเช่นไร

เพราะว่าตามสัญญาที่ทำไว้ หากบริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถส่งมอบงานก่อสร้างบ้านพักเดี่ยวและอาคารชุดได้ทันกำหนดจะต้องถูกปรับเงินและค่าใช้จ่ายจ้างผู้คุมงานตกรวมกันถึงวันละประมาณ 350,000 บาท คำนวณเป็นตัวเงินกรณีต้องปรับ นับจากวันที่ 18 มิถุนายนมาจนถึงประมาณสิ้นเดือนสิงหาคมซึ่งก็ยังไม่สามารถส่งมอบได้ คิดเป็นเงินกว่า 25 ล้านบาท จึงเป็นคำถามชวนสงสัยว่า หากไม่มีการปรับแต่อนุโลมให้เอกชนก่อสร้างต่อไปเรื่อยๆ จะเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนผู้รับเหมาและทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ กรณีนี้สำนักงานศาลยุติธรรมไม่เคยชี้แจงใดๆ ต่อสาธารณะเลยทั้งๆ ที่ปัญหา “ป่าแหว่ง” เป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัญหาที่สาธารณะให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ขอเรียกร้องให้สำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ให้เป็นที่รับรู้ และขอให้เร่งรัดส่งมอบงานจากผู้รับเหมาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

โดยในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 ตัวเเทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพนัดหมายเจอกันที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จ.เชียงใหม่ เพื่อเข้ายื่นเอกสารขอให้ตรวจสอบ  จากนั้นจะไปยื่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) และ กรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ