4 คำถาม เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ถามกลับรัฐมนตรีฯ

4 คำถาม เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ถามกลับรัฐมนตรีฯ

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพออกแถลงการณ์ผิดหวังผลประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหากรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการ “ป่าแหว่ง” ไร้มติ ส่อแววไม่ยอมรื้อ ยื้อเวลาไปอีก 30 วัน ตั้งคำถามกลับ 4 ข้อตอบได้ไหมว่าถูกกฏหมาย หลัง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทรณ์ ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการ ครั้งที่2 / 2561 เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561 โดยระบุว่ามีการพิจารณาว่าข้อเสนอสามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหลายข้อติดขัดข้อกฎหมาย เช่น การรื้อ ย้าย การส่งมอบพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ฝ่ายเลขาของคณะกรรมการได้ศึกษาความเห็นของภาคประชาชน ข้อกฎหมาย รวมถึงข้อมูลเชิงวิชาการ และข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความเห็นว่าไม่ควรรื้อ แต่ต้องการให้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น พร้อมกับฟื้นฟูพื้นที่ให้สมบูรณ์ โดยขอเวลา 30 วัน เพื่อสรุปความเห็น แล้วนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์ทุกด้าน

ส่งผลให้วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เฟซบุ๊คแฟนเพจ “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ออกแถลงการณ์แสดงท่าที พร้อมตั้ง คำถาม 4 ข้อใหญ่ ว่า

1. เครือข่ายฯ รู้สึกผิดหวัง กับผลการประชุมของคณะกรรมการแก้ปัญหากรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการ “ป่าแหว่ง” ที่ไม่สามารถมีมติแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนออกมา โดยขอเลื่อนเวลาไปอีก 30 วัน ก็คือในเดือนธันวาคม ทำให้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้ไม่อยากจะตัดสินใจโยนเรื่องให้รัฐบาลหน้าหรือไม่

2. คำแถลงของ รมต.สุวพันธุ์ ตันยุวรรณนะ ที่ว่า มีประชาชนนอกพื้นที่เชียงใหม่ไม่ประสงค์ให้รื้อและให้ทำประโยชน์อย่างอื่น เป็นข้ออ้าง เพราะเมื่อเดือนเมษายน ทำเนียบรัฐบาลโดยเพจไทยคู่ฟ้า ได้เปิดให้ประชาชนทั่วประเทศแสดงความเห็นเข้าไปและประชาชนแทบทั้งหมดเห็นว่าให้รื้อ ดังนั้นการอ้างถึงประชาชนนอกพื้นที่ลอยๆ โดยไม่ระบุตัวตนจึงเป็นข้ออ้างของการไม่ต้องการดำเนินการตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่แท้จริง

3. จากเนื้อข่าว คณะกรรมการชุดใหญ่ระบุว่าการดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย เครือข่ายฯ คิดว่านี่เป็นเหตุผลข้ออ้างที่จะคงอาคารทั้งหมดให้ใช้สอยต่อไป ซึ่งจะทำให้ปัญหาไม่ยุติ ก่อให้เกิดความร้าวฉานระหว่างราชการกับประชาชนในพื้นที่ เครือข่ายฯ ได้นำเสนอข้อมูลและรายงานข้อบกพร่อง-ผิดพลาดของการดำเนินงานโครงการนี้แก่คณะกรรมการชุดใหญ่เป็นระยะมาโดยลำดับ จึงขอใช้โอกาสนี้ถาม ท่านรัฐมนตรี สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะว่า เรื่องที่จะยกขึ้น 4 เรื่องดังต่อไปนี้ ถูกกฎหมายครบถ้วนใช่หรือไม่

3.1 การไม่แจ้งการก่อสร้างและส่งแบบแปลนก่อสร้างให้กับอบต.ดอนแก้ว ก่อนการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 30 วัน (จนสร้างเสร็จก็ยังไม่ส่งให้) ทั้งนี้ การที่หน่วยราชการต้องแจ้งและส่งแปลนเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (2528) ตามความในพรบ.ควบคุมอาคาร 2522

3.2 การไม่แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้อง ในการตัดต้นไม้จำนวนมากในพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 100 ไร่ ต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 5 ปี รวมถึงมีการนำไม้หวงห้ามคือ ต้นสัก ออกจากพื้นที่ด้วย สำนักงานศาลยุติธรรมเอง เคยมีหนังสือเวียน 9 ก.ย.2557 โดยนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง อดีตเลขาสนง.ศาล ถึงแนวทางดังกล่าว มันก็ชัดแจ้งว่า การก่อสร้างใดๆ ของสนง.ศาลหากต้องตัดฟันไม้ต้องมีขั้นตอน แต่ทว่าในการประชุมของอนุกรรมการระดับจังหวัดได้ความว่า หน่วยงานในพื้นที่อย่างป่าไม้นี่ ไม่เคยรับแจ้งใดๆ ว่าจะมีการย้ายไม้หวงห้ามออก

3.3 การไปก่อสร้างทับบนแนวลำน้ำสาขาห้วยชะเยือง สภาพข้อเท็จจริงและการไหลของน้ำตอนหน้าฝนชัดเจนว่าทางน้ำผ่ากลางโครงการลงมา แล้วยังมีแนวลำห้วยเดิมที่ขวางระหว่างพื้นที่โครงการส่วนบนกับส่วนกลาง การที่ก่อสร้างท่อ และสร้าง check dam บนแนวลำน้ำรวมถึงการไปดัดแปลงพื้นที่รอบๆ ยังทำให้น้ำไหลเร็วลงมาใส่บ้านชาวบ้านด้านล่าง หน่วยราชการเกี่ยวข้องคือ กรมธนารักษ์และสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการที่ถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ เพราะปรากฏว่านี่ขั้นตอนรังวัดออกหนังสือให้ใช้ที่ดินราชพัสดุไม่ได้เขียนแนวลำน้ำสาธารณะทั้งหมดไว้ ทำให้เกิดผลกระทบตามมาต่อราษฎร

3.4 ขั้นตอนประมูล เครือข่ายได้ยื่น ป.ป.ช./สตง. และประธานศาลฎีกาแล้วว่า มีพิรุธในความสัมพันธ์ของผู้บริหารกับผู้รับเหมา อีกทั้งไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางธรรมาภิบาล ไม่ใส่ข้อมูลการประมูลงาน แล้วได้ผู้รับเหมารายเดียว/รายเดิม ลงในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ e-GP การที่โครงการของรัฐไม่กรอกข้อมูลลงในระบบของหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐให้ครบถ้วน ก็เพียงพอต่อการตั้งข้อสงสัยและสมควรรอให้มีการพิสูจน์ให้ชัดเจนเสียก่อน ที่จะรับรองว่าขั้นตอนนี้ถูกต้องสมบูรณ์ ท่านรัฐมนตรี รับรองได้หรือไม่ว่าการกระทำทั้ง 4 ข้อ ถูกต้องตามขั้นตอน ระเบียบ กฎหมายทุกประการ ? ถ้ารับรองไม่ได้ ก็สมควรถอนคำพูดที่แถลงต่อสื่อมวลชนว่าโครงการนี้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

4. เครือข่ายฯ จะเดินหน้าเรียกร้องให้รื้อถอนโครงการบ้านป่าแหว่งออกไป มิฉะนั้นจะไม่สามารถฟื้นฟูทำให้ป่าสมบูรณ์กลับคืนมาได้ โดยเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จะมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ในกิจกรรม “ปั่นทวงป่า ” วันอาทิตย์ ที่ 11 พ.ย. 2561 เวลา เวลา 8.30 น ซึ่งจะมีการนัดพบนักปั่นทั่วเชียงใหม่ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ขอสู้!! จนว่าตุลาการจะย้ายลงมาจากเขตป่า เส้นทางการปั่น จะเริ่มที่หอประชุมนานาชาติ เชียงใหม่ ไปยังหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ